xs
xsm
sm
md
lg

ป.ป.ช.ยังไม่ชี้มูล “นายกฯ ปู” กรณีจำนำข้าว-เร่งตรวจสอบเช็ค 6 แบงก์โยงทุจริต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการ - ป.ป.ช.แถลงยังไม่ชี้มูลความผิดกรณี “หมอวรงค์” ร้องให้ตรวจสอบทุจริตจำนำข้าวรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เผยความคืบหน้ากำลังติดตามเส้นทางการเงินแคชเชียร์เช็คจาก 6 แบงก์อยู่ ทั้งยังต้องสอบข้าราชการกระทรวงพาณิชย์ องค์การคลังสินค้าที่ส่งข้าวไปจีนและผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อีก

จากกรณีที่มีรายงานข่าวแจ้งว่า ในช่วงบ่ายวันนี้ (27 ส.ค.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะประชุมพิจารณาชี้มูลกรณีที่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ร้องให้มีการตรวจสอบโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล และการขายข้าวระบบจีทูจีว่าเข้าข่ายทุจริตหรือไม่

ล่าสุดเมื่อช่วง 16.00 น.ที่ผ่านมา คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้แถลงความคืบหน้ากรณีดังกล่าว โดยระบุว่ายังไม่มีการชี้มูลความผิด แต่มีความคืบหน้า โดย ป.ป.ช.กำลังติดตามเส้นทางการเงิน 1,744 ฉบับ จาก 6 ธนาคารเพื่อที่จะให้ใครเป็นคนซื้อแคชเชียร์เช็คนี้ โดยเบื้องต้นมีเพียง 3 ธนาคารที่ส่งข้อมูลมาให้ประกอบไปด้วย ธนาคารกรุงไทย, แบงก์ ออฟ ไชน่า และธนาคารกรุงศรีอยุธยา ส่วนที่เหลือยังไม่มีการส่งข้อมูลมา แต่ได้รับการประสานจากธนาคารกรุงเทพ และกสิกรไทย ว่าจะส่งมาให้ภายในกลางเดือนกันยายน 2556 แต่ธนาคารไทยพาณิชย์ยังไม่ได้รับการประสานมา โดย ป.ป.ช.ได้แจ้งไปแล้วว่าให้ส่งข้อมูลมาภายในเดือนกันยายนนี้

นอกจากส่วนของแคชเชียร์เช็คแล้ว ป.ป.ช.ยังระบุด้วยว่า จะต้องมีการสอบถามข้าราชการกระทรวงพาณิชย์เพิ่มเติมเกี่ยวกับการประสานงานการรับจำนำข้าว และสอบถามองค์กรคลังสินค้ากรณีส่งข้าวไปยังที่มณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) ประเทศจีนด้วย รวมถึงสอบผู้ที่เกี่ยวข้องอีกบางส่วนก่อนประชุมพิจารณาชี้มูล

นายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงความคืบหน้าการพิจารณาโครงการรับจำนำข้าว ว่า คณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงได้นัดประชุมอนุกรรมการไต่สวนฯและคณะทำงานในเรื่องดังกล่าวแล้วหลายครั้ง ได้ไต่สวนพยานบุคคล เจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงได้ขอข้อมูลเอกสาร หลักฐานต่างๆ มาประกอบการพิจารณาแล้วจำนวนมาก และขณะนี้อนุกรรมการอยู่ในขั้นตอนการสืบสวน ประเด็นเส้นทางการเงิน โดยเฉพาะการซื้อแคชเชียร์เช็ค จำนวน 1,474 ฉบับ จาก 6 ธนาคาร มูลค่ากว่า 70,000 ล้านบาท และ แหล่งที่มาของเงินและบุคคลที่มาซื้อแคชเชียร์เช็ค ซึ่งจากการขอข้อมูลไปยัง 6 ธนาคาร มีการให้ข้อมูลตอบกลับมาแล้ว 3 ธนาคาร คือธนาคาร กรุงไทย ที่มีการซื้อแคชเชียร์เช็ค จำนวน 291 ฉบับ จากผู้ซื้อ 9 ราย (จดทะเบียนเป็นบริษัท 3 ราย และเป็นเอกชน 6 ราย) รวม 16,259 ล้านบาท ธนาคารแบงค์ออฟไซน่า มีการซื้อแคชเชียร์เช็ค จำนวน 10 ฉบับ จากผู้ซื้อ 1 ราย รวม 253 ล้านบาท และธนาคารกรุงศรีอยุธยา มีการซื้อแคชเชียร์เช็ค จำนวน 2 ฉบับ จากผู้ซื้อ 1 ราย รวม 86 ล้านบาท

