xs
xsm
sm
md
lg

แฉกลุ่มทุนพลังงานแทรกซึม กปปส.(ตอนที่ 2) รู้ทันทักษิณแต่ไม่เคยรู้ทัน ปตท.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เว็บเพจรายการ รู้ค่าพลังงานในเว็บไซต์บริษัท ว็อชด็อก จำกัด ของนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก ปตท.
พลันที่ ASTVผู้จัดการ ได้ตีแผ่ถึงต้นเหตุความเลวร้ายของโครงสร้างพลังงานไทยที่อยู่เบื้องหลังเวที กปปส.และกระตุ้นเตือนไปถึงเวที กปปส.ในการปฏิรูปพลังงาน จึงทำให้เป็นเหมือนแรงกดดันให้เวที กปปส.ต้องหยิบยกเรื่องพลังงานมาพูดในที่สุด

เรื่องพลังงานบนเวที กปปส.ได้ถูกนายอรรถวิชช์ สุวรรณภักดี อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กทม.เขตจตุจักร พรรคประชาธิปัตย์ นำขึ้นไปพูดบนเวทีคืนวันที่ 18 มีนาคมที่ผ่านมา โดยมีเนื้อหาใจความสำคัญ อาทิ ท่อขนส่งปิโตรเลียมทั้งหมดทั้งบนบกและในทะเลต้องตกเป็นของรัฐทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ นายอรรถวิชช์ นำขึ้นไปพูดเป็นความจริงเพียงด้านเดียว โดยความเป็นจริงแล้วระบบท่อเพียงอย่างเดียวไม่สามารถปฏิรูปพลังงานได้ สิ่งที่ต้องกล่าวถึงด้วยคือต้นน้ำ คือระบบสัมปทานและผลตอบแทนของรัฐที่ไม่เป็นธรรมต่อประเทศชาติ ถ้าการสัมปทานเปิดช่องว่างทำให้เกิดการทุจริตได้ง่ายและผลตอบแทนรัฐก็ได้อย่างไม่คุ้มค่าอยู่ดี

นอกจากนั้น ปลายน้ำคืออุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่แย่งใช้ทรัพยากรปิโตรเลียมเพื่อผลประโยชน์ทางการค้าอย่างมหาศาล เพื่อประโยชน์ของจำนวนคนไม่กี่คน แต่ประชาชนทั้งประเทศกลับต้องแบกรับต้นทุนทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องไปด้วยอย่างไม่เป็นธรรม ต่อให้แก้เรื่องทวงคืนท่อขนส่งปิโตรเลียมให้เป็นของรัฐได้ คนไทยจะยังคงใช้น้ำมันละก๊าซในราคาแพงเพื่อให้กลุ่มทุนเหล่านั้นรวยขึ้นต่อไป

ครั้งหนึ่ง น.ส.รสนา โตสิตะกูล ส.ว.กทม.และประธานคณะกรรมการศึกษาตรวจสอบการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา เคยยื่นศาลปกคองพิจารณากรณี ที่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ดำเนินการติดตามท่อส่งก๊าซธรรมชาติทั้งบนบกและในทะเล และอุปกรณ์ประกอบระบบขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ ที่ บริษัท ปตท.สร้างก่อนวันที่ 1 ต.ค.2544 ทั้งหมด รวมถึงท่อก๊าซเส้นที่ 3 ซึ่งอยู่ในทะเลที่เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2550 ก่อนการแปรสภาพ ปตท.เพื่อให้เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดที่มีเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2550

แต่จนถึงวันนี้ยังไม่เคยมีรัฐบาลชุดไหนมีความตั้งใจทวงคืนท่อก๊าซกลับมาเลยแม้แต่รัฐบาลเดียว จึงไม่ทราบได้ว่าสิ่งที่นายอรรถวิชช์ หยิบยกขึ้นไปกล่าวบนเวที กปปส.เป็นความเห็นส่วนตัวหรือว่าเป็นความเห็นของพรรคประชาธิปัตย์

