ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เปิดประชุม ผบ.ทร.อาเซียน มี 9 ชาติร่วม แย้มตั้งกองกำลังอาเซียนส่งไปรักษาสันติภาพเป็นหน่วยเฉพาะกิจ โยนนายกฯ มอบเก้าอี้ แต่ยันจะทำให้ดีที่สุด แต่ถ้าได้เกินกว่า 1 กระทรวงก็เยอะไป
วันนี้ (27 ส.ค.) โรงแรมมิลลิเนียม ฮิลตัน กรุงเทพฯ เมื่อเวลา 09.00 น. พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.ทหารสูงสุด เป็นประธานเปิดการประชุมผู้บัญชาการทหารเรืออาเซียน โดย พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. ในฐานะเจ้าภาพและประธานการประชุมใหัการต้อนรับ ทั้งนี้มีผู้บัญชาการทหารเรือจาก 9 ประเทศในอาเซียนเข้าร่วมประชุม ได้แก่ ไทย บรูไน อินโดนีเซีย กัมพูชา มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม
พล.อ.ธนะศักดิ์กล่าวว่า การประชุมในวันนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในภาพร่วมของกองทัพในการเข้าสู่อาประชาคมอาเซียน ในอนาคตต่อไปจะมีการตั้งเป็นกองกำลังอาเซียนและการส่งกำลังไปรักษาสันติภาพ แทนที่จะไปประเทศใดประเทศหนึ่ง เราจะรวมกันไป ใครที่มีศักยภาพในด้านใดก็ส่งไป พร้อมกับตั้งเป็นหน่วยเฉพาะกิจอาเซียน เราได้มีข้อตกลงกันระหว่างกองทัพในอาเชียน เพราะเรามีความสัมพันธ์แนบแน่น และในส่วนของความมั่นคงแทบจะไม่ได้เปลี่ยนอะไรเพราะเรามีเสาหลักด้านความมั่นคงแนวทางการปฏิบัติ ที่สำคัญมีความสัมพันธ์ด้านส่วนตัว การประชุมในครั้งนี้ถือว่ามีประโยชน์สำหรับกลุ่มประเทศอาเชียน และในภูมิภาค
ทั้งนี้ การประชุมผู้บัญชาการทหารเรืออาเซียนได้หารือถึงความร่วมมือระหว่างกองทัพเรือ การแลกเปลี่ยนมุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงทางทะเลในแต่ภูมิภาค รวมถึงแผนงานกิจกรรมความร่วมมือต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในวงรอบ 2 ปีข้างหน้า โดยการประชุมในครั้งนี้ กองทัพเรือได้กำหนดประเด็นหลักหรือบริบทของการประชุม คือ บทบาทของกองทัพเรืออาเซียน ภายหลังมีการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนในปี ค.ศ. 2015 (Roles for the ASEAN Navies after ASEAN Integration 2015) เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ความร่วมมือระหว่างประเทศ ที่จะเกิดขึ้นจริงในภูมิภาคนี้ ในปีหน้า หรือ “Roles for the ASEAN Navies after ASEAN integration 2015”
ส่วนวัตถุประสงค์ในการประชุมคือเป็นเวทีปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนมุมมองต่างๆ ของ ผบ.ทร.ในอาเซียน เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจและความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ส่งเสริมให้มีการทำกิจกรรมร่วมกันและพัฒนาศักยภาพของกองทัพเรืออาเซียน เพื่อให้ทันกับสิ่งท้าทายใหม่ๆ โดยหารือและพิจารณาในเรื่องต่างๆ บนหลักการสำคัญ คือ การไม่ก้าวก่ายในกิจการภายในของแต่ละประเทศ เคารพสิทธิเสรีภาพและอำนาจอธิปไตยซึ่งกันและกัน โดยความร่วมมือในเรื่องต่างๆ จะเป็นไปด้วยความสมัครใจ และเห็นพ้องร่วมกันซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานของประชาคมอาเซียน
สำหรับประโยชน์ที่กองทัพเรือไทยจะได้รับจากการประชุมในครั้งนี้ นอกจากจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีต่อกันในระดับกองทัพเรือแต่ละประเทศแล้ว ยังทำให้ได้รับทราบถึงมุมมอง และแนวคิดของ ผบ.ทร.ในอาเซียน เกี่ยวกับความมั่นคงทางทะเลในภูมิภาคซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเข้าใจระหว่างกัน ก่อให้เกิดความร่วมมือและการพัฒนาแนวทางปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่สำคัญในปัจจุบัน เช่น การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติในทะเล การป้องกันและปราบปรามโจรสลัดและการกระทำอื่นๆ ที่ผิดกฎหมายของรัฐชายฝั่งแต่ละประเทศ รวมถึงการก่อการร้ายทางทะเล เป็นต้น
