xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ระบอบแม้วไป ... อะไรมา? ว่าที่ประธานบอร์ดปตท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - การลาออกจากประธานบอร์ด ปตท.ของนายปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่ถูกส่งเข้ามาคุมปตท.ในช่วงรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้รับความสนใจจากสังคมอย่างยิ่งว่า เมื่อเขาไปแล้ว ใครจะมารั้งตำแหน่งนี้แทน

แคนดิเดทว่าที่ประธานบอร์ด ปตท. 2 คน ที่มีการโยนหินถามทางในเวลานี้ ที่ชื่อว่า ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรมว.กระทรวงพลังงาน ในยุครัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เทคโนแครตด้านพลังงานที่สนองงานมาแล้วหลายรัฐบาล และ ดร.พรชัย รุจิประภา อดีตข้าราชการที่เติบโตจากสภาพัฒน์ถึงระดับรองเลขาธิการฯ แล้วโยกข้ามห้วยมาได้ดิบได้ดีในสายพลังงานนั้น กำลังได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างยิ่ง

ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งไปยังกระทรวงการคลัง ให้จัดทำรายละเอียดข้อมูลคณะกรรมการ (บอร์ด) รัฐวิสาหกิจทั้งหมด ทั้งที่เปิดเผยและปิดลับ โดยสืบสาวไปถึงความสัมพันธ์โยงใยกับนักการเมืองได้สร้างแรงกดดันไปยังบอร์ดที่มาจากขุมอำนาจเก่าทันที

โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจชั้นเยี่ยมอย่าง บมจ.ปตท. ที่ผู้คนในสังคมไทยเชื่อว่าเป็นขุมทรัพย์ที่นักการเมือเพื่อนพ้องบริวารเครือข่ายชินวัตรตักตวงผลประโยชน์ โดยมีการส่งคนใกล้ชิดไปนั่งประธานบอร์ด ปตท. ขณะเดียวกัน ผู้บริหารระดับสูงของปตท. ก็เข้ามานั่งตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในรัฐบาลทักษิณ เสมือนเป็นผลประโยชน์ต่างตอบแทน

ดังเช่นก่อนหน้านายปานปรีย์ที่เพิ่งลาออกจากประธานบอร์ด ปตท. ไปหมาดๆ ก็มีนายวิเชษฐ์ เกษมทองศรี อดีตรมช.กระทรวงคมนาคม สมัยรัฐบาลทักษิณ ที่ลาออกจากประธานบอร์ด ปตท. ไปรับตำแหน่งรมว.กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ หรือนายณอคุณ สิทธิพงศ์ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ผู้ใกล้ชิดนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ ที่จำต้องลุกจากเก้าอี้ประธานบอร์ด ปตท. เพื่อเปิดทางให้นายวิเชษฐ์ เข้ามาเสียบแทน

ขณะที่ผู้บริหารระดับสูงของปตท. ก็มีโอกาสเข้ามารับตำแหน่งทางการเมือง เช่น นายวิเศษ จูภิบาล อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการแปรรูป ปตท. สมัยรัฐบาลทักษิณ ที่เข้ามาเป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน (น.พ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช) (ก.พ. 2546 - ม.ค. 2548) ก่อนที่จะขึ้นมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในสมัยรัฐบาลทักษิณ 2 (11 มี.ค. 2548 - 19 ก.ย. 2549)

การเอื้ออำนวยประโยชน์ซึ่งกันและกัน เห็นได้ชัดในรัฐบาลทักษิณและนอมินี ที่ออกนโยบายเอื้อประโยชน์ให้ ปตท. เพราะได้ประโยชน์ทางอ้อมจากปรับขึ้นของราคาหุ้นรับข่าวดีของบริษัทแม่และบริษัทลูก ซึ่งผู้ถือหุ้นของ บมจ.ปตท. แม้ว่ากระทรวงการคลัง เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า มีกองทุนที่เป็นนอมินีฝรั่งหัวดำ ซึ่งเป็นที่กังขามาตลอดว่าเป็นของนักการเมืองรวมอยู่ด้วย ดังนั้น จึงเห็นกรณีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน แล้วนำมาชดเชยราคาก๊าซแอลพีจีที่นำเข้าโดย ปตท. หรือการให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีสิทธิใช้ก๊าซก่อนกลุ่มอื่นๆ โดยผู้ลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีกลุ่มใหญ่ที่สุดไม่ใช่ใครที่ไหนแต่คือ ปตท.นั่นเอง

