xs
xsm
sm
md
lg

PTTGCดึงปตท.ลงทุนอินโด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – PTTGCดึงปตท.หรือไทยออยล์ร่วมทุน “เปอร์ตามิน่า” ขยายโรงกลั่นน้ำมันในบาลองกัน ประเทศอินโดนีเซียอีก 2.4 แสนบาร์เรล/วันจากเดิมที่มีอยู่ 1.2 แสนบาร์เรล/วัน เพื่อนำผลพลอยได้ทั้งแนฟธาและแอลพีจีมาเป็นวัตถุดิบโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ ส่งผลให้มูลค่าเงินลงทุนพุ่งแตะ 7-8 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่PTTGCเน้นลงทุนเฉพาะปิโตรเคมีเท่านั้น ส่วนผลดำเนินงานครึ่งปีหลังคาดว่าจะมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ค่าภาษีและค่าเสื่อมดีขึ้นอยู่ที่ 11% เหตุมาร์จินอะโรเมติกส์เริ่มสูงขึ้น

นายบวร วงศ์สินอุดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTGC) เปิดเผยความคืบหน้าโครงการร่วมทุนปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ ที่ประเทศอินโดนีเซียว่า บริษัทได้มีการศึกษาร่วมกับเปอร์ตามิน่า ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของอินโดนีเซียที่ข้อสรุปเลือกบาลองกันเป็นที่ตั้งโครงการลงทุนปิโตรเคมี
คอมเพล็กซ์แบบครบวงจร โดยมีโรงกลั่นน้ำมันเดิมอยู่แล้ว 1.2 แสนบาร์เรล/วัน จะมีการลงทุนขยายโรงกลั่นเพิ่มขึ้นอีก 2.4 แสนบาร์เรล/วันรวมเป็น 3.6 แสนบาร์เรล/วัน โดยนำผลพลอยได้คือ แนฟธาและก๊าซแอลพีจีมาต่อยอดในโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 7-8 พันล้านเหรียญสหรัฐ แต่หากไม่รวมโรงกลั่นน้ำมันจะใช้เงินลงทุน 4-5 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ทั้งนี้ โครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์จะใช้วัตถุดิบจากโรงกลั่นน้ำมันทั้งหมด โดยไม่มีการนำเข้าวัตถุดิบ คือ แนฟธาและแอลพีจีจากต่างประเทศ เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปโดยเฉพาะเบนซินในอินโดนีเซียเพิ่มสูงขึ้นมาก ทำให้อินโดนีเซียต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากต่างประเทศมากขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นจังหวะที่ดีในการขยายโรงกลั่นน้ำมันเพิ่มขึ้นอีก 2.4แสนบาร์เรล/วันในพื้นที่บาลองกัน ทำให้ได้น้ำมันสำเร็จรูปป้อนในประเทศและแนฟธาก็ป้อนโครงการปิโตรเคมี ทำให้ต้นทุนการผลิตต่ำลงด้วย เพราะหากนำเข้าแนฟธามาผลิตปิโตรเคมีจะไม่มีความได้เปรียบคู่แข่งเลย

นายบวร กล่าวต่อไปว่า สำหรับการลงทุนส่วนขยายโรงกลั่นน้ำมันอีก 2.4 แสนบาร์เรล/วันนั้น บริษัทฯยังมีคงยืนนโยบายเดิมที่จะมุ่งเน้นลงทุนเฉพาะโครงการปิโตรเคมี ทำให้ต้องหาพันธมิตรใหม่เข้ามาลงทุนโรงกลั่น โดยจะชวนกลุ่มปตท. หรือบมจ.ไทยออยล์เข้ามาลงทุนเนื่องจากมีความชำนาญในธุรกิจโรงกลั่นน้ำมัน เชื่อว่าผลตอบแทนการลงทุน (IRR) โรงกลั่นน้ำมันค่อนข้างดี เพราะเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศทั้งหมด

