xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ค้าน”คสช.ขยายถนน 304 ส่อแวว“ทำลาย”เอื้อนายทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -อนุมัติผ่านจนได้ สำหรับ “โครงการขยายเชื่อมผืนป่ามรดกโลก ถนนสาย 304” (กบินทร์บุรี-ปักธงชัย) ช่วงกิโลเมตร 26 - 29 และ 42 - 47 จาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร ซึ่งจะต้องตัดผ่านป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติทับลาน อันเป็นผืนป่ามรดกโลกอันล้ำค่า

โดยในที่ประชุมมี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร.และรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หัวหน้าฝ่ายสังคมและจิตวิทยา เป็นผู้อนุมัติให้ผ่านโครงการนี้ ในขณะที่เสียงวิพากษ์วิจารณ์ดังขรม มีการตั้งคำถามถึงคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมชุดปัจจุบันที่เพิ่งจะได้รับการแต่งตั้งจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยไม่ถึงหนึ่งเดือน และใช้ระยะเวลาเพียงไม่กี่วันศึกษารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่มีจำนวนกว่าพันหน้าอย่างรวดเร็ว

อย่างไรก็ตาม ประเด็นพิพาทเรื่องการดำเนินก่อสร้างถนนสาย 304 นี้มีมาตั้งแต่ปี 2543 ซึ่งองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก ได้ขึ้นบัญชีให้ผืนป่านี้เป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ ที่สำคัญเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2548 ที่ประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 29 ประเทศแอฟริกาใต้ เสนอแนะให้ประเทศไทยดำเนินการจัดทำแนวเชื่อมผืนป่า 2 แห่งนี้ ในขณะที่กรมทางหลวงได้เคยให้เหตุผลของการดำเนินการก่อสร้างถนนเส้นนี้ไว้ว่า ถนน 304 เป็นทางสายหลักที่เชื่อมการเดินทาง เป็นประตูสู่ภาคอีสาน และการขนส่งสินค้าจากภาคอีสานไปยังท่าเรือแหลมฉบังและนิคมอุตสาหกรรมภาคตะวันออก

กระทั่งล่าสุด โครงการนี้ได้ถูกอนุมัติผ่านฉลุยเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม ที่ผ่านมา โดยนายเกษมสันต์ จิณณวาโส เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) เลขานุการคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้เปิดเผยถึงการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งมี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย หัวหน้าฝ่ายสังคมจิตวิทยา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานได้พิจารณาเห็นชอบโครงการขยายเชื่อมผืนป่ามรดกโลก ถนนสาย 304 (กบินทร์บุรี-ปักธงชัย) ช่วงกิโลเมตรที่ 42-47 ซึ่งตัดผ่านป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ และอุทยานแห่งชาติทับลาน โดยกรมทางหลวงเตรียมขยายเส้นทางจาก 2 ช่องจราจร เป็น 4 ช่องจราจร แต่ติดปัญหาต้องทำรายงานผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม เพราะอยู่ในเขตผืนป่ามรดกโลกดงพญาเย็น-เขาใหญ่

“ถนนสายนี้มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยครั้ง เนื่องจากบางจุดมีลักษณะเป็นคอขวด คือ ช่วงกิโลเมตรที่ 42-57 และกิโลเมตรที่ 26-29 ที่ตัดผ่านป่ามรดกโลก จึงต้องออกแบบอุโมงค์ให้รถลอดใต้อุโมงค์ เพื่อให้สัตว์ป่าสามารถข้ามไปมาระหว่างป่าได้ โดยกรมทางหลวงเตรียมขออนุมัติงบประมาณปี 2558 จำนวน 2,900 ล้านบาท เพื่อเตรียมการก่อสร้างต่อไป”นายชัชวาลย์ บุญเจริญกิจ อธิบดีกรมทางหลวงได้แจกแจงต่อประเด็นดังกล่าว

ด้าน นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ภายหลังจากทราบเรื่องดังกล่าวก็ได้มีการออกแถลงการณ์คัดค้านไม่เห็นด้วย และยังได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากที่ยื่นหนังสือฟ้องร้องต่อศาลปกครองว่า การที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ โดยมี คสช.ที่ให้ความเห็นชอบอนุมัติโครงการ ขยายถนน และก็ทำอุโมงค์ ถนน 304 อาจจะไปกระทบต่อการทำทะเบียนขึ้นมรดกโลก ที่สำคัญก็คือ คณะกรรมสิ่งแวดล้อมเองเพิ่งได้รับการแต่งตั้งมาเพียงไม่กี่วัน จะสามารถมาทำความเข้าใจในรายละเอียดรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ซึ่งมีความหนาเป็นพันๆ หน้า โดยใช้ระยะเวลาตรวจสอบเพียงไม่กี่นาที เป็นไปได้อย่างไร

