xs
xsm
sm
md
lg

คสช.เร่งปรับปรุงกม.ล้าสมัย จัดปรองดองฯที่สนามหลวง22-25 ก.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 09.00 น. วานนี้ (8 ก.ค.) ที่กองบัญชาการกองทัพบก (บก.ทบ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานประชุมคสช.ชุดใหญ่ ครั้งที่ 5/2557 โดยมีพล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผบ.สส. ในฐานะรองหัวหน้าคสช. ดูแลฝ่ายความมั่นคง พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. ในฐานะรองหัวหน้าคสช. ดูแลฝ่ายสังคมและจิตวิทยา พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ.ในฐานะรองหัวหน้าคสช. ดูแลฝ่ายเศรษฐกิจ พล.ต.อดุลย์ แสงสิงแก้ว รองหัวหน้าคสช. ดูแลฝ่ายกิจการพิเศษ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วย ผบ.ทบ. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายกฎมาย และกระบวนการยุติธรรมของ คสช. พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รอง ผบ.ทบ. ในฐานะเลขาธิการ คสช. พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ ปลัดกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการปรองดองและการปฏิรูป รวมถึง นายอำพล กิตติอำพล เลขาธิการคณะรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียง
การประชุมครั้งนี้ จะมีการพิจารณาวาระเพื่อทราบ จำนวน 10 เรื่อง อาทิ ผลการจัดอันดับประเทศไทย ตามกฎหมายการค้าสหรัฐฯ ประจำปี 2557 รายงานผลการกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้พันธบัตรรัฐบาลที่ครบกำหนดเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 57 รายงานผลการประชุมระดับผู้นำ ครั้งที่ 8 ของแผนงานการพัฒนาเขตเศรษฐกิจสามฝ่าย อินโดนีเซีย-มาเลเซีย- ไทย และการจัดหาเงินทุนเพื่อเยียวยาเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวเปลือก ปีการผลิต 2556/2557
ขณะที่วาระเพื่อพิจารณา จำนวน 21 เรื่อง อาทิ การขออนุมัติกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้และดอกเบี้ยที่จะครบกำหนดในปีงบประมาณ 2558 ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ การขอความเห็นชอบร่างกรอบการเจรจาคณะกรรมการระดับสูง หรือ กรส. ไทย-เมียนมาร์ มาตรการให้ความช่วยเหลือลูกค้าธ.ก.ส. ที่ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม ปีบัญชี 2554 การขออนุมัติเปิดสถานเอกอัครราชทูตรัฐลิเบียประจำประเทศไทย เพื่อประโยชน์ในการประสานงานและขยายโอกาสทางเศรษฐกิจ ความร่วมมือด้านแรงงานในอนาคต การเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม รัฐมนตรีอาเซียน ด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 14 การขอความเห็นชอบกรอบการเจรจาความตกลงการค้าบริการอาเซียน
ทั้งนี้ หัวหน้าคสช. ได้กล่าวในการประชุมขอบคุณทุกกลุ่มงานที่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติงานเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทย พร้อมย้ำให้ฝ่ายกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมเร่งรัดการพิจารณากฎหมายที่ยังติดค้าง และปรับปรุงกฎหมายที่ไม่ทันสมัย หรือกฎหมายที่มีผลผูกพันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมนำกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาภายใน 2 เดือนแรก หลังจากการตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

