xs
xsm
sm
md
lg

ชาวบ้านเหนือ-อีสาน-ใต้ร้องกสม. คำสั่งคสช.ทำพิษไร้ที่อยู่-ที่ทำกิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- ชาวบ้าน 3 พื้นที่ ร้องกสม. จนท.รัฐ ติดป้ายไล่ออกจากที่ดิน หวั่นคำสั่ง คสช. ที่ 64 และ 66 ทำพิษ ไร้ที่อยู่ ที่ทำกิน

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะประธาน คณะอนุกรรมการด้านที่ดินและป่า สำนักงานคณะกรรมการสิทธิฯ ได้ประชุมผู้เกี่ยวข้องในกรณีตัวแทนภาคประชาชน ประกอบด้วย กลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ชาวบ้านในพื้นที่เทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง และชาวบ้าน อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ ยื่นคำร้องมายังกสม. เพื่อขอให้ตรวจสอบหน่วยงานราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 64 และ 66/2557 ที่ระบุว่า ห้ามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรามปราบและจับกุมผู้ที่บุกรุกและทำลายสภาพป่าหรือทรัพยากรธรรมชาติที่อาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมีตัวแทนภาคประชาชนจาก 3 พื้นที่ดังกล่าว พร้อมด้วยตัวแทนจากหน่วยงานราชการ อาทิ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และตัวแทนจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุม
นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า สาเหตุที่จัดให้มีการประชุมในครั้งนี้ เนื่องมีประชาชนใน 3 พื้นที่ ยื่นคำร้องมายังกสม. จากกรณีที่มีเจ้าหน้าที่รัฐได้สั่งห้ามชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินทำกินที่อาจไปทับเขตกับพื้นที่อุทยาน และพื้นที่อนุรักษ์ อนุกรรมการฯ จึงต้องเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาไต่สวน เพื่อรับฟังข้อเท็จจริง เพราะกรณีนี้อาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และกระทบสิทธิประโยชน์ที่ดินทำกิน และสิทธิชุมชน อีกทั้งแม้รัฐธรรมนูญ 2550 จะยกเลิกไปแล้ว แต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว มาตรา 4 ได้ระบุว่า ประชาชนชาวไทย ต้องได้รับการคุ้มครองเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิเสรีภาพ ดังนั้นการบังคับใช้กฎหมายต่างๆ ยังคงต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน
นายบุญ แซ่จุง ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่า แต่เดิมการจัดสรรพื้นที่บริเวณเทือกเขาบรรทัด ชาวบ้านไม่ได้จัดสรรแบ่งกันเอง หากแต่พื้นที่บริเวณนี้ สำนักนายกรัฐมนตรี ได้ทำการแบ่งพื้นที่ให้ชาวบ้านมีที่ดินทำกิน ในสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อีกทั้งในพื้นที่ดังกล่าว ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดให้ทำเป็นโฉนดชุมชน ปัญหาข้อพิพาทในพื้นที่ ที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินคดีทางอัยการสูงสุด ก็ได้ให้ชะลอ เพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาท รวมทั้งรอให้การดำเนินการทำเป็นโฉนดชุมชนจะแล้วเสร็จ แต่เมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่ผ่านมา กลับได้มีเจ้าหน้าที่อุทยานมาติดประกาศหนังสือ ฟันทำลาย สั่งให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ จึงสร้างความประหลาดใจให้กับชาวบ้าน เพราะการกระทำดังกล่าว ขัดกับคำสั่งของอัยการสูงสุด
ดังนั้นจึงเป็นที่น่าสังเกตุว่า การกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่ เป็นการตีความตามคำสั่งฉบับที่ 64 และ 66 ของ คสช.หรือไม่ เพราะภายหลังจากมีประกาศดังกล่าว ทางเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ ก็ได้มีการเคลื่อนไหว อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่ ยังไม่ได้เข้ามีรื้อถอน หรือทำลายอุปกรณ์ทำกินของชาวบ้านแต่อย่างใด มีแต่เพียงติดประกาศไว้เท่านั้น
ขณะที่ตัวแทนกลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กล่าวว่า ภายหลังจากมีประกาศดังกล่าว ในหลายพื้นที่ทางภาคเหนือ อย่าง จ.เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และลำปาง ก็ได้มีเจ้าหน้าที่อุทยาน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง สนธิกำลังเข้าไปในแต่ละพื้นที่โดยไม่ได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่น หรือชาวบ้าน เพื่อเข้าไปจัดการในที่ดินทำกินของชาวบ้าน แม้ชาวบ้านจะไม่มีโฉนดในการครอบครอง แต่ก็ได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่เหล่านี้ในการทำมาหากิน อีกทั้งยังมีนายทุนที่อ้างว่า รู้จักกับคนใน คสช. มาข่มขู่ชาวบ้านว่า ให้ออกจากพื้นที่ หากไม่ทำตามจะให้ทหารเข้ามาจัดการ
นายวีระยุทธ วรรณเลิศสกุล กรมอุทยานฯ ชี้แจงว่า หากดูจากการแบ่งพื้นที่ กรมอุทยานฯ จะดูเป็นผู้ร้ายใจแคบ ประชาชนขอพื้นที่แต่กรมอุทยานฯไม่ยอมมอบให้ แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การแบ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศนี้ แบ่งได้เป็น 3 วง คือ 1. พื้นที่ที่เอกชนครอบครอง 2. พื้นที่กันชนที่มีหลายหน่วยงานร่วมกันดูแล และ 3. พื้นที่อนุรักษ์ ที่กรมอุทยานฯ เป็นผู้ดูแล ซึ่งมักจะเป็นพื้นที่ที่มีข้อพิพาทเรื่องที่ดินทำกินมากที่สุด จึงไม่แปลกที่กรมอุทยานฯ จะดูเป็นผู้ร้าย อย่างไรก็ตาม ทางกรมอุทยานฯ ยังไม่ทราบว่า มีเจ้าหน้าที่ไปดำเนินการสั่งให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ แต่จะรีบนำเรื่องนี้ไปตรวจสอบเพื่อหาข้อเท็จจริง
กำลังโหลดความคิดเห็น