xs
xsm
sm
md
lg

แฉกลุ่มทุนพลังงานแทรกซึม กปปส.(ตอนที่ 1) ใครคือซาตานขวางปฏิรูปพลังงานตัวจริง ?

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เวทีเสวนาเรื่องการปฏิรูปพลังงาน จัดโดย กปปส.ที่หอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 12 ก.พ.2557 ถูกรวบรัดเหลือเวลาเสวนาแค่ถึงเที่ยงวัน หลังจากถูกมวลชนเรียกร้องจนต้องเปิดให้เข้าร่วมฟัง จากเดิมที่มีกำหนดเวลาถึงช่วงเย็นแต่ต้องเป็นการเสวนาลับ
ประเด็นปฏิรูปพลังงาน ต้องบอกว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ประชาชนทั่วทั้งประเทศรอคอย และหลายคนฝากความหวังไปที่ คณะกรรมการประชาชนเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส.ว่าจะมีแนวทางเดินหน้าปฏิรูปพลังงานอย่างไรให้เกิดประโยชน์ต่อปากท้องของประชาชนโดยเร็วที่สุด

ในทางกลับกันสิ่งที่เกิดขึ้น ณ เวที กปปส.ที่มีนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นหัวเรือใหญ่และพรรคประชาธิปัตย์คอยกุมบังเหียนอยู่ กลับดูเหมือนว่าจะไม่ได้เดินหน้าเรื่องปฏิรูปพลังงานอย่างเต็มสูบ เกิดข้ออ้างเลี่ยงไปต่างๆ นานาว่า ต้องล้มระบอบทักษิณให้สิ้นซากไปก่อนถึงจะปฏิรูปพลังงาน หรืออ้างว่าพบข้อมูลไม่ตรงกันจะนำไปสู่การทะเลาะกัน ซึ่งจะเป็นไปได้อย่างไรเมื่อการปฏิรูปพลังงานประชาชนจะได้ประโยชน์ทั้งประเทศ

ข้ออ้างต่างๆ จึงเกิดคำถามให้หลายคนสงสัยว่าอาจเป็นแค่การซื้อเวลาไปเท่านั้นหรือไม่ เพราะยิ่งกางฉากหลังของเวที กปปส.ออกมาในเรื่องการปฏิรูปพลังงานก็ยิ่งเกิดคำถามชวนสงสัยในหลายข้อเข้าไปอีก

ย้อนกลับไปครั้งหนึ่ง ขณะที่ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี อนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน และอนุกรรมาธิการพิจารณากฎหมายด้านพลังงาน วุฒิสภา ได้ขึ้นเวทีปราศรัยที่ถนนราชดำเนินเพียงครั้งเดียว หลังจากนั้นได้เกิดแรงกระเพื่อมที่ด้านหลังเวที กปปส.จนทำให้หม่อมกรฯ ไม่สามารถขึ้นเวที กปปส.ที่แยกปทุมวันได้

นอกจากนั้น หากกล่าวถึงกระแสปฏิรูปพลังงานที่รายล้อมอยู่รอบเวทีใหญ่ กปปส.ล้วนแต่เป็นของภาคประชาชนโดยตรงอีกต่างหาก ไม่ได้มาจากกลุ่มการเมืองของ กปปส.แต่อย่างใด ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายนักศึกษาและประชาชนปฏิรูปประเทศไทยหรือ คปท.สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ การไฟฟ้านครหลวง หรือ สรส.หรือเวที กปปส.แจ้งวัฒนะ ที่มีหลวงปู่พุทธะอิสระ เป็นแกนนำอยู่ หรือจะเป็นกองทัพธรรม โดยกลุ่มเหล่านี้ล้วนมีความเสี่ยงถูกโจมตีจากกลุ่มผู้ไม่หวังดีมากกว่าเสียด้วยซ้ำ

ครั้งหนึ่ง ดร.ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ กำลังพูดเรื่องพลังงานบนเวที กปปส.ก็ถูกเบรกตัดบทออกอากาศ ขณที่ ดร.สมบัติ ธำรงธัญญาวงศ์ พูดเรื่องปฏิรูปพลังงานที่เวทีปทุมวันประมาณ 1 นาที บลูสกายที่ถ่ายทอดสดอยู่ก็ตัดภาพไปเวทีอื่น

