xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ซวยซ้ำกรรมซัดยักษ์ใหญ่ซีพีเอฟ จากแรงงานทาสถึงข้อหาซื้อสื่อ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์เมื่อมีข่าวข้อมูลลับฉบับวงในของฝ่ายพีอาร์บริษัทยักษ์อุตสาหกรรมเกษตรระดับโลก “ซีพีเอฟ” หลุดออกสู่สาธารณชนผ่านการนำเสนอของเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (tcijthai) ที่พยายามแจ้งเกิดด้วยสไตล์ข่าวเจาะมาหลายปีแล้ว และต้องยอมรับว่าข่าวชิ้นนี้สร้างแรงกระเพื่อมในวงการสื่อสารมวลชนไม่แพ้ข่าวซื้อสื่อของนักการเมือง "วิม รุ่งวัฒนจินดา" กรรมการบริหารพรรคเพื่อไทย และผู้สมัครรับเลือกตั้งระบบปาร์ตี้ลิสต์ ที่มีอีเมล์ฉาวเลี้ยงรับรองและจ่ายเงินดูแลนักข่าวหลายคนเพื่อให้นำเสนอข่าวนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขณะสู้ศึกเลือกตั้งก่อนขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ว่ากันตามความเป็นจริง การทำงานพีอาร์ หรือซีเอสอาร์ของซีพีเอฟนั้นออกจะถึงลูกถึงคน เพื่อรักษาชื่อเสียงของบริษัทใหญ่ระดับโลก อย่างที่ “คุณน้อง” พรรณินี นันทพานิช รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) เธอแถลงว่า “การทำงานในเชิงรุกเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงกับสื่อ เพื่อสร้างความเข้าใจในองค์กร เป็นเรื่องจำเป็นที่สื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ต้องทำหน้าที่อย่างเคร่งครัดเพื่อรักษาภาพลักษณ์อันดีขององค์กร ดังนั้น การติดต่อกับสื่อที่เกี่ยวข้องนำข้อความหรือกระทู้ที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่บริษัทและไม่เป็นความจริงถือเป็นเรื่องจำเป็นที่หน่วยงานประชาสัมพันธ์ต้องปฏิบัติ”

ด้วยเหตุฉะนี้ การมอนิเตอร์ข่าวและการตามแก้ข่าวหรือการตอบโต้ต่อข่าวเชิงลบของพีอาร์ซีพีเอฟ จึงเป็นไปอย่างเข้มข้น ดังที่ปรากฏในรายงานเอกสารภายในที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง นำมาเสนอต่อสาธารณะ

ตัวอย่างการเจรจากับสื่อ การขอแก้ข่าว การเชิญนักข่าวมาสัมภาษณ์ผู้บริหาร การขอให้ปิดหรือลบคอมเม้นท์เชิงลบ การผลิตข้อเขียนหรือบทความจากนักวิชาการในสังกัดมาตอบโต้ การขอเข้าผู้บริหารหรือบรรณาธิการข่าว เพื่อสร้างความสัมพันธ์รวม 432 ชื่อ ถือเป็นเรื่องปกติในการทำงานของฝ่ายพีอาร์ซีพีเอฟที่ยึดถือสืบต่อกันมา

ไม่ใช่แค่สื่อเท่านั้นที่ซีพีเอฟทำงานเชิงรุกระดับบุกถึงถิ่น เมื่อเกิดปัญหาขึ้น กลุ่มเอ็นจีโอ นักวิชาการ นักการเมือง หรือข้าราชการประจำ ก็ล้วนแต่ต้องเคยได้รับการร้องขอเพื่อขอเข้าพบปะเจรจาพูดคุยด้วยทั้งสิ้น และไม่เฉพาะแต่กับทีมพีอาร์หรือซีเอสอาร์อาจจะถึงระดับผู้บริหารของเครือซีพีเอฟ หากปัญหาที่เกิดขึ้น “ซีเรียส” มากๆ และการดูแลก็ไม่ใช่แค่บางครั้งบางคราว บางคนที่มีความสำคัญมีการติดตามดูแลกันหลังเกษียณอายุก็มี

