xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.ชี้มูล ปรส.“มนตรี” ผิดเอื้อ “เกียรตินาคิน” - สั่ง “บุญส่ง” ชดใช้เงินเดือนลูกชาย 8.5 แสน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ป.ป.ช.ปิดคดี ปรส.ชี้มูล “มนตรี” อดีตเลขาฯ เพียงคนเดียว ฐานเอื้อประโยชน์ “เกียรตินาคิน” หลุดพ้นภาระภาษี ยอมให้ตั้งกองทุนรวมเอเชียรีคอฟเวอรี 3 ให้เสร็จแล้วค่อยเข้าทำสัญญากับ ปรส.แทนบริษัท ด้านตุลาการศาล รธน.ไม่ผิด 157 กรณีอนุญาตบุตรชายที่เป็นเลขานุการส่วนตัว เรียนต่อต่างประเทศ แต่ชดใช้เงินค่าตอบแทน 8.5 แสน อีกด้านไม่หวั่นถูกฟ้องสรรหา ป.ป.จ.ไม่ชอบ เคสแจ้งข้อกล่าวหา กทค.5 คน ยัน เร่งให้เสร็จใน ก.ย.นี้ เดินหน้าไต่สวนอดีตปลัด กห.ต่อ

วันนี้ (27 ส.ค.) นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แถลงว่า ที่ประชุม ป.ป.ช.ได้มีการพิจารณากรณีมีการกล่าวหานายอมเรศ ศิลาอ่อน เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการองค์การเพื่อการปฏิรูประบบสถาบันการเงิน หรือ ปรส.กับพวก ว่ากระทำผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่กรณีขายสินทรัพย์กลุ่มสินเชื่อพาณิชย์และสินเชื่ออื่น ตามสัญญาขายสำหรับการจำหน่าย เลขที่ FRA07 กลุ่มสินทรัพย์ COS-03 และ COS-09 ให้กองทุนรวมเอเชียรีคอฟเวอรี่ 3 โดยมิชอบ ซึ่ง ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่ากรณีดังกล่าว เป็นการกระทำของบุคคลเพียงคนเดียว คือ นายมนตรี เจนวิทย์การ ในฐานะเลขาธิการ ปรส.โดย ป.ป.ช.มีมติ 5 ต่อ 4 ชี้มูลความผิดทางวินัยและอาญานายมนตรี ฐานไม่ตั้งใจปฏิบัติตามข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่งและแบบแผนของ ปรส.และไม่ปฏิบัติหน้าที่การงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต อาศัยอำนาจหน้าที่ของตนไม่ว่าจะโดยทางหรือโดยทางอ้อม หาประโยชน์ให้แก่ตนเองและผู้อื่น และตามข้อบังคับ ปรส.ว่าด้วยการพนักงาน พ.ศ.2540 หมวด 4 ข้อ 17 และ 23 และฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งหรือผู้ใด ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 มาตรา 11

