xs
xsm
sm
md
lg

ตั้งคณะกรรมการอิสระสอบทุนยักษ์จ่ายเงินซื้อสื่อ-เจ้าของ “ทีซีไอเจ” ไม่ส่งข้อมูลอ้างกลัวถูกดักควาย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สองสภาวิชาชีพสื่อตั้งคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีข้อกล่าวหาสื่อมวลชนรับเงินบริษัทเอกชนยักษ์การเกษตรชื่อดัง “กล้าณรงค์” นั่งประธาน พ่วง “สัก - ดร.เจษฎ์ ม.สยาม” ประธานสภาการ นสพ.ฯ เผยควรทำให้เร็ว เพราะสังคมรอคำตอบอยู่ ด้าน “สุชาดา” ผอ.เว็บทีซีไอเจ อ้างเสนอเรื่องนี้ให้ประชาชนรู้ทันสื่อ แต่ไม่ส่งข้อมูลให้ตรวจสอบ อ้างกลัวถูกดักควาย

วันนี้ (15 ก.ค.) เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า จากกรณีที่สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ออกแถลงการณ์ร่วม ในการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระ โดยมี นายกล้านรงค์ จันทิก เป็นประธาน ขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีข้อกล่าวหาสื่อมวลชนรับเงินบริษัทเอกชนเพื่อปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพ ภายหลังจากที่ศูนย์ข้อมูล & ข่าวสืบสวนสิทธิพลเมือง (TCIJ) เผยแพร่เอกสารลับของฝ่ายประชาสัมพันธ์บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารครบวงจร ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับรายงานการทำงานในหน้าที่ การแก้ข่าว การติดตามลบกระทู้เชิงลบในเว็บไซต์ และมีรายชื่อนักข่าวและตัวเลขการจ่ายเงินสื่อมวลชน 19 ราย ตลอดจนความเห็นต่อตัวนักข่าวและพูดถึงกลยุทธ์การสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดนักข่าว

นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เปิดเผยว่า ได้ลงนามรับรองคำสั่งแต่งตั้งกรรมการอิสระคนอื่นๆ ในการตรวจสอบกรณีดังกล่าวแล้ว โดยรายชื่อคณะกรรมการชุดนี้ มีจำนวน 6 ราย ประกอบไปด้วย 1. นายกล้านรงค์ จันทิก ประธานคณะกรรมการ 2. นายสัก กอแสงเรือง กรรมการ 3. ศ.พิเศษ สิทธิโชค ศรีเจริญ กรรมการ รศ.ดร. ดรุณี หิรัญรักษ์ กรรมการ รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก กรรมการ และ นายเจษฎา อนุจารี กรรมการ

นายจักร์กฤษ กล่าวยืนยันว่า บุคคลที่มาดำรงตำแหน่งในคณะกรรมการชุดนี้ เป็นบุคคลที่มีชื่อเสียง เป็นหลักประกันเรื่องความน่าเชื่อถือได้ระดับหนึ่ง คณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่อย่างอิสระ ไม่มีการกำหนดกฎเกณฑ์อะไรทั้งสิ้น ไม่มีการเร่งรัดอะไร แต่เนื่องจากเรื่องนี้สังคมให้ความสนใจและต้องการทราบข้อเท็จจริง จึงให้กรอบกว้างๆ กับกรรมการว่าแม้เรื่องนี้กระทบกับหลายฝ่ายและอาจใช้เวลาในการตรวจสอบ แต่โดยรวมแล้ว ขอให้ทำให้เร็วที่สุดจะดี เพราะสังคมรอคำตอบอยู่

เมื่อถามว่าการสอบสวนจะแล้วเสร็จเมื่อใด นายจักร์กฤษ ตอบว่า “เราไปขีดเส้นไม่ได้หรอกว่าต้องเสร็จภายในเดือนหรือสองเดือน แต่ตามหลักการแล้วก็ควรต้องทำให้เร็วที่สุด