กาลครั้งหนึ่งในช่วงแรกเริ่มของการชุมนุมบุคคลสำคัญใน กปปส.ได้อ้างเหตุผล ณ ร้านอาหารศรแดง ย่านถนนราชดำเนินกลางว่า จะไม่พูดเรื่องการปฏิรูปพลังงาน โดยอ้างว่าบริษัท เชฟรอน มีผลประโยชน์ให้กับทหารบางกลุ่ม ซึ่ง กปปส.จำเป็นต้องพึ่งทหารกลุ่มนี้ ดังนั้นจึงยังไม่ต้องพูดเรื่องปฏิรูปพลังงานและอาจไม่ต้องพูดถึงเลย

หรือจะเป็นเมื่อกาลครั้งหนึ่ง วันที่ 27 มิถุนายน 2552 นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมขณะนั้น ไปกัมพูชาพูดคุยกับฮุนเซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา หลังจากเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2552 ครม.มีมติตั้งนายสุเทพ ในฐานะที่เป็นรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงให้เป็นประธานคณะกรรมการในการเจรจาลับกับกัมพูชาเรื่องพลังงานก็เคยมาแล้ว

ทั้งนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าฝ่ายการเมืองทั้งหลายในประเทศไทยมีประโยชน์พัวพันในเรื่องพลังงานกันทั้งสิ้น ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งนับแต่การชุมนุมวันแรกจนถึงวันนี้ นายสุเทพและ กปปส.ก็มิได้ทำให้เห็นเลยว่าจะมีรายละเอียดพิมพ์เขียวในการปฏิรูปปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นประเด็นการปฏิรูปพลังงานที่นายสุเทพ และ กปปส.ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก

การปฏิรูปพลังงานจึงอาจเกิดคำถามขึ้นได้ว่าเป็นแค่วาทกรรมลวง ไม่มีอะไรมากไปกว่า ล้มระบอบทักษิณเพื่อให้อีกพรรคการเมืองเข้ามาสวมตอหรือไม่ ถ้าไม่เช่นนั้น ทำไม กปปส.จึงไม่กล้าแตะเรื่องปฏิรูปพลังงานอย่างที่ควรจะเป็น

ทั้งที่ถ้าชูธงปฏิรูปพลังงานอย่างเต็มสูบจะได้มวลชนอีกมาก แม้แต่คนเสื้อแดงแดงหลายคนก็อาจย้ายข้างมาเอาด้วย เพราะทุกคนไม่ว่าสีอะไร อยากให้น้ำมันราคาถูกลง เกลียดการถูกเอาเปรียบทั้งนั้น

เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นหลังฉากเวที กปปส.เหล่านี้ แสดงให้เห็นว่าอาจมีคนชูธงกำกับว่าห้ามมีการพูดถึงเรื่องปฏิรูปพลังงาน ยิ่งถ้าทฤษฎีเป็นแบบนี้จริง ความสำเร็จการปฏิรูปพลังงานจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย ประโยชน์ที่จะตกกับประชาชนอย่างแท้จริงคงไม่มีทางเกิดขึ้น

ยิ่งหากกางรายชื่อบุคคลในแวดวงพลังงานที่รายล้อมอยู่รอบ กปปส.ด้วยแล้ว จะทำให้เห็นความเชื่อมโยงอย่างผิดสังเกตว่าการปฏิรูปพลังงานบนเวที กปปส.อาจจะเป็นแค่ปาหี่มวยล้มต้มคนดูเท่านั้น ซึ่งหนึ่งในบุคคลสำคัญที่จะไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในสมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ที่มีคนพบเห็นเดินอยู่หลังเวทีชุมนุม กปปส.อยู่บ่อยครั้ง ว่ากันว่าเป็นตัวกำหนดเกมเป็นผู้อยู่เบื้องหลังคอยกำกับไม่ให้ กปปส.พูดถึงการปฏิรูปพลังงานอยู่ในขณะนี้

สำหรับ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อาจจะกล่าวได้เลยว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังวิกฤตพลังงานไทยมาถึงทุกวันนี้ ตั้งแต่ต้นจนจบ ขณะที่ประชาชนมักเข้าใจว่า นช.ทักษิณ เป็นคนแปรรูป ปตท.คำถามสำคัญก็คือใครเป็นคนชงเรื่องแปรรูปตั้งแต่แรก ตั้งแต่ปี 2541 แล้วจึงมาแปรรูปในสมัย นช.ทักษิณ เป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2544