**ไม่ได้หารือเรื่องธรรมนูญชั่วคราว

พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก และทีมโฆษกคสช. แถลงผลการประชุมคสช.ว่า ในที่ประชุมไม่มีการหารือถึง ร่าง ธรรมนูญปกครองชั่วคราว มีเพียงการหารือในวาระที่กำหนดเท่านั้น โดยส่วนใหญ่ไม่ได้พูดถึงเรื่องการเมืองอยู่แล้ว ทั้งนี้ เรื่องการเมือง การปกครอง จะเป็นระดับผู้บังคับบัญชา หรือหัวหน้า คสช. เท่านั้น ส่วนจะนำข้อมูลเข้าหารือในที่ประชุมคสช.หรือไม่ ขึ้นอยู่กับหัวหน้าคสช. เชื่อว่าจะสามารถดำเนินการได้ทันตามกรอบที่วางไว้ คือภายในเดือนก.ค.นี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า ในที่ประชุม พล.อ.ประยุทธ์ ได้สั่งฝ่ายกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมพิจารณาปรับปรุงกฎหมายที่ยังคั่งค้าง ที่ไม่ทันสมัย หรือมีผลผูกพันกับหน่วยงาน หรือไม่ พ.อ.วินธัย กล่าวว่า หัวหน้า คสช. สั่งดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย โดยเฉพาะที่ส่งผลกระทบต่อความเดือดร้อนของประชาชน หรือกระทบในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะเร่งด่วน โดยสั่งให้ทำทันที แต่หากไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนอะไรมาก ก็ไปแก้ไขในระยะ 2 หลังมีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว
ร.อ.นพ.ยงยุทธ มัยลาภ ทีมโฆษกคสช. เปิดเผยว่า ที่ประชุมอนุมัติให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ จัดการประชุมรัฐมนตรี ด้านคมนาคมสารสนเทศอาเซียน ระหว่าง 15-19 ธ.ค.นี้ เพื่อเป็นการพัฒนาด้านไอซีทีของประเทศ นอกจากนี้ คสช. ยังเห็นชอบ ขยายค่าตอบแทน กำลังพล สาธารณสุข ตามหลักเกณฑ์เหมาจ่าย ถึงวันที่ 30 ก.ย. 57

** คุยสภาพศก.ดีขึ้นตามลำดับ

ขณะที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) กล่าวว่า ที่ประชุมมอบหมายให้ สภาพัฒน์ฯจัดทำแผนพัฒนาด่านชายแดนทั้ง 94 ด่านทั่วประเทศ ใน 31 จังหวัด โดยเฉพาะ 5 ด่านที่สำคัญ ประกอบด้วย ด่านสะเดา ด่านปาดังเบซาร์ ด่านแม่สอด ด่านอรัญประเทศ และด่านคลองใหญ่ เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงในภูมิภาคอาเซียน และการผลิตสินค้า โดยใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานของไทย เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
ทั้งนี้ หัวหน้า คสช.ได้แสดงความเป็นห่วงเรื่องของเศรษฐกิจ โดยทางสภาพัฒน์ ได้รายงานว่า การเติบโตทางด้านเศรษฐกิจ ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค.เป็นต้นมา ความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจ และการลงทุนดีขึ้นตามลำดับ
"เชื่อว่า ตั้งแต่ในไตรมาส 2 ตัวเลขเศรษฐกิจตลอดทั้งปีน่าจะเป็นบวกอยู่ที่ร้อยละ 1.5-2.5 แต่ก็ขึ้นอยู่กับการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2558 ซึ่งสำนักงบประมาณ ยืนยันว่า จะเร่งเบิกจ่ายได้ตามกำหนดเวลา 1 ต.ค.นี้แน่นอน ขณะเดียวกันที่ประชุมยังให้ความสำคัญ กับการส่งออก โดยสภาพัฒน์ฯคาดว่าจะขยายตัวได้ถึงร้อยละ 3.7 โดยเฉพาะการส่งออกข้าวในปีนี้ ไทยน่าจะกลับมาเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยสามารถส่งออกได้ถึง 10 ล้านตัน"
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้ย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมการรองรับเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว โดยเน้นย้ำเรื่องของความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์ ของนักท่องเที่ยว มาเป็นอันดับหนึ่ง