ด้วยความจริงเพียงด้านเดียวจึงอาจเกิดคำถามให้ประชาชนสงสัยได้ว่าสิ่งที่เวที กปปส.กำลังทำอยู่นั้นได้เดินมาถูกทางแล้วหรือไม่ เนื่องจากดูเหมือนว่ายังคงไม่กล้าเปิดเผยความจริงทั้งหมด เหมือนเกรงอกเกรงใจกลุ่มทุนพลังงานที่แอบอิงอยู่เบื้องหลังเวที กปปส.อยู่หรือไม่ อย่างไร

ย้อนกลับไปในงานเสวนาสานพลังสู่การปฏิรูป ประเด็นการปฏิรูปพลังงานซึ่งจัดโดยคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ที่หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน กล่าวถึงในงานเสวนาดังกล่าวแล้ว ยิ่งชวนให้ตั้งคำถามตามมาอีกหลายคำถามไม่น้อยเช่นกันว่า ทำไมต้องทำเสมือนเป็นการเสวนาลับไม่ให้สื่อมวลชนเข้าไปร่วมรับฟังด้วยทั้งที่เป็นวาระระดับชาติ และเหตุใดจึงเป็นการเสวนาที่รวบรัดตัดตอนให้จบเร็วกว่ากำหนด

เดิมนั้นทางแกนนำ กปปส.จะจัดเสวนาเฉพาะวิทยากรที่ทาง กปปส.จัดมาร่วมกับวิทยากรจากกองทัพประชาชนและเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย (กคป.) โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานเข้าร่วม อาทิ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี อนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน วุฒิสภา นายไพบูลย นิติตะวัน ส.ว.สรรหา นายแพทย์ระวี มาศฉมาดล แกนนำ กคป. นางอานิก อัมระนันทน์ อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ ภรรยา นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีต รมว.พลังงาน ขณะที่ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย แกนนำ กปปส.กับนายเอกณัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษก กปปส.ได้เข้าร่วมด้วย และดำเนินรายการโดยนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง สื่อมวลชนอาวุโส ที่คุ้นเคยดีบนเวที กปปส.

ในงานเสวนาได้เกิดความวุ่นวาย เหตุที่มวลชนจาก กคป.มาขอเข้าฟังการเสวนา โดยที่ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย แกนนำ กปปส.ได้ปฏิเสธไม่ให้เข้าฟัง และมีการ์ดของ กปปส.มาขัดวาง ทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกัน จนทางแกนนำ กปปส.ต้องยอมและเปลี่ยนไปเสวนาในห้องประชุมใหญ่

ทั้งนี้ เวทีเสวนาได้ลดเวลาการเสวนาลง จากเดิมจะจัดถึงช่วงเย็นในเวลา 17.00 น.เหลือเพียงแค่เวลา 12.30 น.โดยเริ่มจากเวลา 11.30 น.ทำให้แต่ละคนมีเวลาพูดเพียง 5-7 นาที ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญระดับประเทศซึ่งประชาชนคนไทยจะได้ประโยชน์ทุกภาคส่วน

ส่วนเหตุการณ์บนเวทีเสวนา ขณะที่ ม.ล.กรกสิวัฒน์ ได้ให้ข้อมูลโต้แย้งนายรักไทย บูรพ์ภาค ในเรื่องของการกำหนดราคาพลังงาน แต่นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ผู้ดำเนินรายการ ได้สรุปว่าข้อมูลของทั้งสองคนไม่ต่างกัน ทั้งที่โดยความเป็นจริงแล้วแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากข้อมูลของนายรักไทย บูรพ์ภาค คล้ายกับข้อมูลที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ที่ควรจะต้องถูกหักล้างโดยข้อมูลของภาคประชาชนซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่กลุ่มทุนพลังงานที่รายล้อมแทรกซึมอยู่ในเวทีกลัวนักกลัวหนานั่นเอง

และแล้วการเสวนาก็จบลงโดยไม่มีข้อสรุปว่าจะปฏิรูปพลังงานอย่างไร ไม่มีแผนการว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ โดยนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ผู้ดำเนินรายการได้กล่าวเพียงสั้นๆ ว่าต้องล้มระบอบทักษิณให้ได้ก่อน

คำถามคือทำไมนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ต้องรีบตัดบท ลดเวลา รวมไปถึงไม่ได้กล่าวถึงแผนงานปฏิรูปพลังงานว่าจะเดินต่อไปในทิศทางใด จนถึงขณะนี้เรียกว่าเวทีเสวนาเรื่องพลังงานได้หายไปในกลีบเมฆแล้วก็ว่าได้ ที่สำคัญ นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ยังย้ำอยู่เสมอว่าคนทีรู้เรื่องพลังงานไทยเป็นอย่างดีคือ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีพลังงาน ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ จนชวนให้ตั้งคำถามว่ามีผลประโยชน์อันใดหรือไม่ในจุดยืนเรื่องปฏิรูปพลังงานของนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง

กล่าวถึงบทบาทของนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เป็นที่รู้จักในบทบาทสื่อมวลชนอาวุโส เป็นผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์ประเภทการเมือง เศรษฐกิจสังคมหลายรายการ โดยผลงานของนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง ที่ได้รับความนิยม เช่น รู้ทันทักษิณ 1-5, แปลงทักษิณเป็นทุน, อยู่กับทักษิณ, การเมืองไทยหลังรัฐประหาร, รู้ทันภาษา รู้ทันการเมือง เป็นต้น เรียกว่ามุมที่คนรู้จักกันเป็นอย่างดีคือเป็นคนที่ออกมาตีแผ่ทุกซอกทุกมุมของระบอบทักษิณ

อย่างไรก็ตาม หนึ่งในรายการที่ชวนให้สงสัยยิ่งก็คือ สารคดีรู้ค่าพลังงาน ของบริษัท ว็อชด็อก (www.watchdog.co.th) ที่มีนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง เป็นผู้ดำเนินรายการ หลายคนคงเคยผ่านตามาบ้าง อาทิ ตอน รู้ค่าพลังงาน หนูน้อยรักษ์พลังงานกับ ปตท. ถังดับเพลิง ลดโลกร้อน ถ้วยพลาสติกชีวภาพ เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องแบบเคลื่อนที่ ฯลฯ ซึ่งเนื้อหาในรายการดังกล่าวส่วนไหญ่จะเป็นการอนุรักษ์พลังงานในมุมต่างๆ

หัวใจสำคัญของรายการดังกล่าวอยู่ที่ มีบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้การสนับสนุนลงโฆษณาอย่างเป็นทางการ และที่สำคัญการลงโฆษณาในรายการกลับไม่จำกัดอยู่แค่การซื้อพื้นที่โฆษณาเหมือนสื่อทั่วไป แต่เป็นลักษณะก้าวไกลไปว่านั้นด้วยเนื้อหาในรายการที่มุ่งเน้นสร้างภาพลักษณ์ให้กับ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)

ดังนั้นแล้ว การตั้งคำถามถึงนายเจิมศักดิ์ จึงต้องเกิดขึ้นในฐานะที่มีผลประโยชน์บางอย่างเกี่ยวกับบริษัท ปตท.จำกัด (มาชน) ที่มีมาอย่างยาวนานหรือไม่

ส่วนอีกในบทบาทสื่อมวลชนอาวุโสที่เป็นเหมือนหัวหอกคอยตรวจสอบระบอบทักษิณอย่างถี่ยิบตลอดมานั้น ในอีกด้านหนึ่ง นายเจิมศักดิ์ ยังไม่เคยลุกขึ้นมาตรวจสอบ บริษัท ปตท.เลยแม้แต่สักครั้งเดียวทั้งที่คนไทยทั้งประเทศถูก ปตท.ปั้นข้อมูลเรื่องพลังงานเชิงบวกให้แก่องค์กรฝ่ายเดียว ขณะที่คนไทยถูกบริษัท ปตท.เอารัดเอาเปรียบอยู่ทุกวี่วัน

รวมไปถึงนายเจิมศักดิ์ ไม่เคยตรวจสอบหรือกล่าวถึงผลประโยชน์ด้านพลังงานในอ่าวไทยเลยสักครั้งเดียวเช่นกันว่าจะทำให้นักการเมืองกลุ่มใดได้ประโยชน์บ้าง และประชาชนอาจจะต้องเสียผลประโยชน์ไปอีกแค่ไหน

