xs
xsm
sm
md
lg

ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ทุ่มทั้งชีวิตเดินหน้าทวงคืนพลังงานไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


 
จากความคิดว่าอะไรที่เป็นทรัพย์สินของชาติก็ต้องเป็นของคนไทย ทำให้ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ยอมทิ้งงานที่เขารัก ยอมทิ้งชีวิตหนุ่มที่หลงใหลในเสียงเพลงและการท่องเที่ยว ออกมาเดินสายขึ้นทุกเวทีเรียกร้องการปฎิรูปพลังงาน หวังให้คนไทยไม่ต้องใช้น้ำมันและก๊าซในราคาที่แพงเกินจริง จนกลายเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน

 
ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี เป็นบุตรชายคนสุดท้องในบรรดาพี่-น้อง 3 คน ของ ม.ร.ว.เกษมศิริพันธ์ กับ วิภาณี เกษมศรี ณ อยุธยา หลังจบวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขาก็เริ่มสนใจด้านการเงิน-การลงทุน จึงบินไปเรียนต่อปริญญาโท Master of Business Administration (Finance), California State University, USA และกลับมาคว้าปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อีกหนึ่งใบ ก่อนเริ่มงานแรกที่บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนอยุธยา เจเอฟ และผู้ช่วยเลขาธิการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ตามลำดับ

คุณกรเริ่มต้นเล่าให้เราฟังว่า ด้วยความที่ถูกฝึกให้ทำงานแบบฝรั่งทำให้งานทุกชิ้นต้องคิดและวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล และอาจด้วยความบังเอิญที่งานของเขาเข้ามาเกี่ยวข้องกับเรื่องพลังงาน ทำให้มองเห็นว่าประเทศไทยดำเนินนโยบายด้านพลังงานที่ผิดเพี้ยนไปจากหลายประเทศในโลก และจุดนี้เองที่ทำให้ราชนิกุลหนุ่มคนนี้เริ่มค้นหาและพบว่าข้อมูลด้านพลังงานของไทยถูกบิดเบือนไปจากความเป็นจริง

 
“ทุกวันนี้ ผมเชื่อว่ายังมีคนไทยจำนวนมากยังไม่รู้เลยว่าประเทศเรามีทรัพยากรน้ำมันและก๊าซธรรมชาติไม่แพ้ใคร หน่วยงานข้อมูลพลังงานของรัฐบาลประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุชัดว่าไทยผลิตก๊าซธรรมชาติได้เป็นอันดับที่ 24 ของโลก ส่วนน้ำมันไทยเป็นอันดับ 33 ของโลก จากประเทศที่ผลิตน้ำมันกว่า 200 ประเทศ แต่ข้อมูลตรงนี้ไม่มีการเปิดเผยกระทรวงพลังงานมักอ้างว่า ถึงแม้ไทยจะผลิตพลังงานได้มาก แต่ใต้ดินก็มีพลังงานน้อย ซึ่งมันไม่จริง วันนี้ผลผลิตที่ขึ้นมาจากใต้ดินเป็นมูลค่าที่จับต้องได้มันติดอันดับโลกแล้ว แต่ทำไมส่วนแบ่งผลประโยชน์จากทรัพยากรปิโตรเลียมของไทยจึงต่ำที่สุดในกลุ่มอาเซียน และต่ำกว่าหลายๆ ประเทศที่สูบน้ำมันและก๊าซขึ้นมาได้น้อยกว่าไทย นี่คือสิ่งที่ทำให้ผมต้องออกจากงานมาต่อสู้เพื่อให้มีการปฎิรูปพลังงานอย่างจริงจัง”  คุณกรกล่าว

สำหรับการลาออกจากงานครั้งนี้ เป็นเพราะไม่อยากให้เสียงานประจำ อีกอย่างคือเขาไม่มีอะไรต้องห่วงเพราะ คุณพ่อ-คุณแม่เสียชีวิตหมดแล้ว โดยทุกวันนี้เขามีหน้าที่ในการเดินสายพูดเรื่องพลังงานไม่เว้นวัน เรียกว่าเวทีไหนว่างใครเชิญก็ไปหมด



