xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

รื้อ 8 โครงการ “ฝันอร่อย” “รฟท.-ทอท.” อ่วม “กสทช.” กระอัก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) แต่งตั้ง “พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์” ปลัดบัญชีทหารบก เป็นประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) โดยสามารถใช้อำนาจตรวจสอบได้ทุกโครงการ

เวลาผ่านไปร่วม 1 เดือน เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2557 ที่ผ่านมาคตร.ก็ได้นำเสนอข้อมูลโครงการที่มีปัญหาในเรื่องของการใช้งบประมาณและส่อไปในทางทุจริตออกมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว 8 โครงการด้วยกัน ได้แก่

1. โครงการจัดหารถรุ่นใหม่สำหรับบริการเชิงพาณิชย์ จำนวน 115 คันของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)

2. โครงการจัดหารถจักร จำนวน 126 คันของ ร.ฟ.ท.

3.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 (ปี พ.ศ. 2554-2560) ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.)

4. โครงการจ้างให้บริการระบบตรวจสอบและคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้าของ ทอท.

5. กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานของสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน

6. โครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ของกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

7. โครงการสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)

และ 8.โครงการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลของ กสทช.

ทั้ง 8 โครงการมีรายละเอียดการดำเนินงานอย่างไร และทำไมถึงมีปัญหา นี่คือสิ่งที่สังคมใคร่รู้

โครงการจัดหารถรุ่นใหม่สำหรับบริการเชิงพาณิชย์ จำนวน 115 คัน ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

โครงการนี้ ถือเป็นหนึ่งในแผนงานตามโครงการการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ ตามร่างพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) กู้เงินประจำปีงบประมาณ 2556 จำนวน 45,862 ล้านบาท โดย รฟท.ได้เปิดประมูลผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (อีอ๊อกชั่น) ซึ่งขณะนี้อัยการได้ตรวจร่างสัญญาและส่งกลับมาให้ร.ฟ.ท.แล้ว และรอการตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เสนอราคา เพื่อลงนามสัญญา

โครงการจัดหารถจักร จำนวน 126 คันของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

รฟท.อยู่ระหว่างดำเนินการ โดยขณะนี้เพิ่งเซ็นสัญญาการจัดซื้อหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าน้ำหนักกดเพลา 20 ตันต่อเพลา จำนวน 20 คัน พร้อมอะไหล่ วงเงิน 2,130 ล้านบาท ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม เมื่อเดือนมิถุนายน 2557 โดยลงนามกับบริษัท ป่าไม้สันติ จำกัด และเริ่มทยอยรับหัวรถจักรรอบแรก 1 - 2 หัว ในเดือนกรกฎาคม 2557 จนถึงสิ้นปี เพื่อนำไปใช้บริการรับขนสินค้า ส่วนโครงการที่เหลือจะมีการประกวดราคาจัดซื้อหัวรถจักรดีเซลไฟฟ้าพร้อมอะไหล่ทดแทน GE จำนวน 50 คัน วงเงิน 6,562 ล้านบาท เปิดประกวดราคาวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ (อี-ออกชั่น) ก่อนหน้านี้เคยเปิดประมูลไปแล้วแต่มีร้องเรียนเรื่องล็อกสเปก ล่าสุด เตรียมขายเอกสารประกวดราคา ซึ่ง คตร.เห็นว่าอาจจะมีการปรับราคากลาง และทำทีโออาร์ให้โปร่งใสมากขึ้น

โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเฟส 2 (ปี 2554 - 2560) ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.)

โครงการดังกล่าวมีวงเงินลงทุน 62,503.214 ล้านบาท ตามแผนโดยในช่วงแรกจะใช้เงินทุนของทอท.โดยปี 2557 ประมาณ 1,300 ล้านบาท ปี 2558 ประมาณ 6,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างวิเคราะห์แหล่งเงินทุนที่เหมาะสม โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มงานคือ กลุ่มงานอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (มิดฟิลด์คองคอร์ด) งานส่วนต่อเชื่อมอุโมงค์ด้านทิศใต้ และระบบขนส่งผู้โดยสาร (Automated People Mover ; APM)กลุ่มงานอาคารผู้โดยสารและก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค โดยจะเพิ่มขีดความสามารถรองรับผู้โดยสารได้ 60 ล้านคนต่อปี จากเดิม 45 ล้านคนต่อปี

