ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ผู้ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้งให้ประธานบอร์ดปตท. เริ่มออกอาการไม่ปลื้มอย่างยิ่ง เพราะ คสช. ไม่ประกาศลอยตัวราคาพลังงานอย่างที่คาดหวัง ทำให้กำไรและผลตอบแทนการลงทุนของปตท.ต่ำไป
ในการประชุมคณะกรรมการ ปตท. (นัดพิเศษ) เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2557 ที่ผ่านมา นายปิยสวัสดิ์ ฟ้องต่อสังคมว่า ปัจจุบันอัตรากำไรของ ปตท. (Profit Margin) อยู่ระดับต่ำเพียง 2.7% ของยอดขาย ซึ่งต่ำกว่าบริษัทที่ดำเนินธุรกิจด้านพลังงานด้วยกัน และมีผลตอบแทนการลงทุน (ROIC) ต่ำลงทุกปี โดยปี 2556 อยู่ที่ 9% จากปกติควรอยู่ระดับ 16% ส่งผลกระทบต่อฐานะการเงินของ ปตท.ไม่แข็งแกร่ง เหตุที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากนโยบายรัฐที่ไม่กล้าตัดสินใจหรือต้านกระแสสังคมได้ ทำให้ ปตท.ต้องแบกรับภาระจากก๊าซหุงต้ม (LPG) และ NGV ปีละ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งนับวันภาระดังกล่าวจะเพิ่มมากขึ้น
ประธานบอร์ด ปตท. ให้ตัวเลขว่า ที่ผ่านมาผลการดำเนินงานของ ปตท.มีกำไรสุทธิประมาณ 90,000-100,000 ล้านบาท มานานถึง 7 ปี แต่ยอดขาย ปตท.เพิ่มขึ้นทุกปี ทำให้อัตรากำไรขั้นต้น ปตท.ลดลงต่ำกว่า 3% ของยอดขาย และมีประชาชนบางกลุ่มเข้าใจว่า ปตท.กำไรเยอะมาก ทั้งที่กำไรจะมากหรือน้อยต้องเปรียบเทียบกับเงินลงทุนด้วย ซึ่งที่ผ่านมาการลงทุนของ ปตท.จำนวนมากทั้งในและต่างประเทศมาจากกำไรจากการดำเนินงานโดยไม่สร้างภาระให้กับรัฐ โดยปีนี้ ปตท.มีการทบทวนงบการลงทุนใหม่ โดยมีการปรับลดงบลงทุนในต่างประเทศลง
“ROIC ของ ปตท.ลดลงเรื่อยๆ ในปี 2556 อยู่ที่ 9% เป็นผลมาจากนโยบายรัฐที่ไม่กล้าขยับราคาพลังงานตามกลไกราคา ถ้ารัฐยังคงนโยบายเช่นนี้ ปตท.ก็คงต้องลดค่าใช้จ่ายลงและชะลอการลงทุน เพื่อรักษาฐานะการเงินให้เข้มแข็งสวนทางกับนโยบายการเพิ่มการลงทุนในต่างประเทศ” นายปิยสวัสดิ์ ให้สัมภาษณ์สื่อในท่วงทำนองว่าถ้าไม่ปรับราคาพลังงาน ปตท.ก็ต้องลดค่าใช้จ่าย ชะลอลงทุน
แต่ในขณะเดียวกัน นายปิยสวัสดิ์ กลับสาธยายว่า นับจากนี้ ปตท.ต้องแสวงหาโอกาสการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะ ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) เนื่องจากสัญญาสัมปทานต่างๆ จะทยอยหมดอายุลง และปริมาณก๊าซฯ ในอ่าวไทยก็จะลดลงอย่างรวดเร็วในปี 2565 เป็นต้นไป ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนในการเปิดประมูลสัมปทานรอบที่ 21 และการต่อสัญญาสัมปทานที่จะสิ้นสุดลง รวมไปถึงการเจรจาพัฒนาพื้นที่คาบเกี่ยวไทย-กัมพูชาที่จะต้องใช้เวลาอีกนาน