ด้าน นายกล้านรงค์ จันทิก อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้สัมภาษณ์ยืนยันสำนักข่าวอิศรา ว่า ได้รับแจ้งจากนายจักร์กฤษแล้วว่าขอให้เป็นประธานกรรมการสอบเรื่องดังกล่าว

นอกจากนี้ สำนักข่าวอิศรา ได้นำเสนอประวัติและเบื้องหลังการทำงานที่ผ่านมาของคณะกรรมการทั้ง 6 คน โดยนายกล้านรงค์ จันทิก อดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 (ส.ส.ร.50) อดีตคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และอดีตกรรมการ ป.ป.ช. จากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารเมื่อปี 2549 เริ่มต้นการทำงานจากการทำหน้าที่เป็นเลขานุการส่วนตัว ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช นายกรัฐมนตรี หลังจากนั้น ได้ไต่เต้าขึ้นเป็นเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ (ป.ป.ป.) ในปี 2540 หลังจากนั้นในปี 2549 ได้ร่วมลงนามทูลเกล้าฯถวายฎีกาขอนายกฯ พระราชทาน ต่อมาภายหลังเกิดรัฐประหารในปี 2549 ได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการ ป.ป.ช.

ทั้งนี้ นายกล้านรงค์ มีชื่อโดดเด่นจากการทำคดีปกปิดทรัพย์สินของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ในขณะนั้น กรณีการกู้ยืมเงิน 45 ล้านบาท จากบริษัท เอ เอ เอส ออโต้ เซอร์วิส จำกัด หลังจากนั้นก็โด่งดังเป็นพลุแตกภายหลังตรวจสอบเชิงลึกจนปิดคดี “ซุกหุ้น” ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ได้สำเร็จ นายกล้านรงค์ มีบทบาทอย่างมากภายหลังรัฐประหารปี 2549 นอกจากถูกตั้งเป็นกรรมการ ป.ป.ช. แล้วยังตั้งเป็นกรรมการ คตส. เพื่อสอบสวนคดีทุจริตของ พ.ต.ท.ทักษิณ และนั่งเป็น ส.ส.ร.50 เพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 และเคยเป็นรองประธานสภาก่ารหนังสือพิมพ์แห่งชาติ

ส่วน นายสัก กอแสงเรือง อดีต ส.ว. กรุงเทพฯ เมื่อปี 2549 อดีต ส.ว.สรรหา เมื่อปี 2554 อดีตโฆษกกรรมการ คตส. จากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหารปี 2549 และอดีตนายกสภาทนายความ มีบทบาทอย่างมากในช่วงรับตำแหน่งโฆษกกรรมการ คตส. ในเรื่องการตรวจสอบเส้นทางการเงิน และเรื่องหุ้นของ พ.ต.ท.ทักษิณ และคดีการปล่อยเงินกู้ให้กับพม่าของธนาคารเอ็กซิมแบงก์ ซึ่งส่อเอื้อผลประโยชน์กับบริษัท ชินคอร์ป ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นผู้ถือหุ้นในขณะนั้น รวมถึงเป็นผู้ประกาศอายัดทรัพย์สิน พ.ต.ท.ทักษิณ 7.3 หมื่นล้านบาท อย่างไรก็ตาม ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพิกถอนสิทธิเลือกตั้งเป็นเวลา 5 ปี พร้อมดำเนินคดีอาญา กรณีมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากพ้นจากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยังไม่ถึง 5 ปี ในช่วงเข้ารับตำแหน่ง ส.ว. สรรหา เมื่อปี 2554