คำถามถึงมาตรฐานทางจริยธรรมของนายเจิมศักดิ์ในเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนก็ควรต้องถูกตั้งคำถามอีกเช่นกัน ย้อนกลับไปเมื่อปี 2550 ในขณะที่นายเจิมศักดิ์ นั่งเป็นกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ บมจ.ทอท.ในครั้งนั้นมีกรณีเรื่องการต่อสัญญา บริษัท คิงเพาเวอร์ ในการรับสัมปทานจากการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย

ในการประชุมครั้งหนึ่ง นายเจิมศักดิ์ได้สอบถามไปยังคณะกรรมการบริษัท ท่าอากาศยานไทย ว่าใครเคยมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัท คิงเพาเวอร์ ทางใดทางหนึ่งให้แจ้งมา ซึ่งมีบางคนแสดงตัวออกมาเช่นกัน

ขณะเดียวกัน ในปัจจุบันที่หากจะต้องมีการปฏิรูปพลังงานครั้งใหญ่ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) จะได้รับผลระทบไปด้วยเช่นกัน ประชาชนกลับไม่เคยเห็นบทบาทอันกล้าหาญของนายเจิมศักดิ์ กับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ครั้งนี้ นายเจิมศักด์จึงควรแสดงตนในเรื่องการรับผลประโยชน์จาก บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม กล่าวถึงการที่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) รอดพ้นการตรวจสอบจากสื่อมวลชนสำนักต่างๆ ก็หนีไม่พ้นพลังและอำนาจของเม็ดเงินโฆษณาประชาสัมพันธ์ที่ยักษ์ใหญ่ ปตท.ทุ่มสร้างภาพซื้อสื่อ ทำให้กลุ่มทุนผูกขาดธุรกิจพลังงานไม่ถูกตั้งข้อกังขาถึงความฉ้อฉล ไม่สงสัย ไม่ตั้งคำถามถึงความไม่โปร่งใส ไม่เป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็กรณีการปรับขึ้นราคาก๊าซ น้ำมัน ฯลฯ

ข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา รายงานว่า งบประมาณ 2554 (1 ต.ค. 2553 - 30 ก.ย. 2554) ที่ผ่านมา ปตท.ได้ใช้งประมาณว่าจ้างหน่วยงาน องค์กรเอกชน โฆษณาประชาสัมพันธ์โครงการและกิจกรรมต่างๆ รวม 44 รายการ วงเงินรวม 651.1 ล้านบาท เมื่อเทียบกับงบประมาณ 2553 ปตท.ได้ใช้เงินประชาสัมพันธ์ผ่านบริษัทต่างๆ 34 รายการ รวมเม็ดเงิน 687.2 ล้านบาท หากรวม 2 ปี จะพบว่า ปตท.หว่านเม็ดเงินเพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์สูงเกือบ 1,400 ล้าบาท

ขณะที่ปีถัดมา บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้ใช้งบประมาณในการประชาสัมพันธ์กิจกรรมองค์กรและกิจการที่เกี่ยวข้องเป็นเงินถึง 547.7 ล้านบาทในช่วง 6 เดือน โดยนับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2555 ถึงมีนาคม 2556 บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้ทำสัญญาจ้างเอกชนประชาสัมพันธ์ 47 ครั้ง (สัญญา) วงเงิน 547,714,700 บาท

เงินที่ ปตท.ใช้ลงกับสื่อสารมวลชน มี 1.บริษัทในเครือบีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ หรือ ช่อง 3 จำนวน 80 ล้าน แบ่งเป็นจ้างโฆษณาประชาสัมพันธ์ ปตท.การแข่งขันกอล์ฟ ผ่านบริษัท ไอเอ็มจี เซอร์วิสเซส จำกัด (หุ้นส่วนธุรกิจของกลุ่มบีอีซี) 40 ล้านบาท (21 ก.พ. 56) และจ้างโฆษณาประชาสัมพันธ์ ปตท.ในการจัดการแข่งขันเทนนิสเอทีพีทัวร์ รายการ “ไทยแลนด์ โอเพ่น 2012” ผ่านบริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ 40 ล้านบาท (7 พ.ย. 55)

2.บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) 68,840,000 บาท แบ่งเป็น จ้างโฆษณาประชาสัมพันธ์ ปตท.ในรายการโทรทัศน์วิทยุ และกิจกรรมต่างๆ ผ่านสื่อในเครือ อสมท 18,840,000 บาท (13 ธ.ค. 55) และ 7 ก.พ. 56 จำนวน 50 ล้านบาท

