xs
xsm
sm
md
lg

ฝ่ายความมั่นคงถก"บัวแก้ว" แผนเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 10.15 น. วานนี้ (16ก.ค.) ที่ห้องประชุมยุทธนาธิการ กระทรวงกลาโหม พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานร่วมกัน ในการประชุมคณะอนุกรรมการศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมประเทศไทย ในการเข้าสู่ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน
พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวเปิดประชุมว่า จากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ได้แต่งตั้งศูนย์เตรียมความพร้อม เพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ 3 คณะ ซึ่งในการประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการเมือง และความมั่นคง โดยที่ผ่านมา พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และรองหัวหน้าคสช. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ฯได้ออกคำสั่งแต่งตั้งให้ตน และปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานร่วมกัน ซึ่งการประชุมครั้งนี้ จะหารือเรื่องต่างๆ เพราะว่าไทยมีเขตแดนติดต่อหลายประเทศ ที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างสันติ รวมทั้งสนับสนุนด้านการค้า และวัฒนธรรม อีกทั้งยังหารือด้านการเมือง และความมั่นคง เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ และวัฒนธรรม เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน
ด้านนายสีหศักดิ์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ มีความสำคัญเพื่อหารือในการสร้างความพร้อมให้กับประเทศ ในกระบวนการภายในเพื่อนำข้อผูกพัน และภารกิจต่างๆไปดำเนินการให้มีความชัดเจนมากขึ้น พร้อมทั้งให้คำนึงถึงความพร้อม ที่ไทยจะแสดงบทบาทนำในอาเซียน เพราะปัจจุบันสถานการณ์ในอาเซียน เกิดความเปลี่ยนแปลง และเกิดความเขื่อมโยงมากขึ้น รวมทั้งเกิดปัญหาต่างๆ เช่น อาชญากรรมข้ามแดน และการโยกย้ายถิ่นฐาน ฉะนั้นไทยจะมีบทบาทอย่างไรในอาเซียน และรับมือปัญหาต่างๆ
ต่อมาพล.อ.สุรศักดิ์ ให้สัมภาษณ์ว่า ในส่วนที่ตนรับผิดชอบ คือ การขับเคลื่อน การเตรียมความพร้อมภายในประเทศไทย ทั้งด้านการเมือง คือ การเตรียมความพร้อม ด้านการส่งเสริมประชาคมการเมือง และความมั่นคงในอาเซียน ด้านการสร้างความเชื่อมโยงกับโลกภายนอก โดยจะทำงานร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม สภาความมั่นคงแห่งชาติ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ มีการพิจารณาประเด็นยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 5 ประเด็น คือ 1 . การสร้างเอกภาพของอาเซียน และสร้างดุลยภาคทางอำนาจกับมหาอำนาจ 2. การสร้างความพร้อมภายในเพื่อรับมือการติดต่อเชื่อมโยงในอาเซียน 3. การร่วมมือกับอาเซียนเพื่อรับมือกับการติดต่อเชื่อมโยงในอาเซียน 4. การปรับตัวอย่างสมดุลเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ และ 5.การสร้างความตระหนักรู้ และทัศนคติที่เหมาะสมต่ออาเซียน
โดยทั้ง 5 ประเด็นยุทธศาสตร์ดังกล่าว จำเป็นต้องขับเคลื่อนแผนงานในระยะหน้า ตั้งแต่เดือนก.ค.ถึง เดือนก.ย.57 ซึ่งจะดำเนินการมุ่งสู่การสร้างความพร้อมภายในประเทศ เพื่อเข้าสู่ประชาคมการเมือง และความมั่นคงอาเซียน ในปี 58 ต่อมาระยะเร่งด่วน โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนต.ค.57 ถึงเดือนธ.ค. 58 ซึ่งจะให้ความเร่งด่วนกับการปฏิบัติตามแผนบูรณาการใน 5 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย การบริหารจัดการชายแดน การสร้างความมั่นคงทางทะเล การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และการทูตเชิงป้องกัน รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพในการปฏิบัติการทางทหารร่วมกันของอาเซียน
สำหรับแผนในระยะยาว ตั้งแต่เดือนม.ค.59 เป็นต้นไป จะเป็นการสร้างความยั่งยืน และความต่อเนื่อง จากการดำเนินงานตามแผนระยะเร่งด่วน โดยกำหนดเป้าหมายสุดท้ายร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างหลักประกันของทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมการเมือง และความมั่นคงอาเซียน ทั้งในด้านองค์กร บุคคลากร การสร้างความตระหนักรู้ รวมทั้งเร่งรัดการดำเนินงานตามแผนงานการจัดตั้ง ประชาคมการเมือง และความมั่นคงอาเซียน ให้เป็นไปตามพันธะกรณีที่จะสามารถสร้างบรรยากาศที่ดี และเอื้ออำนวยต่อการขยายความร่วมมือในประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคม และวัฒนธรรมต่อไป
พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 25 ก.ค.นี้ ทางกระทรวงกลาโหม ได้มีการจัดสัมมนาในส่วนของทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะเชิญผู้ช่วยทูตทหารในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ประจำในประเทศไทย มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการเตรียมความพร้อมต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของแต่ละประเทศ เพื่อที่เราจะได้ปรับของเราได้ดีขึ้น ซึ่งความเร่งด่วนที่จะก้าวสู่ประชาคมอาเซียน คือ การตั้งทีมไทยแลนด์ให้เข้มแข็ง และคนไทยทุกคนต้องร่วมมือกัน รวมถึงทุกส่วนราชการต้องปรับการทำงานในเป็นภาพเดียวกัน
ด้านนายสีหศักดิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาทุกคนต่างให้ความสำคัญ และมุ่งไปสู่ประชาคมด้านเศรษฐกิจ แต่ต้องไม่ลืมว่า เศรษฐกิจจะคืบหน้าได้นั้นต้องมีความสงบ และสันติภาพในภูมิภาค โดยในการประชุมครั้งนี้ มีการพูดคุยหลายเรื่อง โดยเฉพาะมิติใหม่ๆ ด้านความมั่นคง ซึ่งจะต้องมีการเตรียมความพร้อม เช่น กระบวนการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน ที่จะนำไปสู่การข้ามย้ายของสินค้า การลงทุน คนที่จะสามารถข้ามผ่านชายแดนของแต่ละประเทศสะดวกขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีปัญหาในเรื่องความมั่นคง ในมิติใหม่ๆ ตามมา เช่น ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การโยกย้ายถิ่นฐานเรื่องโรคภัยไขเจ็บ ซึ่งการประชุมวันนี้ถือว่ามีความสำคัญที่ทำให้เห็นภาพรวม โดยเฉพาะประเทศไทยจะมีบทบาทนำและขับเคลื่อนความร่วมมือของอาเซียน ทั้งในส่วนการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ซึ่งในที่สุดแล้วอาเซียนคือเสาหลักของการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น