xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ถึงเวลาปฏิรูป “กสทช.”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เวลานี้ การทำหน้าที่ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงการปฏิบัติหน้าที่ไม่คุ้มกับเงินเดือนกว่าแสนบาทที่ได้รับหรือไม่

คณะกรรมการ กสทช.ทั้ง 11 คนประกอบด้วย

1. พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี ประธาน กสทช.
2. พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช.
3. พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช.
4. รศ.ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์
5. พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร
6. พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ
7. พันตำรวจเอก ทวีศักดิ์ งามสง่า
8. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์
9. ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ
10. น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์
 11.นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา

ทั้งนี้ เนื่องจากในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ได้ปรากฏข้อมูลสำคัญที่สังคมยังไม่รู้เกี่ยวกับ กสทช.ปรากฏออกมาให้เห็นเป็นระยะๆ จนเกิดคำถามตามมาว่า การมี กสทช.นั้นก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติจริงหรือไม่

ตัวอย่างที่ชัดเจนก็คือ กรณีของ “ที่ปรึกษา” ของคณะกรรมการ กสทช.ที่มีมากถึง 31 คน และแต่ละคนก็ได้รับเงินเดือนสูงลิ่วถึง 1-1.2 แสนบาท หรือรวมแล้วต้องใช้เงินภาษีอากรเป็นค่าตอบแทนให้ที่ปรึกษาถึง 3,630,000 บาท ต่อเดือนกันเลยทีเดียว มีเพียง “นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา” คนเดียวเท่านั้นที่ไม่ได้แต่งตั้งใครมาเป็นที่ปรึกษา

นอกจากนี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ยังได้มีคำสั่งให้ กสทช.ชะลอการดำเนินโครงการทั้ง 4 โครงการเป็นการชั่วคราวก่อนเพื่อความโปร่งใส จนกว่าจะมีการสอบรายละเอียดทั้ง 4 เรื่อง ได้แก่

1.โครงการจัดประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาตที่มีราคาตั้งต้นการประมูลที่ใบอนุญาตละ 11,600 ล้านบาท 2.โครงการจัดประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 900 MHzจำนวน 2 ใบอนุญาต ที่มีราคาตั้งต้นการประมูลที่ 11,260 ล้านบาท และ 8,445 ล้านบาท 3.โครงการสนับสนุนช่วยเหลือการเปลี่ยนผ่านทีวีจากระบบอนาล็อกเป็น ระบบดิจิตอลด้วยการแจกคูปองแก่ประชาชนมูลค่า 2.5 หมื่นล้านบาท และ4.โครงการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม (USO) ที่มีมูลค่าโครงการรวม 2.4 หมื่นล้านบาท

รวมถึงให้ กสทช.ปรับปรุงโครงสร้าง และจัดทำเป็นข้อบังคับ ข้อกฎหมาย และการใช้จ่ายงบประมาณให้ชัดเจน ให้ได้รับความไว้วางใจ และเกิดประโยชน์กับรัฐอย่างเต็มที่ เพื่อคลายความวิตกกังวลสงสัยจากประชาชนให้ได้ก่อน จึงจะดำเนินการต่อไป พร้อมกันนี้ คสช.และคณะทำงานกฎหมาย ที่มี พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา เป็นประธานคณะทำงานจะนำระเบียบในปัจจุบัน ของ กสทช.มาพิจารณาอย่างเร่งด่วนอีกด้วย

นั่นแสดงว่า คสช.เห็นข้อมูลอะไรบางประการในหน่วยงานแห่งนี้ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากข้อมูลก็มีความเป็นไปได้ว่าน่าจะมีที่มาจากหนังสือที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ทำถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ทั้งนี้ สำนักข่าวอิศรา ได้นำเสนอรายละเอียดของหนังสือดังกล่าวไว้ว่า จากการพิจารณา พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พบว่า ประเด็นหลักที่ทำให้การดำเนินงานและการใช้จ่ายเงินของสำนักงาน กสทช. ยังคงมีปัญหาในเรื่องการดำเนินงานและการใช้จ่ายเงินไม่ได้ประสิทธิภาพตามเจตจำนงแห่งรัฐธรรมนูญ กล่าวคือ

