xs
xsm
sm
md
lg

มาร์คดักคอแผนปรองดอง นิรโทษยกเข่งปัญหาไม่จบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงแนวทางการบริหารประเทศ และการดำเนินนโยบายด้านความมั่นคงของ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช. ) ว่า ขณะนี้ยังมองไม่เห็นภาพชัด จนกว่าจะมีธรรมนูญการปกครอง และการปรับโครงสร้าง ว่าใครรับผิดชอบ ด้านไหน แต่สิ่งที่ทำไปแล้วบางเรื่องคงเป็นการตอบโจทย์ของเหตุการณ์เฉพาะหน้า เช่น การเร่งจ่ายเงินให้ชาวนา การใช้อำนาจเพื่อควบคุมสถานการณ์ในขณะนี้ น่าจะเป็นช่วงที่จะคลี่คลายลงในลำดับ จึงมองไม่เห็นว่าจะใช้อำนาจในลักษณะนี้ไปได้ยาวนานแค่ไหน เพราะสภาพสังคม เป็นไปได้ยาก
ส่วนจุดที่จะมีปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ คือ มวลชน กับสภาพความอึดอัดของข้อมูลข่าวสาร ซึ่งต้องจับตาดู บางเรื่องที่เริ่มปรากฏ เช่นการตั้งศูนย์ปรองดอง ที่ยังไม่ชัดเจนว่า มีการตั้งโจทย์อย่างไร
"ผมยืนยันว่า หากมีการตั้งโจทย์ว่า การปรองดอง เป็นเรื่องของการต่อรองผลประโยชน์ทุกฝ่าย ก็จะเป็นการตั้งโจทย์ที่ผิด จะกลายเป็นปัญหาให้เกิดความขัดแย้งมากขึ้น โดยเฉพาะที่ผ่านมาหลายครั้ง มีการนำความปรองดองไปใช้ แล้วนำไปสู่การนิรโทษกรรม แต่หากพยายามเอาแนวหลักคิดของทุกฝ่าย ที่เป็นเรื่องของประโยชน์ส่วนรวมมาประสาน ก็จะเป็นทางออกได้ ผมหวังว่า คสช. จะไม่นำไปสู่การนิรโทษกรรม เพราะหากถ้าเป็นเช่นนั้น ก็จะเป็นตัวนำไปสู่ความวุ่นวาย การจะสร้างความชอบธรรมให้กับทุกฝ่าย คือ ทำให้ทุกฝ่ายเคารพกฎหมาย ต้องยอมรับ หรือรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเองที่ทำไป ไม่ว่าจะเป็นสีไหน หรือเป็นใคร ต้องยอมรับการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ทาง คสช.ไม่ควรลืมว่า มีหลาย ประเด็นที่เป็นการขับเคลื่อนของมวลชนมาก่อนหน้านี้ เช่น ปัญหาการทุจริต คอร์รัปชัน ควรเป็นสิ่งแรกที่ต้องมีการปฏิรูป เพื่อทำให้เกิดเป็นรูปธรรมออกมา ว่าจะทำอย่างไรให้ดีขึ้น ซึ่งข้อเสนอหลายฝ่าย มีพร้อมที่จะให้อยู่แล้ว ทั้งภาคประชาชน และพรรคการเมือง โดยเฉพาะพรรคประชาธิปัตย์ เรามีข้อเสนออยู่แล้ว"

**อย่าละเลยปัญหาทุจริต
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ถือเป็นครั้งแรกที่แถลงการณ์ยึดอำนาจ ไม่มีการพูดถึงการทุจริตคอร์รัปชัน แต่เป็นปัญหาที่อยู่ในใจคนไทยมากที่สุด ก่อนที่จะเกิดวิกฤตทางการเมือง พวกตนเป็นนักการเมืองกลุ่มแรก ที่ยอมรับว่า ประชาชนเสื่อมศรัทธาในตัวพรรคการเมือง และนักการเมือง
ดังนั้น คสช. ต้องสร้างระบบการเมืองที่ดีขึ้น ทำให้พรรคการเมืองและนักการเมือง มีพฤติกรรมที่ดีขึ้น หากจะต้องดึงพรรคการเมือง และนักการเมืองเข้าไป ตนไม่แน่ใจว่า ประชาชนจะยอมรับหรือไม่
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้ คสช.มีอำนาจเต็มอยู่แล้ว ถือเป็นโอกาสที่จะทำให้บ้านเมืองไปในทิศทางที่ดีขึ้น คสช. ควรทำอะไรบ้าง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. และหัวหน้า คสช.ได้ประกาศแล้วว่า ต้องการให้บ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติในการปฏิรูป จากนี้ต้องทำให้เป็นรูปธรรมเท่านั้น รายชื่อคณะที่ปรึกษาต่างๆ ที่ออกมา หลายคนคาดการณ์ได้อยู่ ว่าเป็นบุคคลที่คงจะสามารถให้คำแนะนำปรึกษาได้ แต่อย่าลืมว่า การบริหารจริง ไม่ได้อยู่ที่คณะที่ปรึกษา การตัดสินใจต่างๆ ยังต้องพึ่งคสช. และข้าราชการอยู่ บางเรื่องข้าราชการคงทำงานได้ ในการบริหารจัดการโครงการตามปกติ และอาจจะทำได้ดี หากไม่มีการเมืองเข้าไปแทรกแซงผลประโยชน์ แต่งานปฏิรูป คงต้องพึ่งภาคส่วนอื่นที่ไม่ใช่ข้าราชการ หลายเรื่องที่ประชาชนคาดหวังให้มีการปฏิรูป ต้องมีการลดทอน อำนาจรัฐจ ะหวังพึ่งให้ คสช. และราชการคิดเอง คงไม่ได้
ส่วนการที่ คสช. มีอำนาจเต็ม ทั้งนิติบัญญัติ และตุลาการ ที่มีบางคดีต้องขึ้นศาลทหาร จะดำรงสภาพไปนานแค่ไหน จนกว่าจะเกิดการยอมรับ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแต่ละฝ่าย แต่สถานการณ์จะเป็นตัวกำหนด ไม่สามารถบ่งบอกได้ว่า กี่วัน หากมีความสงบเรียบร้อย ผู้นำมวลชนไม่ออกมาเคื่อนไหว ก็จะเร็วได้ เพราะการอยู่ในสภาพเช่นนี้จะทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัดสะสม โดยเฉพาะปัญหาแรกคือ สื่อสารมวลชน
**แนะปฏิรูปตร.ตามแนวทาง”วสิษฐ์”
ส่วนแนวทางการปฏิรูปตำรวจ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ต้องการทำให้มีความใกล้ชิด ประชาชนมากขึ้น ไม่ใช่ทำให้องค์กรใหญ่ขึ้น หรือมีการรวมศูนย์อำนาจมากขึ้น การบอกว่า จะให้องค์กรเล็กลง แต่กลับมีการเสนอให้มีการตั้งเป็นกระทรวงนั้น ตนก็ยังสับสนอยู่ เพราะบอกว่าจะมีการกระจายอำนาจ แต่กลับมีการเสนอเรื่องตั้งกระทรวงขึ้นมา ซึ่งจะทำให้มีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง การบริหารงาน จะทำได้ยาก ควรยึดข้อเสนอของ พล.ต.อ.วสิษฐ์ เดชกุญชร อดีต รอง ผบ.ตร. น่าจะเป็นแนวทางที่ดีสุด หากมีการปฏิรูป ควรนำแนวทางนี้มาใช้
ส่วนกรณีที่พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. รอง หัวหน้า คสช. ออกมากล่าวว่า จะเดินหน้าโครงการต่างๆ เช่น โครงการเงินกู้ 2 ล้านล้าน โดยจะใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ในการทำแผนแม่บท นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องเงินกู้ 2 ล้านล้าน คงทำไม่ได้ เพราะศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไปแล้ว รวมถึงเงินกู้ 3.5 แสนล้าน ที่หมดอายุไปแล้ว แต่การหยิบโครงการที่เป็นประโยชน์มาใช้ในระบบงบประมาณ เป็นสิ่งที่เขาต้องทำ ซึ่งตนขอฝากเป็นการบ้านว่า ในภาวะที่ไม่มีรัฐธรรมนูญ การตรวจสอบอะไร ที่เป็นสิทธิ์ของประชาชนในเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือเรื่องต่างๆ คสช.จะให้โอกาสกับประชาชนอย่างไร รวมถึงตัวระบบงบประมาณจะทำอย่างไรให้เกิดความโปร่งใส สามารถตรวจสอบได้ รวมถึงราคา และการประมูลที่โปร่งใส ซึ่งต้องระวัง อย่าให้มีปัญหาเกิดขึ้น

**นำบทเรียนในอดีตเป็นแนวทางปฏิรูป

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย อดีตรองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 กล่าวถึงรูปแบบของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสภาปฏิรูป ว่า ยังไม่ทราบ ขึ้นอยู่กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะพิจารณา รวมถึงการคัดเลือกตัวบุคคลด้วย
ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า มีส.ว.บางส่วนอาจเข้ามาทำหน้าที่ในสนช.นั้น เป็นเพียงการคาดการณ์เท่านั้น แต่เชื่อว่า ระหว่างนี้จะมีการประกาศใช้ธรรมนูญชั่วคราว และมีการเดินหน้าปฏิรูปประเทศ ส่วนจะใช้เวลาเท่าใดจึงจะเหมาะสมนั้น อยู่ที่โรดแมปของคสช. ที่วางไว้
"สำหรับผมคิดว่าจะใช้เวลาหลังจากนี้ไปสอนหนังสือ ส่วนหากปรากฏชื่อให้เข้ามาทำงาน สนช. หรือสภาปฏิรูปจะรับหรือไม่นั้น คิดว่าทั้งหมดอยู่ที่ คสช.พิจารณา ผมตอบไม่ได้ อย่างไรก็ตาม อยากเห็นภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม ที่จะทำให้ประชาธิปไตยเข้มแข็งขึ้น ทั้งนี้หากเหตุการณ์บ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติ อยากให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน ร่วมกันปฏิรูปประเทศ และนำบทเรียนจากเหตุการณ์ทางการเมืองในอดีตที่เกิดขึ้น เพื่อร่วมกันสร้างชาติให้ประชาธิปไตยเข้มแข็ง และเป็นที่ยอมรับของประชาคมโลก "นายสุรชัย กล่าว
ทั้งนี้นายสุรชัย ได้เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือว่าด้วยการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการรวบรวมและสืบค้นข้อมูลกฎหมายของประเทศในกลุ่มอาเซียน ระหว่างสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เพื่อเป็นการรวบรวมข้อมูลกฎหมายของประเทศในกลุ่มอาเซียน อาทิ รัฐธรรมนูญของประเทศสมาชิกอาเซียน กฎบัตรอาเซียน ปฏิญญาอาเซียน บันทึกความร่วมมือในเรื่องต่างๆ ของอาเซียน รวมทั้งประเทศคู่เจรจาของอาเซียน อีกทั้ง กฎหมายตามเป้าหมายความร่วมมือของประชาคมอาเซียน ที่ประกอบด้วย กฎหมายด้านความมั่นคงและการเมือง กฎหมายด้านเศรษฐกิจ และ กฎหมายด้านสังคมและวัฒนธรรม ทั้งนี้จะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลกฎหมายในกลุ่มประเทศอาเซียนได้สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ รวมทั้งได้รับข้อมูลกฎหมายที่มีความทันสมัยอยู่เสมอ
กำลังโหลดความคิดเห็น