xs
xsm
sm
md
lg

คสช.สั่งลดราคาดีเซล14สต./ลิตร จ่อรื้อพลังงาน พร้อมทบทวนเมกะโปรเจ็กต์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง”เป็นประธานประชุม กบง. นัดแรก ประเดิมสั่งลดราคาขายปลีกดีเซลลง 14 สต./ลิตร มีผลวันที่ 13 มิ.ย. ทำให้ราคาเหลือ 29.85 บาทต่อลิตร แอลพีจีภาคครัวเรือนตรึงไว้ที่ 22.63 บาท/กก. จนกว่าจะ ปรับโครงสร้างทั้งระบบไม่เกินสิ้นเดือนนี้มีคำตอบ พร้อมประสานทุกฝ่ายที่มีข้อมูลพลังงานถก 15 มิ.ย.นี้หาข้อเท็จจริงประเด็นร้อนทั้งไทยมีน้ำมันเหลือเฟือ แต่ราคาแพงลิบลิ่ว จับตาโครงการขนาดใหญ่ เข้าข่ายทีมตรวจสอบงบประมาณ คสช.สั่งทบทวนเมกะโปรเจกต์ที่วงเงินเกิน 1 พันล้าน

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจและทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจเปิดเผยหลังการเป็นประธานประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงาน(กบง.) นัดแรกวานนี้ ( 12 มิ.ย.57) ว่า กบง.ได้พิจารณาค่าการตลาดของน้ำมันดีเซลที่พบว่าสามารถจะลดราคาขายปลีกให้ประชาชนได้ 70 สตางค์ต่อลิตรแต่เนื่องจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงมีฐานะติดลบจึงมีมติให้เก็บเงินดีเซลเข้ากองทุนน้ำมันฯ 56 สตางค์ต่อลิตรที่เหลือ 14 สตางค์ต่อลิตรให้ผู้ค้าน้ำมันลดราคาขายปลีกกับประชาชนลงทำให้ราคาดีเซลเขตกทม.และปริมณฑลจากที่ตรึงไว้ 29.99 บาทต่อลิตรเหลือ 29.85 บาทต่อลิตรมีผล 13มิ.ย.เป็นต้นไปจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงใหม่

“ ราคาแอลพีจีครัวเรือนก็ยังคงตรึงที่ 22.63 บาทต่อกิโลกรัมต่อไปก่อนจนกว่าจะมีการปรับโครงสร้างราคาพลังงานภาพรวมเพราะฐานะกองทุนน้ำมันฯยังติดลบก็กำลังหาวิธีซึ่งจะได้ภาพที่ชัดเจนทั้งหมดทั้งแอลพีจีครัวเรือน ขนส่ง น้ำมันไม่เกินสิ้นเดือนมิ.ย.นี้ ส่วนการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) คงจะต้องประสานหัวหน้าคสช.ซึ่งเป็นประธานอีกครั้งหนึ่ง”พล.อ.อ.ประจินกล่าว

นอกจากนี้ในวันที่ 15 มิ.ย.จะได้ประสานเชิญทุกฝ่ายที่มีข้อมูลด้านพลังงานมาหารือถึงประเด็นที่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันได้แก่ ประเทศไทยมีพลังงานมากน้อยเพียงใด มีการนำเข้ามาจากต่างประเทศหรือไม่ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลที่สับสนว่าไทยมีการจำหน่ายน้ำมัน และแก๊สออกไปยังต่างประเทศจำนวนมาก รวมถึงจะต้องยุบกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงหรือไม่ยุบแล้วจะทำเช่นไร และแหล่งพลังงานไทยจะหมดในเร็วๆ นี้จะเกี่ยวข้องกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบใหม่อย่างไร ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะต้องมาวิเคราะห์และรับฟังจากทุกฝ่ายก่อนที่จะมีการนำเสนอต่อหัวหน้าคสช.ให้พิจารณาเพื่อนำมาเปิดเผยข้อมูลที่เป็นจริงให้กับประชาชนต่อไป

สำหรับการประชุมกบง.ได้มีการรายงานถึงความคืบหน้าการเตรียมพร้อมรองรับการหยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติไทย-มาแลเซียหรือJDA ระหว่าง 13 มิ.ย.-10ก.ค. นี้โดยคณะทีมเศรษฐกิจจะมีการลงพื้นที่ไปยังภาคใต้ดูแลปัญหาดังกล่าวระหว่าง 13-15 มิ.ย.นี้ อย่างไรก็ตามจากการรายงานมีการแก้ไขปัญหาการผลิตที่ตึงตัวโดยจะมีการส่งไฟฟ้าเพิ่มจากบมจ.ราชบุรีโฮลดิ้งจาก 500 เมกะวัตต์เป็น 950 เมกะวัตต์และทางมาเลเซียจะป้อนไฟมาให้อีก 300 เมกะวัตต์

“JDAหยุดทำให้โรงไฟฟ้าจะนะหายไป 710 เมกะวัตต์จึงต้องหาไฟฟ้ามาป้อนเพิ่มเวลานี้ทุกฝ่ายก็ยืนยันว่าจะไม่มีปัญหาใดๆ แน่แต่ก็เพื่อความมั่นคงก็จะขอความร่วมมือจากประชาชนช่วยกันลดการใช้ไฟในช่วง 28 วันดังกล่าวลงเพื่อลดความเสี่ยงให้มากที่สุดด้วย”พล.อ.อ.ประจิน กล่าว