หนึ่ง การบริหารการใช้จ่ายเงินรายได้ที่จัดเก็บมีความเป็นอิสระแตกต่างจากองค์กรของรัฐทุกประเภท โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการงบประมาณตามกฎหมายว่าด้วยการเงินการคลังของรัฐ ซึ่งอาจขัดแย้งไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฯ จนอาจทำให้เกิดการใช้จ่ายเงินไม่มีประสิทธิภาพได้ ดังนั้น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจึงเห็นว่า ควรมีการพิจารณาข้อกำหนดใน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินที่ต้องผ่านขั้นตอนเหมือนกับหน่วยงานของรัฐโดยทั่วไป เพื่อทำให้การใช้จ่ายเงินมีความรอบคอบ รัดกุมและเกิดประสิทธิผลมากที่สุด

สอง รายได้ที่ได้จากทรัพยากรของชาติ ซึ่งถือเป็นทรัพยากรของประชาชนชาวไทยทุกคนถูกกำหนดให้มีกลุ่มบุคคลทำการบริหารการใช้จ่าย โดยมิได้พิจารณาถึงความเหมาะสม อย่างเพียงพอและไม่มีการสอบทานการตั้งงบประมาณการใช้จ่ายจากองค์กรที่มีบุคลากรซึ่งมีความรู้และความชำนาญ เพื่อให้การใช้จ่ายเงินเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลอย่างมากที่สุด

กล่าวได้ว่า ตามพ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ กสทช.ต้องนำเงินที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ส่งเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกสทช. โดยภายในปี 2556 กสทช.มีรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ เป็นจำนวนเงินถึง 50,862.00ล้านบาท ซึ่งอันที่จริงตามพ.ร.บ.จัดสรรคลื่นความถี่ ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า เงินที่ได้จากการประมูลเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้วให้นำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน

ทั้งนี้ ข้อมูลจากหนังสือสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินยังระบุอีกว่า เมื่อติดตาม ตรวจสอบรายได้ที่กองทุนวิจัยและพัฒนาฯได้รับ พบว่า นอกจากจะได้รับเงินจากการประมูลคลื่นความถี่ของกสทช.แล้ว ยังได้ออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจัดเก็บรายได้เพื่อนำไปใช้ในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐาน อีกทั้งยังระบุให้ผู้รับอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมต้องจัดสรรรายได้จากการให้บริการโทรคมนาคมให้แก่กองทุนในอัตราร้อยละ 3.75 ต่อปีของรายได้สุทธิ แต่ในปัจจุบันยังไม่มีการกำหนดหลักเกณฑ์การเรียกเก็บจากกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์

ส่วนสำนักงาน กสทช. จะมีรายได้ส่วนหนึ่งมาจากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม โดยให้ชำระเป็นรายปี ปีละไม่เกินร้อยละสองของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายของผู้รับใบอนุญาต สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินจึงเห็นว่าควรให้สำนักงาน กสทช. นำส่งเงินรายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ จำนวน 50,862.00 ล้านบาท เป็นรายแผ่นดิน และเมื่อมีโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนก็ให้เสนอโครงการเพื่อขอรับการจัดสรรเงินต่อไป

สาม คุณสมบัติและการได้มาซึ่งกรรมการกสทช. เลขาธิการกสทช.และคณะกรรมการติดตามประเมินผลปฏิบัติงาน โดยคุณสมบัติ ตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 7 ก. กำหนดคุณสมบัติเกี่ยวกับอายุไว้ว่า ผู้ที่จะเป็นกรรมการใน กสทช. และเลขาธิการ กสทช. ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่าสามสิบห้าปี บริบูรณ์ แต่ไม่เกินเจ็ดสิบปีบริบูรณ์ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรตามรัฐธรรมนูญอื่นพบว่า คุณสมบัติที่เกี่ยวกับอายุโดยทั่วไปจะไม่ต่ำกว่าสี่สิบห้าปี ส่วนคุณสมบัติที่เกี่ยวกับอายุของคณะกรรมการติดตามและประเมินผลฯ ไม่มีการระบุไว้ใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินเห็นว่า การกำหนดอายุของผู้เป็นกรรมการใน กสทช. และเลขาธิการ กสทช. อาจไม่เหมาะสมในเรื่องวัยวุฒิและวุฒิภาวะในการเข้ามาดูแลทรัพยากรของชาติที่มีมูลค่ามหาศาลและมีความสำคัญในเรื่องเกี่ยวกับการสื่อสารและความมั่นคงของประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาในเรื่องของสถานีโทรทัศน์ที่ออกอากาศผ่านระบบดาวเทียมและวิทยุชุมชนที่ยังคงถูกดองเอาไว้อย่างไร้คำตอบว่า จะได้ออกอากาศเมื่อไหร่ หรือมีแนวทางในการจัดการอย่างไร