จากกรณีที่นายมนตรี มีหนังสือ ปรส.ลงวันที่ 10 พ.ย. 2542 ขยายกำหนดระยะเวลาให้ บริษัท เงินทุนเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ผู้ชนะการประมูลแจ้งรายชื่อให้ผู้อื่น ลงนามในสัญญาขายมาตรฐานแทน โดยไม่มีการนำเสนอต่อคณะกรรมการ ปรส.พิจารณา และไม่เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการ ปรส.เรื่องหลักเกณฑ์เงื่อนไขและวิธีการขายสินทรัพย์หลักของสถาบันการเงินที่ไม่อาจแก้ไขหรือฟื้นฟูฐานะหรือการดำเนินการได้ จำนวน 56 บริษัท ลงวันที่ 2 มิ.ย. 2541 รวมทั้งยังยินยอมให้กองทุนเอเชียรีคอฟเวอรี 3 เป็นผู้รับโอนสิทธิจากบริษัทเงินทุนเกียรตินาคิน โดยให้กองทุนรวมเอเชียรีคอฟเวอรี 3 ลงนามในสัญญาขายสินทรัพย์กลุ่มสินเชื่อพาณิชย์และสินเชื่ออื่นตามสัญญาขาย สำหรับการจำหน่ายเลขที่ FRA07 และกลุ่มสินทรัพย์ COS-03 และ COS-09 แทนบริษัท เงินทุนเกียรตินาคิน จำกัด เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2542 ทั้งที่ทราบว่าบริษัท เงินทุนเกียรตินาคิน แจ้งรายชื่อกองทุนรวมเอเชียรีคอฟเวอรี 3 เป็นผู้ทำสัญญาแทนเกินกำหนด 5 วันทำการ นับจากวันประมูล และทราบว่าในวันแจ้งรายชื่อผู้ลงนามในสัญญาขายมาตรฐานแทน ในวันที่ 23 พ.ย. 2542 บริษัท เงินทุนเกียรตินาคิน ไม่ได้ยื่นสำเนาหนังสือรับรอง การจัดตั้งกองทุน และจดหมายอนุมัติการจัดตั้งกองทุนจาก ก.ล.ต.เป็นหลักฐานประกอบด้วย ก็เพื่อเอื้อประโยชน์ให้บริษัท เกียรตินาคิน หลุดพ้นภาระทางภาษี โดย ป.ป.ช.จะส่งเรื่องดังกล่าวให้อัยการสูงสุดดำเนินการต่อไป

ส่วยกรณีที่ นายพิชา วิจิตรศิลป์ ประธานชมรมกฎหมายภิวัฒน์แห่งประเทศไทยและเครือข่าย กล่าวหาว่า นายบุญส่ง กุลบุปผา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เนื่องจากแต่งตั้งบุตรของตนเองเป็นเลขานุการ แล้วอนุญาตให้ไปศึกษาต่อต่างประเทศ โดยไม่ได้มาปฏิบัติงานประจำที่ศาลรัฐธรรมนูญ แต่ยังคงได้รับเงินเดือน 42,200 บาท และค่าตอบแทน 4,900 บาท ตามปกติ ตลอด 1 ปี 6 เดือนที่ไปศึกษานั้น นายกล้านรงค์ กล่าวว่า ป.ป.ช.พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามระเบียบศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยการแต่งตั้งเลขานุการประธานศาลรัฐธรรมนูญ และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นระเบียบที่นำมาใช้ในการแต่งตั้งบุตรชายนายบุญส่งให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนี้ ปรากฏว่า มิได้มีบัญญัติไว้ในข้อใดให้สิทธิเลขานุการตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะขออนุญาตลาไปศึกษาในต่างประเทศได้ และมิได้บัญญัติไว้ในข้อใดให้อำนาจตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่จะให้อนุญาตเลขานุการศาลรัฐธรรมนูญลาไปศึกษาในต่างประเทศได้เช่นเดียวกัน

นายกล้านรงค์ กล่าวว่า การที่บุตรชายของนายบุญส่ง ขออนุญาตลาไปศึกษาในต่างประเทศ โดยไม่มีระเบียบกำหนดให้สิทธิในการลา และการที่นายบุญส่งได้อนุญาตให้บุตรชายไปศึกษาในต่างประเทศโดยไม่มีระเบียบกำหนดให้มีอำนาจอนุญาตได้ จึงเป็นการกระทำโดยพลการ โดยปราศจากอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมาย แต่การกระทำดังกล่าวของนายบุญส่ง ไม่ได้กระทำในฐานะเป็นเจ้าพนักงานที่มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย จึงไม่เป็นความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ แต่พฤติการณ์ของนายบุญส่งที่อนุญาตให้บุตรชายลาไปศึกษาต่างประเทศโดยพลการ โดยมิได้รายงานให้ประธานศาลรัฐธรรมนูญทราบ เป็นเหตุให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญยังคงเบิกค่าตอบแทนรายเดือนและเงินประจำตำแหน่งตามปกติ จึงเป็นความรับผิดชอบในทางแพ่งที่สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญจะเรียกให้นายบุญส่งชดใช้คืนต่อไป