“โดยเฉพาะการขึ้นทะเบียนมรดกโลก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบมักกล่าวอ้างว่าเป็นเงื่อนไขสำคัญของมรดกโลกที่เร่งรัดให้หน่วยงานรัฐไทยจำเป็นต้องรีบแก้ไขด้วยวิธีการทำอุโมงค์ต่างๆ ผมจึงคิดว่าในช่วงระยะเวลาที่มีการประกาศหรือขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกกลับไม่มีข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ออกมาเผยแพร่ต่อสาธารณชนว่าทางหน่วยงานมีเงื่อนไขที่จะดำเนินการทำอุโมงค์เพื่อป้องกันอุบัติเหตุต่อสัตว์ แต่ที่แปลกก็คือ เหตุใดจึงมาเปิดเผยข้อมูลในช่วงที่มีการทำโครงการทั้งสองโครงการ มันเหมือนเป็นข้อพิรุธมากกว่า ที่ไม่เปิดเผยหรือปิดบังข้อมูลข่าวสารภาคประชาชนมาโดยตลอด ตั้งแต่การขึ้นทะเบียนมรดกโลก ซึ่งสิ่งเหล่านี้จึงเป็นคำถามที่หน่วยงานรัฐต้องตอบให้ได้ ทำไมจึงปกปิดข้อมูลข่าวสารเหล่านี้กับภาคประชาชนมาโดยตลอด ถ้าไม่เช่นนั้นก็จะถือว่ากระทำความผิดตามพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร พ.ศ. 2540 โดยชัดเจน”

“ที่สำคัญไปกว่านั้นคณะกรรมสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ปกป้อง คุ้มครอง และดูแลในเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้กับคนทั้งประเทศ ฉะนั้นบทบาท หน้าที่คือต้องปกป้อง คุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ หาใช่ไปดำเนินการเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการ ทุกวันนี้ประเทศของเราเลยมีพื้นที่สำหรับอนุรักษ์ลดน้อยลง สาเหตุล้วนมาจากการเอื้อผลประโยชน์ให้กับนายทุนทั้งสิ้น อาทิ ผู้ประกอบการที่ลงทุนทำนิคมอุตสาหกรรมในพื้นที่ปราจีนบุรี พื้นที่โคราช พื้นที่ภาคอีสานโดยใช้เส้นทางถนน 304 นี้เป็นหลัก”

“อีกทั้งความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการทำโครงการดังกล่าวไม่ว่าจะเป็นการขยายถนน ทำอุโมงค์ลอด ล้วนกระทบต่อสัตว์ป่าทั้งสิ้น เพราะว่าสัตว์ป่าเวลามันเดินทางหากิน มันไม่รู้ขอบเขต และที่สำคัญมันไม่สามารถเดินทางตามที่เราชี้นิ้วสั่งได้ ไปทางนั้นสิ ทางนี้สิ เพราะว่าสัญชาตญาณของสัตว์จะเดินทางหากินกันระหว่างอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่กับอุทยายานแห่งชาติทับลาน ซึ่งสัตว์พวกนี้จะเดินทางไปตามแนวทางเดินปกติของมันอยู่แล้ว การไปบังคับให้มันเดินไปทางนั้น ทางนี้ จึงเป็นการคิดแทนสัตว์ ผมจึงคิดว่าไม่เห็นด้วย”นายศรีสุวรรณให้เหตุผล

สำหรับการอนุมัติดำเนินสร้างถนนสาย 304 นี้ ย้อนกลับไปเมื่อปี 2552 กรมทางหลวงได้ทำการศึกษาและสำรวจออกแบบทางเชื่อมผืนป่ามรดกโลกบนทางหลวงหมายเลข 304 โดยมีบทสรุปของผลการศึกษา 5 ทางเลือก ที่จะเชื่อมผืนป่า 2 อุทยานเข้าด้วยกัน คือ