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2557กลุ่มผู้ประกอบอาชีพวิทยุและทีวีดาวเทียมกว่า 200 ช่อง นำโดยนาย สมบูรณ์ ทองบุราณ ผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์ช่อง 13 สยามไทย ได้รวมตัวกันเข้ายื่นหนังสือถึงคสช.โดยกล่าวว่า กสทช.เป็นองค์กรที่ทำงานล่าช้า และกำลังได้รับผลกระทบในเรื่องค่าจ้างพนักงาน รวมถึงรายได้จากการโฆษณาที่ถูกเลิกจ้าง

“ ที่ผ่านมาผู้ประกอบการโทรทัศน์ดาวเทียมได้ดำเนินการตามเงื่อนไข ของ กสทช. มาตลอด ซึ่งเมื่อวันที่ 11 มิ.ย. ก็ได้เข้าไปรับทราบแนวทางการปฏิบัติ และอบรมทำความเข้าใจ พร้อมทั้งส่งเทปบันทึกภาพรายการทั้งหมด ระหว่างวันที่ 14 - 21 พ.ค. ย้อนหลังตามที่ กสทช. ขอตรวจสอบเทปเพื่อตรวจดูเนื้อหาของโฆษณาต่างๆ ว่า ผิด อย. สคบ. หรือไม่ แต่การทำงานของ กสทช. ยังคงล่าช้า วันนี้จึงมาเรียกร้องและขอให้ คสช. ดำเนินการสั่งให้ กสทช. อนุญาตให้โทรทัศน์ดาวเทียมที่ดำเนินการตามขั้นตอนออกอากาศได้ทันที เนื่องจากขณะนี้โทรทัศน์ดาวเทียมที่ไม่สามารถออกอากาศได้มากกว่า 20 วัน ได้รับผลกระทบทั้งค่าเช่าสัญญาณดาวเทียม และค่าจ้างพนักงาน รวมไปถึงการยกเลิกสัญญาโฆษณา

“ อีกทั้งกสทช. ยังเป็นองค์กรที่ประหลาดมาก ในความเป็นจริง กสทช. ควรทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้แก่ผู้ประกอบการทีวีดาวเทียม แต่กลับไปยืนอยู่ข้างนายทุน เวลาเราเรียกร้อง หรือต้องการปรึกษาอะไรไม่เคยออกมา ที่ผ่านมาเราปฏิบัติตามเงื่อนไขของ กสทช. มาตลอด ส่วนผู้ประกอบการใดที่ยังดำเนินการไม่ถูกต้อง ก็ต้องว่ากันไปตามกฎหมาย เราจึงอยากขอโอกาสทำมาหากินบ้าง”นายสมบูรณ์กล่าว

ตัวอย่างที่ชัดเจนคือกรณีของ ASTVที่ถูกระงับการออกอากาศมาตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 เป็นต้นมา และได้ยื่นผังรายการใหม่ต่อ กสทช.ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ก็ไม่ได้รับการพิจารณา ทำให้พนักงานต้องหยุดปฏิบัติงาน และนำสินค้านานาชนิดมาจำหน่ายเพื่อหารายได้

นี่คือปัญหาที่สังคมกำลังตั้งคำถามถึง กสทช.และนับวันจะดังขึ้นเป็นลำดับ



กำลังโหลดความคิดเห็น