กสม.ประชุมผู้เกี่ยวข้อง เหตุภาคประชาชน 3 พื้นที่ขอให้สอบหน่วยราชการ เหตุถูกห้ามเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินที่อาจทับเขตอุทยาน ยกมาตรา 4 รธน.ชั่วคราวคุ้มครองสิทธิฯ ตัวแทนชาวบ้าน แจง อสส.สั่งชะลอรอโฉนดชุมชนเสร็จ แต่ จนท.กลับติดป้ายให้พ้นพื้นที่ ข้องใจตีความจากคำสั่ง คสช.ที่ 64-66 หรือไม่ แฉนายทุนอ้างรู้จัก คสช.มาขู่ กรมอุทยานฯ พร้อมสอบ ขอทำความเข้าใจถูกมองผู้ร้าย
วันนี้ (29 ก.ค.) นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธาน คณะอนุกรรมการด้านที่ดินและป่า สำนักงานคณะกรรมการสิทธิฯได้ประชุมผู้เกี่ยวข้องในกรณีตัวแทนภาคประชาชนประกอบด้วย กลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ชาวบ้านในพื้นที่เทือกเขาบรรทัด จ.ตรัง และชาวบ้าน อ.เกษตรสมบูรณ์ จ.ชัยภูมิ ได้ยื่นคำร้องมายัง กสม. เพื่อขอให้ตรวจสอบหน่วยงานราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 64 และ 66/2557 ที่ระบุว่าห้ามหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการปรามปราบและจับกุมผู้ที่บุกรุกและทำลายสภาพป่าหรือทรัพยากรธรรมชาติที่อาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยมีตัวแทนภาคประชาชนจาก 3 พื้นที่ดังกล่าวพร้อมด้วยตัวแทนจากหน่วยงานราชการ เช่น คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และตัวแทนจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุม
โดย นพ.นิรันดร์กล่าวว่า สาเหตุที่จัดให้มีการประชุมในวันนี้เนื่องมีประชาชน ใน 3 พื้นที่ ได้ยื่นคำร้องมายัง กสม.จากกรณีที่มีเจ้าหน้าที่รัฐได้สั่งห้ามชาวบ้านเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินทำกิน ที่อาจไปทับเขตกับพื้นที่อุทยานและพื้นที่อนุรักษ์ อนุกรรมการฯจึงต้องเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาไต่สวนเพื่อรับฟังข้อเท็จจริง เพราะกรณีนี้อาจเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และกระทบสิทธิประโยชน์ที่ดินทำกินและสิทธิชุมชน อีกทั้งแม้รัฐธรรมนูญ 2550 จะยกเลิกไปแล้ว แต่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาตรา 4 ได้ระบุว่าประชาชนชาวไทยต้องได้รับการคุ้มครองเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และสิทธิเสรีภาพ ดังนั้นการบังคับใช้กฎหมายต่างๆยังคงต้องคำนึงถึงหลักสิทธิมนุษยชน
นายบุญ แซ่จุง ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรชุมชนรักเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่า แต่เดิมการจัดสรรพื้นที่บริเวณเทือกเขาบรรทัดชาวบ้านไม่ได้จัดสรรแบ่งกันเอง หากแต่พื้นที่บริเวณนี้สำนักนายกรัฐมนตรีได้ทำการแบ่งพื้นที่ให้ชาวบ้านมีที่ดินทำกินในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อีกทั้งในพื้นที่ดังกล่าวยังอยู่ระหว่างการดำเนินการจัดให้ทำเป็นโฉนดชุมชน ปัญหาข้อพิพาทในพื้นที่ที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินคดีทางอัยการสูงสุดก็ได้ให้ชะลอเพื่อแก้ไขปัญหาข้อพิพาท รวมทั้งรอให้การดำเนินการทำเป็นโฉนดชุมชนจะแล้วเสร็จ แต่เมื่อวันที่ 14 ก.ค.ที่ผ่านมา กลับได้มีเจ้าหน้าที่อุทยานมาติดประกาศหนังสือฟันทำลายสั่งให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ จึงสร้างความประหลาดใจให้กับชาวบ้าน เพราะการกระทำดังกล่าวขัดกับคำสั่งของอัยการสูงสุด ดังนั้นจึงเป็นที่น่าสังเกตว่าการกระทำดังกล่าวของเจ้าหน้าที่เป็นการตีความตามคำสั่งฉบับที่ 64 และ 66 ของ คสช.หรือไม่ เพราะภายหลังจากมีประกาศดังกล่าว ทางเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่ก็ได้มีการเคลื่อนไหว อย่างไรก็ตาม ทางเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้เข้ามีรื้อถอนหรือทำลายอุปกรณ์ทำกินของชาวบ้านแต่อย่างใด มีแต่เพียงติดประกาศไว้เท่านั้น
ขณะที่ตัวแทนกลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กล่าวว่า ภายหลังจากมีประกาศดังกล่าว ในหลายพื้นที่ทางภาคเหนืออย่าง จ.เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และลำปาง ก็ได้มีเจ้าหน้าที่อุทยาน เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองสนธิกำลังเข้าไปในแต่ละพื้นที่โดยไม่ได้ประสานงานกับเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นหรือชาวบ้าน เพื่อเข้าไปจัดการในที่ดินทำกินของชาวบ้าน แม้ชาวบ้านจะไม่มีโฉนดในการครอบครอง แต่ก็ได้ใช้ประโยชน์จากพื้นที่เหล่านี้ในการทำมาหากิน อีกทั้งยังมีนายทุนที่อ้างว่ารู้จักกับคนใน คสช.มาข่มขู่ชาวบ้านว่าให้ออกจากพื้นที่หากไม่ทำตามจะให้ทหารเข้ามาจัดการ
นายวีระยุทธ วรรณเลิศสกุล กรมอุทยานฯ ชี้แจงว่า หากดูจากการแบ่งพื้นที่ กรมอุทยานฯจะดูเป็นผู้ร้ายใจแคบประชาชนขอพื้นที่แต่กรมอุทยานฯไม่ยอมมอบให้ แต่ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การแบ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศนี้แบ่งได้เป็น 3 วง คือ 1. พื้นที่ที่เอกชนครอบครอง 2. พื้นที่กันชนที่มีหลายหน่วยงานร่วมกันดูแล และ 3.พื้นที่อนุรักษ์ที่กรมอุทยานฯ เป็นผู้ดูแล ซึ่งมักจะเป็นพื้นที่ที่มีข้อพิพาทเรื่องที่ดินทำกินมากที่สุด จึงไม่แปลกที่กรมอุทยานฯจะดูเป็นผู้ร้าย อย่างไรก็ตาม ทางกรมอุทยานฯ ยังไม่ทราบว่ามีเจ้าหน้าที่ไปดำเนินการสั่งให้ชาวบ้านออกจากพื้นที่ แต่จะรีบนำเรื่องนี้ไปตรวจสอบเพื่อหาข้อเท็จจริง