โดยทอท.ได้ดำเนินการว่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบเรียบร้อยแล้ว ดำเนินการว่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงาน (PMC) เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำร่างทีโออาร์เพื่อประกวดราคา ว่าจ้างที่ปรึกษาควบคุมงานก่อสร้าง(CSC) และ จัดทำร่างทีโออาร์ ประกวดราคา ว่าจ้างผู้รับเหมาก่อสร้าง ซึ่งการดำเนินงานมีความล่าช้ากว่าแผนแล้วประมาณ 2-3 เดือน

โครงการจ้างให้บริการระบบตรวจสอบ และคัดกรองผู้โดยสารล่วงหน้าของ ทอท.

เป็นโครงการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการก่อการร้ายที่เป็นจุดอ่อนของประเทศ รวมถึงแก้ไขสภาพความคับคั่งของการตรวจสอบผู้โดยสารของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) อย่างไรก็ดีโครงการดังกล่าวถูกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ส่งหนังสือถึง ทอท. ระบุว่า มีข้อพิรุธในโครงการนี้ โดยเฉพาะประเด็นไม่มีการกำหนดเงื่อนไขหลักประกันซองประกวดราคา หรือการกำหนดราคากลาง พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า หาก ทอท.ดำเนินการประมูลไปแล้วเกิดความผิดพลาดจะต้องรับผิดชอบหากเกิดความเสียหาย

กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ของสำนักนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน

กองทุนนี้ถูกจัดตั้งขึ้นภายใต้พระราชบัญญัติการส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานพ.ศ.2535 เพื่อเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมให้เกิดการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพโดยให้ใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและช่วยเหลืองานหรือโครงการที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงาน การค้นคว้า วิจัย การศึกษาเกี่ยวกับพลังงาน ซึ่งรายได้ของกองทุนฯมาจากการกำหนดอัตราเงินนำส่งน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิด จำนวน 0.07-0.25 บาทต่อลิตรหรือทำให้มีรายได้ในปัจจุบันกว่า 12,000 ล้านบาทต่อปี

ทั้งนี้งบประมาณรายจ่ายแต่ละปีที่ผ่านมาเฉลี่ยมีการอนุมัติเริ่มต้น 2,000- 3,000 กว่าล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2550 แต่หลังจากนั้นก็ขยับเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องจนในปี 2557 มีการอนุมัติส่งเสริมทั้งสิ้นในสมัยนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล เป็นรมว.พลังงานรวม 104 โครงการจำนวน 6,524 ล้านบาทเพื่อดำเนินงานภายใต้ 3 แผนงานได้แก่ แผนเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน แผนพลังงานทดแทนและแผนบริหารทางกลยุทธ์ โดยตั้งเป้าหมายที่จะประหยัดพลังงานได้ไม่น้อยกว่า 145.98 พันตันเทียบเท่าน้ำมันดิบคิดเป็นมูลค่าเงินที่จะประหยัดได้ 3,649.5 ล้านบาทต่อปี

การดำเนินงานตลอดระยะเวลา 21 ปีที่ผ่านมาไม่มีข้อพิสูจน์ใดๆ ที่พิสูจน์ให้เห็นถึงผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้รับจากกองทุนอนุรักษ์ฯ เนื่องจากการให้การส่งเสริมฯการวิจัย การพัฒนา ฯลฯ ก็ยังพบว่าไม่ได้มีการนำมาต่อยอดเทคโนโลยีแต่อย่างใด ขณะที่แผนงานประชาสัมพันธ์ก็มุ่งเน้นการจัดอีเว้นต์