ดังนั้น ป.ป.ช.จึงมีมติว่า ข้อกล่าวหานายบุญส่ง ปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ไม่มีมูล ให้ข้อกล่าวหาตกไป แต่ให้แจ้งความเห็นของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ในเรื่องความรับผิดชอบทางแพ่งให้สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญทราบ และพิจารณาตามอำนาจหน้าที่ต่อไป ทั้งนี้ ตามรายงานของ ป.ป.ช.ระบุว่า บุตรชายของนายบุญส่ง ได้รับเงินค่าตอบแทนรายเดือน จากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ เดือนละ 42,200 บาท เงินประจำตำแหน่ง 4,900 บาท ตลอดระยะเวลาที่ไปศึกษาต่างระเทศ ประมาณ 1 ปี 6 เดือน ซึ่งหากสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ จะให้นายบุญส่ง ชดใช้เงินคืนเพื่อเป็นการรับผิดในทางแพ่ง เงินที่จะต้องมีการเรียกคืนน่าจะรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 847,800 บาท

นอกจากนี้ ที่ประชุม ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทางวินัยและอาญา เรียน นายอภิรักษ์ ศักดิ์สนิท นายอำเภอแม่จัน และ นายสุชัย สถิรชล ปลัดอำเภอแม่จัน จ.เชียงราย ในฐานะผู้ช่วยนายทะเบียนอำเภอแม่จัน ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ทุจริต เพื่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงแก่ผู้อื่น กรณีออกหนังสือรับรองการเกิดในประเทศไทย และอนุมัติการให้สัญชาติกับผู้ที่ไม่มีคุณสมบัติ จำนวน 18 คน โดยในจำนวนนี้ 2 ราย คือนายแก้ว เทพทอง และ น.ส.สุข แสงดี ที่พนักงานสืบสวนพบว่ามีหลักฐานชัดเจน ว่าได้รับการรับรองโดยไม่ชอบ ซึ่ง ป.ป.ช.จึงมีมติชี้มูลความผิดอาญาฐานเป็นผู้สนับสนุนให้เจ้าพนักงานกระทำความผิด ส่วนอีก 16 รายที่เหลือยังอยู่ในชั้นการไต่สวนข้อเท็จจริงเพื่อขยายผลต่อไป

นายประสาท พงษ์ศิวาภัย กรรมการ ป.ป.ช.กล่าวชี้แจงถึงกระบวนการสรรหากรรมการ ป.ป.จ.32 จังหวัดแรกที่มีการร้องเรียนและยื่นฟ้องศาลปกครองว่ากระบวนการสรรหาไม่โปร่งใส ว่า ขอยืนยันว่าการสรรหา ป.ป.จ.ได้เปิดกว้าง โดยเปิดโอกาสให้บุคลต่างๆ ที่มีความรู้ความสามารถ เข้ามารับการสรรหา และขั้นตอนกระบวนการสรรหาใน 32 จังหวัดแรกก็ได้ดำเนินการด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม ปราศจากการแทรกแซงจากฝ่ายการเมือง โดยขณะนี้เราได้รายชื่อผู้เหมาะสมเป็นกรรมการ ป.ป.จ. ในแต่ละจังหวัด จำนวน 2 เท่า เพื่อที่ ป.ป.ช.จะได้มาพิจารณาคัดเลือก ส่วนอีก 44 จังหวัดที่เหลือ ขณะนี้อยู่ในระหว่างการสรรหากรรมการสรรหา ป.ป.จ.ซึ่ง ป.ป.ช.ได้เพิ่มขั้นตอนในการดำเนินการเพื่อให้การสรรหาได้บุคคลที่มีความเหมาะสมที่สุด

อย่างไรก็ตาม การร้องเรียนเข้ามาแสดงให้เห็นว่าประชาชนให้ความสนใจในการสรรหา ป.ป.จ.เพราะประชาชนมองว่า ป.ป.จ.จะเป็นองค์กรที่จะมีประโยชน์ต่อประเทศในอนาคต และแม้จะมีการฟ้องร้องคดีอยู่ในศาล ป.ป.ช.ก็จะยังคงเดินหน้าสรรหาต่อไป คงจะไม่รอการวินิจฉัยของศาล เพราะถือว่าเป็นคนละส่วน หากที่สุดแล้วศาลวินิจฉัยว่าการสรรหาไม่ชอบ ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงเฉพาะส่วนที่ศาลวินิจฉัย กรรมการ ป.ป.ช.ไม่ได้หวั่นไหว เพราะไม่ได้มีนอกในหรือมีส่วนได้เสียกับการสรรหา ป.ป.จ.

นายกล้านรงค์ กล่าวว่า ขอยืนยันว่ากรรมการ ป.ป.ช.ทุกคนดำเนินการสรรหากรรมการ ป.ป.จ.ด้วยความโปร่งใสและทำดีที่สุดแล้วในการคัดเลือกบุคคลเข้ามาเป็นกรรมการ ป.ป.จ.เพื่อทำหน้าที่และประโยชน์ให้กับประเทศและสังคม

นายภักดี โพธิศิริ กรรมการ ป.ป.ช.ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีการออกอนุญาตการประมูลคลื่น 3จี ไม่ได้เป็นการแข่งขันอย่างเป็นธรรม กล่าวว่า ภายหลังจากคณะอนุกรรมการไต่สวนได้แจ้งข้อกล่าวหากับคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) จำนวน 5 คนแล้ว ปรากฏว่ากรรมการ กทค.ทั้ง 5 คนได้ทำคำชี้แจงมายังคณะอนุกรรมการไต่สวน โดยขั้นตอนหลังจากนี้คณะอนุกรรมการไต่สวนจะรวบรวมข้อมูลและข้อกฎหมายเพื่อพิจารณาลงความเห็นต่อไป ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย.นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กรณีนี้สืบเนื่องมาจากการที่คณะกรรมาธิการการศึกษา ตรวจสอบเรื่องการทุจริต และเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ส่งเรื่องมาให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบว่า มีลักษณะเข้าข่ายความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้วประมูล) และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 หรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมา ป.ป.ช.ได้ตั้งประเด็นไต่สวน 2 ประเด็น คือ 1.การประมูลมีความมุ่งหมายเพื่อไม่ให้มีการเสนอราคาที่เป็นธรรมหรือไม่ และ 2.คณะกรรมการ กทค.เร่งรีบลงมติเห็นชอบรองรับการประมูลหรือไม่

นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช.กล่าวถึงความคืบหน้าการไต่สวนคดีร่ำรวยผิดปกติของ พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ว่า หลังจากที่ ป.ป.ช.อายัดทรัพย์สินของ พล.อ.เสถียร และผู้เกี่ยวข้องไป 4 ครั้ง ต่อมา พล.อ.เสถียร ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.อีกครั้ง เมื่อวันที่ 3 พ.ค.พบว่า มีทรัพย์สินมากขึ้นผิดปกติ เกินกว่าฐานะที่ข้าราชการจะพึงมีได้ ป.ป.ช.จึงแจ้งข้อกล่าวหาร่ำรวยผิดปกติ รวม 683 ล้านบาท ซึ่ง พล.อ.เสถียร ได้มารับทราบข้อกล่าวหาแล้วเมื่อวันที่ 14 มิ.ย.พร้อมกับมีหนังสือชี้แจงแก้ข้อกล่าวหามายัง ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 13 ส.ค.พร้อมกับอ้างพยานหลักฐานอีกจำนวนมาก หลังจากนี้หากพบว่า พล.อ.เสถียร มีพฤติการณ์ยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินก็คงต้องอายัดทรัพย์ไว้ชั่วคราว


กำลังโหลดความคิดเห็น