**ชี้หน้าที่คสช.ทูลเกล้าฯรธน.ชั่วคราว

นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี กล่าวว่า การจัดทำ ร่าง ธรรมนูญการปกครองชั่วคราว ไม่รู้ถึงขั้นตอนไหนแล้ว เป็นเรื่อง คสช.ดำเนินการ ตนมีหน้าที่เพียง เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ลงมา ก็จะนำประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น เหมือนในอดีตที่ทำมาทุกครั้ง เมื่อมีการยึดอำนาจ คณะผู้ยึดอำนาจจะเป็นผู้ดำเนินการจัดทำ ร่าง รัฐธรรมนูญชั่วคราว รวมถึงการนำขึ้นความขึ้นทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็จะเป็นเรื่องของคณะผู้ยึดอำนาจดำเนินการเอง ดังนั้นการนำขึ้นทูลเกล้าฯ เป็นหน้าที่ คสช. เวลานี้การทำงานของตน ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วย พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รอง ผบ.ทบ.ในฐานะเลขาธิการ คสช. และปฏิบัติตามคำสั่ง หัวหน้า คสช.

** จัดมหกรรมปรองดองฯที่สนามหลวง

พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษก กอ.รมน. เปิดเผยว่า ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) มีแผนเตรียมการจัดงาน "มหกรรมปรองดองสมานฉันท์ คืนความสุขให้คนในชาติ" ระหว่างวันที่ 22-25 ก.ค.นี้ โดยใช้พื้นที่บริเวณโดยรอบท้องสนามหลวง มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมแนวทางการขับเคลื่อนการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ และคืนความสุขให้คนในชาติ ซึ่งเป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากการจัดกิจกรรมในต่างจังหวัด กำหนดเปิดงาน 22 ก.ค. เวลา 06.30 น. จะมีพิธีสงฆ์จัดพร้อมกันทั่วประเทศ ส่วนวันที่ 23, 24, 25 ก.ค. เริ่มเวลา 10.00 น. และกำหนด ปิดงานในวันที่ 25 ก.ค.
สำหรับกิจกรรมในงาน หน.คสช. เน้นการบูรณาการ และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยทุกหน่วยเป็นเจ้าภาพร่วมกัน จัดกิจกรรมหลากหลายรูปแบบตามศักยภาพ และความต้องการของหน่วย อาทิ การออกร้านจำหน่ายสินค้าราคาถูก การแสดงดนตรีจากกรมประชาสัมพันธ์ วงดนตรีออร์เคสตราผสมพลเรือน ตำรวจ ทหาร วงดุริยางค์ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ การแสดงที่สื่อถึงความเป็นมาของชาติไทย การแสดงศิลปวัฒนธรรมไทยร่วมสมัยจากทุกภาค การแสดงคนตรีจากเหล่าศิลปินจากค่ายแกรมมี่ อาร์เอส เวิร์คพอยท์ กิจกรรมฉายภาพยนตร์ตำนานสมเด็จพระนเรศวร และการสวดขอพร เพื่อความสงบสุขของทุกศาสนา