เมื่อสืบค้นย้อนไปจะพบว่าก่อนที่จะมีการแปรรูป ปตท.ในปี 2544 พรรคการเมืองที่ได้มีแนวคิดจะเริ่มแปรรูป ปตท.ในสมัยนั้นหาใช่ใครกลับเป็นพรรคประชาธิปัตย์นั่นเอง ที่มีนายชวน หลีกภัย เป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่วันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2540 - 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2544

โดยการแปรรูป ปตท.ได้เกิดขึ้นในปี 2544 เป็นในช่วงที่พรรคประชาธิปัตย์ หมดอำนาจพอดิบพอดี เมื่อเรื่องได้ถูกชงไว้แล้วและอำนาจมาตกอยู่ที่ นช.ทักษิณ จึงไม่รีรอที่จะจัดการแปรรูป ปตท.เป็นรูปธรรม พอคนอย่าง นช.ทักษิณ เข้าสู่อำนาจมีหรือจะไม่จัดการแปรรูป ปตท.ให้เสร็จสรรพ

ขณะที่ตัวละครสำคัญยิ่งในการคิดค้นและชงเรื่องการแปรรูป ปตท.ก็คือ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ โดย นายปิยสวัสดิ์ ได้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2537 และอยู่ในตำแหน่งรวม 6 ปี ก่อนจะย้ายไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2543 แน่นอนว่านั้นเป็นช่วงที่การกำเนิดนโยบายแปรรูป ปตท.กำลังถือกำเนิดขึ้น คือในช่วงปี 2540-2543 โดยมี นายปิยสวัสดิ์ ให้การสนับสนุนการแปรรูป ปตท.

ย้อนไปเมื่อปี 2541 ขณะที่การแปรรูปรัฐวิสาหกิจเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของประชาชนเป็นจำนวนมาก นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ในขณะนั้นได้ให้สัมภาษณ์กับทางสถานีวิทยุ FM 101เมื่อ 10 มิถุนายน 2541 บางประโยคที่คนไทย ณ วันนี้ฟังแล้วเจ็บปวดหัวใจยิ่งก็คือ

“เป้าหมายผมคิดว่าต้องทำให้ได้ อันนี้สำคัญมาก ถ้าแปรรูปไปแล้วไม่เป็นไปตามเป้าหมาย อาจจะไม่แปรดีกว่า เช่น ถ้าเปลี่ยนการผูกขาดของภาครัฐเป็นเอกชน ถ้าเป็นอย่างนี้แล้วอยู่เฉยๆ ไม่ดีกว่าหรือ แปรรูปแล้วต้องให้ได้ตามเป้าหมาย”

“การแปรรูปไปแล้วก็ต้องทำให้มีการแข่งขันกันมากขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่คุณภาพบริการและราคาที่ต่ำลงเมื่อเทียบกับในกรณีไม่มีการแปรรูป หมายความว่าจะต้องแปรรูปในลักษณะให้มีการแข่งขันด้วย มีการแข่งขันอย่างแท้จริง เปิดกว้างทั้งหมด”

เพราะความเป็นจริงนั้น ที่ว่าเอาเงินเข้าประเทศแต่เมื่อแปรรูปแล้วเงินกลับไปเข้ากระเป๋าบริษัทเอกชนต่างๆ และไม่ได้เพิ่มการแข่งขันแต่กลับเกิดการผูกขาดอย่างไม่น่าเกิดขึ้น สวนกลับคำพูดของเขาชัดเจน ซึ่ง นายปิยสวัสดิ์ ยังเป็นคนริเริ่มการแปรรูปบริษัท ปตท.สำรวจและผลิต (ปตท.สผ.) ซึ่งการมีแปรรูปหลายครั้งในลักษณะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ และจนนำไปสู่การแปรรูป ปตท.ด้วยการผ่องถ่ายออกอยู่ตลอดเช่นกัน

ทบทวนความจำที่ตามหลอนท่านอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อีกสักเล็กน้อยว่า การแปรรูป ปตท.เพื่อทักษิณ ที่ถูกโจมตีมาอย่างต่อเนื่องนั้น นายปิยสวัสดิ์เข้าไปเกี่ยวข้องอย่างไรบ้าง

1.ในฐานะเป็นเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) และกรรมการและเลขานุการของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งเป็นผู้จัดทำและพิจารณาอนุมัติแผนการแปรรูป ปตท.ในปี 2544