*** จับตาคสช.รื้อเมกะโปรเจกต์

กรณีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีมติให้ตรวจสอบโครงการขนาดใหญ่ ที่ยังคงค้างการเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2557 โดยเฉพาะโครงการที่มีมูลค่าเกินกว่า 1,000 ล้านบาท ซึ่งมีจำนวน 8 โครงการ และ 1 หน่วยงาน เพื่อให้เกิดความโปร่งใส และหากเห็นโครงการใดไม่เหมาะสมให้ยกเลิกทันที

ทั้งนี้ พล.ท.อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธานคณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) ได้ส่งรายละเอียดดังกล่าวให้กระทรวงคมนาคมรับทราบแนวทางการทบทวนโครงการที่มีงบประมาณในการดำเนินการจำนวนมาก โครงการที่ไม่คุ้มค่า สำหรับโครงการในกระทรวงคมนาคม ที่มีมูลค่าลงทุนเกิน 1,000 ล้านบาท ประมาณ 5-10 โครงการ ในขั้นต้นจะให้ฝ่ายต่างๆ พิจารณาตรวจสอบก่อน โดยหลังจากนี้จะต้องนำรายละเอียดไปเสนอ คตร.พิจารณาในวันที่ 18 มิ.ย.นี้

ผู้สื่อข่าว “ASTVผู้จัดการ” ตรวจสอบโครงการที่มีมูลค่าเกิน 1 พันล้านบาท ที่คาดว่าจะถูกทบทวน ได้แก่ โครงการขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ทั้งระบบ เช่น โครงการรถไฟฟ้าและรถไฟชานเมืองของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (รฟม.) ที่ใช้งบ 6.26 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (บางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค) 1.94 หมื่นล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีเขียว (แบริ่ง-สมุทรปราการ) 3.94 พันล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม (หมอชิต-สะพานใหม่) 6.59 พันล้านบาท รถไฟฟ้าสายสีม่วง (บางใหญ่-บางซื่อ) 8.9 พันล้านบาท โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง รวมมูลค่าประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท โครงการรถไฟความเร็วสูง 4 สาย มูลค่า 783,229 ล้านบาท โครงการรถไฟรางคู่ 6 เส้นทางทั่วประเทศ 130,000 ล้านบาท

โครงการท่าเรือเชียงแสนแห่งที่ 2 โครงการก่อสร้างท่าเรือปากบาราเชื่อมท่าเรือทวาย เขื่อนยกระดับแม่น้ำเจ้าพระยา และสถานีขนส่งสินค้าชายแดน และจัดหารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน ด้วยวิธีจัดซื้อ 3,000 คัน วงเงินกว่า 10,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังพบว่า อาจจะรวมไปถึงโครงการขนาดใหญ่ เพื่อให้ จ.เชียงใหม่ กลายเป็นเมืองระดับโลก หรือ โครงการ“พิงค์นคร” โครงการก่อสร้างศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ ในการปรับปรุงเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี (สวนสัตว์กลางคืน) อุทยานช้าง ในเนื้อที่ 6.000 ไร่ ติดกับไนท์ซาฟารี โครงการสปาระดับโลก โครงการอควาเรี่ยมภายในสวนสัตว์เชียงใหม่ โครงการธีมปาร์ค หรือสวนสนุกและเครื่องเล่นระดับโลก โครงการพัฒนระบบขนส่งมวลชนแบบโมโนเรล (รถไฟรางเดี่ยว) เชื่อมระหว่างเชิงดอยสุเทพเข้าสู่เมืองเชียงใหม่ ฯลฯ

ขณะที่โครงการที่น่าจะถูกจับตา และมีการเดินหน้าต่อเนื่องจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้แก่ "ทวายโปรเจ็กต์" หลังจากมีการจัดตั้งนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle) หรือเอสพีวี ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง 4 ประเทศโดยมีไทยกับพม่าเป็นหลักเพื่อจัดการบริหารโครงการ ซึ่งมีมูลค่าลงทุนราว 4 แสนล้านบาท ในพื้นที่ 204.5 ตารางกิโลเมตร หรือคิดเป็นพื้นที่ประมาณ 127,812 ไร่ ก่อนหน้านี้ ประธานคณะกรรมการประสานงานระหว่างไทย-เมียนมาร์เพื่อการพัฒนาเขตเศรษฐกิจทวายและพื้นที่โครงการที่เกี่ยวข้อง(เจซีซี)ซึ่งมีนายนิวัตน์ธำรง บุญทรงไพศาล เป็นประธานฝ่ายไทย ได้จัดตั้งเอสพีซี (Special Purpose Companies)ขึ้นมาอีก 8 บริษัท โดยมีบริษัทอิตาเลียนไทยดิเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ไอทีดี ถือหุ้นในแต่ละบริษัท 25% ส่วนที่เหลือจะเปิดให้นักลงทุนที่สนใจเข้าร่วมทุน ซึ่งประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรม ไฟฟ้า น้ำ ถนน ท่าเรือ รถไฟ โทรคมนาคม และชุมชนที่อยู่อาศัย

โครงการนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้แกนนำรัฐบาลเข้าไปสนับสนุนทุกรูปแบบ โดยเฉพาะในด้านการเงิน โดยดึงบุคลากรที่มีฝีมือด้านการต่างประเทศและมีคอนเน็กชั่นกับรัฐบาลพม่า ในพรรคเพื่อไทย มาเป็นตัวช่วยในการผลักดันให้เฟสแรกของการลงทุนสำเร็จเป็นรูปธรรม โดยเป็นโครงการก่อสร้างโรงถลุงเหล็ก โรงงานปุ๋ย โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงกลั่นน้ำมัน และท่าเรือ
กำลังโหลดความคิดเห็น