นายปิยสวัสดิ์ ย้ำคำเรียกร้องให้มีการปรับราคาพลังงานควรสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง หากรัฐยังคงอุดหนุนพลังงาน แม้ว่า ปตท.จะเป็นของรัฐ 100% ปตท.จะกลายเป็นองค์กรที่ไม่มีประสิทธิภาพ คนที่จะปลดโซ่ตรวนตรงนี้ได้คือผู้ที่มีอำนาจ รวมทั้งประชาสัมพันธ์สร้างความเข้าใจให้กับประชาชน โดยบอร์ด ปตท.ได้สั่งให้ฝ่ายบริหารไปเร่งทำความเข้าใจกับสังคมให้ทราบข้อเท็จจริงในเรื่องต่างๆ ที่ ปตท.ถูกโจมตีให้เสร็จภายใน 1 ปี ส่วนแนวคิดที่จะเปลี่ยนแบรนด์ปั๊ม ปตท. เป็นปั๊มสามทหาร ถือเป็นการแก้ไขไม่ตรงจุด และแบรนด์ ปตท. ก็ติดตลาดอยู่แล้ว
การประชุดนัดพิเศษของบอร์ด ปตท. ดังกล่าว ยังได้กำหนดทิศทางและกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจของกลุ่ม ปตท.ในช่วง 5 ปีข้างหน้าเพื่อใช้ประกอบการจัดทำแผนวิสาหกิจและงบประมาณประจำปี 2558-2562 เพื่อก้าวสู่การเป็นบริษัทพลังงานไทยข้ามชาติชั้นนำ ซึ่งนายปิยสวัสดิ์ ยอมรับว่าที่ผ่านมา ปตท.เติบโตจากการพึ่งพาทรัพยากรปิโตรเลียมในประเทศ แต่นับวันทรัพยากรในประเทศมีจำกัดแม้ว่าจะได้รับการต่อสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมในไทยก็ตาม ทำให้ไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) เพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ปตท.จำเป็นต้องพัฒนาและพึ่งพาองค์ความรู้มากกว่าการพึ่งพาทรัพยากรในประเทศ โดยการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ และให้ความสำคัญด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้เป็นองค์กรที่มีความยั่งยืนเหมือนกับบริษัท โททาล ของฝรั่งเศส ซึ่งแต่ละปี ปตท.มีการตั้งงบในการวิจัยและพัฒนา 3% ของยอดขาย และสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติ
วิสัยทัศน์การพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อเป็นแหล่งรายได้ให้ปตท.มั่นคงอย่างยั่งยืน เป็นเรื่องที่ปตท.ควรทำและควรพัฒนาไปได้ไกลมากๆ กว่านี้นานแล้ว และจะทำให้ปตท.ดูดีในสายตาของสังคม แทนที่จะมาแสวงหาเม็ดเงินกำไรมหาศาลจากการขูดรีดประชาชน และการผูกขาดตัดตอนอย่างเช่นที่เป็นมา
หากสงสัยว่าขูดรีดจนร่ำรวยอย่างไร ต้องกลับไปดูตัวเลขย้อนหลังเปรียบเทียบก่อนและหลังการแปรรูป ปตท. จะพบว่า ภายหลังการแปรรูป ปตท.สามารถทำรายได้และกำไรอย่างงดงามโดยเฉลี่ยปีละแสนล้านบาท ซึ่งเป็นเม็ดเงินกำไรที่นายปิยสวัสดิ์ บอกว่า ยังไม่น่าพอใจ !!
