xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ส่งไลน์ยันยุบองค์กรอิสระไร้มูล “วิษณุ” ย้ำแค่ลือ-ชี้ศาล รธน.ติดขัดสุด หลังยกเลิก รธน.50

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง (ภาพจากแฟ้ม)
เลขาฯ กกต. ส่งไลน์แจ้งผู้บริหาร พนักงาน กกต. ทั่วประเทศ ยันข่าวยุบองค์กรอิสระไม่มีมูล ด้าน คสช. เรียกแม่บ้าน 9 องค์กรอิสระ หารืออุปสรรคการทำงานหลังมีประกาศ คสช. และยกเลิก รธน. 50 ให้เวลาเที่ยงพรุ่งนี้ ชงกลับแนวทางแก้ไข ด้าน กกต. เตรียมเสนอคงอำนาจหน้าที่ ช่วยการปฏิรูปใน 3 ด้าน ขณะ “วิษณุ” ที่ปรึกษา กม.คสช. ย้ำแค่ลือ ระบุศาล รธน. มีปัญหามากสุดหลักยกเลิก รธน. 50 แต่จะเรียบร้อยเมื่อมีธรรมนูญการปกครอง

วันนี้ (6 มิ.ย.) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านบริหารการเลือกตั้ง เปิดเผยว่า ทราบจากเลขาธิการ กกต. ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้เชิญองค์กรอิสระต่างๆ ไปหารือว่า มีการสอบถามกรณีการยกเลิกรัฐธรรมนญปี 50 ทำให้องค์กรอิสระมีปัญหาติดขัดในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายหรือไม่ โดยได้มีการขอให้แต่ละองค์กรไปหารือกันแล้วทำความเห็นเสนอกลับมาให้ คสช. ทราบ ซึ่งไม่มีการพูดถึงยุบเลิกหรือปรับเปลี่ยนองค์อิสระตามที่ปรากฏเป็นข่าว

“ไม่ได้ยินว่ามีการพูดถึงการยุบ ปรับองค์กรอิสระ ไม่ทราบข่าวนี้ว่ามาจากไหน ต้องไปถามแหล่งข่าวที่ให้ข่าวมา” นายสมชัยระบุ

แหล่งข่าวจากที่ประชุมหารือ คสช. เปิดเผยว่า การหารือของ คสช. กับฝ่ายประจำขององค์กรอิสระ และองค์กรตามรัฐธรรมนูญรวม 9 องค์กรนั้น นอกจากทาง คสช. มีการถามข้อขัดข้องในการปฏิบัติงานหลังมีการออกประกาศ คสช. ฉบับต่างๆ และยกเลิกรัฐธรรมนญว่าแต่ละองค์กรมีผลกระทบอย่างไรบ้าง โดยให้แต่ละองค์กรมีการเสนอแนวทางแก้ไขกลับไปในยัง คสช. ภายในวันพรุ่งนี้เวลา 12.00 น. ซึ่งในที่ประชุมทาง คสช. ยังระบุว่าให้องค์กรต่างๆ ทำหน้าที่ตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายต่อไป เพื่อบริการประชาชนอย่างเท่าเทียม

อย่างไรก็ตาม ในส่วนของ กกต. คาดว่าข้อเสนอที่จะทำไปยัง คสช. จะเป็นการให้พิจารณาว่าหากสถานภาพของ กกต. ยังคงอยู่จะมีส่วนช่วยในการปฏิรูปอย่างน้อย 3 ส่วน คือ 1. ส่วนของการเลือกตั้งส่วนท้องถิ่นที่ กกต. ยังคงต้องทำหน้าที่อยู่นั้น แต่ละปีจะมีการครบวาระและต้องเลือกตั้งใหม่อยู่ระหว่าง 1,000 - 3,000 องค์กร ซึ่งจะมีคดีการเลือกตั้งท้องถิ่นต้องเข้ามาสู่การพิจารณาของ กกต. รวมทั้งประกาศของ คสช. เองก็ให้ศาลอุทธรณ์ภาครับต่อคดีที่ส่งไปจาก กกต.