ศ.พิเศษ สิทธิโชค ศรีเจริญ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ อดีตประธานคณะอนุกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์ สภาการหนังสือพิมพ์ และอดีตทนายความ ป.ป.ช. เคยว่าความในคดีสำคัญหลายครั้ง เช่น คดีฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ และอดีต ครม. พ.ต.ท.ทักษิณ ในคดียักยอกทรัพย์กรณีการออกฉลากหวยบนดินของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ส่วนคดีที่ได้รับการจับตามากที่สุด คือ คดีทุจริตรถ - เรือดับเพลิง กทม. มูลค่ากว่า 6 พันล้านบาท เอาผิด นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน - นายสมัคร สุนทรเวช อดีตผู้ว่าฯ กทม. นายโภคิน พลกุล อดีต รมว.มหาดไทย นายประชา มาลีนนท์ อดีต รมช.มหาดไทย และ นายวัฒนา เมืองสุข อดีต รมว.พาณิชย์ จนท้ายสุดศาลฎีกาแผนกคดีอาญาทางการเมืองตัดสินให้ นายประชา และ นายสมัคร มีความผิดทางอาญา ส่งผลให้นายประชาหลบหนีไปต่างประเทศ

รศ.ดร.ดรุณี หิรัญรักษ์ อดีตคณบดีนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ และนักวิชาการอิสระด้านนิเทศศาสตร์ เคยถูกมอบหมายให้เป็นประธานคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อกำหนดอนาคตของสถานีวิทยุโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ จากคุณหญิง ทิพาวดี เมฆสวรรค์ รมต.ประจำสำนักนายกฯ ขณะนั้น มีหน้าที่รับผิดชอบรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ และประมวลความคิดเห็นจากกลุ่มต่างๆ กรณีอนาคตของทีไอทีวี ซึ่งในช่วงดังกล่าวสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี ถูกคุณหญิง ทิพาวดี ให้อัยการสูงสุดดำเนินคดีผู้บริหาร โดยดำเนินการฟ้องเรียกคืนหนี้สินต่างๆ ทั้งหนี้สินค่าสัมปทาน และหนี้สินที่ตกค้างเรื่องการส่งมอบทรัพย์สินที่ปรากฏในสัญญา และเรื่องค่าปรับในคดีพิพาทเกี่ยวกับการฟ้องขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ

รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสยาม ปัจจุบันดำรงตำแหน่งคณบดีคณะนิติศาสตร์ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นที่รู้จักกันในด้านนักวิชาการทางกฎหมาย เคยทำรายการเกี่ยวกับประเด็นกฎหมายตามสื่อต่างๆ เคยเป็นพิธีกรรายการเล่าข่าวเช้านี้ทางช่อง 11 คู่กับนายแทนคุณ จิตต์อิสระ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ และเคยเป็นวิทยกรรายการ “ช่วยคิด ช่วยทำ” ทางช่อง 3 คู่กับ รศ.สุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหง โด่งดังภายหลังถูก นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา พิธิกรชื่อดัง เชิญมาออกรายการ “เจาะข่าวเด่น” โดยนำมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับ รศ.สุขุม นวลสกุล ในประเด็นการเคลื่อนไหวของม็อบ กปสส. นอกจากนี้ ยังเป็นที่กล่าวขวัญถึงในการ “ดีเบต” เรื่องการเมืองกับ นายเอกชัย ไชยนุวัต อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ร่วมมหาวิทยาลัยเดียวกันอีกด้วย

และ นายเจษฎา อนุจารี ผู้อำนวยการสำนักฝึกอบรมวิชาชีพว่าความ สภาทนายความ เคยเป็นทนายความของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และเลขาธิการกลุ่ม กปปส. โดยทำคดีให้กับนายสุเทพหลายคดี เช่น ในช่วง กปปส. เคลื่อนไหวทางการเมืองเมื่อปลายปี 2556 ที่นายสุเทพ ถูกศาลอาญาออกหมายจับ และคดีความในช่วงสลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเคยขึ้นปราศรัยบนเวที กปปส. วิพากษ์วิจารณ์ระบอบทักษิณ