การผูกขาดหรือเป็นผู้ถือครองส่วนแบ่งตลาดรายใหญ่ในธุรกิจพลังงานตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ทำให้ผลประกอบการของ ปตท. ใน 2540 - 2544 ก่อนการแปรรูป มีกำไรเพียงปีละประมาณ 20,000 ล้านบาท ไต่ระดับขึ้นอย่างรวดเร็วภายหลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
โดยในปี 2547 ปตท.มีรายได้ 680,650 ล้านบาท กำไรสุทธิ 62,666 ล้านบาท พอสิ้นปี 2550 รายได้เพิ่มขึ้นกว่า 150% อยู่ที่ 1,553,053 ล้านบาท หรือกว่า 1.5 ล้านล้านบาท มีกำไร 97,803 ล้านบาท หรือเกือบแสนล้าน โดยธุรกิจน้ำมันทำยอดรายได้กว่า 70% แต่กำไรเนื้อๆ ของปตท.มาจากธุรกิจก๊าซฯ ซึ่งผูกขาดทั้งระบบ แผนลงทุนของ ปตท.จึงทุ่มลงทุนไปยังธุรกิจก๊าซฯ โดยในช่วง 5 ปี (2551-2555) มูลค่ารวม 241,211 ล้านบาท ทั้งการวางท่อก๊าซฯและโรงแยกก๊าซฯ ขณะที่ธุรกิจน้ำมัน ปตท.ยึดครองส่วนแบ่งตลาดการจำหน่ายน้ำมัน (หน้าปั๊ม) ไว้ได้ถึง 34% ปริมาณ 14,277,771 ล้านลิตร (น้ำมันทุกประเภท) จากปริมาณรวม 42,016,351 ล้านลิตร
ส่วนผลกำไรนับแต่ปี 2550 เป็นต้นมานั้น มีเพียงปี 2551 ที่ปตท.และบริษัทย่อยกำไรลดลงเพราะภาวะเศรษฐกิจถดถอย ราคาน้ำมันและผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมตกต่ำลง โดยปี 2551 ปตท. สามารถทำรายได้ 2,000,816 ล้านบาท มีกำไร 51,705 ล้านบาท ส่วนปี 2552 รายได้ 1,622,078 ล้านบาท มีกำไร 59,547 ล้านบาท ปี 2553 รายได้ 1,943,858 ล้านบาท กำไร 83,087 ล้านบาท
จากนั้น ปี 2554 รายได้พุ่งทะยานขึ้นถึง 2,475,494 ล้านบาท และทำกำไรสูงถึง 105,296 ล้านบาท เช่นเดียวกับปี 2555 ที่ปตท.และบริษัทย่อย มีรายได้จำนวน 2 ,793,833 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 104,665.81 ล้านบาท ส่วนปี 2556 มีรายได้จำนวน 2,842,688 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 94,652 ล้านบาท เรียกว่าผลกำไรงดงามอยู่ในระดับแสนล้านหรือต่ำกว่านั้นเพียงเล็กน้อยในบางปีที่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรงเท่านั้น
เม็ดเงินรายได้และกำไรมหาศาลของ ปตท.ที่ถูกแบ่งปันไปยังผู้ถือหุ้นในบมจ.ปตท. เทียบไม่ได้เลยกับเงินลงทุนจากผู้ถือหุ้นใหม่ที่เข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนตอนแปรรูป ปตท. ที่มีจำนวนเพียงเล็กน้อยแค่ 28,000 ล้านบาทเท่านั้น โดยรายงานของคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา (ก.ย.2552) ระบุว่า ผู้ถือหุ้นใหม่ได้รับส่วนแบ่งกำไรระหว่างปี 2544 - 2550 มากถึง 216,384 ล้านบาท คิดเป็นอัตรากำไรสูงถึง 771% ซึ่งนักลงทุนดังกล่าว มีคำถามมาตลอดว่าคือนักการเมืองที่เข้าซื้อหุ้นผ่านทางกองทุนนอมินีใช่หรือไม่ กำไรเหล่านี้กลับไปสู่นักการเมืองเท่าไหร่กันแน่ ?