“ผมไปทุกเวทีไปทุกสี เวลาไป กปปส. พวกเสื้อแดงก็บอกว่าผมไปอยู่กับกำนัน พอไปเวทีอื่น กปปส.ก็บอกเราเป็นเสื้อแดง ดูสิทุกคนที่ไม่ต้องการปฎิรูปพลังงานผลักออกหมด แล้วโยนผมไปอยู่ฝ่ายตรงข้าม บางคนคิดว่าผมเกาะกระแสม็อบ ซึ่งมันไม่ใช่เพราะความจริงกระบวนการปฎิรูปพลังงานมันเกิดก่อนหน้านั้นตั้งนานแล้ว พวกเราไม่ได้มาเกาะกระแสหรือมาตามกระแสใคร”

 
ส่วนกรณีปัญหาในการเดินสายพูดเรื่องพลังงานแล้วยังมีบางฝ่ายพยายามที่จะไม่เข้าใจนั้น คุณกรบอกว่า รู้สึกเสียดายที่เมื่อคนไทยเริ่มตื่นรู้ที่จะปฎิรูปพลังงาน ก็มีขบวนการที่ไม่ต้องการนำไปสู่การปฎิรูปเรื่องนี้มาขวาง ทำให้รู้สึกว่าความหวังที่คนไทจยจะได้เป็นเจ้าของพลังงานที่แท้จริงดูเลือนลางและริบหรี่ลง

 
คุณกรยังบอกว่า ประมาณปี 2554-2555 เขายุติการต่อสู้ทั้งหมด เพราะรู้สึกเศร้าหมอง เห็นว่าการเอาเปรียบและทำร้ายคนไทยด้วยกันแล้วหดหู่ จึงตัดสินใจกลับมาดำเนินชีวิตในแบบที่เคยเป็น คือมาทำงานประจำเป็นประธานเจ้าหน้าปฎิบัติการ บริษัท แกรมมี่ ตามคำชักชวนของเพื่อน และสนุกสนานกับไลฟ์สไตล์ของเขาที่ชอบท่องเที่ยว เล่นดนตรี และทานอาหารในร้านที่มีดนตรีสด

“ตอนนั้นพยายามลืมทั้งหมด ทำงานเสร็จจะชอบไปนั่งทานอาหาร-ฟังเพลงที่เชลเตอร์วันเอเคอร์ครับ เพราะเป็นร้านที่นั่งสบาย ดนตรีดี อาหารอร่อยมาก ผมชอบฟังดนตรีสดเพราะเล่นดนตรีมาตั้งแต่ 10 ขวบ เล่นหมดทุกอย่างตั้งแต่เปียโน ซิธีไซเซอร์ แต่ที่ชอบมากที่สุดคือกีตาร์ มีสะสมไว้ 30 กว่าตัว ดนตรีนี่ฟังทุกแนว แต่เชื่อมั้ยทำได้ไม่นานผมกลับทุกข์ใจมากกว่าเก่าอีก เพราะเรานั่งมองเห็นคนเดินไปมา แล้วรู้ว่าถ้าเราไม่ผลักดันเรื่องนี้ อนาคตลูกหลานเราตายแน่ และเมื่อเรารู้ว่าคนจะตายแล้วไม่ช่วย นั่นไม่ใช่สามัญสำนึกของผม ผมเฉยไม่ได้ ผมเป็นผู้บริหาร เงินเดือนสูง มีบ้าน รถ น้ำมันแพงยังไงผมก็รอด แต่ให้ผมทิ้งเพื่อนๆ ผมทำไม่ได้ ตอนนั้นก็เลยกลับไปลาออกและออกมาต่อสู้อีกครั้ง”

 
เมื่อถามว่าไม่เสียดายชีวิตที่ควรจะมีความสุขเฉกเช่นที่คนหนุ่มทั่วไปควรมีหรือไม่  ราชนิกุลหนุ่มใหญ่คนเดิมบอกเสียงชัดเจนว่า การทำงานให้กับสังคม มันเป็นสิ่งที่เขาเลือกเอง ไม่มีใครบังคับให้มาทำ เมื่อเลือกที่จะดำเนินชีวิตอย่างนี้ก็ต้องทำ
“ตอนนี้ผมอายุ 47 ปีแล้ว เวลาของผมก็เหลือน้อยเต็มทนแล้วก็ขอทำให้ดีที่สุด หน้าที่ของผมก็เป็นแค่นาฬิกาปลุกเรือนหนึ่ง ที่เห็นอะไรผิดปกติก็พยายามปลุกทุกคน หากไม่มีใครลุกขึ้นมาปกป้องสมบัติของตัวเองก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่ตื่นก็หมดตัว” ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี กล่าวทิ้งท้ายด้วยรอยยิ้มที่เป็นกันเอง
กำลังโหลดความคิดเห็น