xs
xsm
sm
md
lg

กลาโหมถก กต.เตรียมความพร้อมไทยเข้าสู่อาเซียนด้านการเมือง-ความมั่นคง 5 ยุทธศาสตร์ 3 ระยะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม (ภาพจากแฟ้ม)
ปลัดกลาโหม-กต.ร่วมประชุมอนุฯ ศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมประเทศเข้าสู่อาเซียน กลาโหมรับผิดชอบด้านการส่งเสริมประชาคมการเมือง และความมั่นคง พิจารณายุทธศาสตร์ 5 ประเด็น 3 ระยะ เตรียมสัมมนาทางทหาร 25 ก.ค.



วันนี้ (16 ก.ค.) ที่ห้องประชุมยุทธนาธิการ กระทรวงกลาโหม เมื่อเวลา 10.15 น. พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยนายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานร่วมกันในการประชุมคณะอนุกรรมการศูนย์อำนวยการเตรียมความพร้อมประเทศไทยในการเข้าสู่ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน โดย พล.อ.สุรศักดิ์กล่าวเปิดประชุมว่า จากที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้แต่งตั้งศูนย์เตรียมความพร้อมเพื่อเข้าสู่ประชาคมอาเซียน มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมกรรม 3 คณะ ซึ่งในวันนี้เป็นการประชุมคณะอนุกรรมการด้านการเมืองและความมั่นคง โดยที่ผ่านมา พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด และรองหัวหน้า คสช. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ฯ ได้ออกคำสั่งแต่งตั้งให้ตน และปลัดกระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานร่วมกัน ซึ่งในวันนี้เป็นการประชุมครั้งแรกที่จะหารือ เพราะว่าไทยมีเขตแดนติดต่อหลายประเทศที่จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างสันติ รวมทั้งสนับสนุนด้านการค้าและวัฒนธรรม อีกทั้งยังหารือด้านการเมืองและความมั่นคง เพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจ และวัฒนธรรม เพื่อหาข้อสรุปร่วมกัน

ด้านนายสีหศักดิ์กล่าวว่า การประชุมวันนี้มีความสำคัญเพื่อหารือในการสร้างความพร้อมให้แก่ประเทศ ในกระบวนการภายในเพื่อนำข้อผูกพันและภารกิจต่างๆ ไปดำเนินการให้มีความชัดเจนมากขึ้น พร้อมทั้งให้คำนึงถึงความพร้อมที่ไทยจะแสดงบทบาทนำในอาเซียน เพราะปัจจุบันสถานการณ์ในอาเซียนเกิดความเปลี่ยนแปลง และเกิดความเขื่อมโยงมากขึ้น รวมทั้งเกิดปัญหาต่างๆ เช่น อาชญากรรมข้ามแดน และการโยกย้ายถิ่นฐาน ฉะนั้นไทยจะมีบทบาทอย่างไรในอาเซียนและรับมือปัญหาต่างๆ

พล.อ.สุรศักดิ์ให้สัมภาษณ์ว่า ในส่วนที่ตนเองรับผิดชอบ คือ การขับเคลื่อน การเตรียมความพร้อมภายในประเทศไทย ทั้งด้านการเมือง คือ การเตรียมความพร้อมภายในประเทศ ด้านการส่งเสริมประชาคมการเมือง และความมั่นคงในอาเซียน ด้านการสร้างความเชื่อมโยงกับโลกภายนอก โดยจะทำงานร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม สภาความมั่นคงแห่งชาติ และหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้ให้ความสำคัญต่อการเตรียมความพร้อมภายในประเทศ โดยมีการพิจารณาประเด็นยุทธศาสตร์ ประกอบด้วย 5 ประเด็น คือ 1. การสร้างเอกภาพของอาเซียน และสร้างดุลยภาคทางอำนาจกับมหาอำนาจ 2. การสร้างความพร้อมภายในเพื่อรับมือการติดต่อเชื่อมโยงในอาเซียน 3. การร่วมมือกับอาเซียนเพื่อรับมือกับการติดต่อเชื่อมโยงในอาเซียน 4. การปรับตัวอย่างสมดุลเพื่อรักษาความมั่นคงของชาติ และ 5. การสร้างความตระหนักรู้ และทัศนคติที่เหมาะสมต่ออาเซียน