อีกด้านหนึ่ง นางสุชาดา จักรพิสุทธิ์ ผู้อำนวยการเว็บไซต์ TCIJ กล่าวถึงการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเอกสารที่หลุดของบริษัทยักษ์ใหญ่ ระหว่างจัดการเสวนาเรื่อง “อำนาจเหนือเกษตรกร - อำนาจเหนือสื่อ” ว่า ตนได้เอกสารมานานแล้ว ยืนยันว่าเป็นข้อมูลที่จริง โดยคาดหวังว่าสิ่งนี้จะกระตุ้นเตือนว่าทุนที่ถูกพาดพิงจะเข้าใจว่า ไม่อยากให้เน้นถึงการลงทุนเรื่องภาพลักษณ์เท่านั้น ซึ่งจะทำให้เกิดความฉ้อฉลตามมา สื่อมวลชนไทยมักจะยืนตรงข้ามรัฐบาล แต่ไม่ตรงข้ามทุน คาดหวังว่าผู้บริโภคข่าวนี้ ต้องรู้เท่าทันสื่อและธุรกิจขนาดใหญ่

เมื่อถามว่า มีการตรวจสอบจากทางบริษัท ซีพี หรือไม่ และหากมีการฟ้องร้อง นางสุชาดา กล่าวว่า ไม่ได้เอ่ยชื่อใคร เป็นการชี้ปัญหาเชิงระบอบ ยืนยันว่าเป็นข้อมูลจริง มีผู้ส่งมาให้ แต่ไม่ขอเปิดเผย ตนไม่ได้ตั้งใจเล่นงานใคร เมื่อถามว่าองค์กรสื่อมีการตั้งกรรมการตรวจสอบพร้อมให้ข้อมูลหรือไม่ นางสุชาดา กล่าวว่า มีการติดต่อโดยตรงแล้ว ตนในฐานะพลเมืองดี ยินดีให้ความร่วมมมือ แต่เหตุการณ์ 2 วันที่ผ่านมาจะให้วางใจได้อย่างไรว่าไม่มีการดักควาย ล้วนแต่มีคนขอข้อมูล ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นอภินิหารของคนที่ตกเป็นข่าวหรือไม่ และองค์กรสื่อก็ไม่ได้พิสูจน์ตัวเองว่าเป็นที่พึ่งหรือปกป้องคนในวิชาชีพอย่างแท้จริง จะให้ความร่วมมือเต็มที่เท่าที่ จะร่วมมือได้ แต่ยืนยันจะปกปิดรายชื่อแหล่งข่าวและผู้เสียหาย

เมื่อถามว่า จะมีข้อมูลชุดต่อไปหรือไม่ นางสุชาดา กล่าวว่า คิดว่าไม่ทำอะไรแล้ว ถ้าข่าวชิ้นนี้สถานการณ์ขณะนี้ไม่สามารถทำให้คิดใหม่ได้ ต่อให้มีข่าวชุดเดียวแต่เปลี่ยนตัวละครในข่าวมาเป็นนักวิชาการ ก็ไม่แน่ใจว่าจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรได้ จึงอยากเรียกร้องให้องค์กรต่างๆ หรือ ป.ป.ช. ตรวจสอบองค์กรสื่อบ้าง เมื่อถามว่าทางบริษัทที่ถูกพาดพิง ติดต่อมาหรือไม่ นางสุชาดา กล่าวว่า 1 ชั่วโมง หลังมีการอัปข่าว มีสายโทรศัพท์ขอร้องให้เอาออก บอกว่าเป็นเรื่องภายใน ซึ่งแสดงตัวว่าเป็นเจ้าของข้อมูล ตนไม่แน่ใจว่าในนามอะไร ตนขอตั้งเป็นข้อสังเกต เพราะเป็นองค์กรขนาดใหญ่ แล้วทำไมมาจ่ายผ่านตัวบุคคล ไม่ผ่านบัญชี ชื่อทั้งหมดเป็นผู้บริหารระดับกลาง มีหน้าแอสไซน์ข่าว มีหน้าของตัวเองในสื่อนั้นๆ

อนึ่ง นางสุชาดา เป็นภรรยาของ นายนิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ นักวิชาการมหาวิทยาลัยเที่ยงคืน และคอลัมนิสต์สื่อในเครือมติชน


กำลังโหลดความคิดเห็น