xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” ติง รธน.ชั่วคราว ไม่ให้อำนาจ สนช.ถอดถอนนักการเมืองชำเรา รธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คำนูณ สิทธิสนาม (แฟ้มภาพ)
อดีต ส.ว. ห่วงรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ไม่มีบทบัญญัติให้อำนาจ สนช. ถอดถอน นักการเมืองใช้ตำแหน่งหน้าที่ ชำเรารัฐธรรมนูญ ปล้นอำนาจอธิปไตย ที่ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดไว้

นายคำนูณ สิทธิสมาน อดีตสมาชิกวุฒิสมาชิก โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า คำถามที่น่าสนใจและท้าทายในอนาคตอันใกล้นี้คือ สนช. ที่จะแต่งตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 จะมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกระบวนการถอดถอนบุคคลผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ ป.ป.ช. ชี้มูลส่งมาให้วุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ 2550 ดำเนินกระบวนการถอดถอนออกจากตำแหน่งแล้วก่อนรัฐประหารได้หรือไม่ ทั่งที่ชี้มูลส่งมาแล้ว คือ อดีตประธานวุฒิสภา อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร อดีตนายกรัฐมนตรี และอดีต ส.ส./ส.ว. จำนวนหนึ่ง และที่จะส่งมาต่อไป

เพราะแม้รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 6 วรรคสองจะเขียนให้ สนช. ทำหน้าที่วุฒิสภาไว้ด้วยแล้ว แต่บทบัญญัติว่าด้วยการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่มีอยู่แล้ว และรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ไม่ได้เขียนรับรองไว้ แม้จะยังคงมีกฎหมาย ป.ป.ช. บทว่าด้วยการถอดถอนอยู่ก็ตาม แต่กฎหมาย ป.ป.ช. ก็เป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญฉบับที่เลิกไปแล้ว

ควรเข้าใจนะครับว่าถึงไม่มีตำแหน่งทางการเมืองแล้ว แต่วุฒิสภาชุดที่แล้วได้วางหลักสำคัญที่สุดไว้ว่าต้องดำเนินกระบวนการถอดถอนต่อไป เพราะยังมีโทษห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง 5 ปี รออยู่ด้วย

เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะถ้า สนช. ดำเนินกระบวนการถอดถอนต่อไปได้ ก็จะตัดนักการเมืองที่ร่วมกระทำผิดออกจากระบบไปได้มาก ไม่ใช่ความผิดธรรมดา แต่เป็นการใชัอำนาจอธิปไตยโดยขาดหลักนิติธรรม หากอ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 15-18/2556 และ 1/2557 แล้วสรุปด้วยภาษาชาวบ้านว่าก็คือความพยายามชำเรารัฐธรรมนูญเพื่อปล้นอำนาจอธิปไตยของประชาชนที่มีเหลืออยู่น้อยนิดไปเป็นของพรรคการเมืองสร้างระบอบเผด็จการรัฐสภาโคตรเบ็ดเสร็จขึ้นมา

การกันพวกเขาออกนอกระบบการเมืองหากโดนมติถอดถอนอาจไม่ใช่แค่ 5 ปี อาจตลอดชีวิตด้วยซ้ำ เพราะพวกเขาจะไปเจอรัฐธรรมนูญฉบับถาวร 2558 ที่มีกรอบตามมาตรา 35 (4) ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 อีก

“กลไกที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันและตรวจสอบมิให้ผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายว่ากระทำการทุจริตหรือประพฤติมิชอบหรือเคยกระทำการอันทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตหรือเที่ยงธรรมเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาด

แต่ถ้า สนช. ดำเนินกระบวนการถอดถอนต่อไปไม่ได้ ก็น่าสงสัยว่าทำไมจึงไม่ได้ เพราะโอกาสที่วุฒิสภาปกติจะมีเอกภาพจนสามารถมีมติด้วยเสียง 3 ใน 5 ยากมาก

เรื่องนี้ยังมีความเห็นทางกฎหมายต่างกันเป็น 2 ทาง

และเนื่องจากเป็นเรื่องในวงงานนิติบัญญัติ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 5 วรรคสองอำนาจในการวินิจฉัยอยู่ที่สนช. เอง

น่าเสียดายที่รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่เขียนปิดจุดอ่อนของการทำรัฐประหารในอดีตได้หมด ไม่เขียนรองรับอำนาจดำเนินการถอดถอนต่อไปของ สนช. ให้ชัดเจนเสียเลย


กำลังโหลดความคิดเห็น