ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - ถึงวันนี้ก็ประมาณ 1 เดือนเต็ม ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เข้ามากุมอำนาจในการแก้ไขวิกฤติชาติ
ด้วยบุคลิกของผู้นำที่เป็นทหาร ประกอบกับการใช้กฎหมายพิเศษ เรียกบรรดาแกนนำมวลชนที่เคลื่อนไหวทางการเมืองทั้งสองฝ่ายเข้ารายงานตัว รับปฏิบัติการทางจิตวิทยาก่อนปล่อยตัวไป ใครเพิกเฉย ขัดขืนเจอออกหมายจับ ตามรวบตัวมาขึ้นศาลทหาร ทำให้ปัญหาการชุมนุมต่อต้านและการก่อเหตุรุนแรงทางการเมือง ลดลงอย่างเห็นได้ชัด หยุดการฆ่ากันระหว่างคนไทยกันเองไปได้
ขณะเดียวกันก็ไม่ลืมที่จะใช้"ประชานิยม"ในการคืนความสุขให้คนไทย ทั้งตั้งเวทีระดมนักร้อง นักแสดงไปมอบความสุข ดูถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกทางฟรีทีวี ทุกแมตช์ ดูหนังตำนานสมเด็จพระนเรศวรฟรีทั่วประเทศ ตรึงราคาก๊าซหุงต้ม ลดราคาน้ำมัน
การจัดระเบียบสังคมในเรื่องที่เป็นปัญหาค้างคาใจประชาชน ตั้งแต่การจอดรถในที่ห้ามจอด กำราบมาเฟียวินมอเตอร์ไซค์ รถตู้ แท็กซี่สนามบินสุวรรณภูมิ
เตรียมปฏิรูปรัฐวิสาหกิจสำคัญๆ ที่ขาดทุนเพราะการบริหารจัดการภายในองค์กร อย่างการบินไทย ด้วยการตัดสิทธิ์ตั๋วบินฟรีของบอร์ดการบินไทยให้ดูเป็นตัวอย่าง หรือรัฐวิสาหกิจที่ทำกำไรมหาศาล จากการขูดรีดประชาชนที่ต้องใช้พลังงาน ทั้งก๊าซ ทั้งน้ำมัน ก็ต้องปฏิรูป เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้ประชาชน
เรื่องเหล่านี้แม้จะไม่เห็นผลในทันทีทันใด แต่แค่ประกาศเจตนารมย์ แล้วเริ่มปฏิบัติ ก็ได้ใจประชาชน เรียกคะแนนนิยม ความเชื่อมั่นในตัวผู้นำได้เป็นอย่างดี
โดยเฉพาะการส่งสัญญาณไล่บี้ ตัวคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจ ว่าจะต้องโละรื้อกันยกแผง ใครที่รู้ตัวดีว่าได้รับการแต่งตั้งมาเพราะการเมือง มาตามระบอบทักษิณ ก็ขอให้ลาออกเสียแต่เนินๆ ไม่ต้องให้ปลดกลางอากาศให้เสียหน้า เสียภาพลักษณ์
ดังนั้นในช่วงที่ผ่านมา จึงเป็นการลาออกของบอร์ดรัฐวิสาหกิจที่สำคัญๆ อาทิ น.ต.ศิธา ทิวารี อดีตประธานบอร์ดการบินไทย นายปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตประธานซุปเปอร์บอร์ด ปตท. นายณอคุณ สิทธิพงศ์ อดีตประธานบอร์ดไทยออยล์ นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ อดีตประธานบอร์ดกรุงไทย และสดๆ ร้อนๆ ที่ อสมท. ก็มี สุธรรม แสงประทุม จักรพันธุ์ ยมจินดา กับพวกไขก๊อกไปแล้ว ประธานบอร์ด กฟผ. ก็ร่อนจดหมายลาออกแล้วเช่นกัน
หลังจากนี้ก็คาดกันว่าน่าจะมีอีกล็อตใหญ่ โดยเฉพาะพวกแดงทั้งตัวและหัวใจ ที่สิงสถิตอยู่ในบอร์ดรัฐวิสาหกิจ เกรดเอ ซึ่งยังทำเป็นไม่รู้ ไม่ชี้ อีกหลายคน แต่ถ้าหากยังทำมึน คงต้องเจอมาตรการปลดกันกลางอากาศเป็นแน่
อีกเรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับคนระดับล่างของประเทศ คือปัญหาเรื่องจำนำข้าว เมื่อ คสช. ยึดอำนาจก็จัดการกู้เงินมาจ่ายหนี้จำนำข้าว ที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทำขี้เอาไว้ ถึงวันนี้ก็ได้กันครบแล้ว
แต่ปัญหาไม่จบแค่นั้น เพราะราคาข้าว ณ ปัจจุบันหล่นวูบลงไปเหลือ 5,000-6,000 บาทต่อตัน ขาดทุนกันเห็นเห็น ทำให้มีเสียงเรียกร้องจากชาวนา ว่ายังติดใจระบบจำนำข้าวอยู่ อยากให้ คสช.ทำต่อ เพื่อช่วยเหลือชาวนา
แน่นอนว่า คสช. ย่อมต้องปฏิเสธ เพราะเห็นกันอยู่ชัดๆว่า จำนำข้าว 2 ปี ขาดทุนไป 5 แสนล้านบาท ขืนทำต่อไปประเทศชาติต้องล่มจมแน่ ครั้งจะหันไปเอาตามแนวทางที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เคยทำไว้ คือ การประกันราคา ก็ไม่เหมาะ เพราะยังมีช่องโหว่ ให้ทุจริตอยู่เหมือนกัน เช่น ในช่วงการขึ้นบัญชีการเพาะปลูก ปัญหาบัญชีลม ไม่ได้ปลูกจริง ที่สำคัญคือ จะทำให้เสียภาพลักษณ์ ว่า คสช.อิงแอบอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์