2.ในฐานะเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการเตรียมการจัดตั้งบริษัท ปตท. ซึ่งทำหน้าที่ตราร่าง พ.ร.ฎ.เพื่อแปลงสภาพ ปตท.เป็น บมจ.ปตท ในปี 2544

3.ในฐานะเป็นกรรมการในคณะกรรมการดำเนินการระดมทุนจากภาคเอกชนในการแปรสภาพ ปตท.ซึ่งทำหน้าที่กำกับการประเมินทรัพย์สิน ราคาหุ้น และแนวทางการกระจายหุ้น ในปี 2544

4.ในฐานะที่ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการในบริษัทบางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) และบริษัทขนส่งน้ำมันทางท่อ จำกัด ซึ่ง ปตท.ถือหุ้นอยู่ด้วย

5.ในฐานะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และกรรมการ กพช. และ คณะกรรมการนโยบายทุนรัฐวิสาหกิจ (กนท.) ในปี 2549-2550 ซึ่งมีส่วนโดยตรงในการตรา พ.ร.ฎ.กำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2550 ซึ่งศาลปกครองสูงสุดพิพากษาว่าไม่ชอบโดยกฎหมายเช่นกัน

ขณะเดียวกันที่ต้องขีดเส้นใต้ตัวหนาๆ โดยฝีมือของนายปิยสัวสดิ์คือ การแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ฉบับที่ 6 พ.ศ.2550 มาตรา 28 เรื่องการจำกัดปริมาณแปลงและพื้นที่สัมปทานปิโตรเลียม โดยมาตรา 28 ที่ยาวเหยียด ถูกนายปิยสัวสดิ์ตัดเหลือเพียง 3 บรรทัด โดยหัวใจของมาตรานี้คือการจำกัดแปลงและจำกัดพื้นที่ของผู้รับสัมปทานเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการผูกขาดการผลิตปิโตรเลียมจากแผ่นดินไทย นอกจากนั้นยังพบว่าหลังการแก้ไขกฎหมายเสร็จสิ้น ปรากฎว่าพบ บริษัท “มูบาดาลา ปิโตรเลียม” ยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานในเครือมูบาดาลา หนึ่งในแขนขาด้านการลงทุนของแห่งอาบูดาบี ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) โดยขณะนั้นได้ประกาศลงในเว็บไซต์ว่าได้แปลงสัมปทานในเมืองไทยมากมายอีกด้วย

ปรากฏว่าจากเดิมบริษัทจะถือสัมปทานได้แค่ 20,000 ตร.กม.ตามที่กฎหมายกำหนด แต่พอแก้กฏหมายเสร็จ บริษัท “มูบาดาลา ปิโตรเลียม” ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ว่าได้ถือสัมปทานในปี 2553 ไว้ถึง 100,622 ตร.กม.โดยในปี 2550 ที่นายปิยสวัสดิ์ นั่งเป็น รมว.กระทรวงพลังงาน บริษัท “มูบาดาลา ปิโตรเลียม”ได้สัมปทานไปทั้งหมดถึง 5 แปลง ภายในปีเดียว

ขณะที่รายงานประจำปีของบริษัทเชฟรอน ในปี 2553 ระบุว่าได้แปลงสัมปทานในประเทศไทยที่เดียวสูงถึง 72,742 ตร.กม.หรือ 17,975,000 เอเคอร์ ในขณะที่เมื่อเทียบสัดส่วนการให้พื้นที่ของประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชีย มีความแตกต่างแบบชนิดไม่เห็นฝุ่น โดยบริษัทเชฟรอนถือครองมากที่สุดไม่เกิน 10 ล้านเอเคอร์

ยิ่งสลดหดหู่เข้าไปอีกหากไปเทียบกับจำนวนพื้นที่สัมปทานที่มีอยู่ในประเทศไทยในปี 2553 มี 274,635 ตร.กม.กลับมีเพียง 2 บริษัทที่ได้ไป คือบริษัท “มูบาดาลา ปิโตรเลียม” ได้ไป 100,622 ตร.กม.และบริษัท “เชฟรอน” ได้ไป 72,742 ตร.กม.รวมแล้วกว่า 173,364 ตร.กม.