การประพฤติปฏิบัติที่เปรียบเหมือนการเข้าออกประตูกลหมุนวนระหว่างบอร์ด ปตท. คนของนักการเมือง กับผู้บริหารปตท.ที่ได้รับการปูนบำเหน็จให้เป็นเสนาบดีคุมกระทรวงพลังงานที่มีอำนาจให้คุณให้โทษแก่ ปตท. เป็นเรื่องอุบาทว์ที่เกิดขึ้น และประชาชนคนไทยต้องทนทุกข์อยู่กับการสูบเลือดสูบเนื้อผ่านราคาพลังงานแสนหฤโหดโดยไม่มีทางหลบเหลี่ยง

อย่างไรก็ตาม เมื่อ คสช. ยึดอำนาจ เสียงเชียร์ให้ปฏิรูปพลังงาน ซึ่งหมายความรวมไปถึงการล้างบางบอร์ด ปตท. และการชำระสะสางโครงสร้างราคาพลังงานที่การเอาเปรียบขูดรีดประชาชนโดยปตท. ก็ดังกระหึ่ม

ทั้งนี้ กระแสข่าวการเปลี่ยนบอร์ด ปตท. มีมาตั้งแต่ช่วงแรกๆ ที่ คสช. ยึดอำนาจแล้ว แต่มีการปฏิเสธจากกระทรวงการคลัง ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ ว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลง โดยให้เหตุผลว่า ปตท.เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ การปรับเปลี่ยนบอร์ดจะต้องเรียกประชุมผู้ถือหุ้นก่อน โดยปกติการเปลี่ยนแปลงบอร์ดจะเป็นไปตามวาระและมีการประชุมผู้ถือหุ้นสรรหากรรมการใหม่เข้ามาแทน ยกเว้นกรรมการในบอร์ดลาออก ให้คณะกรรมการที่เหลืออยู่สรรหาบุคคลใหม่เข้ามาดำรงตำแหน่งแทน

แต่นั่นเป็นภาวะที่บ้านเมืองปกติ แต่เมื่อ คสช.ยึดอำนาจแล้ว ถือว่า คสช.เป็นองค์รัฏฐาธิปัตย์ มีอำนาจเต็มในการปกครองประเทศ คำสั่ง คสช.ถือเป็นกฎหมายที่ต้องปฏิบัติตาม ซึ่งกรณีของบอร์ดรัฐวิสาหกิจนั้น แม้ คสช. จะไม่มีคำสั่งโดยตรง แต่ได้ส่งสัญญาณชัดเจนว่า จะต้องมีการปรับเปลี่ยนใหม่ เห็นได้จากการสั่งการให้กระทรวงการคลัง จัดทำข้อมูลรายละเอียดของบอร์ดรัฐวิสาหกิจทุกแห่งส่งมาให้ คสช. ซึ่งการปรับเปลี่ยนที่จะเกิดขึ้นไม่ใช่แต่เพียงเปลี่ยนบอร์ดเท่านั้น แต่ยังพิจารณาถึงสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ได้รับด้วย โดยนำร่องยกเลิกบินฟรีของบอร์ดการบินไทยไปแล้ว

กรณีของ บมจ.ปตท.นั้น นายปานปรีย์ได้ยื่นใบลาออกจากประธานบอร์ด เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2557 ที่ผ่านมา โดยได้แจ้งต่อ พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. รองหัวหน้าคสช. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ พร้อมกับส่งหนังสือลาออกให้นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร กรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. เพื่อนำเสนอหนังสือการลาออกแจ้งผู้ถือหุ้น และแจ้งไปยังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตามขั้นตอน

“ยืนยันผมไม่ได้กดดัน เพราะภาวะการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเกิดขึ้นหลายครั้งแล้ว ผมทำงานที่ผ่านมาอย่างโปร่งใส คิดอยู่นานแล้วว่าจะลาออก เพียงแต่รอเวลาและสถานการณ์ที่เหมาะสม เนื่องจากไม่ต้องการให้เกิดผลกระทบต่อองค์กร ขณะนี้เริ่มมีความชัดเจนแล้วจึงลาออก เปิดโอกาสให้ คสช.สรรหาคนใหม่มาเป็นบอร์ดแทน” นายปานปรีย์ กล่าว