3.บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด 38,640,000 บาท แบ่งเป็นจ้างโฆษณาประชาสัมพันธ์ ปตท.ทางโทรทัศน์ในโครงการ “คน ค้น ตน อวอร์ด” ปีที่ 4 จำนวน 9 ล้านบาท (1 ต.ค. 55) จ้างดำเนินการจัดงาน “พิธีมอบรางวัลลูกโลกสีเขียวครั้งที่ 14” และงาน “พิธีมอบรางวัลการประกวดการพัฒนาและรณรงค์การใช้หญ้าแฝก อันเนื่องมาจากพระราชดำริครั้งที่ 7 ประจำปี 2555” จำนวน 12 ล้านบาท (26 ธ.ค. 55) จ้างโฆษณาประชาสัมพันธ์ 10,920,000 บาท วันที่ 25 ม.ค. 56 และ งานประชาสัมพันธ์กิจการ ปตท. 6,720,000 บาท (25 ม.ค. 56)

4.กลุ่มบริษัท สยามสปอร์ต 34 ล้านบาท แบ่งเป็น บริษัท อินสไพร์ เอนเตอร์เทนเม้นท์ 22 ล้านบาท (4 ต.ค. 55) และ บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท 12 ล้านบาท (12 ก.พ. 56)

5. ริษัท พีน่ามีเดีย จำกัด 27.6 ล้านบาท แบ่งเป็นจ้างโฆษณาประชาสัมพันธ์ ปตท.ในโครงการ “ไทยสามัคคี เทิดไท้องค์ราชัน” 14,400,000 บาท (1 ต.ค. 55) และ จ้างโฆษณาประชสัมพันธ์ ปตท.13,200,000 บาท (26 ก.พ. 56)

6.กลุ่มเนชั่น 23.4 ล้านบาท แบ่งป็น บจก.เนชั่น มัลติมีเดียกรุ๊ป 15.4 ล้านบาท (26 ก.พ. 56) และบริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น 8 ล้านบาท (12 ก.พ.56)

ที่ยกมาเป็นพียงบางส่วนเท่านั้ เพราะต้องบอกว่าที่ผ่านมาทุกปี ปตท.ใช้เม็ดเงินที่ได้จากกำไรปีละแสนล้านมาลงโฆษณากับสื่อต่างๆ นั้นก็เพียงพอต่อการปิดปากสื่อไม่ให้ตีแผ่ความฉ้อฉลต่างๆ ของ ปตท.เป็นการปิดหูปิดตาประชาชนที่แสนจะง่ายดาย หากเทียบตัวเลขกำไรปีละแสนล้านกับงบโฆษณาเพียงไม่เท่าไหร่ เรียกว่าคุ้มยิ่งกว่าคุ้มเลยทีเดียว

ในด้านกลับกัน ผู้ที่ยืนอยู่ฝั่งตรงข้าม ปตท.มักไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควรในงบโฆษณา ยกตัวอย่าง กรณี ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ปรากฏว่าช่องฟรีทีวี 3, 5, 7, 9, 11 ไม่เคยเชิญ ม.ล.กรกสิวัฒน์ ไปออกรายการแม้แต่ครั้งเดียว เคยมีช่องไทยพีบีเอสเพียงครั้งเดียวเท่านั้นที่เชิญไปออกรายการ

กล่าวถึงสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี ไม่เคยได้รับโฆษณาจากกลุ่มทุนหรือบริษัทพลังงานต่างๆ จะมีเพียงแค่ในส่วนของหนังสือพิมพ์ ASTVผู้จัดการรายวัน และเว็บไซต์ ASTVผู้จัดการออนไลน์ ที่เคยขายพื้นที่โฆษณาแต่นั่นไม่ได้สั่นคลอนจุดยืนอุดมการณ์การทำหน้าที่ของสื่อมวลชนแต่ประการใด

