xs
xsm
sm
md
lg

CPFแจงข่าวจ่ายเงินสื่อ ข้อมูลผิดแค่ซื้อโฆษณา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - “ซีพีเอฟ” ชี้แจงข่าวการจ่ายเงินให้สื่อเป็นการซื้อโฆษณาตามปกติของหน่วยงานประชาสัมพันธ์ และเป็นข้อมูลที่ใช้เป็นการภายในเท่านั้น ผู้นำไปเผยแพร่มีการเข้าใจคลาดเคลื่อน ทำให้เกิดการเข้าใจผิด ด้านสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ตั้งคณะกรรมการอิสระ สอบสวนกรณีบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านการเกษตรจ่ายเงินสื่อมวลชนอาวุโสเป็นงบพิเศษ "กล้านรงค์" นั่งเป็นประธาน "จักร์กฤษ" ชี้วิธีจัดการพีอาร์ปกติ แต่ระบุข้อมูลส่วนตัวนักข่าวทำแบบนั้นเพื่ออะไร

ตามที่มีข่าวปรากฎบนเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูล&ข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง (TCIJ) ว่า ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของธุรกิจยักษ์ใหญ่จ่ายเงินให้สื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวที่ส่งผลกระทบต่อองค์กรนั้น

**“ซีพีเอฟ”แจงข้อมูลคลาดเคลื่อน

นางพรรณินี นันทพานิช รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพีเอฟ จำกัด (มหาชน) ชี้แจงว่า ข่าวดังกล่าวซึ่งเป็นการให้ข้อมูลโดยอ้างแหล่งข่าวที่ไม่สามารถเปิดเผยนาม เพื่อเปิดเผยข้อมูล พาดพิงการทำงานของหน่วยงานประชาสัมพันธ์ ทั้งนี้ หน่วยสื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ ซีพีเอฟ เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มีการประสานงานกับสื่อและผู้สื่อข่าวอย่างใกล้ชิด ขอชี้แจงในหลักการและบทบาทของการประชาสัมพันธ์ว่า การทำแผนประชาสัมพันธ์ ค่าใช้จ่ายในการซื้อโฆษณาในสื่อต่างๆ เป็นเรื่องต้องปฏิบัติเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดทำงบประมาณประจำปี และมีความจำเป็นต้องเก็บรายละเอียดทุกขั้นตอน เพื่อให้เกิดความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบในทางบัญชีได้อย่างถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม หน่วยงานประชาสัมพันธ์ยังต้องจัดทำงบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อใช้ในการสนับสนุนกิจกรรมของสื่อมวลชนในกรณีพิเศษ เช่น การจัดกอล์ฟการกุศลเพื่อระดมทุนไปใช้ในกิจกรรมพิเศษของสื่อนั้นๆ หรือ การจัดงานสัมมนาต่าง ๆ เป็นต้น เหล่านี้ถือเป็นงบปกติที่องค์กรขนาดใหญ่มีการจัดสรรงบประมาณไว้รองรับ และจำเป็นต้องระบุชัดเจนเป็นงบพิเศษเพื่อสนับสนุนสื่อมวลชน ซึ่งงบประมาณในส่วนนี้ไม่ได้มีวงเงินสูง

นอกจากนี้ การทำงานในเชิงรุกเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงกับสื่อ เพื่อสร้างความเข้าใจในองค์กร เป็นเรื่องจำเป็นที่สื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ต้องทำหน้าที่อย่างเคร่งครัดเพื่อรักษาภาพลักษณ์อันดีขององค์กร ดังนั้น การติดต่อกับสื่อที่เกี่ยวข้องนำข้อความหรือกระทู้ที่ทำให้เกิดความเสื่อมเสียแก่บริษัทและไม่เป็นความจริงถือเป็นเรื่องจำเป็นที่หน่วยงานประชาสัมพันธ์ต้องปฏิบัติ

หน่วยสื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ ซีพีเอฟ ขอยืนยันว่า การปฏิบัติต่อสื่อมวลชนและการดำเนินการเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ เป็นไปอย่างถูกต้องตามงบประมาณที่นำเสนอไว้กับบริษัทและสามารถตรวจสอบได้ จึงขอเรียกร้องให้พิจารณาในเรื่องนี้อย่างเป็นธรรมกับวิชาชีพการประชาสัมพันธ์

“เราขอยืนยันว่าเราไม่เคยใช้เงินเพื่อซื้อสื่อในการปิดข่าวหรือบิดเบือนเนื้อหาข่าวไม่ให้เป็นความจริง” นางพรรณินี กล่าวย้ำ