ถัดจากนั้น บอร์ดของบมจ. ปตท. ได้ยื่นใบลาออกอีก 2 คน คือ นายวรุณเทพ วัชราภรณ์ กรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบของ มีผลตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย. 2557 เป็นต้นไป และนายอรรถพล ใหญ่สว่าง กรรมการอิสระ ประธานกรรมการสรรหา และกรรมการบริหารความเสี่ยงองค์กร ได้ลาออกเช่นกันโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. 2557 เป็นต้นไป

นอกจากนั้น บมจ. ไทยออยล์ บริษัทในกลุ่มปตท. แจ้งว่า นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ได้มีหนังสือแจ้งลาออกจากการดำรงตำแหน่งกรรมการ และประธานกรรมการ บมจ. ไทยออยล์ เนื่องจากมีภารกิจอื่น โดยการลาออกมีผลตั้งแต่วันที่ 16 มิ.ย. 2557 เป็นต้นไป อย่างที่รู้กันว่า อดีตปลัดกระทรวงการพลังงาน คนนี้ เป็นผู้ซึ่งได้ชื่อว่ามีความใกล้ชิดกับนางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ หรือ “เจ๊แดง”


ถึงตอนนี้ มาดูกันว่า เมื่อ คสช. เขย่าเก้าอี้บอร์ดรัฐวิสาหกิจจากขุมอำนาจเก่าไปแล้ว ใคร? จะมาแทน

ตัวเลือกประธานบอร์ด ปตท. จะมีเพียงแค่ ดร.ปิยสวัสดิ์ กับ ดร.พรชัย เท่านั้นหรือ? หากมีอยู่เพียงเท่านี้ก็ถือว่า คสช.ยังไม่กล้าแหกกรอบ และความตั้งใจเปลี่ยนแปลงโครงสร้างระบบพลังงานของประเทศ ก็คาดหวังความสำเร็จได้ยาก เพราะที่ผ่านๆ มาก็คนจำพวกนี้ที่มีส่วนทำให้กิจการพลังงานของประเทศตกอยู่ในสภาพเช่นนี้

กล่าวสำหรับดร.ปิยสวัสดิ์ นั้น นาทีนี้ดูเหมือนว่าเขาจะมีภาษีมากกว่าดร.พรชัย เพราะในระหว่างการชุมนุมของ กปปส. เขาได้แสดงบทบาทเป็นผู้ควบคุมทิศทางการปฏิรูปกิจการพลังงานที่ กปปส.นำเสนอต่อสังคม ซึ่งเมื่อดูเนื้อหาสาระแล้วไม่ได้ต่างไปจากที่เป็นอยู่แม้แต่น้อย

เช่น การพูดถึงเรื่องโครงสร้างราคาพลังงานที่ต้องปล่อยไปตามกลไกราคาตลาดโลก โดยไม่สนใจว่าประเทศไทยก็มีปิโตรเลียมเป็นทรัพยากรของชาติอยู่ด้วยไม่ได้พึ่งพาการนำเข้าทั้งหมด สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติ คอนเดนเสท และน้ำมันดิบ เกือบ 1 ล้านบาร์เรลต่อวันเทียบเท่าน้ำมันดิบ ควรจะต้อง บริหารจัดการใหม่ให้ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด หรือการเร่งรัดเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่ ภายใต้เงื่อนไขสัมปทานที่จ่ายค่าภาคหลวงตอบแทนรัฐแบบเดิมที่ให้ประโยชน์แก่บริษัทผู้รับสัมปทานมากกว่าประเทศชาติ

ดร.ปิยสวัสดิ์ ยังเปิดตัว “กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน” ที่มีดร.ปิยสวัสดิ์ เป็นแกนนำสำคัญนั้น มีการตั้งข้อน่าสังเกตว่า เขาเป็นตัวแทนที่กลุ่มทุนพลังงานส่งเข้ามาเป็นตัวเชื่อมประสานประโยชน์กับ กปปส. และคสช. หลัง กปปส. สลายตัวไปหรือไม่

