สะเก็ดไฟ
ที่สุดมติคณะกรรมการสรรหา ป.ป.ช. ก็ลงมติเลือก “หญิงเหล็ก-สุภา ปิยะจิตติ” รองปลัดกระทรวงการคลัง ขึ้นแท่นเป็นว่าที่ ป.ป.ช. แม้เสียงที่ออกมาจะไม่เป็นเอกฉันท์ก็ตาม
มองผิวเผินเหมือนจะไม่ได้เหนือความคาดหมาย เพราะชื่อของ “รองฯสุภา” ถูกยกให้โดดเด่นที่สุดในบรรดา 14 รายที่สมัครเข้าร่วมคัดเลือกครั้งนี้
แต่เอาเข้าจริงเส้นทางของ “รองฯสุภา” กับ ป.ป.ช. เกือบจะไม่ได้บรรจบมาพบกันแล้ว เพราะเมื่อครั้งที่ “กล้านรงค์ จันทิก” อายุครบ 70 ปี พ้นครบวาระการทำหน้าที่ไปเมื่อปีกลาย “สุภา” ก็เคยสมัครเข้าคัดเลือกมาหนหนึ่งแล้ว แต่ก็พลาดหวังไปอย่างน่าเสียดายเมื่อที่คณะกรรมการสรรหาในวันนั้นเลือก “ณรงค์ รัฐอมฤต” ให้มีคะแนนเหนือเธอ
จนเมื่อ “ใจเด็ด พรไชยยา” ครบวาระตามนายกล้านรงค์ไป ก็เป็นโอกาสอีกครั้งของ “รองฯสุภา” ที่เสนอตัวลงแข่งอีกครั้ง
ซึ่งผลก็ปรากฏว่า ที่ประชุมกรรมการสรรหา ป.ป.ช.คนใหม่ที่วันนี้เหลือเพียง “ดิเรก อิงคนินันท์” ประธานศาลฎีกา ในฐานะประธาน พร้อมด้วย “หัสวุฒิ วิฑิตวิริยะกุล” ประธานศาลปกครองสูงสุด “จรูญ อินทจาร” ประธานศาลรัฐธรรมนูญ เพียง 3 คน เนื่องจากขณะนี้ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร ทำให้ไม่มีประธานสภาฯ และผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ร่วมเป็นองค์คณะ
ก็มีมติ 2 ต่อ 1 เลือก “สุภา” เป็นว่าที่ ป.ป.ช.
จิ้งจกในห้องประชุมกระซิบบอกว่า ผู้สมัครแต่ละรายในรอบนี้ถือว่ามี “อิทธิฤทธิ์” แก่กล้ากันทั้งนั้น ส่งผลให้การล็อบบี้กันอย่างหนักก่อนถึงวันลงมติ ด้วยความที่ “โหวตเตอร์” มีเพียง 3 เสียง
หากมัดใจได้ 1 เสียงก็ถือว่าเข้าวินไปแล้วครึ่งช่วงตัว
โดยก่อนเข้าห้องประชุมกรรมการแต่ละท่านก็มีบุคคลในดวงใจของตัวเองอยู่ จนทำให้ขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือด มีการลงคะแนนกันทั้งหมดถึง 10 รอบ แต่ละท่านก็ยังยืนกรานในคนที่ตัวเองสนับสนุน
ซึ่งผู้ที่ปักหลักยืนกรานเสนอชื่อ “สุภา” ก็เป็น “จรูญ อินทจาร” ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนที่ “หัสวุฒิ วิฑิตวิริยะกุล” ประธานศาลปกครองสูงสุด จะเป็นผู้ปลดล็อกยกมือสนับสนุน “สุภา” อีกเสียง ทำให้มี 2 เสียง เฉือนชนะแคนดิเดตรายอื่นอย่างหวุดหวิด
เรียกว่าสู้กันจนถึง “ฎีกา” เลยทีเดียว
ขั้นตอนต่อจากนี้ ก็จะมีการนำชื่อ “สุภา” เสนอต่อประธานวุฒิสภา เพื่อให้มีการเปิดประชุมวุฒิสภาลงมติให้ความเห็นชอบ ก่อนจะนำรายชื่อขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป
ไม่เพียงแต่ต้องลุ้นหนักในรอบไฟนอล เส้นทางของ “สุภา” ก็ถูกสกัดอย่างต่อเนื่อง หลังจากโชว์ฟอร์ม “ประธานเช็กบิลจำนำข้าว” ผู้ออกมาเปิดประเด็นว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลขาดทุนหลายแสนล้านบาท ที่แม้จะเข้าตากองเชียร์ แต่ย่อมไม่เป็นที่ถูกใจของคนในรัฐบาลเพื่อไทย
ก็เป็นที่มาของขบวนการ “ดิสเครดิต” มาอย่างต่อเนื่อง ส่งลูกสมุนออกมาเตะตัดขาโดยตลอด ทั้งการให้สัมภาษณ์โจมตีที่ตัว “สุภา” และในส่วนของข้อมูลตัวเลขขาดทุนโครงการรับจำนำข้าว
หนักข้อก็ให้ “สมุนปลายแถว” เข้ายื่นหนังสือต่อเลขาธิการวุฒิสภา คัดค้านการเข้ารับการสรรหาของ “สุภา” เมื่อไม่กี่วันก่อนการลงมติ โดยอ้างว่า “สุภา” ขาดคุณสมบัติ เนื่องจากถูกร้องการทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการปิดบัญชีโครงการรับจำนำข้าวอยู่
สาเหตุก็เพราะฝ่ายรัฐบาลรู้ดีว่าหากปล่อยให้ “สุภา” เข้าไปร่วมทีม “มือปราบโกง” ย่อมไม่เป็นผลดีต่อการชี้มูลความผิด “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ในคดีการทุจริตโครงการรับจำนำข้าวที่คาดว่าจะมีการชี้ชะตาในอีกไม่นาน
เพราะมีจุดยืนชัดเจนแจ่มแจ้งว่า “โครงการรับจำนำข้าว” เป็นการบริหารงานที่ผิดพลาดของรัฐบาล
การขึ้นแท่น ว่าที่ ป.ป.ช. หนนี้ของ “สุภา” จึงหลอน “ระบอบทักษิณ” ยิ่งนัก