1.อุโมงค์ทางลอดใต้ภูเขา ระยะทาง 2.1 กิโลเมตร เป็นการก่อสร้างโดยการเจาะอุโมงค์ทางหลวงแนวใหม่ทะลุตรงผ่านเขตภูเขา เพื่อให้ผืนป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และอุทยานแห่งชาติทับลานแลดูเป็นผืนป่า เดียวกันตลอดแนวเส้นทางโครงการ ไม่ถูกบดบังทัศนียภาพด้วยถนนทางหลวงของโครงการ ทำให้การเชื่อมต่อทางเดินสัตว์ป่าสามารถกระทำได้โดยไม่มีสิ่งกีดขวางและปลอด มลพิษ

2.ทางยกระดับยาวตลอด ระยะทาง 3.4 กิโลเมตร เป็นการก่อสร้างสะพานยกระดับ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นไปจนถึงจุดสิ้นสุดโครงการ ส่งผลให้ผืนป่าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่และทับลานเป็นพื้นที่ขนาดใหญ่อยู่ด้านล่างของโครงสร้างสะพานทำให้สัตว์ป่าสามารถข้ามฝั่งไปมาได้โดยสะดวก

3.อุโมงค์ทางหลวงชนิดตัดดินแล้วถมกลับ เป็นการก่อสร้างอุโมงค์แบบตื้นตามแนวถนนเดิม โดยจะขุดดินหรือระเบิดหินบริเวณผิวหน้าให้ได้ความลึกตามระดับที่ได้ออกแบบไว้ จากนั้นจึงวางโครงสร้างอุโมงค์ทางลอดแล้วถมกลับให้ได้ระดับดินเดิม ปรับปรุงทัศนียภาพบริเวณด้านบนให้เป็นลักษณะผืนป่าเชื่อมต่อระหว่างอุทยาน แห่งชาติเขาใหญ่และทับลาน ส่วนบริเวณช่วงเปิดของอุโมงค์จะทำการติดตั้งรั้วกั้นสัตว์เพื่อป้องกัน อุบัติเหตุ

4.ทางเชื่อมป่าแบบผสมผสานช่วงๆ เป็นสะพานยกระดับ ระยะทาง 1.2 กิโลเมตรและอุโมงค์ถมกลับ ระยะทาง 0.7 เมตร เป็นการออกแบบโดยการปรับลักษณะแนวทางดิ่งให้มีช่องลอดที่เพียงพอสำหรับทาง สัตว์เดินลอดได้ หรือลดระดับการก่อสร้างทางหลวงลงเพื่อวางโครงสร้างอุโมงค์ตื้นแล้วถมดิน เหนืออุโมงค์เป็นทางสำหรับสัตว์เดินข้าม โดยเบื้องต้นจะใช้แนวเส้นทางที่ได้รับการออกแบบขยายทางหลวงเป็น 4 ช่องจราจรไว้แล้ว และปรับบางช่วงของแนวเส้นทางให้เหมาะสมเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการจราจร ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งรูปแบบในการก่อสร้างจะพิจารณาจากเส้นทางเดินของสัตว์ป่าควบคู่ไปกับ ลักษณะภูมิประเทศสองข้างทาง

5.ทางเชื่อมผืนป่าสำหรับสัตว์ข้ามเป็นแห่งๆ เป็นทางเชื่อมผืนที่มีรูปแบบแนวเส้นทางและการขยายทางหลวงโดยจะทำการปรับเปลี่ยนระดับก่อสร้าง ทางหลวงที่จุดเชื่อมผืนป่าเขาใหญ่-ทับลาน หรืออาจปรับแนวเส้นทางใหม่หากมีความจำเป็น ซึ่งจะพิจารณารูปแบบโครงสร้างทางข้ามของสัตว์ป่า ว่าควรมีลักษณะเป็นสะพานข้ามทางหลวงหรืออุโมงค์ลอดใต้ทางหลวง จากความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ที่จุดเชื่อมต่อผืนป่าในแต่ละแห่ง

ดังนั้น จึงต้องติดตามต่อไปว่า สุดท้ายแล้วโครงการก่อสร้างถนนสาย 304 ที่ได้รับการอนุมัติจาก คสช.แล้วจะสามารถเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ เพราะขณะนี้ได้มีการนำเรื่องดังกล่าวฟ้องร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้พิสูจน์ทราบข้อเท็จจริงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว



กำลังโหลดความคิดเห็น