การซื้อสื่อแต่กลับไม่สามารถชี้ชัดว่าสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมคนไทยให้รู้จักประหยัดได้ชัดเจนเพราะการใช้น้ำมันยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกปี ซึ่งทั้งหมดล้วนเกิดจากการบริหารจัดการที่ได้มุ่งเน้นผลลัพธ์และการกำหนดประสิทธิภาพของโครงการ แต่เหนือสิ่งอื่นใดกองทุนอนุรักษ์ฯตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากลับเป็นเครื่องมือหลักแบบเงียบๆให้ข้าราชการประจำ และนักการเมืองที่รู้ช่องทางมาแสวงหากำไรในส่วนนี้ โดยนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงมีอิทธิพลในการกำหนดกรอบวงเงินที่จะอนุมัติในแต่ละปี และลักษณะโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุน และมีบริษัท “ขาประจำ” ที่เกาะกินอยู่กับกองทุนฯดังกล่าวปีแล้วปีเล่า ด้วยการริเริ่มโครงการ ขอทุนจากกองทุนฯ และใช้เส้นสายกลุ่มข้าราชการที่ทำงานร่วมกันเพื่อให้เกิดการอนุมัติโครงการ โดยมีธรรมเนียมตอบแทนผลประโยชน์ให้แก่ข้าราชการหรือนักการเมืองทั้งในรูปแบบเงินสด การจัดทริปไปเที่ยวต่างประเทศ เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ทำให้การเปิดเผยข้อมูลให้ต่อสาธารณะตลอดเวลาที่ผ่านมาจึงมีน้อยมากไม่ว่าจะเปิดเผยผลการดำเนินงาน รายชื่อโครงการต่างๆ ที่ได้รับอนุมัติที่ครบถ้วนและสมบูรณ์ ไม่มีการนำผลการศึกษามาชี้แจงให้เห็นถึงการดำเนินงานตามเป้าหมายหรือไม่ ฯลฯ ซึ่งทำให้เกิดคำถามต่อมาว่า กองทุนฯนี้ยังคงสมควรจะคงมีไว้หรือไม่หรือนักวิชาการบางคนเคยเสนอให้นำเงินที่สะสมนี้ไปสร้างรถไฟฟ้าเพื่อลดใช้พลังงานจะดีกว่า ประเด็นเหล่านี้”คสช.”น่าจะมีคำตอบในการปฏิรูปอยู่แล้ว
   
โครงการจัดการเรียนการสอนโดยใช้คอมพิวเตอร์พกพา (แท็บเล็ต) ของกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

เป็นการจัดซื้อแท็บเล็ตให้กับนักเรียน อย่างไรก็ดีโครงการดังกล่าวพบพิรุธหลายประการ เช่น กรณีบริษัท เซิ่นเจิ้น อิงถัง อิเทลลิเจ้นท์ คอนโทรล จำกัด ที่ชนะการประมูลจัดซื้อแท็บเล็ตชั้นป.1 และม.1 โซนภาคกลางและภาคใต้ ได้ทำหนังสือแจ้งขอยกเลิกสัญญา จนกระทั่งมอบของล่าช้า และถูกเรียกค่าปรับ เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมไปถึงเรื่องสเปกของแท็บเล็ต และกระบวนการตรวจรับแท็บเล็ตอีกด้วย และกระทรวงศึกษาธิการมีความเห็นแล้วให้ยกเลิกเสนอต่อ คสช.เรียบร้อยแล้ว (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในอวสาน...”แท็บเล็ต” ประชานิยมจอมปลอม)

โครงการสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)

สำหรับโครงการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G ย่านความถี่ 1900 MHz ของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เฟส 1 ที่มีมูลค่าโครงการ 15,999 ล้านบาท ได้เปิดประมูลไปเมื่อปี 2554 แต่เพิ่งติดตั้งสถานีฐานครบ 5,320 แห่งเมื่อต้นปี 2557 ที่ผ่านมา ได้กลับมาเป็นประเด็นร้อนอีกครั้งภายหลังเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)โดยคณะอนุกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้งบประมาณภาครัฐ(คตร.)เข้าตรวจสอบโครงการดังกล่าวเนื่องจากเป็นโครงการที่มีการร้องเรียนไปยังสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ประเด็นเรื่องการประกวดราคาและเป็นโครงการที่มีรายได้ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน

โครงการ 3G ทีโอที นั้นแม้จะผ่านด่านประมูลมาได้ แต่ก็เริ่มมีปัญหามาตั้งแต่การติดตั้งสถานีฐานเฟส 1 จำนวน 5,320 สถานีฐาน ที่ล่าช้ามากโดยสาเหตุหลักมาจากปัญหาเรื่องของการติดตั้งสถานีฐานภายในอาคาร และการใช้สถานีฐานร่วมกับเอกชน (โคไซต์) รวมทั้งประเด็นของสัญญาที่ระบุให้ทีโอทีต้องเป็นผู้จัดหาสถานที่ในการติดตั้งสถานีฐาน