เหตุผลเพราะเมื่อพิจารณารายชื่อของกลุ่มปฏิรูปฯ ที่เขาเป็นหัวหอกนั้น จะพบว่า มีทั้งอดีตผู้บริหารกลุ่มทุนพลังงานยักษ์ใหญ่เครือปตท.-บางจาก, ปูนซีเมนต์ไทย ซึ่งมีผลประโยชน์เกี่ยวกับธุรกิจพลังงาน กลุ่มข้าราชการระดับสูงจากสภาพัฒน์ และหน่วยงานที่กำหนดนโยบาย กำกับดูแล บริหารจัดการด้านพลังงานที่มีผลประโยชน์ทับซ้อน และนักวิชาการที่มีจุดยืนสอดคล้องกับกลุ่มทุนพลังงาน ซึ่งอยู่เบื้องหลังการกำหนดนโยบายพลังงานของประเทศในช่วงที่ผ่านมา

ไม่เพียงเท่านั้น หากย้อนกลับไปดูผลงานของดร.ปิยสวัสดิ์ ในช่วงที่ผ่านมา ก็ยิ่งน่าเคลือบแคลง นับแต่การมีส่วนในการแปรรูป ปตท.ในสมัยรัฐบาลทักษิณ, การแยกท่อก๊าซฯ ออกปตท. ซึ่งเป็นหนึ่งในข้อเสนอของกลุ่มปฏิรูปพลังงานเวลานี้ ในสมัยที่ดร.ปิยสวัสดิ์ นั่งเป็นรมว.กระทรวงพลังงาน ยุครัฐบาลขิงแก่ กลับไม่มีการดำเนินการใดๆ,

รวมไปถึงการแก้ไขพ.ร.บ.ปิโตรเลียม ฉบับที่ 6 พ.ศ.2550 มาตรา 28 เรื่องการจำกัดปริมาณแปลงและพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียม โดยมาตรา 28 ที่ยาวเหยียด ถูกตัดเหลือเพียง 3 บรรทัดโดยหัวใจของมาตรานี้คือ การจำกัดแปลงและจำกัดพื้นที่ ของผู้รับสัมปทานเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดการผลิตปิโตรเลียมจากแผ่นดินไทย

หลังการแก้ไขกฎหมายเสร็จสิ้น ปรากฎว่าบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานในเครือมูบาดาลา หนึ่งในแขนขาด้านการลงทุนของแห่งอาบูดาบี ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ว่า ได้แปลงสัมปทานในเมืองไทยเพิ่มขึ้น จากเดิมบริษัทจะถือสัมปทานได้แค่ 20,000 ตร.กม. ตามที่กฎหมายกำหนด แต่พอแก้กฏหมายเสร็จ บริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม แสดงไว้ในเว็ปไซต์ว่าได้ถือสัมปทานในปี 2553 ถึง 100,622 ตร.กม. โดยในปี 2550 ที่นายปิยสวัสดิ์ นั่งเป็น รมว.กระทรวงพลังงาน บริษัทมูบาดาลา ปิโตรเลียม ได้สัมปทานไปทั้งหมดถึง 5 แปลง ภายในปีเดียว

นอกจากนั้น สมัยดร.ปิยสวัดิ์ ดำรงตำแหน่งรมว.กระทรวงพลังงาน ยังมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข พ.ร.บ. ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2550 เช่น การลดหย่อนค่าภาคหลวงจากเดิมที่สามารถลดได้ในอัตราร้อยละ 30 กรณีในพื้นที่ที่มีปัญหา เปลี่ยนให้ลดค่าภาคหลวงได้ร้อยละ 90 จะต่างอะไรกับการไม่เก็บค่าภาคหลวงเลย

รวมทั้งการอนุมัติการต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมให้แก่บริษัทเชฟรอน (ประเทศไทย) สำรวจและผลิต จำกัด และบริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซ์พลอเรชั่น จำกัด ล่วงหน้าก่อนหมดอายุสัมปทานถึง 5 ปี ทั้งที่ตามสัมปทานปิโตรเลียม เลขที่ 1/2515/5 จะสิ้นสุดลงในวันที่ 23 เมษายน 2555 แต่กระทรวงพลังงานเร่งร้อนอนุมัติให้ก่อน โดยต่อเวลาสัมปทานไปอีก 10 ปี มีผลตั้งแต่ 24 เมษายน 2555-23 เมษายน 2565