เนื่องจากเป็นสิ่งที่ต้องแยกกันระหว่างธุรกิจการลงโฆษณกับการทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชนอย่างเข้มงวด ยกตัวอย่างบางรัฐวิสาหกิจที่เป็นเหมือนแหล่งเงินทุนโฆษณาที่สื่อมวลชนต้องพึ่งพาอย่างบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หนังสือพิมพ์ ASTVผู้จัดการ ไม่เคยถูกนำไปให้ผู้โดยสารบนเครื่องของการบินไทยได้อ่านเลย การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยก็ไม่เคยมาลงโฆษณากับสื่อ ASTVผู้จัดการแล้ว ซึ่งนั่นได้แสดงจุดยืนอันชัดเจนว่าได้ทำการตรวจสอบทุกรัฐวิสาหกิจ นอกจากนั้น บริษัท ปตท.เคยมาร้องขอให้ ASTVผู้จัดการ หยุดเสนอข่าวด้านลบของ ปตท.แต่ ASTVผู้จัดการไม่ยอมจำนนยังคงทำหน้าที่ตรวจสอบ ปตท.ต่อไป

อย่างไรก็ตาม เคยเกิดเหตการณ์บังเอิญครั้งหนึ่งในรายการช่องทีนิวส์ ของนายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม หนึ่งในแกนนำ กปปส.โดยสถานีดังกล่าวได้เชิญนายคมสัน โพธิ์คง อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ไปออกรายการ ประเด็นเรื่องกองทุนพลังงาน ซึ่งนายคมสันได้โทรศัพท์ไปชวนหม่อมหลวงกรกสิวัฒน์ มาออกรายการร่วมกัน ซึ่งนั่นเป็นครั้งเดียวและครั้งสุดท้ายที่ทั้งสองคนได้ไปออกรายการ ต่อมาไม่ได้รับการติดต่อไปออกรายการอีกเลย

เมื่อตรวจสอบก็พบว่าผู้ให้การสนับสนุนทีนิวส์ คือบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งมี ปตท.เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของบริษัท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 49.54 และในด้านธุรกิจก็มี ปตท.เป็นลูกค้ารายใหญ่ โดย ปตท.ได้ทำสัญญาซื้อผลิตภัณฑ์ปิโตรลียมสำเร็จรูป ในปริมาณอย่างน้อยร้อยละ 49.99 ของกำลังการกลั่นน้ำมันทั้งหมดของบริษัท และในขณะเดียวกัน ปตท. เป็นผู้จัดหาน้ำมันดิบให้กับบริษัท ณ ราคาตลาด และ ปตท.ยังคงให้ความสำคัญกับโรงกลั่นของบริษัท ไทยออยล์ ในฐาะเป็น Flagship Refinery

แน่นอนหากใครไปเปิดดูการปราศรัยของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำ กปปส.บ่อยครั้ง ทีนิวส์จะเป็นช่องที่กำนันสุเทพชื่นชมอยู่บนเวทีบ่อยครั้ง ขณะที่สื่อที่ไล่โจมตี ปตท.และเดินหน้าสนับสนุนการปฏิรูปพลังงานอย่างเต็มตัว อย่างสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี, 13 สยามไทย, เอฟเอ็มทีวี, สถานีสุวรรณภูมิ สถานีเหล่านี้ไม่เคยถูกกำนันสุเทพให้ราคาแม้แต่นิดเดียว

ทั้งนี้ นายสุเทพ คงลืมไปแล้วว่าครั้งหนึ่งเคยมีคำพูดออกมาว่าในการถ่ายทอดสด ที่ประกอบไปด้วยบลูสกายทีวี, สำนักข่าวทีนิวส์, สถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี, 13 สยามไทยทีวี, เอฟเอ็มทีวี, สถานีสุวรรณภูมิ โดยจะรวมสถานีเหล่านี้เป็นมวลมหาประชาชนเน็ตเวิร์ก ร่วมถ่ายสดด้วยกันทุกครั้ง แต่ที่ผ่านมานายสุเทพยังคงละเลยที่จะให้เครดิตช่องเหล่านี้ที่มุ่งผลักดันเรื่องปฏิรูปพลังงานที่จะทำให้ประชาชนทุกคนได้ประโยชน์ ยังคงใช้ช่องบลูสกาย และทีนิวส์ โจมตีระบอกทักษิณเพียงอย่างเดียว โดยที่ไม่ได้ให้ปัญญาในเรื่องพลังงานแก่ประชาชนเท่าที่ควร