2. เสนอให้คดีการทุจริตการเลือกตั้ง ที่มีโทษทั้งการเพิกถอนสิทธิทางการเมืองและคดีอาญา การยุบพรรค ที่ยังค้างอยู่จำนวนมาก ยังคงต้องเดินหน้าทำต่อไป พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่เป็นประโยชน์ เช่น พ.ร.ป. การทำประชามติควรให้มีผลต่อไป เนื่องจากมีโอกาสที่ต้องนำมาใช้ระหว่างกระบวนการปฏิรูปประเทศ พ.ร.ป. พรรคการเมือง อาจจะรอการออกแบบใหม่ของสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ขอให้คงสภาพพรรคการเมืองที่มีอยู่ตามรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ไว้ก่อนแต่ห้ามดำเนินกิจกรรมทางการเมืองไว้ชั่วคราว ส่วน พ.ร.ป. การเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. ก็ให้คงไว้ในส่วนที่เป็นบทลงโทษในการทุจริตการเลือกตั้งต่อไป 3. กกต. ยังคงมีส่วนที่จะช่วยเสนอความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปการเลือกตั้งต่อไป

ทั้งนี้ ในช่วงบ่ายหลังมีสื่อมวลชนบางสำนักรายงานข่าวว่า คสช. มีแนวความคิดที่ยุบองค์กรอิสระบางส่วน เช่น กกต. ศาลรัฐธรรมนูญ และ ป.ป.ช. ประกอบกับ คสช. มีการเชิญเลขาธิการ กกต. ไปหารือ ทำให้เจ้าหน้าที่และพนักงานของ กกต. พากันสอบถามข้อเท็จจริงจากสื่อมวลชนกันอย่างมากว่า เป็นเพราะจะมีการยุบ กกต. จริงหรือไม่ แต่หลังเลขาธิการ กกต. ประชุมกับ คสช. แล้วเสร็จ ทางผู้อำนวยการฝ่ายกิจการเลขาธิการ กกต. ก็ได้แจ้ง ผ่านไลน์กรุ๊ปของผู้บริหารและพนักงาน กกต. ทั่วประเทศ มีข้อความว่า “ท่านเลขาธิการ กกต. เรียนผู้บริหาร พนักงาน เจ้าหน้าที่สำนักงาน กกต. ให้ทุกท่านทราบว่า ตามที่ได้มีข่าวปรากฏทางสื่อว่า จะมีการยุบองค์กรอิสระนั้น เป็นเพียงข่าวที่ไม่มีมูล จึงขอให้พนักงานทุกท่านตั้งใจปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบอย่างเต็มความสามารถ”

ด้าน นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะฝ่ายกฎหมาย กล่าวถึงกระแสข่าวว่า คสช. จะยุบองค์กรอิสระ ว่า ยังไม่เคยได้ยินกระแสข่าวดังกล่าว จึงไม่เชื่อว่าจะเป็นข้อเท็จจริง เพราะ คสช. ออกประกาศชัดเจนแล้วว่าให้องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญและองค์กรศาลยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อเพราะในแต่ละองค์กรยังมีคำร้องหรือคดีความที่ค้างอยู่ระหว่างการพิจารณา คสช. จึงต้องให้องค์กรเหล่านี้ปฏิบัติหน้าที่ต่อ ส่วนกรณีที่ คสช. ยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2550 แล้วทำให้องค์กรอิสระมีข้อจำกัดด้านกฎหมายในการทำงานนั้นก็เห็นว่าเรื่องนี้ไม่น่าเป็นปัญหาเพราะแต่ละองค์กรก็มีกฎหมายลูกไว้คอยรองรับในการทำหน้าที่อยู่ ส่วนประเด็นใดที่เป็นปัญหาทางข้อกฎหมายก็ส่งมาให้คสช.พิจารณาเพื่อให้เกิดความชัดเจน ที่ผ่านมาเราก็ได้มีการพิจารณาไปหลายกรณีแล้ว ส่วนที่จะมีข้อขัดข้องมากที่สุดน่าจะเป็นศาลรัฐธรรมนูญ เพราะต้องพิจารณาวินิจฉัยกฎหมายที่ขัดรัฐธรรมนูญ แต่หากมีธรรมนูญปกครองชั่วคราวทุกอย่างก็น่าจะเรียบร้อยมากขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น