ASTVผู้จัดการรายวัน- "ประยุทธ์"นั่งหัวโต๊ะจำลองประชุม ครม. ขีดเส้นทุกหน่วยงานส่งงบปี 58 สิ้นเดือน มิ.ย.นี้ หวังจัดทำเสร็จทันใช้ 1 ต.ค. ตัดสิทธิตั๋วบินฟรี บอร์ดการบินไทย นำร่องแก้ปัญหาขาดทุนยับ ก่อนทบทวนรัฐวิสาหกิจอื่น ไฟเขียว"กิตติพงษ์" ปลัดยธ.ขอโยกมานั่งที่ปรึกษานายกฯ จับงานขับเคลื่อนปฏิรูปเต็มสูบ ด้าน"พายัพ"เข้ารายงานตัว คสช. ส่วน"วรเจตน์" ส่งเมียมาแทน "กัมปนาท"ถก 20 หน่วยงานขับเคลื่อนปรองดอง ใช้สารพัดกลยุทธ์ ไม่เว้นกระทั่งอธิฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สลายความขัดแย้ง
วานนี้ (10มิ.ย.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานการประชุมหัวหน้า คสช. มีหัวหน้าทั้ง 7 กลุ่มงาน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี เลขาธิการสำนักงบประมาณ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฏีกา และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เข้าร่วมประชุมกันโดยพร้อมเพรียง
ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการพิจารณาเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2557 และการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ว่า คสช. จะดำเนินการจัดทำให้มีความสอดคล้องกัน หากโครงการใดมีปัญหาในการจัดซื้อจัดจ้างหรือพบความไม่โปร่งใสจะมีคณะกรรมการเข้าไปตรวจสอบและเอาผิด เพื่อไม่ให้เป็นตัวอย่าง
พร้อมกันนี้ ยังได้ขอให้กลุ่มงานในแต่ละกลุ่มไปหารือกันถึงการจัดทำงบของแต่ละกระทรวง เพื่อไม่ให้งบประมาณเกิดการรั่วไหลและทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์สูงสุด
**จัดงบ 58 เสร็จ 15 ก.ย.
เวลา 15.40 น. ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษกคสช. พร้อมด้วย นายอำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และ นพ.ยงยุทธ มัยลาภ ทีมโฆษก คสช. ร่วมกันแถลงผลการประชุม คสช. ครั้งที่ 1/2557 ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. เป็นประธาน โดยเป็นการประชุมหัวหน้าส่วนราชการ เปรียบเสมือนการประชุมครม. เพื่อขับเคลื่อนบริหารราชการแผ่นดินตามกลไกปกติเป็นครั้งแรก
นายอำพน กล่าวว่า หัวหน้า คสช. ได้เน้นย้ำนโยบายการปฏิบัติว่า ให้พยายามยึดระเบียบวิธีการต่างๆว่าด้วยการเสนอเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของครม.เป็นหลัก ซึ่งหมายความว่า เป็นการปรับให้เข้าสู่การใช้กลไกของราชการตามนโยบายของหัวหน้า คสช. โดยที่ประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วยคณะกรรมการ คสช. 14 คน นอกจากนี้ ยังมีตนทำหน้าที่เป็นเลขาฯครม. ร่วมกับ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร เลขาฯ คสช. โดยมี ผอ.สำนักงบประมาณ เลขาธิการคณะกรรมการกฎษฎีกา เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งถือว่าครบองค์ประกอบในการให้ความเห็น
นายอำพน กล่าวต่อว่า โดยหลักแล้วเรื่องที่นำเข้าคสช. ในการบริหารราชการแผ่นดิน จะเน้นเรื่องการขออนุมัติงบประมาณ งบกลาง การปรับแผนงบประมาณสำคัญ จะต้องผ่านความเห็นจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และขอความเห็นจากคณะกรรมการติดตาม และตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ ส่วนที่สองโครงการหรือแผนงานในส่วนที่หัวหน้า คสช.ได้แบ่งแยกไว้แล้ว ทั้งฝ่ายเศรษฐกิจ ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายสังคมวิทยา ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ร่างระเบียบกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก่อนจะสั่งการส่วนราชการ จะต้องผ่านมายัง คสช.ด้วย รวมถึงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการในระดับสูง ให้นำเสนอพิจารณาร่วมกันของ คสช.
สำหรับเรื่องในการพิจารณาและเรื่องเพื่อทราบในการประชุมครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ
กลุ่มที่ 1. เกี่ยวกับการขับเคลื่อนงบประมาณตามนโยบาย โดยสำนักงบ ประมาณได้เสนอการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณปี 57
กลุ่มที่ 2. การขับเคลื่อนงบประมาณปี 58 คสช.ได้ให้ความเห็นชอบปฏิทินการจัดสรรงบประมาณ ซึ่งต้องให้แล้วเสร็จพร้อมเสนอสำนักเลขาธิการครม. เพื่อนำความกราบบังคมทูลว่า เป็นพระราชบัญญัติงบประมาณ ภายในวันที่ 15 ก.ย. และพร้อมใช้ในวันที่ 1 ต.ค. รวมทั้งได้เห็นชอบยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณปี 58 โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวมาจากการหารือ 4 หน่วยงานหลักราชการ ซึ่งยึดโยงมาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 คือ สภาพัฒนฯ กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ จะเป็นหลักในการทำยุทธศาสตร์นี้
** ยกเลิกบอร์ดการบินไทยบินฟรี
กลุ่มที่ 3. จะแบ่งออกเป็น 2 เรื่อง คือ การให้ความเห็นชอบในการใส่ข้อสัญญาเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการ สืบเรื่องมาจากที่บริษัท การบินไทย จำกัด ได้มีแผนจัดหาเครื่องบินตั้งแต่ปี 2554 ขณะนี้มีกำหนดรับมอบในเดือนก.ค. และส.ค.นี้ โดยการรับมอบดังกล่าวจะมีสัญญาในการกู้เงิน เพื่อจ่ายค่าเครื่องบิน ซึ่งในสัญญานั้นระบุไว้ว่า จะต้องใส่ข้อกำหนดเรื่องอนุญาโตตุลาการ ที่เป็นไปตามมติ ครม.กรณีที่รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐ จะต้องใส่อนุสัญญาโตตุลการ ต้องขอจาก ครม.เป็นครั้งๆไป ซึ่งครั้งนี้ ต้องขอจาก คสช. โดยข้อเสนอของคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นชอบในการให้กระทรวงการคลังและกระทรวงคมนาคม ใส่ข้อกำหนดเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเป็นข้อกำหนดว่าเป็นการเจรจานอกศาล หมายถึง กรณีที่เกิดการพิพาทกันให้เจรจาระหว่างคู่กรณีได้ ไม่จำเป็นต้องนำเรื่องเข้าสู่ศาล ซึ่งเป็นสัญญาตามมาตรฐานสากลโดยทั่วไปจึงได้ให้ความเห็นชอบ
นอกจากนี้ ที่ประชุม คสช. ยังเห็นชอบให้กระทรวงการคลัง และกระทรวงคมนาคม ใส่ข้อกำหนดสัญญาอนุญาโตตุลาการในการจัดซื้อเครื่องบินของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และยังได้พูดถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาผลขาดทุนของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจด้วย ซึ่งเบื้องต้นได้ให้ทบทวนสิทธิประโยชน์ ของรัฐวิสาหกิจต่างๆ โดยให้ตัดสิทธิผลประโยชน์ที่ไม่ใช่ผลตอบแทนที่ควรได้รับ โดยเริ่มจากในส่วนของกรรมการ บจ.การบินไทย ในส่วนของสิทธิการได้ตั๋วเครื่องบินฟรี ที่ถูกจะยกเลิก ขณะที่มาตรการของหน่วยงานอื่นๆ นั้นได้มอบหมายให้ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้า คสช. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ เป็นผู้พิจารณาก่อนนำเสนอที่ประชุมอีกครั้ง
**โยก"กิตติพงษ์"ที่ปรึกษานายกฯ
นายอำพน กล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังได้มีมติให้แต่งตั้งโยกย้าย นายกิตติพงษ์ กิตติยารักษ์ ที่ขอย้ายด้วยความสมัครใจจากปลัดกระทรวงยุติธรรม มาเป็นที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อขับเคลื่อนเรื่องการปฏิรูป และแต่งตั้ง นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ขึ้นมารักษาการแทนปลัดกระทรวงยุติธรรม
ส่วนข้อกังวลที่ว่า การใช้จ่ายงบประมาณปี 57 ซึ่งเวลาผ่านมา 6เดือนแล้ว จะใช้ได้ตามเป้าหมายหรือไม่นั้น ขอย้ำว่า วันนี้มีความชัดเจน 95 เปอร์เซ็นต์ ของวงเงิน 2.52 ล้านบาท ของปีงบประมาณ 57 จะต้องใช้จ่ายและเบิกจ่ายให้ได้ทันวันที่ 30 ก.ย. และหัวหน้า คสช.ได้กำชับว่า วันที่ 30 มิ.ย. ทุกหน่วยงานต้องรายงานเข้ามาว่าจะผลักดันอย่างไร และหากถึงในวันที่ 30 ก.ค. หากยังผูกพันไม่ได้ จะขอปรับเปลี่ยน ก็ต้องปรับเปลี่ยนอยู่ในกรอบ โดยยึดความเดือดร้อนประชาชนเป็นหลัก การฟื้นฟูโครงสร้างผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ทั้งหมดจะต้องขับเคลื่อนให้ได้ โดยเม็ดเงินที่เข้ามาจะถูกกระตุ้นด้วยมาตรการนี้ และจะต้องรายงานให้ คสช. ทราบอย่างน้อย 2 สัปดาห์ และหัวหน้า คสช. ยังกำชับให้หัวหน้า 4 ฝ่ายไปกำกับ ให้ทุกกระทรวงเบิกจ่ายให้ได้ตามมาตรการนี้
** ประชุมคสช.ทุกวันอังคาร เหมือนครม.
ทั้งนี้ ในวันที่ 13 มิ.ย.นี้ หัวหน้า คสช.โดยหน่วยงานหลัก คือ สภาพัฒนฯ สำนักงบประมาณ และกระทรวงการคลัง จะเรียกประชุมหัวหน้าส่วนราชการต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค เพื่อชี้แจงการเร่งรัดการเบิกงบประมาณปี 57 และกรอบการจัดทำงบประมาณปี 58 เพื่อให้มีความเข้าใจตรงกัน
นอกจากนี้ในทุกวันอังคาร จะมีการประชุม คสช. เพื่อพิจารณาวาระต่างๆ เช่นเดียวกับการประชุม ครม.ในกลไกปกติเป็นประจำทุกวัปดาห์ด้วย โดยมีขั้นตอนในการบรรจุวาระการประชุมดังเช่นในอดีตที่ผ่านทุกประการ
ขณะที่ พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ที่ประชุม คสช. ยังมีมติเปลี่ยนแปลงมติ ครม. กับผู้รับผิดชอบการประชุมระดับรัฐมนตรีแห่งเอเชียว่าด้วยการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ที่จากเดิมกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัยเป็นเจ้าภาพ เป็นสำนักปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นเจ้าภาพแทน โดยมีรัฐมนตรีกว่า 20 ประเทศตอบรับเข้าร่วมประชุม โดยหัวหน้า คสช. จะใช้โอกาสนี้ชี้แจงสถานการณ์ภายในประเทศขณะนี้ด้วย
นอกจากนี้ หัวหน้าคสช. ยังย้ำ ให้หน่วยงานราชการ เร่งแก้ไขปัญหาเร่งด่วน 3 ประเด็น คือ ดูแลค่าครองชีพพื้นฐาน ช่วยเหลือเกษตรกร ที่มีรายได้น้อย และการพัฒนาแหล่งน้ำที่ต้องปรับให้ใช้แหล่งน้ำเดิม แต่จะต้องเร่งขุดลอกคูคลอง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
**ดูแลบก.ลายจุดอย่างดี
พ.อ.วินธัย กล่าวว่าสำหรับนายสมบัติ บุญงามอนงค์ แกนนำกลุ่มเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐประหาร ได้รับการควมคุมดูแลอยู่ในพื้นที่พิเศษ ยังไม่ใช่ในสถานะผู้ทำความผิด เพื่อทำความเข้าใจ และปรับทัศนคติ ซึ่งในเบื้องต้นเจ้าตัวเข้าใจและให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ยืนยันเจ้าหน้าที่ให้การดูแลเป็นอย่างดี
** "พายัพ"รายงานตัว "วรเจตน์"เมียมาแทน
ส่วนที่หอประชุมกองทัพบก เทเวศร์ ซึ่งเป็นสถานที่เข้ารับรายงานตัวของบุคคล ตามคำสั่งของ คสช. เริ่มมีบุคคลทยอยเข้ารายงานตัว อาทิ นายเสน่ห์ จงจิตร นางกรรณิการ์ เทียนเงิน นางสาวกรกนก หอมกระโทก นายณัฐวุฒิ ด้วงนิล นางดวงใจ พวงแก้ว และนายสรานุภล กองทอง ซึ่งได้ทำสัญลักษณ์คัดค้านการรัฐประหาร ก่อนเดินทางเข้ารายงานตัว
ขณะที่นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่มนิติราษฎร์ ได้ส่ง นางพัชรินทร์ ภาคีรัตน์ ภรรยา เข้ารายงานตัวแทน โดยให้เหตุผลว่านายวรเจตน์ ป่วย ไม่สามารถเข้ามารายงานตัวด้วยตนเองได้
นอกจากนี้ยังมี นายจรัล อัมพรกลิ่นแก้ว ผู้ใช้นามแฝง เจเจสาทร และเจ้าของเว็บไซต์โกหกทีวี นายชัยวัฒน์ อินทร์ชำนาญ นางศรีศศิร์อร ทรัพย์เงินทอง และนายพายัพ ชินวัตร น้องชายพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็ได้เดินทางมารายงานตัวต่อ คสช. แล้วเช่นกัน
**"สิงห์ทอง"โวยทหารบุกลากคอถึงเตียงนอน
นายสิงห์ทอง บัวชุม อดีตผู้สมัคร ส.ส.กทม. พรรคเพื่อไทย เปิดเผยถึงเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ทหารเข้าควบคุมตัว ก่อนนำไปยังค่ายทหารแห่งหนึ่งว่า เมื่อช่วงบ่ายวันที่ 9 มิ.ย. มีนายทหารหลายสิบคนพร้อมอาวุธครบมือ บุกไปมาเชิญตัวตนถึงบ้านพัก ในขณะที่ตนกำลังพักผ่อน โดยตอนแรกมากดกริ่งเรียกให้เปิดประตู แต่แม่บ้านก็ไม่กล้าเปิด ได้ขึ้นไปตามบุตรชายให้มาเปิดประตู จากนั้นนายทหารหลายสิบคนก็เข้ามายังภายในบ้าน ขึ้นไปทุกชั้น ทำการตรวจค้นอย่างละเอียด ลิ้นชัก ตู้เสื้อผ้า ทุกห้องถูกรื้อค้นหมด เข้าไปถึงห้องบุตรชาย การทำการตรวจค้น ทหารถืออาวุธเอ็ม 16 ส่ายไปส่ายมาตลอดเวลา ทำให้บุตรชายที่นั่งอยู่บนเตียงได้แต่มอง ถึงกับมึนงง ช็อก เพราะไม่เคยเจอเหตุการณ์อย่างนี้มาก่อน ทหารเข้ามาเชิญตัวตนในชุดนอนถึงบนเตียงนอน
** ถก 20 หน่วยงานขับเคลื่อนปรองดอง
เมื่อเวลา 13.30 น. วานนี้ ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภานยในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก ฝ่ายยุทธการ ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ผอ.ศปป.) ได้เป็นประธาานการประชุมเพื่อขับเคลื่อนการปฏิบัติงานของ ศปป. ภายหลังจากที่ กอ.รมน.ได้รับมอบนโยบายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ในฐานหัวหน้า คสช. ให้เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบ ดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เสริมสร้างควาสามัคคี ปรองดองสมานฉันท์ และคืนความสุขให้กับคนไทยทั้งชาติ โดยการประชุมครั้งนี้ มีส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม จำนวน 20 หน่วยงาน คือ กระทรวงมหาดไทย กรมการปกครอง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัทธยาศัย (สำนักงาน กศน.) สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักข่าวกรองแห่งชาติ กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการปรองดอง และการปฏิรูป คสช. สถาบันนพระปกเกล้า สำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ กรมการพัฒนาชุมนุม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน
พล.ท.กัมปนาท กล่าวตั้งความหวังว่า ศปป. จะสร้างสภาวะแวดล้อมให้เกื้อกูล พร้อมเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่การทำงานของคสช. ในระยะที่ 2 เพื่อความรวดเร็ว โดย ศปป. คือ จุดเริ่มต้น ถ้าพวกเราไม่สามารถที่จะะสร้างสภาวะแวดล้อมให้เกื้อกูลกัน เราก็จะเหน็ดเหนื่อยต่อไปเรื่อยๆ
** ใช้สารพัดกลยุทธสร้างความปรองดอง
ต่อมาเวลา 16.00 น. พล.ท.กัมปนาท กล่าวหลังการประชุม ว่า ทุกภาคส่วน กระทรวง ทบวง กรม ภาคประชาชนที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยมีการซักซ้อมเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกันในการเดินหน้าในการขับเคลื่อนการปรองดองสมานฉันท์ และการปฏิรูป
"ในช่วง 2 เดือนแรก เป็นระยะเร่งด่วนในการสร้างบรรยากาศสภาพแวดล้อมให้เกื้อกูลในการที่จะเปลี่ยนไปสู่ช่วง ระยะที่ 2 ซึ่งหัวหน้า คสช.ได้วางโรดแมปของคสช.ไว้แล้วว่า จะเดินอย่างไร ซึ่งเป็นหน้าที่ของ ศปป.ในการอำนวยความสะดวก ด้วยการจัดเวทีให้ทุกกลุ่มทุกฝ่ายร่วมมือกัน สร้างความรัก ความสามัคคี สร้างสภาวะแวดล้อมเกื้อกูลต่อกันในการ ปรองดองสมานฉันท์"
ทั้งนี้แนวทางหรือกลยุทธ์ในการสร้างความปรองดอง ไม่ว่าจะภาคเหนือ หรืออีสาน มีความแตกต่างกัน ในบางพื้นที่ใช้ดนตรี บางพื้นที่ใช้กีฬา หรือบางพื้นที่ใช้ บ้าน วัด โรงเรียน วัฒนธรรมขนมธรรมเนียบประเพณีท้องถิ่น ที่เกี่ยวข้องแต่ละพื้นที่เพื่อให้ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายมาร่วมกิจกรรมกัน ขณะนี้ถือว่าสิ่งที่ได้ทำมาทั้งหมดก้าวหน้าไประดับหนึ่ง ทุกคนก็น่าจะดีใจเพราะเป็นการคืนความสุขให้พี่น้องประชาชน จากคนที่ไม่เคยมาฟังดนตรี ก็มานั่งคุย นั่งฟังดนตรีด้วยกัน ถือว่าประสบความสำเร็จ เพื่อนำไปสู่ขั้นที่ 2
พล.ท.กัมปนาท กล่าวว่า การดำเนินการทั้งหมด ตนได้เรียนกับหัวหน้า คสช.ทุกวัน เพราะท่านได้ติดตามทุกวัน เรื่องไหนที่ไม่เหมาะสมไม่ถูกต้อง ท่านก็สั่งปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์เพื่อให้การปรองดองเดินหน้าไปให้ได้ อย่างไรก็ตามแกนนำทุกกลุ่มทุกฝ่ายได้ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีสามารถสร้างบรรยากาศความปรองดองให้เกิดขึ้น ทั้งนี้ตนจะลงพื้นที่ในภาคอีสานเพื่อติดผลการดำเนินการ
**อธิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สลายขัดแย้ง
ด้าน พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) แถลงเพิ่มเติมถึงกิจกรรมของแต่ละหน่วยงานว่า กระทรวงศึกษาธิการ จะมีการจัดกิจกรรมสอดแทรกการปรองดองสมานฉันท์ ส่วนกระทรวงสาธารณสุข จะเน้นย้ำเรื่องการเยียวยาทางสังคม กับผู้ที่ได้รับผลกระทบ ส่วนกระทรวงยุติธรรม ให้ยึดมั่นในหลักนิติธรรม ส่วนสำนักงานพระพุทธศาสนา จะจัดกิจกรรมให้สอดคล้องเช่นเดียวกัน
ทั้งนี้ หัวหน้า คสช. ได้ฝากขอบคุณผลการดำเนินกิจกรรมที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัด (ศปก.รมน.จังหวัด) ในทุกจังหวัดแล้ว โดย 10 วันที่ผ่านมา มีการจัดกิจกรรมในเชิงปริมาณ จำนวน 56 จังหวัด ที่ตรวจสอบแล้ว ถือว่าอยู่ในระดับที่มีคุณภาพ มีระดับผู้นำทางความคิดของแต่ละจังหวัดมาร่วมดำเนินการหารือ และได้ข้อตกลงร่วมกันเพื่อปรองดองสมานฉันท์ ทั้งการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (เอ็มโอยู) หรือ อธิษฐานจิต ภายในจังหวัดโดยมีสื่อมวลชนเป็นพยานจำนวน 9 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียใหม่ พิษณุโลก ตาก ประจวบคีรีขันธ์ สระแก้ว ลพบุรี กาญจนบุรี นครราชสีมา และ จ.อุดรธานี