xs
xsm
sm
md
lg

"รสนา"ห่วงเสียปตท.100% ติงคสช.ส่งทหารนั่งบอร์ด ย้ำท่อก๊าซต้องเป็นของรัฐ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-"รสนา"ติง คสช. ส่งตัวแทนเข้านั่งในบอร์ดปตท. ทำให้ดูไม่โปร่งใส แนะควรสั่งการจากภายนอกมากกว่า พร้อมจับตาการปฏิรูปพลังงาน หวั่นเป็นต้นเหตุให้รัฐต้องสูญเสียปตท.ไปเป็นเอกชน 100% ย้ำท่อก๊าซต้องตกเป็นของรัฐ "ประยุทธ์"สั่งทุกรัฐวิสาหกิจต้องทำงานโปร่งใส ตรวจสอบได้ ด้านบอร์ดอภ. ลาออกยกชุดวันนี้ เปิดทางคสช. ปรับปรุงการทำงาน ไม่ใช่เพราะทำงานห่วย

น.ส.รสนา โตสิตตระกูล ตัวแทนกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงาน (จปพ.) เปิดเผยในงานสัมมนาวิชาการเรื่อง "ปฏิรูปพลังงาน : โอกาสและความท้าทายหลังรัฐประหาร" จัดโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ว่า กลุ่มกำลังจับตาบทบาทของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถึงแนวทางการปฏิรูปพลังงานไทย ซึ่งยอมรับว่าเริ่มกังวลใจ ที่ตัวแทนจากคสช. 2 ท่าน คือ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้า คสช. ดูแลฝ่ายเศรษฐกิจ และ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คสช. ได้เข้าไปเป็นกรรมการบริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) หรือบอร์ดปตท. เพราะการทำงานที่โปร่งใส ควรจะบริหารและสั่งการจากภายนอกจะเหมาะสมกว่า

ทั้งนี้จากความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนที่ผ่านมา ต้องการให้รัฐคงสัดส่วนการถือหุ้นในปตท. ในระดับสูง เพื่อให้การบริหารระดับราคาพลังงานเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน แต่จากการติดตามแนวทางปฏิบัติงานของคสช. เกี่ยวกับการปฏิรูปพลังงาน เริ่มไม่แน่ใจ และกังวลว่า ที่สุดการทำรัฐประหารครั้งนี้จะนำมาซึ่งการแปรรูปปตท. ด้วยการขายหุ้นรัฐทิ้งไปกลายเป็นบริษัทเอกชน 100%

"จากการติดตามแนวทางปฏิรูปพลังงานของคสช. เริ่มมีความกังวลว่า สุดท้ายการรัฐประหารครั้งนี้ อาจทำให้คนไทยต้องสูญเสียปตท.100% หรือกลายเป็นบริษัทเอกชนเต็มตัว ทั้งที่ภาคประชาชนอยากให้รัฐคงสัดส่วนการถือครองหุัน เพื่อรักษาระดับราคาพลังงานไม่ให้สูงกว่านี้" น.ส.รสนา กล่าว

ส่วนกรณีประธานบอร์ด ปตท. เสนอให้รัฐลดการถือหุ้นใน ปตท. เพื่อลดการล้วงลูก มองว่าแม้กระทรวงการคลังจะขายหุ้น ปตท. ก็คงไม่มีประโยชน์ ตราบใดที่ยังไม่มีการแยกธุรกิจท่อก๊าซจาก ปตท. ซึ่งไม่ได้ต่อต้านการแปรรูป แต่ภายหลังการแปรรูปทรัพยากรท่อก๊าซควรเป็นของภาครัฐ100% เพราะตอนนี้ผลประโยชน์ยังตกเป็นของ ปตท.

นอกจากนี้ กลุ่มยังต้องการให้การปฏิรูปพลังงาน มีการปรับโครงสร้างราคาเอทานอลให้ถูกลง เพื่อทำให้น้ำมันที่มีส่วนผสมของเอทานอล มีต้นทุนที่ต่ำลงมาจากปัจจุบันที่ยังค่อนข้างแพง ทำให้เกิดภาระกับประชาชนผ่านกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ต้องเข้าไปอุดหนุนมากขึ้น ขณะที่ดีเซล ก็ไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการปรับราคาเพิ่มขึ้นจากเพดานที่กำหนดไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร เนื่องจากมีปริมาณการใช้ถึง 60 ล้านลิตร ซึ่งใช้ในภาคขนส่ง หากขึ้นจะมีผลกระทบต่อราคาสินค้า แต่หากไม่ต้องการให้รถยนต์นั่งส่วนบุคคลซึ่งมีประมาณ 1.8 ล้านคัน ใช้น้ำมันดีเซล ก็ควรนำระบบภาษีมาเป็นกลไกในการดูแลแทน