นับเป็นการอนุมัติสัมปทานปิโตรเลียมหลังจากแก้ไขกฎหมายข้างต้นเพียง 2 เดือน ทิ้งทวนก่อนรัฐบาลขิงแก่จะหมดอายุลงในอีก 42 วัน รวมทั้งสิ้น 22 สัมปทาน รวม 27 แปลงสำรวจ ในเวลาไล่เลี่ยกันคือ มติ ครม.เมื่อวันที่ 22 ต.ค. 2550 จำนวน 4 แปลงสัมปทาน 4 แปลงสำรวจ, มติ ครม. 11 ธ.ค. 2550 จำนวน 7 สัมปทาน 10 แปลงสำรวจ และมติ ครม. 18 ธ.ค. 2550 จำนวน 11 สัมปทาน 13 แปลงสำรวจ

และอีกผลงานคือ กรณีแปรรูป ปตท.ที่มูลนิธิผู้บริโภคฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุด เมื่อปี 2550 ก่อนหน้าที่จะมีคำพิพากษาเพียง 3 วัน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในช่วงรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ออก พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 เพื่อมาแก้ไขความไม่ถูกต้องไม่ชอบด้วยกฎหมายของการแปรรูป ปตท. ซึ่งเป็นการเสนอเรื่องขึ้นไปของรมว.กระทรวงพลังงาน ขณะนั้นคือ ดร.ปิยสวัสดิ์ นั่นเอง

ผลงานโบดำที่สั่งสมมา ทำให้ประชาชนไม่ไว้วางใจดร.ปิยสวัสดิ์ เพราะน่าสงสัยว่ากลุ่มปฏิรูปพลังงานฯ ที่ชิงออกมาเปิดตัวต่อสังคมในช่วงการชุมนุมของกปปส. และเคลื่อนไหวทำกิจกรรมอย่างต่อเนื่องในช่วง คสช. ยึดอำนาจบริหารประเทศนี้ เป็นเพียงแค่ฉากบังหน้าที่มีกลุ่มทุนพลังงานเป็นผู้ชักใยอยู่เบื้องหลังเพื่อประกันว่าผลประโยชน์ของกลุ่มทุนพลังงานยักษ์ใหญ่ของชาติและข้ามชาติ จะสามารถสูบเลือดสูบเนื้อคนไทยได้ต่อไปไม่มีปัญหา

คงไม่เกินเลยไปนักถ้าจะกล่าวว่า ชื่อนี้นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาฯ กปปส.เป็นคนส่งเข้าประกวด และปฏิเสธไม่ได้ว่ามีความเกี่ยวพันกับพรรคประชาธิปัตย์ด้วย เนื่องเพราะ “อานิก อัมระนันทน์” ภรรยาของเขาคืออดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อของพรรค พร้อมรั้งตำแหน่งกรรมการสภาที่ปรึกษาอีกด้วย

ส่วน ดร.พรชัย รุจิประภา หนึ่งในแคนดิเดท นั้น หลังจากเจอทางตันที่สภาพัฒน์ ในตำแหน่งรองเลขาธิการฯ แล้วโยกมากินตำแหน่งรองปลัดกระทรวงพลังงานในสมัยรัฐบาลทักษิณ (2548) และขึ้นดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงพลังงาน ในปีถัดมา

ดร.พรชัย เคยนั่งในตำแหน่งประธานบอร์ด ปตท. (2550-2551) สมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ ควบตำแหน่งประธานบอร์ดการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก่อนจำต้องลุกจากเก้าอี้ประธานบอร์ด ปตท. เพราะกฎหมายคุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2550 เหลือเพียงประธานบอร์ด กฟผ. ที่อยู่ต่อยาวนานถึง 7 ปี และถูกบีบเพื่อลุกให้นางอัญชลี ชวนิตย์ อดีตผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) คนสนิทของนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงษ์ไพศาล อดีตรมว.กระทรวงพลังงาน ขึ้นเป็นประธานบอร์ด กฟผ.แทน และล่าสุด นางอัญชลี เพิ่งไขก๊อกลาออกจากประธานบอร์ด กฟผ. แล้ว เมื่อ คสช. ต้องการรื้อบอร์ดรัฐวิสาหกิจใหม่

