xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ขุดรากปัญหาข้าว วัดกึ๋น คสช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ตัวแทนชาวนาและตัวแทนสมาคมโรงสีข้าวเดินทางมาร่วมประชุมหามาตรการช่วยเหลือชาวนา ที่มี พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้า คสช.เป็นประธาน ที่ห้องประชุมสโมสรกองทัพบก ถ.วิภาวดี เมื่อ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลังจากเข้ายึดอำนาจรัฐบาล เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ผลงานชิ้นแรกๆ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ที่เรียกได้ว่าเข้าตาประชาชน ก็คือการเร่งจ่ายเงินค่าจำนำข้าวที่รัฐบาลยุค น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ติดค้างไว้กับชาวนานับแสนล้านบาท

คสช.ใช้เวลาเพียง 4 วัน หลังจากเข้ายึดอำนาจก็สามารถเริ่มจ่ายเงินค่าจำนำข้าวที่ติดค้างชาวนาอยู่ได้ และใช้เวลาไม่ถึงเดือนก็สามารถจ่ายเงินปิดบัญชีโครงการจำนำข้าวจนหมดในวันที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา

แต่นั่น ก็เป็นเพียงมาตรการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของชาวนาที่รอเงินจำนำข้าวยาวนานเป็นเวลาร่วมปี จนมีชาวนาฆ่าตัวตายไปแล้วนับสิบคน

วิธีการแก้ปัญหาดังกล่าวก็ไม่ได้มีอะไรยุ่งยากซับซ้อน เพียงแต่ใช้ความเด็ดขาดสั่งการให้กระทรวงการคลังกู้เงินสภาพคล่องของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.)จำนวนประมาณ 40,000 ล้านบาท และกู้เงินด้วยการเปิดประมูลจำนวน 50,000 ล้านบาท ซึ่งธนาคารออมสินประมูลได้ไป ก็ได้เงินมาจ่ายให้ชาวนาภายในเวลาอันรวดเร็ว

ส่วนปัญหาอื่นๆ ที่จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภาระดอกเบี้ยที่ต้องเอาเงินภาษีมาจ่าย และเงินขาดทุนจำนำข้าวที่ประเมินกันว่าน่าจะสูงถึง 5 แสนล้านบาท เพราะซื้อมาในราคาที่สูงกว่าราคาตลาดแต่ขายได้ในราคาถูก ก็ค่อยไปหาทางแก้กันทีหลัง

คสช.เองก็ตระหนักดีว่า โครงการรับจำนำข้าวมีปัญหาในตัวของมันเอง เพราะเป็นโครงการประชานิยมที่มุ่งจะหาเสียงกับชาวนาแต่ส่งผลกระทบระยะยาว และบิดเบือนกลไกตลาด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้า คสช.ได้แถลงตั้งแต่วันแรกๆ ว่า จะไม่ทำโครงการในลักษณะประชานิยมอีก

“สำหรับราคาพืชผลทั้งการเกษตรอื่นๆ นั้น อีกหลายอย่างก็กำลังหามาตรการดูแลให้เกิดความยั่งยืน ว่าจะทำได้อย่างไรในปีงบประมาณ 2558 ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้นำไปสู่โครงการประชานิยม ซึ่งจะเกิดปัญหาตามมาอีกมากมายในอนาคต โดยให้แนวทางไปพิจารณาในเรื่องลดต้นทุนการผลิต สนับสนุนปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ การพัฒนาพันธุ์ การส่งเสริมตลาดรวมการเกษตรทุกพื้นที่ พัฒนาผลผลิตให้เพิ่มขึ้นจากเดิมโดยใช้พื้นที่ให้น้อยลง เพิ่มการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ลดการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง และหาวิธีใช้ประโยชน์วัตถุดิบภายในประเทศ เพื่อเพิ่มมูลค่าจากวัตถุดิบให้สูงขึ้น ราคาสินค้าก็อาจจะต้องให้เป็นไปตามกลไกตลาดการค้าเสรี มุ่งเน้นการเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตรให้สูงขึ้น แข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้อย่างรวดเร็ว” พล.อ.ประยุทธ์แถลงเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม หลังจากได้รับการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งเป็นหัวหน้า คสช.

ตามแนวทางที่ พล.อ.ประยุทธ์ได้แถลงไว้ดังกล่าว วันที่ 7 มิ.ย.พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจของ คสช.ได้เป็นประธานการประชุมหารือรับฟังความคิดเห็นการช่วยเหลือชาวนา โดยมีตัวแทนจากภาครัฐ อาทิ นางศรีรัตน์ รัษฐปานะ ปลัดกระทรวงพาณิชย์ พร้อมตัวแทนภาคเกษตรกร 8 กลุ่ม เพื่อพูดคุยร่วมกันหาแนวทางแก้ไขปัญหาให้ชาวนา และเป็นการรับฟังแผนทั้งหมดของเกษตรกรในเรื่องข้าวและเรื่องพืชผลทางการเกษตร หลังการประชุม พล.อ.ฉัตรชัย แถลงว่า สิ่งที่ชาวนาต้องการให้ช่วยเหลือเร่งด่วน คือ ปัญหาราคาข้าวปัจจุบันต่ำกว่าต้นทุนการผลิต คสช. จะนำมาพิจารณาหารือในสัปดาห์หน้าว่า จะมีมาตรการช่วยเหลือย่างไร

วันศุกร์ที่ 13 มิถุนายน พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวในรายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” ทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่า การกำหนดแนวทางการช่วยเหลือชาวนาในฤดูกาลหน้า ได้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.)เพื่อเร่งรัดทำมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ส่วนรายละเอียดของมาตรการต่างๆ กำลังอยู่ในขั้นการพิจารณาเพื่อตกลงใจและสั่งการ ซึ่งจะครอบคลุมไปถึงผลิตผลทางการเกษตรอื่นๆ ด้วย