รวมทั้งประเด็นการเปิดให้เอกชนมาเป็นผู้ทำตลาดในลักษณะ MVNO โดยเบื้องต้นมีเพียงกลุ่มสามารถคอร์ปอเรชั่น ที่ผ่านการคัดเลือก และผ่านความเห็นชอบจากอัยการสูงสุดแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถเซ็นสัญญาฉบับใหม่ได้ เนื่องจากสัญญาดังกล่าวพบว่ามีการผูกปมด้านเทคนิคทำให้ทีโอทีต้องซื้ออุปกรณ์เพิ่มกว่า 1,000 ล้านบาท และยังมัดมือจำกัดสิทธิด้านความถี่ไม่สามารถพัฒนาระบบไป 4G LTE ได้ จนต้องมีการแก้ไขปรับปรุงหลายครั้ง

ทีโอทียังมีการทำสัญญาการใช้บริการข้ามโครงข่ายมือถือภายในประเทศ (โรมมิ่ง) กับเอไอเอส จำนวน 1 ล้านเลขหมายโดยเอไอเอสได้เสนอขอโรมมิ่งเพิ่มเติมกับบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) ผู้ได้รับใบอนุญาตให้บริการคลื่นความถี่ 2.1 GHz โดยไม่ระบุจำนวนเลขหมาย แต่ระบุจำนวนโครงข่ายหรือจำนวนคลื่นความถี่ และสัญญาการเช่าใช้ไวไฟ ระหว่างทีโอทีกับบริษัท แอดวานซ์ โมบาย บรอดแบนด์

ส่วนโครงการ 3G เฟส 2 ของทีโอที ตอนแรกตั้งใจจะลงทุนเองในการขยายสถานีฐานเพิ่มอีกราว 9,000 สถานีฐาน ด้วยงบประมาณ30,000 ล้านบาท แต่มีการปรับแผนให้ เอไอเอส เช่าใช้โครงข่ายบนความถี่ 1900 MHz จำนวนความถี่ 15MHz ของทีโอที และการร่วมกันใช้สถานีฐานทีโอทีจำนวน 5,320 สถานีฐาน รวมถึงสถานีฐานของเอไอเอสอีกประมาณ 15,000 สถานีฐาน แต่แผนนี้ไม่ทันเวลาเพราะยุบสภาก่อนจึงไม่สามารถเสนอให้ครม.อนุมัติได้ ทีโอทีจึงปรับแผนใหม่ เปลี่ยนเป็น เปิดให้ เอไอเอสเข้ามาเช่าใช้ความถี่จำนวน 5 MHz โดยทดลองให้บริการ 4G แทน

ปัญหาสำคัญของโครงการ 3G ทีโอที คือจะเลิกหรือทำต่อ และถ้าทำต่อต้องทำภายใต้แผนการเช่นไร ซึ่งคาดว่าต้องหาเอกชนมาเป็นพันธมิตร แต่ด้วยวิธีการแบบไหน ถึงจะอยู่ในภาวะชนะทั้งคู่ ไม่ใช่ถูกเอกชนเอาเปรียบ หรือ เป็นการยกคลื่นความถี่ที่มีมูลค่ามหาศาลให้เอกชนไปง่ายๆ โดยเฉพาะสิ่งสำคัญที่สุดคือต้องไล่บอร์ดทีโอทีออกยกชุดเพราะที่ผ่านมากรรมการบอร์ดมักเป็นตัวแทนจากกลุ่มทุนการเมืองมานั่งทะเลาะกันในบอร์ดเพื่อแสวงหาประโยชน์ให้กลุ่มทุนของพวกพ้องยกเว้นทีโอทีมาโดยตลอด

โครงการ 3G ทีโอที ปัจจุบันภายใต้การทำตลาดของ MVNO เดิมมีผู้ใช้บริการประมาณ 5 แสนราย จากความจุของโครงข่าย 3G ทั้งหมด 7.5 ล้านเลขหมาย
    
โครงการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลของ กสทช.

โครงการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านทีวีจากระบบอนาล็อกเป็นระบบดิจิตอลด้วยการแจกคูปองแก่ประชน มูลค่า 25,000 ล้านบาท ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ถูกคำสั่งคสช.ให้ชะลอไปก่อนเพื่อตรวจสอบความโปร่งใสและรายละเอียดของโครงการหลังจากที่ผ่านมามีความขัดแย้งในประเด็นสำคัญ 2 เรื่องคือ มูลค่าของคูปอง และ เงื่อนไขการนำคูปองไปใช้แลก

โดยมูลค่าคูปอง1,000 บาทต่อครัวเรือน ที่กสทช.เห็นว่าเหมาะสมเพราะมีข้อมูลยืนยันว่าราคากล่องรับสัญญาณอยู่ที่ราคา 1,019 บาท ในขณะที่คณะกรรมการองค์กรการอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนมองว่า ราคาดังกล่าวสูงเกินจริงเพราะราคาที่ตรวจสอบได้อยู่ที่ 512 บาทซึ่งเป็นราคาที่รวมกำไรด้วยเท่านั้น โดยได้ยื่นข้อมูลทั้งหมดให้คณะกรรมการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เพื่อพิจารณา พร้อมทั้งขู่ว่า หากยืนยันที่จะมีการแจกคูปองมูลค่า 1,000 บาท ก็จะยื่นเรื่องให้ป.ป.ช. พิจารณาดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

ส่วนในเรื่องของเงื่อนไขการนำคูปองไปแลกซื้อ ที่กสทช.คิดจะเหวี่ยงแหให้นำไปแลกซื้อได้หมดไม่ว่าจะเป็นกล่องอะไร ทำให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ที่เสียเงินประมูลจำนวนมากเพื่อให้ได้ใบอนุญาตจากกสทช. และตัวแทนจำนวน 12 ช่อง ประกอบไปด้วย เครือเนชั่น 2 ช่อง ,อสมท 2 ช่อง ,ไทยทีวี (ทีวีพูล) 2 ช่อง , สปริงนิวส์ทีวี ,พีพีทีวี ,อมรินทร์ทีวี ,โมโน 29 , ไบรท์ทีวี และวอยซ์ทีวี ได้ยื่นหนังสือ ไม่เห็นด้วยที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กำหนดให้คูปองสามารถนำไปแลกซื้ออุปกรณ์กล่องรับสัญญาณดาวเทียม (DVB-S2) และกล่องเคเบิล (DVB-C) ได้ เนื่องจากคูปองสนับสนุนดังกล่าวเป็นเงินที่ได้จากการประมูลทีวีดิจิตอล

ดังนั้นจึงเห็นว่าควรนำมาสนับสนุนการรับชมทีวีดิจิตอลภาคพื้นดินอย่างเดียว จะตรงวัตถุประสงค์มากกว่า ด้วยการนำคูปองไปแลกซื้อโทรทัศน์ที่มาพร้อมระบบดิจิตอล (iDTV) และกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ดิจิตอลภาคพื้นดิน (DVB-T2) เท่านั้น

อีกประเด็นที่ถือเป็นปัญหาคือเรื่องของกรอบเวลาการแจกคูปองให้กับประชาชน ที่ยังไม่เป็นที่แน่นอนทำให้ประธานชมรมผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลทั้ง 24 ราย และสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์เข้ายื่นหนังสือต่อกทปส. เพื่อต้องการให้กสทช. และกทปส.มีความชัดเจนเรื่องกล่องโดยเร็วเพราะหากการแจกคูปองล่าช้าออกไปอีกผู้ประกอบการทั้ง 24 ช่องก็จะทำธุรกิจด้วยความยากลำบาก ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องการเห็นการแจกคูปองภายในเดือน ก.ค.นี้ แต่ในฝั่งที่เห็นตรงกันข้ามกลับต้องการให้นำเรื่องการแจกคูปองสนับสนุนดังกล่าวนำไปเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ(ประชาพิจารณ์) ก่อน