ประเด็นเรื่องบอร์ดรัฐวิสาหกิจ โดยเฉพาะ ปตท. นั้น ไม่ได้มีแต่เรื่องนักการเมืองส่งคนเข้ามานั่งเป็นบอร์ดเท่านั้น แต่มีการตั้งคำถามจากสังคมอย่างมากด้วยว่า มีผลตอบแทนและสิทธิประโยชน์มากเกินไป รวมทั้งปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้ามาเป็นบอร์ดของปตท.นั้น เวลานี้หลายฝ่ายมีความเห็นค่อนข้างตรงกันว่า ไม่ควรให้ข้าราชการที่มีหน้าที่กำกับดูแลหรือมีอำนาจกำหนดนโยบายที่อาจให้คุณหรือโทษต่อกิจการ ไปเป็นกรรมการในบริษัทมหาชนที่รัฐถือหุ้นอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อแยกการกำกับดูแล การกำหนดนโยบาย และการดูแลผลประโยชน์ของรัฐในฐานะผู้ถือหุ้นออกจากกันอย่างชัดเจน ขณะเดียวกัน ก็ต้องลดค่าตอบแทนและสิทธิประโยชน์อย่างเหมาะสมไม่ให้มากเกินไป

สำหรับสิทธิประโยชน์ของกรรมการปตท. ที่มีอยู่ 15 คน นั้นจะได้รับเบี้ยเลี้ยงเดือนละ 30,000 บาท เบี้ยประชุมเฉพาะกรรมการที่เข้าร่วมประชุมครั้งละ 50,000 บาท โดยจำกัดค่าประชุมไม่เกินปีละ 15 ครั้ง ส่วนประธานกรรมการจะได้รับสูงกว่ากรรมการ 25% โดยในปี 2556 บอร์ด ปตท.ทั้ง 15 คน ได้รับเบี้ยเลี้ยงและค่าตอบแทนรวมประมาณ 51 ล้านบาท สำหรับเบี้ยประชุมในส่วนของบริษัทลูกบางบริษัทจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่า

ค่าตอบแทนของ บมจ.ปตท. เป็นเรื่องที่กระทรวงการคลัง เตรียมรายงานข้อมูลให้ คสช. รับทราบ โดยจะชี้ให้เห็นว่า การจ่ายผลตอบแทนและโบนัสของรัฐวิสาหกิจมี 2 ส่วน ส่วนแรกรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถจ่ายผลตอบแทนและโบนัสได้ไม่มีเพดาน ประกอบด้วย บริษัทท่าอากาศยานไทย บริษัท การบินไทย บริษัท ปตท. และบริษัท อสมท และรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ การจ่ายผลตอบแทนจะมีขั้นบันไดเงินเดือนชัดเจน และการจ่ายโบนัสต้องเป็นตามการประเมินผลงาน ต้องแก้ไขการจ่ายโบนัสให้รัฐวิสาหกิจที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ใช้เกณฑ์การจ่ายโบนัสเดียวกันกับรัฐวิสาหกิจที่ไม่ได้อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

การรื้อบอร์ดปตท.นั้นถือว่ายังเป็นงานจิ๊บๆ หากเทียบกับภารกิจใหญ่ของคสช. ที่ประกาศจะปรับโครงสร้างพลังงานทั้งระบบของประเทศ ซึ่งผูกขาดอยู่ในมือของ ปตท.และเครือ หรือไม่ก็ครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุด

แต่แน่นอนว่า การเปลี่ยนตัวประธานบอร์ด ปตท. ก็เพื่อหนุนให้การปฏิรูปพลังงาน ประสบผลสำเร็จคราวนี้ มิใช่เป็นเพียงแค่สมบัติผลัดกันชม

ล้อมกรอบ

เด้งบอร์ดรัฐวิสาหกิจ ขจัดเส้นสายระบอบทักษิณ

เรียกว่าจัดหนักจัดเต็มทุกเม็ด รีเซ็ตทุกองคพยพที่มีบทบาทต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และที่น่าจับตามองอย่างยิ่งคงหนีไม่พ้น การเข้าไปตรวจสอบการทำงานของ 56 รัฐวิสาหกิจ ตามประกาศิตของ 'บิ๊กตู่' พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะประธานคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ตามด้วยการรีเซ็ตบอร์ดใหม่ในหลายรัฐวิสาหกิจ เพราะหากไม่ได้รับสัญญาณใดๆคงเป็นไปไม่ได้ที่อยู่ๆประธานบอร์ดหลายแห่ง รวมถึงบรรดากรรมการอีกหลายคน จะพากันทิ้งเก้าอี้สละตำแหน่ง ทั้งที่แต่ละแห่งล้วนเป็นแหล่งผลประโยชน์ โดยส่วนใหญ่มักอ้างว่าเพื่อเปิดทางให้ คสช.เข้ามาปฏิรูปการทำงานในองค์กรได้เต็มที แต่หากสืบสาวถึงภูมิหลังกันดีๆจะพบว่าคนเหล่านี้ล้วนมีสายสัมพันธ์กับระบอบทักษิณ