สัปดาห์ถัดมาวันที่ 18 มิถุนายน พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการด้านการผลิตและการตลาดสินค้าข้าว ได้ประชุมร่วมกับตัวแทนชาวนา 3 สมาคม ตัวแทนสมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อหามาตรการช่วยเหลือชาวนาหลังจากที่ได้ยกเลิกโครงการรับจำนำข้าว โดยได้มีมติใช้แนวทางการลดต้นทุนการผลิต และจะไม่มีการชดเชยปัจจัยการผลิตเป็นตัวเงิน ซึ่งจะมีการนำเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ พิจารณาเพื่อให้ทันกับปีการผลิต 2557/58

ตามมาตราการลดต้นทุนการผลิตดังกล่าว ผู้ประกอบการจำหน่ายปุ๋ยเคมี ยาปราบศัตรูพืช และปัจจัยการผลิต ยอมลดราคาลงมา ทำให้ต้นทุนการผลิตข้าวลดลง 432 บาทต่อไร่ จาก 4,787 บาทต่อไร่

นอกจากนี้ จะให้ ธ.ก.ส.ช่วยเหลือด้านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 2 แนวทาง คือ ให้กู้รายละ 50,000 บาท ใช้เงินรวม 2,292 ล้านบาท และให้กู้รายละ 100,000 บาท ใช้เงิน 4,582 ล้านบาท โดยลดดอกเบี้ยลง 3% จากอัตราปกติเป็นเวลา 6 เดือน ทำให้ลดต้นทุนด้านดอกเบี้ยลงได้ 150 บาทต่อไร่ รวมลดต้นทุนการผลิตทั้งหมดลง 582 บาทต่อไร่

มาตรการที่กล่าวมา จะมีการนำเสนอให้ นบข.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน พิจารณาในเร็วๆ นี้

ส่วนแผนการดูแลราคาข้าวเปลือกฤดูการผลิตปี 2557/58 คสช. ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปจัดทำแผนและมาตรการในการดูแล แต่จะต้องไม่ใช้โครงการรับจำนำ หรือประกันรายได้ แต่ให้เน้นการดูแลราคาข้าวเปลือกให้ชาวนาขายได้คุ้มกับต้นทุนการผลิตและมีกำไรพออยู่ได้ ซึ่งจะมีการเสนอหลายๆ แนวทางให้ นบข.พิจารณา ทั้งการจัดตลาดนัดข้าวเปลือก การตั้งโต๊ะรับซื้อ การซื้อในราคานำตลาด โดยวิธีการดำเนินการจะต้องมาพิจารณาร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง

มีรายงานว่า ในการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ที่มี พล.อ.ฉัตรชัย เป็นประธานนั้น มีข้อเสนอจากชาวนาที่ต้องการให้ชดเชยไร่ละ 3,000 บาท กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอชดเชยไร่ละ 1,700-2,400 บาท แต่สุดท้ายที่ประชุมได้ขอให้ใช้แนวทางที่เป็นไปได้ คือการลดต้นทุนการเพาะปลูกและการสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับชาวนา

ก็นับว่า คสช.เดินทางมาถูกทางแล้ว ที่ยืนหยัดไม่ใช้มาตรการจ่ายเงินชดเชยค่าข้าวให้ชาวนา แต่มุ่งไปที่มาตรการลดต้นทุนการผลิตแทน

แต่ที่ต้องติดตามกันต่อไป ก็คือในมาตรการลดต้นทุนการผลิตนั้น คสช.จะเอาจริงเอาจังสักเพียงใด จะลงลึกถึงขั้นให้ชาวนาพึ่งตัวเองได้ในเรื่องปัจจัยการผลิตหรือไม่

นั่นเพราะตลาดสินค้าปัจจัยการผลิตภาคเกษตรนั้น มีมูลค่ามหาศาล และมีผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่ผูกขาดตลาดอยู่เพียงไม่กี่ราย คสช.จะมีมาตรการอย่างไรให้ผู้จำหน่ายปัจจัยการผลิตเหล่านี้ลดราคาในระยะยาว ไม่ใช่ลดแค่เฉพาะหน้าในฤดูการผลิตนี้

นอกจากนี้ คสช.จะต้องทำให้ได้ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์เคยแถลงไว้ว่าจะพัฒนาผลผลิตให้เพิ่มขึ้นจากเดิมโดยใช้พื้นที่ให้น้อยลง เพิ่มการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ลดการใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง และหาวิธีใช้ประโยชน์วัตถุดิบภายในประเทศ เพื่อเพิ่มมูลค่าจากวัตถุดิบให้สูงขึ้น

เพราะหากดำเนินการตามแนวทางนี้อย่างจริงจัง ก็จะสามารถแก้ไขปัญหาภาคเกษตรได้อย่างยั่งยืน เพราะเป็นแนวทางที่ทำให้เกษตรกรพึ่งตัวเองได้ ไม่ต้องถูกเอารัดเอาเปรียบอีกต่อไป แต่แนวทางนี้ย่อมจะขัดต่อผลประโยชน์ของนายทุนค้าปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง ตลอดจนพ่อค้าคนกลางและผู้ส่งออก

คสช.ต้องกล้าหาญพอที่จะหักดิบผลประโยชน์ของนายทุนกลุ่มนี้ เพื่อให้ชาวนา-เกษตรกรได้ลืมตาอ้าปาก พ้นจากความเดือดร้อนที่มีมายาวนานชั่วนาตาปีเสียที


กำลังโหลดความคิดเห็น