**สองสภาวิชาชีพสื่อตั้ง "กล้านรงค์" สอบ

ขณะที่ทางด้าน สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยได้ออกแถลงการณ์ร่วม แสดงความห่วงใยต่อกรณีดังกล่าวนี้ และเพื่อให้การพิจารณาเรื่องนี้เป็นไปด้วยความโปร่งใส สุจริต ตรงไปตรงมา สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติและสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ตั้ง “คณะกรรมการอิสระ” ขึ้นมาชุดหนึ่งโดยมีนายกล้านรงค์ จันทิก เป็นประธาน ร่วมกับคณะกรรมการประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ และบุคคลภายนอก เพื่อพิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริงให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว

โดย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ออกแถลงการณ์ร่วม เรื่อง ข้อกล่าวหาสื่อมวลชนรับเงินบริษัทเอกชนเพื่อปฎิบัติหรือละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ตามวิชาชีพ ระบุว่า จากกรณีที่ศูนย์ข้อมูล & ข่าวสืบสวนสิทธิพลเมือง (TCIJ) ได้เผยแพร่เอกสาร โดยอ้างว่า เป็นของฝ่ายประชาสัมพันธ์บริษัทยักษ์ใหญ่ที่ทำธุรกิจด้านผลิตภัณฑ์สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารครบวงจร มีเนื้อหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อถือของสื่อทั้งระบบ
โดยเอกสารบางตอนระบุว่า มีการจ่ายเงินเป็นรายเดือนให้กับสื่อมวลชนอาวุโสเฉพาะรายรวม 19 ราย เป็น “งบพิเศษเพื่อสนับสนุนสื่อมวลชน” ทั้งนี้อาจเป็นการให้ในลักษณะต่างตอบแทน ซึ่งขัดต่อหลักการแห่งวิชาชีพ ที่สื่อมวลชนต้องละเว้นการรับอามิสสินจ้างอันมีค่า หรือผลประโยชน์ใดๆ เพื่อให้กระทำการหรือไม่กระทำการใด อันจะขัดต่อการปฎิบัติหน้าที่เพื่อให้ประชาชนได้รับรู้ ข้อมูลข่าวสารอย่างถูกต้องรอบด้าน

นอกจากนี้เอกสารยังปรากฏข้อความ ที่แสดงถึง การละเมิด “ข้อมูลส่วนบุคคล”ของสื่อมวลชน โดยระบุสถานะการทำงาน สภาพที่พักอาศัย ทัศนคติ วิธีการทำงาน และการใช้ชีวิต ซึ่งไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับการทำงานตามปกติ

องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย มีความกังวลและห่วงใยในเรื่องนี้อย่างยิ่ง ไม่แต่เพียงผลกระทบต่อความเชื่อถือในองค์กรสื่อและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อเท่านั้น หากแต่บริษัทเอกชนที่ถูกกล่าวอ้างถึงก็ได้รับผลกระทบและจำเป็นจะต้องให้ความกระจ่างในเรื่องนี้ต่อสาธารณชนด้วย

เพื่อให้การพิจารณาเรื่องนี้เป็นไปด้วยความโปร่งใส สุจริต ตรงไปตรงมา สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ตั้ง “คณะกรรมการอิสระ” ขึ้นมาชุดหนึ่งโดยมีนายกล้านรงค์ จันทิก เป็นประธาน ร่วมกับคณะกรรมการประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ และบุคคลภายนอก เพื่อพิจารณาสอบสวนข้อเท็จจริงให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว และจะได้แถลงต่อสาธารณชนทราบต่อไป

ก่อนหน้านี้ นายจักร์กฤษ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ให้สัมภาษณ์เว็บไซต์"โพสต์ทูเดย์" ว่า โดยส่วนตัวได้ตั้งข้อสังเกตถึงกรณีนี้ไว้ 3 ประเด็น คือ 1.วิธีการจัดการพีอาร์ ถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งสังคมวงกว้างอาจไม่รับทราบ 2.การระบุชื่อถึงผู้สื่อข่าวและหน้าที่รับผิดชอบในหนังสือพิมพ์สองฉบับ พร้อมที่อยู่ซึ่งถือเป็นข้อมูลส่วนตัว ต้องทำแบบนั้นเพื่ออะไร และ 3.กรณีอ้างว่ามีการจ่ายเงินให้กับสื่ออาวุโสเพื่อเป็นค่าโฆษณาคิดได้ 2 แบบ คือ 1.จ่ายเพื่อเป็นค่าโฆษณาตามปกติ แต่ถูกขึ้นชื่อไว้เป็นผู้รับ หรือใช้ถ้อยคำจนอาจมองได้ว่ามี ส่วนเกี่ยวข้อง และ 2.หากมีการจ่ายเป็นการส่วนตัวให้กับบุคคลที่มีรายชื่อจริง ถือว่าไม่ถูกต้อง
กำลังโหลดความคิดเห็น