เริ่มจากองค์กรยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงปัญหาด้านธรรมภิบาลอย่างรุนแรงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อย่าง บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ซึ่ง นายปานปรีย์ พหิทธานุกร (อดีตรองหัวหน้า) ได้ยื่นจดหมายลาออกจากตำแหน่งประธานบอร์ด ปตท. เป็นคนแรก ตามมาติดๆด้วยกรรมการอิสระอีก 2 คน คือ นายวรุณเทพ วัชราภรณ์ และนายอรรถพล ใหญ่สว่าง ตามด้วยหน่วยงานที่ได้ชื่อว่าเป็นแดนสนธยา เพราะถูกครอบงำด้วยอำนาจการเมืองต่อเนื่องกันมาทุกยุคทุกสมัย อย่าง บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ซึ่งปรากฎภาพนักการเมืองในระบอบทักษิณ ที่ยื่นใบลาออกจากการเป็นบอร์ด อสมท พร้อมกันถึง 3 คน ได้แก่ นายสุธรรม แสงประทุม , นายจักรพันธุ์ ยมจินดา และนายธงทอง จันทรางศุ นอกจากนั้นยังมี พล.ต.อ.กฤษณะ ผลอนันต์ ที่ตัดสินใจสละเก้าอี้บอร์ด อสมท.เช่นกัน

อีกหน่วยงานที่สร้างความฮือฮาไม่น้อยคือการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นางอัญชลี ชวนิชย์ ซึ่งยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งประธาน บอร์ด กฟผ. แบบสายฟ้าแลบ แม้เจ้าตัวจะยืนยันว่าไม่ได้ลาออกเพราะถูกกดดันแต่หากดูจากสายสัมพันธ์แล้วก็ไม่รู้จะนั่งอยู่เป็นบอร์ดให้เสียวสันหลังทำไม เพราะในวงการต่างรู้กันดีว่านางอัญชลีนั้นเป็นเด็กของ 'เฮียเพ้ง'นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล จากพรรคเพื่อไทย ที่ถูกแต่งตั้งสอดใส้ให้มานั่งเป็น ประธาน บอร์ด กฟผ. ในช่วงที่เฮียเพ้งเป็น รมว.พลังงาน

ขณะที่ด้านการไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นั้นก็มีการยื่นใบลาออกของ ประธานบอร์ด รฟม. คือ นางสาวรัชนี ตรีพิพัฒน์กุล เช่นกัน แต่สาเหตุนั้นต่างออกไป เพราะงานนี้สาเหตุที่ประธานบอร์ดต้องยอมสละเก้าอี้ก็เพราะถูกสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) รวมตัวกันกดดันขับไล่จนเจ้าตัวต้องตัดสินใจลาออกในที่สุด

ยังไม่นับรวม บอร์ดรัฐวิสาหกิจที่ได้ลาออกไปก่อนหน้านี้ซึ่งก็ล้วนแล้วแต่เป็นคนในระบอบทักษิณทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น นายศิธา ทิวารี อดีตโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในสมัยนายกฯทักษิณ ได้ลาออกจากประธานบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) , พล.ต.ต.อรรถกฤษณ์ ธารีฉัตร คนสนิทของ นช.ทักษิณ ก็ลาออกจากตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล , นายธานินทร์ อังสุวรังษี ซึ่งนอกจากจะเคยเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) แล้วยังเป็นมือการเงินของทักษิณมาแต่อ้อนแต่ออกงานนี้จึงจำใจต้องลาออกจากตำแหน่งกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ ก่อนที่จะโนตรวจสอบ

ขณะที่ นายวรวิทย์ จำปีรัตน์ อดีตปลัดสำนักงบประมาณ ข้าราชการในระบอบทักษิณ ก็ตัดใจลาออกจากตำแหน่ง ประธานธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เช่นกัน


ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์
 ดร.พรชัย รุจิประภา
นายปานปรีย์ พหิทธานุกร อดีตรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ที่เพิ่งลาออกจากตำแหน่งประธานบอร์ด ปตท.
กำลังโหลดความคิดเห็น