นอกเหนือจากอาการไม่ปลื้มกับเม็ดเงินกำไร บมจ.ปตท.ของท่านประธานบอร์ด ปตท.แล้ว ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ยังมีการปะหมัดกันเล็กๆ ระหว่าง นายปิยสวัสดิ์ กับ นางสาวรสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ ว่าด้วยประเด็นเรื่องราคาน้ำมัน
เรื่องนี้ นายปิยสวัสดิ์ ประธานบอร์ด ปตท. ให้สัมภาษณ์เรื่อง “ทิศทาง ปตท.บนทางสองแพร่ง” ผ่านทางสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ ทีวีดิจีตอล ช่วงเวลา 20.10-21.00 น. ของวันที่ 30 ก.ค. 2557 ตอนหนึ่งว่าราคาน้ำมันสำเร็จรูปในไทยไม่แพง เพราะถ้าน้ำมันในประเทศแพงผู้ค้าน้ำมันก็สามารถสั่งซื้อน้ำมันจากต่างประเทศนำเข้ามาได้
นางสาวรสนาจึงโพสเฟซบุ๊กว่า “... เคยเขียนโต้นายไพรินทร์ไปแล้วว่า น้ำมันเกรดยูโร 4 คือวิธีการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non Tariff Barrier) ที่ทำให้การนำเข้าน้ำมันราคาถูกจากประเทศอื่นเป็นไปไม่ได้ ยกตัวอย่างสมัยรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ที่เคยมีแนวคิดจะนำเข้าน้ำมันราคาถูกจากรัสเซีย ปรากฏว่ามีเสียงคัดค้านกันระงมจากโรงกลั่นน้ำมัน ตามข้อมูลอ้างอิงจาก นสพ.มติชน วันศุกร์ที่ 18 กรกฎาคม 2551 ....คำพูดของอดีตนายกฯ สมัครได้บอกอย่างชัดเจนว่าบริษัทโรงกลั่นไม่ต้องการให้มีการนำเข้าน้ำมันมาแข่งกับโรงกลั่นในประเทศ และน้ำมันในประเทศแพงเพราะไม่มีการแข่งขัน”
นอกจากนี้ นางสาวรสนา ยังยกคำให้สัมภาษณ์ของนายชายน้อย เผื่อนโกสุม กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น ในฐานะประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียมในขณะนั้น ให้สัมภาษณ์ผ่าน นสพ.ผู้จัดการ วันที่ 14 กรกฎาคม 2551 มีเนื้อหาที่เป็นสาระสำคัญ คือ โรงกลั่นน้ำมันได้ลงทุนปรับปรุงคุณภาพไปหลายพันล้าน ถ้าขืนปล่อยให้มีการนำเข้าน้ำมันราคาถูกเข้ามาแข่งกับโรงกลั่นในประเทศก็จะทำให้ปริมาณน้ำมันที่กลั่นในประเทศเหลือมากขึ้น ทำให้ต้องส่งออกน้ำมันคุณภาพสูงมากขึ้น
แต่สิ่งที่นายชายน้อยไม่ได้พูดให้ชัดก็คือ โรงกลั่นต้องส่งออกน้ำมันเกรดสูงคือ ยูโร 4 ในราคาเกรดต่ำ คือ ยูโร 2 เท่านั้น ซึ่งเงินจากราคาส่งออกจะได้น้อยกว่าขายให้คนไทยในประเทศ เพราะประเทศเพื่อนบ้านแถบนี้รวมทั้งสิงคโปร์ใช้น้ำมันเกรดยูโร 2 กันทั้งนั้น
โรงกลั่นน้ำมันจึงอยากขายคนไทยให้มากที่สุดเพื่อเอากำไรไปชดเชยจากการที่ต้องส่งออกไปแข่งขันกับบริษัทอื่น ซึ่งต้องขายราคาถูกเพื่อแข่งขัน และยังต้องขายน้ำมันเกรดสูงในราคาเกรดต่ำ ดังที่อดีตอธิบดีกระทรวงพลังงานคนหนึ่ง เคยชี้แจงต่อกรรมาธิการในวุฒิสภาว่า “ต้องส่งออกน้ำมันเกรดสูงของไทยไปขายแบบขายขยะ!” กันเลยทีเดียว
ดังนั้น สิ่งที่ประธานบอร์ด ปตท. และ CEO ปตท.พูดนั้นจึงเป็นการให้ข้อมูลต่อสาธารณชนที่เป็นจริงแค่ทางทฤษฎีเท่านั้น แต่ไม่เคยปฏิบัติได้ในโลกความจริง ประชาชนคนไทยต้องแบกรับต้นทุนน้ำมันคุณภาพสูงแบบเสียเปล่า (Quality give away) เพื่อช่วยโรงกลั่นน้ำมันสามารถกีดกันน้ำมันราคาถูกเข้ามาแข่งกับตัวเอง และยังต้องช่วยทำประชานิยมอุดหนุนราคา (Cost Subsidy) ให้กับเพื่อนบ้านทั่วอาเซียนอีกด้วย
การให้ข้อมูลความจริงเพียงครึ่งเดียวต่อสังคม กับอาการไม่ปลื้มกำไรปีละแสนล้านของปตท. ของท่านประธานบอร์ด ปตท. คนไทยคงต้องระมัดระวังไม่ให้ถูกล้วงกระเป๋าเพื่อความมั่งคั่งของปตท.โดยไม่รู้เนื้อรู้ตัวเพิ่มมากขึ้น