ขณะที่เวที กปปส.แสดงท่าทีไม่เอาการปฏิรูปพลังงานเป็นวาระปฏิรูปประเทศ โดยอ้างเหตุผลข้างๆ คูๆ ว่าข้อมูลไม่ตรงกัน ซ้ำมีรายการดิสเครดิตถึงขั้นว่าข้อมูลภาคประชาชนเป็นข้อมูลเท็จด้วยซ้ำ

ถามว่าประชาชนที่ติดตามช่องบลูสกายของนายสุเทพ ที่มีนายเจิมศักดิ์ วนเวียนอยู่ด้วยนั้น เคยเปิดปัญญาให้กับประชาชนหรือไม่ในเรื่องความชั่วร้ายของการผูกขาดพลังงานของ ปตท.อาทิ การแปรรูปบริษัท ปตท.ซึ่งมีโรงกลั่น ท่อส่งก๊าซ และอำนาจผูกขาดที่ได้มาจากตอนที่เป็นรัฐวิสาหกิจ คือการเป็นพ่อค้าคนกลางในการจัดหาจำหน่ายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ พอแปรรูปเสร็จก็ได้ยึดอำนาจผูกขาดนั้นทั้งหมดไปด้วย

ที่สำคัญอำนาจผูกขาดที่ได้รับข้อยกเว้นว่า รัฐวิสาหกิจไม่ต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า ทำให้หน่วยงานรัฐเวลาจะซื้อน้ำมันต้องไปซื้อจาก ปตท.ทั้งหมด ฉะนั้น หลังแปรรูป ปตท.จึงได้สิทธินี้ไปดวย

ในปี 2545 มีการจัดตั้งกระทรวงพลังงานขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการปิโตรเลียมและการขายน้ำมันและก๊าซทั้งหมดจากเดิมอำนาจนี้อยู่กับกระทรวงการลัง โดยได้กระชับอำนาจด้วยการให้อำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในการกำหนดราคาเชื้อเพลิงผ่านทางคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน หรือ กบง.แล้วดึงเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาอยูกับสถาบันบริหารกองทุนพลังงานที่ตั้งขึ้นให้ดูเหมือนเป็นหน่วยงานอิสระ แต่อยู่ภายใต้กระทรวงพลังงาน

นอกจากนั้นยังได้ประกาศเพิ่มอำนาจรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานให้มีอำนาจ ดังนี้ 1.กำหนดเกณฑ์ราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น 2.กำหนดราคาน้ำมันขายปลีก 3.จัดเก็บเงินชดเชยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 4.กำหนดค่าการตลาดของน้ำมันขายปลีก

ดังนั้น เวลาถาม ปตท.ว่าทำไมน้ำมันแพง ปตท.จึงเลี่ยงเสมอที่จะตอบว่าไม่ได้เป็นคนกำหนด ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเป็นคนกำหนด แต่คนที่สารพัดชงเรื่องก็คือบริษัท ปตท.นั่นเอง เพราะเกี่ยวพันกันอย่างแยกไม่ออกระหว่างคนที่จะมานั่งรัฐมนตรีว่าการพลังงาน กับผลประโยชน์ทับซ้อนของ ปตท.

นี่คือบางคำถามที่ นายเจิมศักดิ์ ในฐานะสื่อมวลชนอาวุโส ต้องกล้าหาญที่จะพูดความจริงเกี่ยวกับความเลวร้ายของ ปตท.เสียบ้างไม่ใช่กล้าหาญแต่เปิดโปงความเลวร้ายของระบอบทักษิณอย่างเดียว ต้องกล้าวิพากษ์วิจารณ์ ปตท.และเน้นย้ำให้ความรู้ประชาชนในเรื่องพลังงานทุกมุมทุกด้านอันจะนำไปสู่การปฏิรูปพลังงานเพื่อผลประโยช์ของประชาชนอย่างแท้จริงได้ในวันหนึ่ง

เพื่อเป็นการลบข้อสงสัยที่ติดตัวว่ามีผลประโยชน์ทับซ้อนกับบริษัท ปตท.ในฐานะสื่อมวลชนด้วยหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น