xs
xsm
sm
md
lg

เปิดงานวิจัย รับประทานไข่ไก่ ดีจริงหรือเปล่า? (ตอนจบ)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ณ บ้านพระอาทิตย์
โดย...ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

แม้ว่าไข่ไก่จะมีประโยชน์แต่ก็จากงานวิจัยในตอนที่แล้วก็มีความชัดเจนว่าผู้ป่วยที่มีโรคเบาหวานไม่ควรบริโภคไข่ไก่เลย ในขณะเดียวกันสำหรับคนที่ไม่ได้รับประทานอาหารมังสวิรัติแล้วต้องการบริโภคไข่ไก่ก็ไม่ควรบริโภคเกิน 1-2 ฟองต่อวัน จะไม่มีความเสี่ยงในเรื่องโรคหลอดเลือดและโรคหัวใจ

แต่ในเรื่องที่ข้อพิจารณาจากการเก็บข้อมูลก็มีเรื่องที่น่าสนใจเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะความสัมพันธ์เกี่ยวกับโรคต่างๆมีความสัมพันธ์กับการบริโภคไข่ไก่หรือไม่ โดยเฉพาะพบข้อมูลที่เกี่ยวกับโรคมะเร็งนั้น มีการแนะนำกันว่าการบริโภคไข่ไก่นั้นเกิดข้อสงสัยว่าอาจทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ และโรคมะเร็งอื่นๆได้ โดยเฉพาะในช่วงหลังนั้นมีข้อสงสัยเกี่ยวกับมะเร็งต่อมลูกหมากกับการบริโภคไข่ไก่ด้วยความจริงในเรื่องนี้เป็นอย่างไร?

มีงานวิจัยในวารสารป้องกันมะเร็งแห่งเอเชียแปซิฟิก (Asian Pacific Journal of Cancer Preventing) เมื่อปีพ.ศ. 2552 โดย Aune D และคณะได้มีกรณีศึกษาพื้นที่ผู้ป่วยมะเร็ง 11 แห่งในประเทศอุรุกวัย ระหว่างปี พ.ศ. 2539 - พ.ศ. 2547 รวมรวมจำนวนผู้ป่วยมะเร็งได้ถึง 3,539 คน และมีการควบคุมในโรงพยาบาลถึง 2,032 คน โดยพบว่า

"การบริโภคไข่ที่มากขึ้นนั้นจะเพิ่มอัตราเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งหลายชนิด แต่งานวิจัยดังกล่าวก็ยังต้องการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป"

งานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ต้องกล่าวถึงต่อมาก็คืองานวิจัยของ Erin L. Richman และคณะจากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย เมืองซาน ฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เริ่มต้นงานวิจัยในปี พ.ศ. 2537 ที่คณะนักวิจัยได้รวบรวมกลุ่มตัวอย่างที่เป็นชายจำนวนมากถึง 27,607 คนในสหรัฐอเมริกา ที่ไม่ได้มีโรคมะเร็ง และเก็บตัวอย่างพฤติกรรมการกินทุกๆ 4 ปี และตรวจหามะเร็งต่อมลูกหมากทุก 2 ปี และหากตรวจพบมะเร็งต่อมลูกหมากก็ให้ติดตามผลการรักษาและอาการป่วยทุกๆ 2 ปี โดยติดตามมาต่อเนื่องถึง 14 ปี จนถึงปี พ.ศ. 2551 แล้วรายงานผลเมื่อปี พ.ศ. 2554 ที่ผ่านมา

ผลการศึกษาครั้งนั้นพบว่าจากผู้ที่สำรวจ 27,607 คนมีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก 199 คน โดยนักวิจัยได้วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการกินและความเสี่ยงในการเสียชีวิตของโรคมะเร็งต่อมลูกหมากแล้วสรุปได้ว่า:

1. ผู้ชายที่บริโภคไข่มากกว่า 2.5 ฟองต่อสัปดาห์ จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นถึง 81% ที่จะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก เมื่อเปรียบเทียบกับชายที่บริโภคไข่ไก่ต่ำกว่าครึ่งฟองในหนึ่งสัปดาห์ (แปลว่ากินน้อยไม่เสี่ยงหรือแทบไม่กินเลยแทบไม่มีความเสี่ยง)

2. ความสำคัญระหว่างการบริโภคไข่ไก่โดยเฉลี่ยและความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคมะเร็งต่อมลูกหมากนั้นพบว่า การบริโภคไข่นั้นไม่มีความสัมพันธ์แบบมีนัยยะสำคัญเมื่อนักวิจัยได้วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รวบรวมต่อเนื่องไปจนถึงจุดที่ผู้ป่วยได้เสียชีวิตลง


3. ไม่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยยะสำคัญระหว่างการบริโภคเนื้อแดง และความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

4. ผู้ชายที่บริโภคทั้งเนื้อแดงและไข่ไก่ มีแนวโนมที่จะออกกำลังกายน้อยและมีน้ำหนักมากเมื่อเทียบกับส่วนสูง และมักจะสูบบุหรี่ ซึ่งมักพบในครอบครัวที่มีประวัติของโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