มล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ตัวแทนกลุ่ม จปพ.กล่าวว่า ตลอดเวลาที่ผ่านมา ตนไม่เคยระบุว่า ไทยมีการผลิตน้ำมันมากกว่าซาอุดิอาระเบีย แต่ได้เสนอว่า หากการขุดเจาะและการผลิตน้ำมันในประเทศไทยแล้วส่งออกอิงราคาตลาดโลกจนทำให้คนไทยใช้เชื้อเพลิงราคาไม่ต่างจากนำเข้า ก็เห็นว่า ไม่ควรที่จะผลิตในประเทศและเก็บทรัพยากรปิโตรเลียมเหล่านี้ไว้ใช้ในอนาคตจะดีกว่า

“สาเหตุหลักที่ไทยต้องส่งออกน้ำมัน ไม่ใช่เพราะน้ำมันไม่มีคุณภาพ จนใช้ในประเทศไม่ได้ แต่เพราะตามสัญญาการขุดเจาะน้ำมัน ทำให้บริษัทมีสิทธิในการส่งออกดังกล่าว ซึ่งในส่วนของปิโตรเลียมในประเทศ หากขุดเจาะแล้วส่งออกโดยอัางอิงตลาดโลก จนทำให้คนในประเทศใช้เชื้อเพลิงราคาแพง อยากเสนอให้หยุดผลิตในประเทศ และนำเข้าทั้งหมด เพราะราคาเชื้อเพลิงใกล้เคียงกันอยู่แล้ว”มล.กรกสิวัฒน์กล่าว

***"บิ๊กตู่"กำชับรัฐวิสาหิจทำงานโปร่งใส

ที่กองบัญชาการกองทัพบก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ หรือซุปเปอร์บอร์ดเป็นครั้งแรก เพื่อกำหนดนโยบายร่วมกันในการบริหารงานของรัฐวิสาหกิจ และรายงานความคืบหน้าการพิจารณาโครงการลงทุนมูลค่าเกินกว่า 100 ล้านบาทของรัฐวิสาหกิจทั้งหมด ซึ่งการประชุมครั้งนี้มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ และรองหัวหน้าคสช.ที่ดูแลฝ่ายเศรษฐกิจ เข้าร่วมประชุมด้วย

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ซุปเปอร์บอร์ดจะต้องทำหน้าที่เพื่อสร้างความไว้วางใจให้กับประชาชน เพราะการทำงานของรัฐวิสาหกิจจะกระทบกับประชาชนส่วนใหญ่ ดังนั้น การทำงานจะต้องโปร่งใส ตรวจสอบได้ และให้ร่วมกันแก้ปัญหาที่เป็นข้อบกพร่องของรัฐวิสาหกิจทั้งหมด อย่างไรก็ตาม อาจต้องแทรกงานด้านความมั่นคงเข้าไปในหน่วยงานต่างๆของรัฐวิสาหกิจ เพื่อเตรียมพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)

***บอร์ด อภ.ลาออกยกชุดวันนี้

นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวว่า บอร์ด อภ. จำนวน 10 คน จะยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งต่อคสช. ในวันนี้ (10 ก.ค.) และจะมีผลทันที เพื่อเป็นการสนองนโยบายการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานรัฐวิสาหกิจของคสช. โดยขอยืนยันว่า การลาออกครั้งนี้ได้มีการหารือกันมาก่อนแล้ว ไม่เกี่ยวข้องกับการยื่นข้อเรียกร้องของ 8 เครือข่ายองค์กรสุขภาพ ที่ระบุว่าการดำเนินงานของบอร์ด อภ. และนพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผอ.อภ. มีปัญหา โดยยืนยันว่าไม่ได้หนีปัญหา เพราะการทำงานสามารถตรวจสอบได้

ทั้งนี้ บอร์ด อภ. ที่ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง มีจำนวน 10 คนประกอบด้วย 1.นพ.สุพรรณ ศรีธรรมา อธิบดีกรมการแพทย์ 2.นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา 3.นพ.พรเทพ ศิริวนารังสรรค์ อธิบดีกรมอนามัย 4.นพ.สมชัย ภิญโญพรพาณิชย์ 5.นพ.สมชัย นิจพานิช 6.นพ.นิพนธ์ โพธิ์พัฒนชัย 7.พล.อ.สหชาติ พิพิธกุล 8.ดร.อัจนา ไวความดี 9.ภญ.วีรวรรณ แตงแก้ว และ 10.นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี

สำหรับบอร์ด อภ. มีทั้งหมด 12 คน โดย 2 คนที่เหลือยังไม่ได้ลาออก ได้แก่ นพ.สุวัช เซียศิริวัฒนา ผอ.อภ. เนื่องจากเป็นบอร์ด อภ.โดยตำแหน่ง และ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งผู้สื่อข่าวได้ติดต่อ นพ.ณรงค์ เพื่อสอบถามถึงกรณีนี้แล้ว แต่ไม่สามารถติดต่อได้
กำลังโหลดความคิดเห็น