ส่งผลให้ทุกวันนี้ บริษัท เชฟรอน สามารถผลิตปิโตรเลียมได้เกินกว่าครึ่งของที่ผลิตในไทย ดังนั้นเท่ากับว่า กว่าครึ่งหนึ่งของพลังงานที่คนไทยใช้อยู่ขึ้นอยู่กับบริษัท เชฟรอน บริษัทเดียว จึงเป็นอันตรายอย่างมากที่ปล่อยให้บริษัทต่างชาติผลิตปิโตรเลียมได้ถึงครึ่งหนึ่งจากที่คนไทยใช้อยู่ และนี่คือผลงานของนายปิยสวัสดิ์ล้วนๆ ที่อ้างอยู่เสมอว่าเปิดเสรีการค้าจะได้เกิดการแข่งขัน แต่ความจริงกลับสวนทางเป็นการผูกขาด

ตามปกติแล้วทุกประเทศจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียมเพื่อให้ได้เงินมากขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันสูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ประเทศไทยไม่ได้ปรับเรื่องส่วนแบ่งกำไรเลย โดยที่นายปิยสวัสดิ์ทำสิ่งที่เรียกว่ายกเลิกเรื่องการจำกัดจำนวนแปลงสัมปทานไม่เกิน 4-5แปลง หรือไม่เกิน 20,000 ตร.กม.เพื่อไม่ให้เกิดการผูกขาด หมายความว่าใครก็สามารถครอบครองมากเท่าใดก็ได้หรือจะยึดครองทั้งประเทศเลยก็ย่อมเป็นไปได้

นอกจากนั้น ยังมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม (ฉบับที่ 6) พ.ศ.2550 เช่น การลดหย่อนค่าภาคหลวงจากเดิมที่สามารถลดได้ในอัตราร้อยละ 30 กรณีในพื้นที่ที่มีปัญหา เปลี่ยนให้ลดค่าภาคหลวงได้ร้อยละ 90 จะต่างอะไรกับการไม่เก็บค่าภาคหลวงเลย

สำหรับวีรกรรมของอดีตรัฐมนตรีพลังงานในยุคขิงแก่เกี่ยวกับการให้สัมปทานปิโตรเลียม ยังมีเรื่องให้ตั้งคำถามกันอีก เช่น การอนุมัติการต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมให้แก่บริษัท เชฟรอน (ประเทศไทย) สำรวจและผลิต จำกัด และบริษัท มิตซุย ออยล์ เอ็กซ์พลอเรชั่น จำกัด ล่วงหน้าก่อนหมดอายุสัมปทานถึง 5 ปี ทั้งที่ตามสัมปทานปิโตรเลียม เลขที่ 1/2515/5 จะสิ้นสุดลงในวันที่ 23 เมษายน 2555 แต่คำถามดังกล่าวจนป่านนี้ยังหาคำตอบไม่ได้ว่า เหตุไฉนกระทรวงพลังงานจึงเร่งร้อนอนุมัติให้ก่อน โดยต่อเวลาสัมปทานไปอีก 10 ปี มีผลตั้งแต่ 24 เมษายน 2555-23 เมษายน 2565

สิ่งที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่งที่ประชาชนทั้งประเทศควรรู้ไว้ก็คือ การอนุมัติสัมปทานปิโตรเลียมหลังจากแก้ไขกฎหมายข้างต้นเพียง 2 เดือน ทิ้งทวนก่อนรัฐบาลขิงแก่จะหมดอายุลงในอีก 42 วัน รวมทั้งสิ้น 22 สัมปทาน รวม 27 แปลงสำรวจ ในเวลาไล่เลี่ยกันคือ มติ ครม.เมื่อวันที่ 22 ต.ค.2550 จำนวน 4 แปลงสัมปทาน 4 แปลงสำรวจ, มติ ครม.11 ธ.ค.2550 จำนวน 7 สัมปทาน 10 แปลงสำรวจ และมติ ครม.18 ธ.ค.2550 จำนวน 11 สัมปทาน 13 แปลงสำรวจ เรียกว่ากระหน่ำออกสัมปทานเป็นว่าเล่นเลยทีเดียว แปลเป็นไทยก็คือรีบอนุมัติก่อนคณะรัฐมนตรีขิงแก่จะหมดอำนาจเพียงเดือนครึ่งเท่านั้นเอง

อีกผลงานชิ้นโบดำที่อดจะกล่าวถึงเสียมิได้ก็คือ กรณีแปรรูป ปตท.ที่มูลนิธิผู้บริโภคฟ้องคดีต่อศาลปกครองสูงสุดเมื่อปี 2550 นั้น ก่อนหน้าที่จะมีคำพิพากษาเพียง 3 วัน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในช่วงรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ได้ออก พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 เพื่อมาแก้ไขความไม่ถูกต้องไม่ชอบด้วยกฎหมายของการแปรรูป ปตท.