จะเห็นได้ว่าแม้งานวิจัยชิ้นนี้จะได้ศึกษานานถึง 14 ปี และใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวนมากถึง 27,607 คน แต่ก็ยังมีจุดอ่อนที่พบเพียงผู้ที่เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากเพียงแค่ 199 คนเท่านั้น และดูเหมือนว่ายังมีตัวแปรที่ยังควบคุมไม่ได้อยู่ด้วยวเช่น การบริโภคอาหารที่เราควบคุมให้เกิดการเปรียบเทียบได้น้อยเกินไป ทำให้ขาดพลังในงานวิจัยที่จะยังสรุปสาเหตุด้วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมากจากไข่ตรงๆได้ รวมถึงยังอาจขาดตัวแปรอื่นๆ เช่น การบริโภคผักผลไม้มากหรือน้อย การบริโภคไขมัน การออกกำลังกาย อารมณ์ ฯลฯ ถึงกระนั้นข้อมูลที่ปรากฏนี้เราควรจะต้องพิจารณาเมื่อมีผู้ป่วยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก

และความขัดแย้งในการวิเคราะห์ผลเรื่องของไข่กับโรคมะเร็งนั้น ยังมีให้เห็นเช่นกัน โดยล่าสุดเมื่อปี พ.ศ. 2555 วารสารป้องกันมะเร็งแห่งเอเชียแปซิฟิก (Asian Pacific Journal of Cancer Preventing) นักวิจัยชาวจีนโดย Bo Xie และคณะ ได้การสังเคราะห์งานวิจัยด้วยวิธีวิเคราะห์อภิมาน (META – ANALYSIS) ด้วยการบูรณาการจากงานวิจัยหลายชิ้น แล้วสรุปว่า:

"ไม่มีหลักฐานในอิทธิพลอันสำคัญของการบริโภคไข่ที่มีต่อการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก และการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก" แต่ก็ยังทิ้งท้ายในตอนสรุปในงานวิจัยว่ายังต้องมีการศึกษาขนาดใหญ่เพิ่มเติมอีกเช่นกัน

แต่ด้วยความสับสนในงานวิจัยเช่นนี้ ทำให้เราอาจต้องใช้วิธีอื่นเพิ่มเติมในการตัดสินใจว่าจะบริโภคไข่มากหรือน้อยต่อไปหรือไม่อย่างไร หรือจะไม่บริโภคดีสำหรับคนที่ไม่ได้รับประทานอาหารมังสวิรัติ ก็น่าจะเป็นการสำรวจทางสถิติจาก 164 ประเทศทั่วโลก ในปี พ.ศ. 2546 - 2547 แล้วนำมาเขียนกราฟเกี่ยวกับเรื่องการบริโภคไข่พบเรื่องที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
<b>1.ประเทศที่มีผู้ใหญ่ที่อายุระหว่าง 15-64 ปีที่บริโภคไข่มากกว่ามีแนวโน้มที่จะมีอัตราการเสียชีวิตต่ำกว่าประเทศที่บริโภคไข่น้อยกว่า (ตามกราฟที่ 1) </b>
<b>2.ประเทศที่บริโภคไข่ไก่มากกว่ามีแนวโน้มที่จะมีอายุยืนมากกว่าประเทศที่บริโภคไข่ไก่น้อยกว่า และที่น่าสนใจคือ ประเทศที่บริโภคไข่ไก่มากที่สุด อย่างเช่นญี่ปุ่นนั้นคือบริโภคไข่ไก่เกือบ 2.71% ของพลังงานที่บริโภคทั้งหมด แต่กลับมีอายุยืนยาวที่สุด (ตามกราฟที่ 2) </b>
<b>3.ประเทศที่บริโภคไข่ไก่มากดูเหมือนจะยังหาความสัมพันธ์ไม่ได้กับประเทศที่บริโภคไข่ไก่น้อย (ตามกราฟที่ 3) </b>
แล้วสำหรับคนที่รับประทานอาหารมังสวิรัติจะทำอย่างไร คำตอบโดยง่ายก็คือหากต้องการแหล่งคอเลสเตอรอล เพื่อนำมาใช้สังเคราะห์เป็น ฮอร์โมน น้ำดี เยื่อหุ้มเซลล์ เซลล์สมอง ฉนวนหุ้มปลายประสาท วิตามินดี หนทางหนึ่งก็คือการเพิ่มอัตราการเผาผลาญให้สูงขึ้น และหนึ่งในวิธีนั้นก็คือการดื่มน้ำมันมะพร้าวเพื่อเพิ่มพลังงานให้แก่ตับในการสังเคราะห์ทั้งคอเลสเตอรอลได้เอง และนำคอเลสเตอรอลมาสังเคราะห์เพิ่มฮอร์โมน น้ำดี เยื่อหุ้มเซลล์ เซลล์สมอง ฉนวนหุ้มปลายประสาท วิตามินดี ให้กับร่างกายเราได้เช่นกัน ดังนั้นจึงขอแนะนำอย่างยิ่งยวดว่าคนที่รับประทานอาหารมังสวิรัติเมื่อไม่รับประทานไข่ไก่แล้ว ก็ควรจะดื่มน้ำมันมะพร้าวด้วย

แต่ถ้าจะให้แนะนำสำหรับคนที่ยังต้องการบริโภคไข่ไก่อยู่ ในความเห็นของผมจากการอ่านงานวิจัยขอสรุปได้ว่าสำหรับคนปกติหากรับประทาน 1-2 ฟองต่อวันไม่เป็นปัญหา แต่สำหรับคนที่เป็นโรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง งดรับประทานไข่น่าจะดีกว่า


กำลังโหลดความคิดเห็น