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากข้อมูลลับฉบับวงในของฝ่ายพีอาร์ซีพีเอฟแล้ว คงต้องแยกแยะออกเป็น 3 ส่วน หนึ่ง คือ การซื้อโฆษณา ซึ่งนั่นเป็นเรื่องตรงไปตรงมา ดังที่ซีพีเอฟ ชี้แจงว่า “หลักการและบทบาทของการประชาสัมพันธ์ ว่า การทำแผนประชาสัมพันธ์ ค่าใช้จ่ายในการซื้อโฆษณาในสื่อต่าง ๆ เป็นเรื่องต้องปฏิบัติ เพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดทำงบประมาณประจำปี และมีความจำเป็นต้องเก็บรายละเอียดทุกขั้นตอน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบในทางบัญชีได้อย่างถูกต้อง”

สอง งบสนับสนุนกิจกรรมของสื่อ ซึ่ง “หน่วยงานประชาสัมพันธ์ยังต้องจัดทำงบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อใช้ในการสนับสนุนกิจกรรมของสื่อมวลชนในกรณีพิเศษ เช่น การจัดกอล์ฟการกุศลเพื่อระดมทุนไปใช้ในกิจกรรมพิเศษของสื่อนั้น ๆ หรือ การจัดงานสัมมนาต่าง ๆ เป็นต้น เหล่านี้ถือเป็นงบปกติที่องค์กรขนาดใหญ่มีการจัดสรรงบประมาณไว้รองรับ และจำเป็นต้องระบุชัดเจนเป็นงบพิเศษเพื่อสนับสนุนสื่อมวลชน ซึ่งงบประมาณในส่วนนี้ไม่ได้มีวงเงินสูง” อันนี้ก็ถือเป็นเรื่องปกติทั่วไป

แต่ที่เป็นปัญหาคือ ส่วนที่สาม ที่เป็น “งบพิเศษเพื่อสนับสนุนสื่อมวลชน” ซึ่งระบุชื่อจ่ายให้แก่สื่อมวลชนอาวุโส จำนวน 19 ราย ซึ่งที่มีข้อเคลือบแคลงสงสัย และหมิ่นเหม่ต่อการทำผิดจรรยาบรรณวิชาชีพสื่อมวลชน จนกระทั่ง สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย อยู่เฉยไม่ได้ ต้องรีบออกแถลงการณ์ร่วมพร้อมกับตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาตรวจสอบโดยเร่งด่วน

เนื้อหาในแถลงการณ์ของสภาการหนังสือพิมพ์ฯ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุฯ มีใจความว่า “ตามที่ศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง หรือเว็บไซต์ TCIJ ได้เผยแพร่เอกสารโดยอ้างว่า เป็นของฝ่ายประชาสัมพันธ์ของบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งที่ดำเนินธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารครบวงจร อีกทั้งยังระบุว่า บริษัทยักษ์ใหญ่ดังกล่าว ได้ตั้งงบพิเศษเพื่อสนับสนุนสื่อมวลชน เพื่อนำงบดังกล่าวมาจ่ายเงินเป็นรายเดือนให้กับสื่อมวลชนอาวุโสเฉพาะรายรวม 19 ราย ในลักษณะต่างตอบแทน ซึ่งการกระทำเช่นว่านั้นขัดต่อหลักการแห่งวิชาชีพที่สื่อมวลชนต้องละเว้นการรับอามิสสินจ้างอันมีค่า หรือผลประโยชน์ใด ๆ เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการใด อันจะขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้องรอบด้าน

“ทั้งนี้ ข้อมูลที่มีการเผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ TCIJ ยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือในองค์กรสื่อและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อ รวมถึงบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ถูกกล่าวอ้างด้วย และเพื่อให้ข้อเท็จจริงเป็นที่ปรากฏต่อสาธารณชน สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย จึงได้ดำเนินการแต่งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาชุดหนึ่ง โดยมีนายกล้านรงค์ จันทิก เป็นประธานคณะกรรมการอิสระ และมีผู้ทรงคุณวุฒิตลอดจนบุคคลภายนอกร่วมเป็นคณะกรรมการอิสระชุดนี้ด้วย”

นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ยังสำทับว่า หลังจากมีการตรวจสอบโดยคณะกรรมการอิสระ จะต้องแถลงหรือสรุปข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมาว่ามีสื่อรายใดบ้าง