ปัญหาของคูปองทีวีดิจิตอล คือ ต้องสรุปเรื่องราคาและเงื่อนไขที่นำไปใช้ให้ชัดเจน ถูกต้อง และเป็นธรรม ในกระบวนการทำธุรกิจจริง ที่จะเกิดขึ้นได้ ไม่ใช่เชื่อแต่ข้อมูลบนแผ่นกระดาษเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่แค่เพียง 8 โครงการดังที่ปรากฏชื่อเท่านั้น “พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์” ปลัดบัญชีทหารบก ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ยังได้ระบุด้วยว่า ได้รายงานผลการตรวจสอบโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐที่มีวงเงินลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท จำนวน 28 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 40,000 ล้านบาท ให้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รับทราบเมื่อวันที่ 17 มิ.ย.ที่ผ่านมา รับทราบ โดยได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่รับผิดชอบกลับไปทบทวนความเหมาะสมของโครงการ ทั้งเรื่องของแผนงาน การประกวดราคา และราคากลาง จากนั้นจึงเสนอให้คตร.พิจารณา ภายในสิ้นเดือนมิถุนายน

“ทั้ง 28 โครงการ เป็นโครงการที่ได้รับการจัดสรรงบประมาณตามรายจ่ายงบประมาณประจำปี 57 และทำไว้ต่อเนื่องและได้รับการจัดสรรงบมาแล้วแต่ยังไม่ได้ดำเนินการ จึงต้องให้คตร.มาตรวจสอบว่า แต่ละโครงการเหมาะสมที่จะทำต่อ หรือยกเลิก และทบทวนวงเงิน ราคากลางเป็นหลัก โดยตอนนี้มีโครงการที่เข้าข่ายต้องยกเลิกแล้ว 2 โครงการของกรมชลประทาน เป็นการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ซึ่งจะต้องมาดูว่า เป็นโครงการที่เหมาะสมและเป็น ประโยชน์กับประชาชนหรือไม่” พล.ท.อนันตพร กล่าว

ที่น่าสนใจก็คือ นอกจากโครงการดังกล่าวแล้ว ดูเหมือนว่า คสช.จะพุ่งเป้าไปที่ กสทช.เป็นพิเศษ โดยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ส่งหนังสือตอบกลับมายังสำนักงาน กสทช. โดยให้ สำนักงาน กสทช.ชะลอการดำเนินโครงการทั้ง 4 โครงการเป็นการชั่วคราวก่อนเพื่อความโปร่งใส จนกว่าจะมีการสอบรายละเอียดทั้ง 4 เรื่อง ได้แก่

1. โครงการจัดประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาตที่มีราคาตั้งต้นการประมูลที่ใบอนุญาตละ 11,600 ล้านบาท 2.โครงการจัดประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 900 MHzจำนวน 2 ใบอนุญาต ที่มีราคาตั้งต้นการประมูลที่ 11,260 ล้านบาท และ 8,445 ล้านบาท3.โครงการสนับสนุนช่วยเหลือการเปลี่ยนผ่านทีวีจากระบบอนาล็อกเป็น ระบบดิจิตอลด้วยการแจกคูปองแก่ประชาชนมูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท และ4.โครงการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) ที่มีมูลค่าโครงการรวม 2.4 หมื่นล้านบาท ภายหลังจากเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมาสำนักงาน กสทช.ได้ส่งรายละเอียดการดำเนินการทั้ง 4 โครงการตามคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)

อีกทั้งคสช.ยังระบุให้กสทช.ปรับปรุงโครงสร้าง และจัดทำเป็นข้อบังคับ ข้อกฎหมาย และการใช้จ่ายงบประมาณให้ชัดเจน ให้ได้รับความไว้วางใจ และเกิดประโยชน์กับรัฐอย่างเต็มที่ เพื่อคลายความวิตกกังวลสังสัยจากประชาชนให้ได้ก่อน จึงจะดำเนินการต่อไป พร้อมกันนี้ คสช.และคณะทำงานกฎหมาย ที่มี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา เป็นประธานคณะทำงานจะนำระเบียบในปัจจุบัน ของ กสทช.มาพิจารณาอย่างเร่งด่วนอีกด้วย

งานนี้ กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานใดกำลัง “ฝันอร่อย” เห็นทีจะ “ฝันค้าง” กันเป็นที่แน่แท้




กำลังโหลดความคิดเห็น