**"มาร์ค"เชื่อคสช.ไม่ฟื้น ม.17

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ คสช. มีคำสั่ง ฉบับที่ 80/2557 ห้ามตนและนักการเมืองบางส่วนออกนอกประเทศ และห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง ว่า ขณะนี้พรรคการเมืองให้ความร่วมมือที่จะไม่เคลื่อนไหวให้เกิดปัญหา แต่การแสดงความเห็น และติดตามประเด็นที่เป็นประโยชน์ประเทศชาติ เป็นหน้าที่ของทุกคน ดังนั้นการแสดงความเห็นจึงเป็นสิทธิ์ที่สามารถทำได้ เพราะหากแสดงความเห็นเพื่อให้การบริหารในระดับนโยบายเป็นไปได้ด้วยดี ไม่ได้แสดงความเห็นเพื่อให้เกิดความขัดแย้ง หรือความไม่มั่นคง
ส่วนการร่างธรรมนูญชั่วคราว เกี่ยวกับดุลอำนาจของ คสช. ระหว่างการเปลี่ยนผ่านไปสู่รัฐบาลนั้น โดยปกติก็จะคล้ายๆ กันคือ รัฐบาลและสนช. ทำหน้าที่เหมือนสภากับครม. ตามปกติ แต่ผู้ยึดอำนาจจะคงอำนาจบางอย่างไว้ เพื่อให้ทิศทางโดยรวมสามารถบริหารจัดการได้ เชื่อว่าคงไม่มีอะไรต่างจากนี้
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการพูดถึง ม.17 ในธรรมนูญการปกครอง ยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ว่ามีความจำเป็นที่ต้องบรรจุไว้ ในธรรมนูญนี้ คิดว่ามีความจำเป็นหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนคิดว่ามาตราที่ให้อำนาจมากขนาดนั้น คงไม่น่าจะมี แต่ก็ต้องรอดูก่อน เพราะสถาน์การณ์ในขณะนี้ก็ไม่มีปัญหารุนแรงเรื่องความสุ่มเสี่ยงที่จะเกิดปัญหาความไม่มั่นคง คสช.ต้องวางน้ำหนักให้พอดี เพราะการจำกัดสิทธิ์ เสรีภาพ สร้างความอึดอัดได้ ซึ่งต้องระวัง และการจำกัดการเคลื่อนไหวนักการเมืองนั้น คงพูดโดยรวมไม่ได้ เพราะมีบางคนที่เคลื่อนไหวเพื่อให้เกิดความวุ่นวาย หรือความไม่สงบ แต่ยังมีนักการเมือง และนักเคลื่อนไหวอีกมาก ที่ต้องการให้ประเทศชาติดีกว่านี้ ตามแนวทางการปฏิรูปจึงเหมารวมไม่ได้

** สภาฯเตรียมเงินเดือนกว่าพันล้านให้สนช.

นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ว่า ในวันอังคารที่ 15 ก.ค.นี้ ได้มีการนัดหารือระหว่างหน่วยงาน คือสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา เพื่อหารือ และเตรียมความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่ในส่วนของฝ่ายธุรการของสภานิติบัญญัติ (สนช.) ทั้งนี้ ได้เชิญอดีตเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อาทิ นายพิทูร พุ่มหิรัญ อดีตเลขาธิการสภาฯ มาให้ข้อมูลด้วย ส่วนการเตรียมความพร้อมด้านอื่น อาทิ การกำหนดค่าตอบแทน ของสมาชิก สนช. หรือสมาชิกสภาปฏิรูป เบื้องต้นได้มีการศึกษาไวแล้วโดยได้นำค่าตอบแทนในส่วนของ ส.ส. มาเป็นกรอบพิจารณา เบื้องต้นคาดว่าจะใช้งบประมาณที่ดำเนินการส่วนนี้ 1 พันล้านบาท
ด้านนายวีระพันธ์ มุขสมบัติ ที่ปรึกษาด้านระบบงานนิติบัญญัติ ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณ เพื่อพิจารณาการจัดซื้อจัดจ้าง กล่าวถึงความคืบหน้าการตรวจสอบว่าได้พิจารณาในประเด็นที่ น.ส.รังสิมา รอดรัศมี อดีตส.ส.ประชาธิปัตย์ กรณีการเดินทางไปศึกษาดูงานอย่างไม่โปร่งใส โดยได้ไต่ส่วนบุคคลที่เกี่ยวข้องไปแล้ว 1 คน ทั้งนี้ ได้มีการสอบเพิ่มเติมในส่วนของพยานเอกสารที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะใช้เวลาสอบสวน และตรวจสอบอีกสักระยะก่อนที่จะข้อสรุป
รายงานข่าวแจ้งว่า คณะทำงานได้วางกรอบการทำงานตรวจสอบให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน โดยขั้นตอนการตรวจสอบจะไมได้ลงลึกถึงกระบวนการ แต่จะเป็นการนำประเด็นที่พบการร้องเรียนและการทุจริตขึ้นมาตรวจสอบ เช่น กรณีการจัดซื้อจัดจ้างบริษัทผู้รับเหมา เพื่อปรับปรุงอาคารสถานที่พบว่าจัดจ้างอย่างไม่โปร่งใส จะมุ่งตรวจสอบไปยังประเด็นดังกล่าวเท่านั้น ซึ่งจะทำให้กระบวนการตรวจสอบเป็นไปอย่างรวดเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น