ในทางกลับกัน ถ้าเนื้อหาที่เผยแพร่ออกมาสู่สาธารณะมีการ “มั่ว” ตัดต่อ ตีขลุมเหมารวม ระหว่างการสนับสนุนรายการของสื่อนั้นๆ ซึ่งเป็นปกติวิสัยของการทำธุรกิจสื่อกับการรับเงินเป็นส่วนตัวรายเดือน งานนี้ TCIJ ก็ต้องรับผลนั้นไป และคาดว่าอีกไม่นานก็จะได้เห็นกันว่า เรื่องจะจบแบบลูบหน้าปะจมูกเหมือนกรณีของอีเมล์ฉาว “วิม รุ่งวัฒนจินดา" หรือไม่ หรือจะออกมาชนิดที่ว่าไม่ให้เสียชื่อนักปราบโกงมือฉมังอย่างนายกล้านรงค์ จันทิก อดีตคณะกรรมการป.ป.ช.

กรณีความลับรั่วไหลของฝ่ายพีอาร์ซีพีเอฟ ยังถือเป็นเรื่องเล็กน้อย หากเทียบเหตุการณ์เมื่อเดือนก่อน ( 11 มิ.ย. 2557) กรณีที่ “เดอะ การ์เดี้ยน” สื่ออังกฤษที่เปิดโปงชะตากรรมของแรงงานต่างด้าวอาเซียนบนเรือประมงไทยถูกกระทำเยี่ยงทาส ซึ่งส่งผลให้เครือข่ายค้าปลีกสหรัฐฯ เช่น โฮลฟู้ดส์ และบริษัทค้าปลีกไอซีเอของนอร์เวย์ ยกเลิกการสั่งสินค้าจากซีพีฟู้ดส์ ตามหลังคาร์ฟูของฝรั่งเศส เพราะปัญหาการค้ามนุษย์และละเมิดสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมประมงของไทย ซึ่งเป็นเครือข่ายซัพพลายเออร์ของซีพีฟู้ดส์ และอีกสองสัปดาห์ถัดมาสหรัฐอเมริกา ก็ประกาศลดระดับของไทยในรายงานการค้ามนุษย์ ประจำปี 2557 สู่ เทีย 3 (Tier 3) ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุด เหตุพยายามไม่เพียงพอในการแก้ปัญหาค้ามนุษย์เปิดทางใช้มาตรการคว่ำบาตรไทย

คราวนั้น บอสใหญ่ของซีพีเอฟ นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหารซีพีเอฟ ต้องออกโรงแถลงข่าวและเจรจาแก้ไขปัญหากับเครือข่ายค้าปลีกสหรัฐฯ นอรเวย์ และฝรั่งเศส เป็นพัลวัล

แน่นอนฝ่ายพีอาร์ของซีพีเอฟก็ต้องวิ่งตีนขวิดเพื่อแก้ข่าวและเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรเช่นกัน เรียกว่าความวัวยังไม่ทันหาย ความควายก็เข้ามาแทรก เป็นเวรซ้ำกรรมซัดครั้งใหญ่ในรอบหลายปีของซีพีเอฟ ที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นบ่อยนัก

น่าเสียดายก็ตรงที่ ผอ.เว็บไซต์ ข้อมูล&ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง ใจไม่ถึง ทั้งที่เป้าหมายของเวปไซต์คือการทำข่าวเจาะ ประเภท investigative report ที่หาได้ยากยิ่งในแวดวงสื่อในขณะนี้ การจบข่าวด้วยเหตุผลที่ว่าเลือกนำเสนอข่าวนี้เพียงแค่กระตุ้นเตือนและชี้ปัญหาเชิงระบบเท่านั้น จึงไม่มีการปล่อยของเป็นซีรี่ย์เหมือน “เดอะการ์เดี้ยน” และคงต้องอดใจรอความจริงทั้งหมดจากคณะกรรมการอิสระที่สภาการหนังสือพิมพ์ฯและสภาวิชาชีพข่าววิทยุฯ ตั้งขึ้นมาว่าจะออกหัวหรือก้อย



กำลังโหลดความคิดเห็น