นั่นเป็นฝีมือการผลักดันและชงเรื่องของรัฐมนตรีพลังงานชื่อ ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ เพราะด้วยการออก พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงานดังกล่าว ทำให้ศาลมีคำพิพากษาโดยใช้หลักรัฐศาสตร์ ว่ากระบวนการแปรรูป ปตท.นั้นผิด แต่หากกลับคืนสู่สภาพเดิมจะทำให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง จึงตัดสินแค่ให้เอาท่อส่งก๊าซฯ ที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินกลับคืน ซึ่งจนถึงเวลานี้ ปตท.ก็ยังคืน ยังไม่ครบด้วยซ้ำไป

ทั้งหมดทั้งปวงเป็นบทพิสูจน์มัดตัวว่า การแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม นอกจากคนไทยจะไม่ได้ประโยชน์อันใดเพิ่มแล้วยังกลับถูกกระหน่ำซ้ำเติมให้แย่ลงไปอีก ด้วยยกเลิกการจำกัดพื้นที่สัมปทานที่เป็นสัมทานรูปแบบเดิม ซึ่งอาจนำไปสู่การผูกขาดมากกว่าเดิม คือยิ่งแก้ยิ่งกลับไปสู่สัมปทานยุคโบราณที่อาจนำชาติไปสู่ความเสี่ยงเรื่องการผูกขาดพลังงานหรือไม่ เป็นสิ่งที่น่าคิด

แน่นอนจึงไม่พ้นต้องมีคำถาม เมื่อเห็นนายปิยสวัสดิ์ เดินอยู่หลังเวที กปปส.ว่าเป็นคนจัดหาทุนจากกลุ่มพลังงานมาหรือไม่ คนที่เวที กปปส.จึงได้มีความเกรงอกเกรงใจอยู่เสมอ โดยเฉพาะเวทีหลักที่มีการถ่ายทอดสดทางทีวี ซึ่งไม่ทราบได้ว่าเป็นการไปกำกับมิให้ใครขึ้นไปบนเวทีชำแหละเรื่องปฏิรูปงานหรือไม่

และด้วยเหตุนี้กระมังที่ กำนันสุเทพเกรงอกเกรงใจอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานที่มีบทบาทสำคัญอยู่เบื้องหลังนโยบายด้านพลังงานของประเทศ และนั่งอยู่หลังเวที กปปส.เหมือนคอยกีดกันไม่ให้ใครที่จะพูดถึงเรื่องนี้นอกกรอบ หลุดรอดขึ้นเวทีไปได้ เพราะถ้าปล่อยให้มีการพูดถึงเรื่องพลังงาน ซึ่งแน่นอนต้องมีประเด็นการแปรรูป ปตท.มีเรื่องสัมปทานปิโตรเลียม อยู่ด้วยนั้น ขุดไปคุ้ยมาจะกลับมาทิ่มแทงพรรคประชาธิปัตย์เอง

เรื่องที่เกิดขึ้นนี้ กำนันสุเทพ และพรรคประชาธิปัตย์ จะเป็นอย่างที่ประชาชนครหากันหรือไม่ว่าเรื่องพลังงานนั้นไม่มีพรรคมีแต่พวก และสามารถแปลงร่างเป็นพวกหิวกระหายสูบกินเลือดเนื้อประชาชนได้ทั้งนั้นไม่เว้นว่าใคร

เมื่อถึงตรงนี้แล้ว มวลมหาประชาชนและประชาชนทั้งประเทศ จะเคลิ้มตามหรือเชื่อใจแกนนำ กปปส.ที่พูดบนเวทีอยู่ได้อย่างไรว่าจะมีการปฏิรูปพลังงานเป็นรูปธรรม เมื่อปีศาจร้ายตัวจริงของพลังงานไทยยังคงอยู่รอบตัวของเขาเหล่านั้น และเหล่าขบวนการผู้เป็นต้นคิดริเริ่มนำหายนะด้านพลังงานมาสู่ประชาชนทำให้ถูกเอาเปรียบด้านพลังงานมาช้านานก็หาใช่ใครอื่นอีกต่างหาก

กำลังโหลดความคิดเห็น