นอกจากนั้น ในการประชุมครั้งนี้กองทัพเรือยังเตรียมที่จะเสนอตัวในการเป็นเจ้าภาพจัดพิธีสวนสนามทางเรือนานาชาติในปี พ.ศ. 2560 ในโอกาสครบรอบ 50 ปีการก่อตั้งอาเซียน รวมทั้งจะเสนอแนวความคิดให้จัดการฝึกผสมทางเรือแบบพหุภาคีระหว่างกองทัพเรือประเทศต่างๆ ในอาเซียนด้วย ข้อเสนอเหล่านี้หากได้รับการยอมรับและสามารถพัฒนาไปสู่การปฏิบัติจริงแล้วก็จะก่อให้เกิดประโยชน์ในการเสริมสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างกองทัพเรือในอาเซียนให้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งจะช่วยเสริมสร้างบทบาทในภูมิภาคและภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่กองทัพเรือไทยและประเทศชาติโดยรวมอีกทางหนึ่ง (อาเซียน หรือสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Association of South East AsianNations หรือ ASEAN) ก่อตั้งขึ้นโดยปฏิญญากรุงเทพฯ (Bangkok Declaration)
ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของ 5 ประเทศสมาชิก อันได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย ได้มีการลงนามร่วมกัน ที่วังสราญรมย์ จ.กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2510 โดยมีจุดมุ่งหมาย คือ เพื่อให้ความร่วมมือกันทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เพื่อยกระดับการครองชีพและฐานะทางเศรษฐกิจ และความเจริญในทางเทคนิค วิชาการ ร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งในเวลาต่อมาได้มีประเทศต่างๆ เข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่มเติม ได้แก่ บรูไนดารุสซาลาม เวียดนาม ลาว พม่า และกัมพูชา ทำให้ปัจจุบันมีสมาชิกอาเซียนทั้งหมด 10 ประเทศ สำหรับ สปป.ลาว ไม่มี ผบ.ทร.เพราะประเทศไม่ติดทะเล ทำให้การประชุม ผบ.ทร.อาเซียน มี ผบ.ทร.จาก 9 ประเทศเข้าร่วมประชุม
ต่อมารองหัวหน้า คสช.ฝ่ายความมั่นคงและต่างประเทศ กล่าวถึงกรณีที่มีชื่อติดอยู่ในโผ ครม.ว่า ขณะนี้ตนทำหน้าที่ดูแล 4 กระทรวงหลัก คือ กระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงไอซีที แต่สื่อตั้งให้ตนเป็นรัฐมนตรีทุกกระทรวง
เมื่อถามว่าโผ ครม.ที่สื่อตั้งตรงบ้างหรือไม่ อย่างตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ พล.อ.ธนะศักดิ์กล่าวว่า เป็นทหาร นายกฯ ตั้งให้เป็นอะไรก็ต้องทำ และต้องทำให้ดีที่สุด ทั้งนี้ นโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในฐานะหัวหน้า คสช.ก็เพื่อประเทศชาติและส่วนรวม และทุกคนใน คสช.ตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่ ทั้งนี้การทำงานของคณะ คสช.ในช่วงที่ผ่านมาเหมือนเราเข้าไปช่วยให้กระทรวงต่างๆ ได้ทำงานอย่างมีเกียรติและศักดิ์ศรีที่จะแสดงความคิดอ่าน โดยมีคณะ คสช.เป็นผู้เข้าไปประสานอำนวยความสะดวก เชื่อมและต่อให้ในสิ่งที่ขาดหายไป หากไม่คิดเข้าข้างตัวเองจะเห็นว่าการทำงานของทุกกระทรวงเร็วขึ้น พร้อมทั้งมีเกียรติและศักดิ์ศรีในการทำงาน
เมื่อถามว่า ถ้าต้องไปนั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีเกินกว่าหนึ่งจะหนักเกินไปหรือไม่ พล.อ.ธนะศักดิ์กล่าวว่า คงจะเยอะไป เพราะในขณะนี้ปลัดกระทรวงต่างๆก็ทำหน้าที่เหมือนรัฐมนตรีอยู่แล้ว ในส่วน คสช.ก็อำนวยความสะดวก ที่ผ่านมาก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี