ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้สรุปผลงานหลังจากการเข้ายึดอำนาจ 1 เดือน เผยแพร่ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ผลงานที่จาระไนออกมาในช่วงเวลา 30 นาที ลงรายละเอียดถึงขั้นว่า จับกุมอาวุธปืนได้กี่กระบอก กระสุนกี่นัด ระเบิดขว้างกี่ลูก แต่หลักใหญ่ใจความ คือการรายงานถึงความคืบหน้าการดำเนินงานด้านต่างๆ ตามโรดแมปการเปลี่ยนแปลงประเทศไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างสมบูรณ์ และยั่งยืนในทุกมิติ
ผลงานที่ประชาชนเฝ้าติดตามจับตามากที่สุด ก็คือการขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งหาก คสช.ทำได้สำเร็จ ก็จะเป็นการขจัดเงื่อนไขความขัดแย้งและนำมาซึ่งความสงบสุขอย่างยั่งยืนโดยแท้จริง
ทั้งนี้ คสช.ได้จัดแบ่งกลุ่มงานบริหารราชการแผ่นดินออกเป็น 5 ฝ่าย และ 1 ส่วนงาน ประกอบด้วย 1.ฝ่ายความมั่นคง มี พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นหัวหน้านั้น มีผลงานสำคัญคือ ปฏิบัติการจับกุมอาวุธสงครามในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ การปราบปรามเครือข่ายยาเสพติด บ่อนการพนัน และขบวนการทำลายทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการบูรณาการเรื่องแรงงานทั้งระบบ
2.ฝ่ายเศรษฐกิจ มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นหัวหน้า ผลงานที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือการปลดล็อกข้อจำกัดการจ่ายเงินให้กับชาวนาในโครงการรับจำนำข้าวเปลือก จนสามารถปิดบัญชีหนี้จำนำข้าวที่ค้างไว้กับชาวนาทั้งหมดทั่วประเทศ ขณะที่ฤดูการผลิตประจำปี 2557 จะช่วยลดต้นทุนการผลิตขั้นต่ำประมาณ 500 บาทต่อไร่ ขณะเดียวกันก็ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 14 เดือน ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งขึ้น นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และตราสารหนี้ มีการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มเติม
นอกจากนี้ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ หรือ คตร. มี พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์ รับผิดชอบ เพื่อติดตามและตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ วงเงินเกิน 1,000 ล้านบาท ให้เกิดความโปร่งใส คุ้มค่า มีประสิทธิภาพ
ส่วนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่า 2.2 ล้านล้านบาท และโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 3.5 แสนล้านบาท หัวหน้า คสช.ได้สั่งการให้มีการทบทวนใหม่ทั้งหมด ให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 อย่างน้อยเป็นระยะเวลา 5-10 ปี โดยกระทรวงคมนาคมได้เสนอแผนยุทธศาสตร์โครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งของประเทศต่อที่ประชุมฝ่ายเศรษฐกิจ ซึ่งได้มีมติเห็นชอบที่จะดำเนินโครงการระหว่างปี 2558-2565 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ แต่ขอให้ตัดโครงการรถไฟความเร็วสูงออกจากแผนไปก่อน เนื่องจากที่ประชุมเห็นว่าไม่ใช่โครงการจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งหลังจากนี้กระทรวงคมนาคมจะกลับไปหารือร่วมกับกระทรวงการคลัง เพื่อพิจารณาแหล่งเงินทุนที่จะนำมาใช้ในการดำเนินโครงการให้แล้วเสร็จ
3.ฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม มี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เป็นหัวหน้า ผลงาน 1 เดือนที่ผ่านมา ได้เดินหน้ามาตรการปราบปรามยาเสพติด และการปราบปรามการคอร์รัปชัน มีการทำความเข้าใจกับสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. และสถาบันการเงิน ขอความร่วมมือตรวจสอบธุรกรรมการเงิน ในส่วนของการตรวจสอบการทุจริต ได้สั่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. ดำเนินการไปตามกระบวนการ
4.ฝ่ายสังคมจิตวิทยา มี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผู้บัญชาการทหารเรือ เป็นหัวหน้า ผลงานสำคัญ คือการจัดกิจกรรมคืนความสุขให้กับคนในชาติในรูปแบบต่างๆ ในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ พร้อมเร่งรัดเดินหน้าปราบปราม และจับกุมผู้บุกรุกตัดไม้ทำลายป่า ยุติการจัดซื้อแท็บเล็ตประจำปีงบประมาณ 2556 ในโซน 4 รวมทั้งยกเลิกการจัดซื้อแท็บเล็ตประจำปีงบประมาณ 2557 เนื่องจากไม่คุ้มค่าและไม่เหมาะสม พร้อมให้นำงบประมาณไปทำอย่างอื่นที่เกิดประโยชน์แก่การศึกษามากกว่า
5.ฝ่ายฝ่ายกิจการพิเศษ มี พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เป็นหัวหน้า รับผิดชอบการดำเนินการให้ส่วนราชการ ซึ่งเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศ และการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน มีการบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และการสานต่อกองทุนต่างๆ ขอให้ที่ประชุม คสช.อนุมัติเงินงบประมาณช่วยเหลือวัด และพระภิกษุ สามเณร ที่ประสบภัยแผ่นดินไหวในภาคเหนือ นอกจากนี้ ยังได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ร่วมกับทุกภาคส่วนจัดทำโรดแมปการปฏิรูประบบราชการ 8 แนวทางหลัก รวมทั้งเพิ่มการรับข้อร้องเรียนทางสายด่วน 1111 เพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน
ส่วนกลุ่มงานสร้างความปรองดองในการปฏิรูป มี พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รักษาการปลัดกระทรวงกลาโหม รับผิดชอบ มีองค์ประกอบ 2 ส่วน คือ ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป มี พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ เป็นหัวหน้า และคณะทำงานเตรียมการปฏิรูปเพื่อคืนความสุขให้คนในชาติ ได้เดินหน้ารวบรวมข้อมูล ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะจากประชาชนทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย ในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้ง เพื่อเสริมสร้างความรัก ความสามัคคี และคืนความสุขให้แก่คนในชาติอย่างยั่งยืน จนสามารถจัดตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปจังหวัด ครบทุกจังหวัด โดยได้จัดกิจกรรมในทั้ง 4 ภาค มาแล้ว 696 กิจกรรม
คสช.ยังได้มอบหมายให้กลุ่มรักษาความสงบเรียบร้อย มี พล.ท.ธีรชัย นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 1 และผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบ เป็นผู้ดูแล รับผิดชอบการจัดระเบียบสังคมและผู้มีอิทธิพล เร่งดำเนินการปราบปรามบ่อนการพนันผิดกฎหมาย ตู้ม้า การพนันออนไลน์ทุกรูปแบบ ตามด้วยการจัดระเบียบรถตู้โดยสาร รถแท็กซี่ และวินมอเตอร์ไซค์รับจ้าง
นอกจากนี้ ที่ประชุม คสช.ได้เห็นชอบกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 วงเงิน 2.575 ล้านล้านบาท คาดว่าในวันที่ 29 กรกฎาคม หัวหน้า คสช.จะให้ความเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติงบประมาณฯ 2558 ซึ่งมีหลักการของยุทธศาสตร์ที่สำคัญ คือ การน้อมนำปรัชญาหลักการเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นหลักในการปฏิบัติ โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 และแผนแม่บทอื่นๆ เพื่อนำเสนอฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณาต่อไป
หากวัดจากความรู้สึกของประชาชน ตามที่“สวนดุสิตโพล” มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิตจัดทำผลสำรวจที่เผยแพร่ออกมาเมื่อวันที่ 22 มิ.ย. พบว่า ความพึงพอใจของประชาชนต่อ คสช.ในการบริหารประเทศครบ 1 เดือน อยู่ในระดับค่อนข้างสูง ร้อย 50.84 ของผู้ตอบแบบสอบถามพึงพอใจมาก เพราะทำให้บ้านเมืองสงบสุข สังคมเป็นระเบียบเรียบร้อย และร้อยละ 39.57 ค่อนข้างพึงพอใจ ส่วนผู้ที่ไม่ค่อยพึงพอใจมีร้อยละ 5.27 และไม่พึงพอใจเลยร้อยละ 4.32
อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปดูผลงานแต่ละด้านที่มีการแถลงออกมา จะพบว่า ในหลายๆ ด้าน คสช.ยังไม่ได้ลงลึกไปถึงต้นตอของปัญหา ทั้งที่ คสช.มีอำนาจในมืออย่างเต็มเปี่ยม และ คสช.ยังมองไม่เห็นความเชื่อมโยงของปัญหาแต่ละด้าน อาทิ ด้านความมั่นคง การไล่จับอาวุธสงคราม ปราบปรามยาเสพติด-บ่อนการพนัน-จับกุมแก๊งลักลอบตัดไม้ เป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ นั่นเพราะต้นตอของปัญหาที่แท้จริงก็คือความขาดแคลนทางเศรษฐกิจ การล่มสลายของระบบการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กันในสังคม การแตกสลายของระบบครอบครัว
ส่วนด้านเศรษฐกิจ คสช.ยังไม่กล้าแตะต้องโครงสร้างเศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรม โอกาสการเข้าถึงแหล่งทุนที่ไม่เท่าเทียมกัน การผูกขาดของทุนขนาดใหญ่ ความไม่เป็นธรรมเรื่องพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การที่ คสช.ให้ยึดแนวทางการพัฒนาตามแผนฯ 11 เท่ากับว่า ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจจะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม นั่นเพราะแนวทางตามแผนพัฒนาฉบับต่างๆนั้น ล้วนถูกกำหนดโดยกลุ่มทุนและนักการเมืองที่มีเครือข่ายอิทธิพลอยู่เหนือข้าราชการประจำมานานทั้งสิ้น
ด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมก็เช่นกัน คสช.ยังไม่กล้าที่จะออกประกาศหรือคำสั่งใดๆ ที่เป็นการป้องกันนักการเมืองหรือผู้มีอิทธิพลเข้าไปก้าวก่ายแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม หรือการเพิ่มโทษในคดีทุจริต หรือการประกาศให้คดีทุจริตไม่ต้องมีการหมดอายุความและให้เอาผิดย้อนหลังได้
ส่วนด้านสังคมและจิตวิทยานั้น ดูเหมือนว่าตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา คสช.ยังไม่เข้าใจว่ารากเหง้าปัญหาของความขัดแย้งในหมู่ประชาชนคนไทยที่เกิดขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น คืออะไรกันแน่ แนวทางการแก้ปัญหาจึงเป็นแนวทางที่ผิวเผิน จัดกิจกรรมคืนความสุข การปรองดองสมานฉันท์ก็ดูเหมือนเป็นเพียงพิธีกรรมที่ให้คู่ขัดแย้งมาเข้าร่วม แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะสลายความคิดที่แตกต่างที่ฝังลึกอยู่ในสมองของคนสองฝ่ายได้อย่างไร
การสำรวจของศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ (กรุงเทพโพลล์) ร่วมกับคณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ด้วยการสอบถามนักเศรษฐศาสตร์จากองค์กรชั้นนำ 27 แห่ง ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.พบว่า นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 62.6 เห็นว่าการดำเนินงานของ คสช.สามารถแก้ปัญหาได้เพียงระยะสั้นเท่านั้น ร้อยละ 18.5 เห็นว่าสามารถแก้ปัญหาได้ในระยะยาว
สำหรับเรื่องการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ไม่มีสีเสื้อ นักเศรษฐศาสตร์ร้อยละ 53.3 มองว่าสามารถแก้ปัญหาได้ในระยะสั้นเท่านั้น และมีถึงร้อยละ 20.0 ที่มองว่าการแก้ปัญหาดังกล่าวไม่ได้ผล เช่นเดียวกับกิจกรรมคืนความสุขให้กับคนไทยที่ร้อยละ 78.3 เห็นว่าได้ผลเพียงในระยะสั้นเท่านั้น
นอกจากนี้ นักเศรษฐศาสตร์ยังเห็นว่าการดำเนินงานของ คสช.ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมายังขาดยุทธศาสตร์ ขาดกลยุทธ์ ขาดความเป็นรูปธรรมในการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน และขาดที่ปรึกษาที่เยี่ยมยอดจึงอาจทำให้ปัญหาที่กำลังแก้อยู่ในปัจจุบันจะกลับมาอีกในอนาคต