ดังนั้น จึงตัดสินใจว่าจะใช้แนวทางช่วยเหลือชาวนาด้วยการลดต้นทุนการผลิต โดยใช้ความเป็น คสช. ไปเจรจากับผู้ที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยการผลิต ให้ช่วยลดหย่อนราคาต่างๆลงมา
เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คสช. ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการพิจารณามาตรการด้านการผลิตและการตลาดสินค้าข้าว จึงได้นัดตัวแทนชาวนาจาก 3 สมาคม ตัวแทนสมาคมโรงสีข้าวไทย สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง มาหารือ เพื่อกำหนดมาตรการช่วยเหลือชาวนา และได้มีมติให้ใช้แนวทางการลดต้นทุนการผลิตข้าวให้แก่ชาวนา โดยตั้งเป้าตัวเลขกลมๆ ไว้ที่ 500 บาทต่อไร่
ซึ่งต้นทุนการทำนาที่มีการพิจารณาได้แก่ ค่าเช่าที่นา ค่าไถปรับพื้นที่นา เมล็ดพันธุ์ข้าว ปุ๋ย ยาปราบศัตรูพืช สารเคมีต่างๆ ค่าเกี่ยวข้าว รวมทั้งดอกเบี้ยเงินกู้ ธ.ก.ส. ขณะเดียวกัน ก็จะมีมาตรการเสริมในการยกระดับราคาข้าว เพื่อดูแลด้านราคาข้าวในประเทศไม่ให้ตกต่ำ จนชาวนาเดือดร้อน
การช่วยเหลือที่ว่า จะไม่ใช้วิธีไปเอาเงินงบประมาณมาจ่ายชดเชยให้กับชาวนาเป็นตัวเงินโดยตรง เพราะเกรงว่าจะมีการนำเงินไปใช้ผิดประเภท แต่จะใช้วิธีขอความร่วมมือจากฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหลาย ลดราคาปัจจัยการผลิตต่างๆ ลงมา ซึ่งจะมีการนำเสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. พิจารณาอีกครั้ง เพื่อให้ทันกับการผลิตข้าวฤดูกาลใหม่ 2557/58
มีการประมาณการจาก ผู้จัดการธ.ก.ส.ว่า หากได้รับความช่วยเหลือ จากฝ่ายต่างๆที่กล่าวมาข้างต้น จะช่วยให้ต้นทุนการผลิตของชาวนาลดลงได้ 432 บาทต่อไร่ จากต้นทุน 4,787 บาทต่อไร่ เมื่อรวมการชดเชยดอกเบี้ยที่ ธ.ก.ส.จะลดให้อีก 3% หรือประมาณ 150 บาทต่อไร่ ก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตของชาวนาลดลงมาได้ 582 บาทต่อไร่
ทั้งนี้ ธ.ก.ส.ได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือด้านสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำไว้ 2 แนวทาง คือ ให้กู้ได้รายละ 50,000 บาท ใช้เงิน 2,292 ล้านบาท และให้กู้รายละ 100,000 บาท ใช้เงิน 4,582 ล้านบาท โดยลดดอกเบี้ยลง 3% จากอัตราปกติเป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งทั้งสองแนวทางที่ว่า ขึ้นอยู่กับหัวหน้าคสช.จะเลือกใช้แนวทางใด
สำหรับความเห็นของตัวแทนชาวนาเกี่ยวกับมาตรการดังกล่าว นายวิเชียร พวงลำเจียก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย เห็นว่า อยากให้ คสช. พิจารณาช่วยเหลือต้นทุนการผลิตให้ชาวนาโดยแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่อยู่นอกเขตชลประทาน กับเขตชลประทาน เพราะการทำนานอกเขตชลประทานจะมีต้นทุนสูงกว่า คืออยู่ที่ 6,500-7,000 บาทต่อไร่ และส่วนใหญ่จะทำนาได้เพียงปีละ 1 ครั้งเท่านั้น
นอกจากการลดต้นทุนการผลิตแล้ว อยากให้โรงสี และผู้ค้าข้าวรับซื้อข้าวในราคาตันละ 8,000-9,000 บาท ชาวนาจึงจะอยู่ได้ และขอให้ คสช. เร่งผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการช่วยเหลือชาวนาโดยเร็ว เพื่อเป็นหลักประกันว่าชาวนาจะได้รับการดูแลอย่างจริงจัง
อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาให้กับชาวนานั้น มีปัจจัย องค์ประกอบ กลไก ที่เกี่ยวข้องอยู่หลายส่วน ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ มีผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ระดับรากหญ้า ยากจน นายทุนเจ้าของโรงสี พ่อค้าส่งออก ที่สำคัญคือ เป็นปัญหาที่ผู้ติดกับการเมืองมาทุกยุคทุกสมัย
การแก้ปัญหาชาวนาของ คสช. จึงต้องดูกันยาวๆ ว่าจะสลัดหลุดจากอิทธิพลของผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ชาวนาได้รับผลเป็นที่น่าพอใจได้อย่างไร