นายบวร คาดว่า ผลการศึกษารายละเอียดโครงการนี้ทั้งเงินลงทุนและพันธมิตรทางธุรกิจคาดว่าจะได้ข้อสรุปในต้นปี 2558 และเริ่มก่อสร้างในปีถัดไปคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี2563 ซึ่งโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์เฟสแรกนี้จะมีโรงงานโอเลฟินส์ขนาด 1 ล้านตัน และโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกต่อเนื่องทั้งPE PP และMEG แต่จะยังไม่มีการลงทุนโรงงานอะโรเมติกส์ในช่วงแรก
ซึ่งขณะนี้มีนักลงทุนจากญี่ปุ่น เกาหลีและตะวันออกกลางสนใจที่จะเข้ามาร่วมลงทุนโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ในอินโดนีเซีย แต่คงยังไม่สรุปเลือกตอนนี้ เพราะต้องการให้ทุกอย่างมีความชัดเจนก่อน โดยปตท.จะลดสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 30%จากเดิมที่ถือหุ้นอยู่ 49% เพื่อลดความเสี่ยงทางธุรกิจ

นอกจากนี้ บริษัทฯได้ร่วมกับเปอร์ตามิน่า จัดตั้งบริษัทร่วมทุน ชื่อ PT IndoThai Trading (ITT)เพื่อทำธุรกิจเทรดดิ้งขยายตลาดกลุ่มโพลิเมอร์ เนื่องจากอินโดนีเซียต้องนำเข้าเม็ดพลาสติกจำนวนมาก การตั้งบริษัทเทรดดิ้งเพื่อหาตลาดรองรับโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่จาร์กาต้า ประเทศอินโดนีเซีย
ส่วนการเจรจากับพาร์ทเนอร์ให้เลือกไทยเป็นที่ตั้งโรงงานผลิตPLA แห่งที่ 2 ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอพลาสติกนั้น คาดว่าจะได้ข้อสรุปในต้นปีหน้า โดยบริษัทจะเจรจากับรัฐบาลในการหามาตรการสนับสนุนโครงการดังกล่าวเพื่อดึงดูดให้เนเจอร์ เวิร์คสตัดสินใจเลือกไทยเป็นฐานการผลิต

นายปฎิภาณ สุคนธมาน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงินและบัญชี บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทฯยังไม่มีแผนจะเพิ่มทุนจดทะเบียนในอนาคตแม้ว่าจะมีการลงทุนโครงการปิโตรเคมี คอมเพล็กซ์ในอินโดนีเซียก็ตาม เนื่องจากความสามารถในการกู้เงินอีกมากเพราะมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) อยู่ที่ 0.3 เท่าต่ำกว่าเป้านโยบายที่วางไว้ไม่เกิน 0.7 เท่า และมีความพร้อมในการลงทุนเฉลี่ยปีละ 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3.2 หมื่นล้านบาท ซึ่งปีนี้ลงทุนไปแล้ว 790 ล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับผลการดำเนินงานบริษัทฯในครึ่งปีหลังนี้คาดว่าจะมีอัตรากำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษีและค่าเสื่อม (EBITDA Margin) อยู่ที่ 11%สูงกว่าครึ่งปีแรกที่อยู่ระดับ 8% ทำให้เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 10% เป็นผลจากราคาอะโรเมติกส์ในครึ่งปีหลังนี้ โดยเฉพาะพาราไซลีนได้ปรับตัวสูงขึ้น หลังมีการชะลอการเปิดโรงงานอะโรเมติกส์ใหม่และการหยุดบางโรงงานเก่าในญี่ปุ่น
ทำให้ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์กับวัถตถุดิบขยับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 500เหรียญสหรัฐ/ตัน จากไตรมาส 2/57อยู่ที่ 333 เหรียญสหรัฐ /ตัน ทำให้มั่นใจว่าอะโรเมติกส์ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้ว

ส่วน ธุรกิจโรงกลั่นก็ยังดีต่อเนื่องคาดว่าค่าการกลั่น (GRM)จะอยู่ที่ 5.7 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ใกล้เคียงไตรมาส 2/2557 และราคาน้ำมันดิบจะอยู่ที่ 106 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ธุรกิจโอเลฟินส์ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น ราคาเม็ดพลาสติกPE ปรับตัวสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ระดับ 1.6 พันเหรียญสหรัฐ/ตัน และมีสเปรดอยู่ที่ 700 เหรียญสหรัฐ/ตัน เนื่องจากไตรมาส 3
มีความต้องการสินค้าตามฤดูกาล โดยจีนยังมีความต้องการใช้เม็ดพลาสติกสูงอยู่ และสหรัฐมีการชะลอเปิดโรงงานผลิตเม็ดพลาสติกPE
กำลังโหลดความคิดเห็น