โดยทั้ง 5 ประเด็นยุทธศาสตร์ดังกล่าวจำเป็นต้องขับเคลื่อนแผนงานในระยะตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ถึง เดือนกันยายน 2557 ซึ่งจะดำเนินการมุ่งสู่การสร้างความพร้อมภายในประเทศ เพื่อเข้าสู่ประชาคมการเมือง และความมั่นคงอาเซียน ในปี 2558 ต่อมาระยะเร่งด่วน โดยจะเริ่มตั้งแต่เดือนตุลาคม 2557 ถึงเดือนธันวาคม 2558 ซึ่งจะให้ความเร่งด่วนกับการปฏิบัติตามแผนบูรณาการใน 5 ประเด็นหลัก ประกอบด้วย การบริหารจัดการชายแดน การสร้างความมั่นคงทางทะเล การแก้ไขปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ และการทูตเชิงป้องกัน รวมถึงการเสริมสร้างศักยภาพในการปฏิบัติการทางทหารร่วมกันของอาเซียน สำหรับแผนในระยะยาว ตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 เป็นต้นไป จะเป็นการสร้างความยั่งยืน และความต่อเนื่อง จากการดำเนินงานตามแผนระยะเร่งด่วน โดยกำหนดเป้าหมายสุดท้ายร่วมกัน เพื่อเสริมสร้างหลักประกันของทุกส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมการเมือง และความมั่นคงอาเซียน ทั้งในด้านองค์กร บุคคลากร การสร้างความตระหนักรู้ รวมทั้งเร่งรัดการดำเนินงานตามแผนงานการจัดตั้ง ประชาคมการเมือง และความมั่นคงอาเซียนให้เป็นไปตามพันธะกรณีที่จะสามารถสร้างบรรยากาศที่ดีและเอื้ออำนวยต่อการขยายความร่วมมือในประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคม และวัฒนธรรมต่อไป

ทั้งนี้ ในวันที่ 25 ก.ค. ทางกระทรวงกลาโหมได้มีการจัดสัมมนาในส่วนของทหาร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะเชิญผู้ช่วยทูตทหารในกลุ่มประเทศอาเซียนที่ประจำในประเทศไทยมาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในการเตรียมความพร้อมต่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนของแต่ละประเทศ เพื่อที่เราจะได้ปรับของเราได้ดีขึ้น ซึ่งความเร่งด่วนที่จะก้าวสู่ประชาคมอาเซียนคือ การตั้งทีมไทยแลนด์ให้เข้มแข็ง และคนไทยทุกคนต้องร่วมมือกัน รวมถึงทุกส่วนราชการต้องปรับการทำงานในเป็นภาพเดียวกัน

ด้านนายสีหศักดิ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาทุกคนต่างให้ความสำคัญ และมุ่งไปสู่ประชาคมด้านเศรษฐกิจ แต่ต้องไม่ลืมว่าเศรษฐกิจจะคืบหน้าได้นั้นต้องมีความสงบ และสันติภาพในภูมิภาค โดยในการประชุมครั้งนี้มีการพูดคุยหลายเรื่อง โดยเฉพาะมิติใหม่ๆด้านความมั่นคง ซึ่งจะต้องมีการเตรียมความพร้อม เช่น กระบวนการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน ที่จะนำไปสู่การข้ามย้ายของสินค้า การลงทุน คนที่จะสามารถข้ามผ่านชายแดนของแต่ละประเทศสะดวกขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็จะมีปัญหาในเรื่องความมั่นคง ในมิติใหม่ๆ ตามมา เช่น ปัญหาอาชญากรรมข้ามชาติ การโยกย้ายถิ่นฐานเรื่องโรคภัยไขเจ็บ ซึ่งการประชุมวันนี้ถือว่ามีความสำคัญที่ทำให้เห็นภาพรวม โดยเฉพาะประเทศไทยจะมีบทบาทนำและขับเคลื่อนความร่วมมือของอาเซียน ทั้งในส่วนการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม ในที่สุดแล้วอาเซียนคือเสาหลักของการดำเนินนโยบายต่างประเทศของไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น