ส่วนอีก 3 ธนาคาร ซึ่งได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ที่มีการซื้อแคชเชียร์เช็ค จำนวน 139 ฉบับ ธนาคารไทยพาณิชย์ 284 ฉบับ และธนาคารกสิกรไทย 748 ฉบับ ขณะนี้อนุกรรมการไต่สวนฯยังไม่ได้รับข้อมูล ซึ่งหลังจากนี้จะเร่งประสานขอข้อมูลจากธนาคารทั้งหมด โดยคาดว่าจะได้ข้อมูลครบภายในเดือนก.ย.นี้ และจะดำเนินการไต่สวนพยานบุคคลที่สำคัญ อาทิ ผู้ชื้อแคชเชียร์เช็คทั้งหมด ว่ามีความเกี่ยวข้องกับการซื้อขายข้าวอย่างไร เจ้าหน้าที่กระทรวงพาณิชย์เกี่ยวกับการประสานงานการรับจำนำและระบายข้าว องค์การคลังสินค้าในประเด็นการส่งมอบข้าวไปยังประเทศจีน และกรณีการซื้อแบบรัฐต่อรัฐมีการดำเนินการเป็นอย่างไร

นายกล้านรงค์ ยังยืนยันด้วยว่า การสืบสวนสอบสวนในเรื่องดังกล่าว ป.ป.ช. จะดำเนินการอย่างรอบคอบ และไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะดำเนินการได้เสร็จและชี้มูลได้ก่อนพ้นวาระในเดือนก.ย.นี้ แต่แม้พ้นวาระ ก็ไม่ได้มีผลให้ความเป็นอนุกรรมการฯสิ่นไป ซึ่งคดีนี้มีกรรมการป.ป.ช.เป็นอนุกรรมการฯ คือนายวิชา มหาคุณ และนายประสาท พงษ์ศิวาภัย ดังนั้นหากต้นถูกให้พ้นจากการเป็นอนุกรรมการฯการสอบสวนก็ยังคงเดินหน้าต่อไปได้

ส่วนการตรวจสอบโครงการบริหารจัดการน้ำ3.5แสนล้านบาท ว่า กรณีดังกล่าว ีการร้องเรียนมายังป.ป.ช.จำนวน4 เรื่อง ซึ่งอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่าอยู่ในอำนาจที่ป.ป.ช.จะพิจารณาหรือไม่ เนื่องจากแต่ละเรื่องที่ร้องเรียนมานั้นข้อกล่าวหายังไม่ละเอียด โดยเฉพาะคำร้องที่ทางพรรคประชาธิปัตย์ ยื่นผ่านประธานวุฒิ เพื่อส่งต่อให้ป.ป.ช.ให้ดำเนินการถอดถอนนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ ป.ป.ช.จะให้กรรมการป.ป.ช.ทั้งคณะ 9 คน เป็นคณะกรรมการไต่สวนในคดีนี้

สำหรับคดีการทุจริตการรับจำนำข้าวดังกล่าว นพ.วรงค์ได้ยื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช.เมื่อวันที่ 5 มิ.ย. 2556 เพื่อให้ตรวจสอบการระบายข้าวเมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2554 ตามเนื้อหาที่ได้อภิปรายในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ช่วงสัปดาห์ก่อนหน้านั้น โดยขอให้ตรวจสอบคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าวทั้ง 10 คน ซึ่งมีนายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์ เป็นประธาน และคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน และมีนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง อดีต รมว.พาณิชย์ร่วมด้วย โดยขอให้ตรวจสอบต่อเนื่องไปถึงการระบายข้าวในสมัยนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ เป็น รมว.พาณิชย์ ซึ่งเป็นช่วงคาบเกี่ยวของการระบายข้าว และตรวจสอบไปถึงข้าราชการและภาคธุรกิจเพราะเห็นว่าการระบายข้าวครั้งนี้จะไม่สามารถสำเร็จได้หากไม่มีการสมรู้ร่วมคิดจากบุคคลเหล่านี้ ทั้งนี้ หาก ป.ป.ช.ชี้มูลว่ามีความผิดจริงจะส่งผลให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ต้องยุติการทำหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีทันที เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยมาตรา 272 วรรคสี่ ระบุว่า หากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิด ผู้ถูกยื่นถอดถอนจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปไม่ได้ จนกว่าวุฒิสภาจะลงมติถอดถอน






กำลังโหลดความคิดเห็น