กกต. เรียกคืนเงินสนับสนุนพรรคการเมืองเหตุไม่มี พ.ร.บ. พรรคการเมือง ทำให้พรรคการเมืองไร้สถานะ พร้อมเตือนสมาชิกพรรคงดประชุมเสี่ยงขัดอัยการศึกชุมนุมเกิน 5 คน เตรียมถกกฤษฎีกาหาความชัดเจนกฎหมายฟันอาญาหลัง พ.ร.ป. ไร้ความชัดเจน
วันนี้ (3 มิ.ย.) รายงานข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจ้งว่า ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีประกาศฉบับที่ 11 ที่ระบุให้รัฐธรรมนูญ 2550 สิ้นสุดลงยกเว้นหมวด 2 และประกาศฉบับ 24 ที่ให้ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับเพียง 5 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ตรวจเงินแผ่นดิน พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ร.บ. คณะกรรมการการเลือกตั้ง พ.ร.บ. ผู้ตรวจการแผ่นดิน และ พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเท่านั้น จึงทำให้ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ต้องสิ้นสุดลง ดังนั้น สถานะของพรรคการเมืองต่างๆ ต้องสิ้นสภาพไปด้วย กกต. จึงได้ทำหนังสือแจ้งไปยังพรรคการเมืองเพื่อให้คืนเงินจากกองทุนเพื่อพัฒนาพรรคการเมืองที่ใช้ในการรณรงค์ด้านประชาธิปไตย เพราะเห็นว่าพรรคการเมืองไม่มีสภาพเป็นพรรคการเมืองอีกต่อไปแล้ว ส่วนถ้าพรรคการเมืองใดใช้เงินกองทุนไปบางส่วนแล้วก็ให้แจ้งบัญชีค่าใช้จ่ายมายัง กกต.
รายงานข่าวแจ้งอีกว่า เมื่อพรรคการเมืองไม่มีสภาพตามรัฐธรรมนูญ การประชุมสมาชิกพรรค หรือกรรมการบริหารพรรคจึงเป็นสิ่งไม่ควรกระทำในช่วงนี้ เนื่องจากการกระทำดังกล่าวอาจเป็นการขัดต่อกฎอัยการศึกและประกาศของ คสช. ที่ห้ามมิให้ชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมืองเกิน 5 คน หากฝ่าฝืนต้องระวังโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าในระดับสำนักงานกำลังมีการหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อให้พิจารณาว่าเมื่อ คสช. ให้รัฐธรรมนูญปี 50 สิ้นสุดลง แต่ให้ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งยังอยู่ โดยให้ กกต. ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปนั้น ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. ในระหว่างนี้ก็จะเป็นเรื่องของการดำเนินคดีอาญา จึงต้องการความชัดเจนว่า ตกลงแล้ว พ.ร.ป. ว่าด้วยเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว. พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง และ พ.ร.ป. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ยังคงอยู่หรือไม่ เพราะการดำเนินคดีอาญาจะเกี่ยวข้องยึดโยงกับกฎหมายดังกล่าว รวมทั้งยังมีกรณีที่เมื่อรัฐธรรมนูญปี 50 ถูกยกเลิกแล้ว สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น ที่ กกต. เสนอเรื่องต่อศาลอุทธรณ์ให้วินิจฉัยสั่งเลือกตั้งใหม่ หรือสั่งเพิกถอนสิทธิ จะยังต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่นับแต่ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 239 อีกหรือไม่ ซึ่งประเด็นนี้ก็เป็นปัญหาขณะนี้ว่า ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ซึ่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ผู้ราชการกรุงเทพมหานคร นับแต่ศาลอุทธรณ์รับคำฟ้องไว้พิจารณาเมื่อวันที่ 27 มี.ค. จะเข้าปฏิบัติหน้าที่ผู้ว่าฯ กทม. ก่อนที่ศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษา ได้หรือไม่ เพราะ คสช. ได้ยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 50 ไปแล้ว