“วัชรพล” แจงปฏิรูปตำรวจแค่กระบวนการคิด ยังไม่ชัดตั้ง “กระทรวงรักษาความปลอดภัยสาธารณะ” แทน ย้ำกระจายอำนาจ ตั้ง บช.เป็นนิติบุคคลแน่ ชี้ตำรวจไม่ใช่กองทัพ โครงสร้างใหม่ ลดอำนาจ ผบ.ตร. ต้องปฏิรูปโครงสร้าง หาก ปชช.ต้องการ เด้งใครต้องชัด ละเลยหน้าที่ตกเก้าอี้แน่
วันนี้ (27 พ.ค.) เมื่อเวลา 12.20 น.ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) กล่าวถึงการปฏิรูปปรับโครงสร้างตำรวจ ที่มีกระแสข่าวว่าจะปรับเป็นกระทรวงรักษาความปลอดภัยสาธารณะ และปรับกองบัญชาการเป็นกรมต่างๆ ในสังกัดว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติในปัจจุบันบริหารแบบรวมศูนย์ ซึ่งจะเห็นข้อเรียกร้องของประชาชนในห้วงที่ผ่านมา นอกจากการเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองการปกครองยังเรียกร้องการปฏิรูปตำรวจ อยากเห็นตำรวจกระจายอำนาจ ซึ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติองคาพยพใหญ่ มีคน 2 แสนกว่า มี 30 กองบัญชาการ (บช.) ทั้ง บช.ที่ปฏิบัติการสนับสนุน และ บช.ที่ดูแลพื้นที่ จึงคิดว่าทำอย่างไร ถึงจะกระจายอำนาจตามข้อเรียกร้องของประชาชน ให้หน่วยงานดูแลพื้นที่มีอำนาจบริหารจัดการได้เบ็ดเสร็จ มีความคิดว่าหากเป็นนิติบุคคลได้จะสามารถตั้งงบประมาณได้มีงบประมาณ คน เครื่องมือ และการบริหารจัดการเองได้ สามารถกำหนดตัวชี้วัดตามปัจจัยคุกคามในพื้นที่ได้เอง ปัจจุบันทุกอย่างรวมที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แต่แนวคิดในอนาคตเมื่อ บช.ต่างๆ เป็นนิติบุคคล ส่วนบังคับบัญชาของ ตร.ที่เป็นส่วนอำนวยการใหญ่ มี ผบ.ตร.อยู่ จะเป็นเพียงหน่วยสนับสนุนประสานงาน คิดเรื่องยุทธศาสตร์ วางแผนการสนับสนุนงบประมาณในภาพรวม ผบ.ตร.จะถูกลดอำนาจลง เล็กลง ผบ.ตร.จะไม่ใช้ผบ.กองกำลังลัง จะเป็นการกระจายบอำนาจให้หน่วยปฏบัติมีอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่อย่าลืมว่าคดีที่เกิดขึ้นบางครั้งเกี่ยวข้องหลายพื้นที่ บางครั้งเกี่ยวโยงกับต่างประเทศ ผบ.ตร.ก็ยังสามารถประสานงานสั่งการในส่วนเหล่านี้ได้
“เป็นแนวทางที่คิดสอดคล้องกับการบริหารราชการแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติบริหารราชการแผ่นดิน หรือพระราชบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทบวง กรม เป้าหมายคือกระจายอำนาจ ลดลง ไม่ได้ใหญ่โตขึ้น ผบ.ตร.ก็จะเล็กลง ส่วนจะเปลี่ยนชื่อหรือไม่ก็ต้องรอดู ทั้งนี้เมื่อเรามีแนวทางกระจายอำนาจหน่วยปฏิบัติต่างๆให้มีอิสระ ก็ต้องดูว่าจะเป็นรูปแบบใด โครงสร้างจะเป็นเหมือนกระทรวงหรือไม่ ก็ยังตอบไม่ได้ อาจไม่ใช่ก็ได้เพียงแต่กฎหมายจะเขียนชัดว่าให้กองบัญชาการเป็นนิติบุคคล ทั้งนี้ กฎหมายเดิม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 ก็เขียนไว้ในเรื่องกระจายอำนาจแต่เขียนว่า ผู้บัญชาการ (ผบช.) เสมือนอธิบดี ผบ.ตร.เสมือนปลัดกระทรวง ทุกวันนี้การกระอำนาจจึงยังไม่ชัดเจน เพราะยังเสมือน ดังนั้นการแก้ไขกฎหมาย ปรับโครงสร้างครั้งนี้จึงทำให้ถึงที่สุด กระจายอำนาจไม่รวมศูนย์อีกต่อไป” รรท.ผบ.ตร.กล่าว และว่า เราทำตามที่ประชาชนอยากเห็นตำรวจกระจายอำนาจ อยากเห็นผู้นำหน่วยต่างๆ เป็นผู้นำหน่วยที่บริหารงาน รับผิดรับชอบด้วยตัวเอง ไม่ต้องการให้ทุกอย่างรวมศูนย์ที่ผบ.ตร. เรากำลังคิดอยู่ ตอบโจทย์พี่น้องประชาชน แต่ท้ายที่สุดจะออกมาอย่างไรก็ต้องหารือกัน ทั้งหน่วยที่เกี่ยวข้อง ผู้บังคับบัญชาในทางนโยบาย และพี่น้องประชาชน
เมื่อถามว่าโครงสร้างใหม่จะเป็นเหมือนกระทรวงที่มีกรมต่างๆ ผบ.ตร.เป็นปลัดกระทรวงหรือไม่ รรท.ผบ.ตร.กล่าวว่า โครงสร้างเป็นไปได้หลายแบบ มีโจทย์ว่าทำอย่างไรให้ บช.ต่างๆ เช่นนครบาล ภาค 1 มีอำนาจบริหารคนและงบประมาณได้เอง มีตัวชี้วัดของหน่วยเองเพราะแต่ละหน่วยปัจจัยคุกคามต่างกัน มองว่าหากเป็นนิติบุคคลบริหารได้เอง ก็จะดูแลประชาชนได้ตรงกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่
ถามว่าเมื่อปรับโครงสร้างตำรวจก็จะไม่เป็นหนึ่งในเหล่าทัพ ไม่สามารถเคียงข้างเหล่าทัพได้ พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า เราไม่ใช่กองทัพ ผบ.ตร.ไม่ใช่ ผบ.เหล่าทัพ ตำรวจไม่ใช่กองกำลังใหญ่โต ตำรวจต้องกระจายอยู่กับประชาชนในพื้นที่ การให้ตำรวจรวมตัวเป็นกองกำลังขนาดใหญ่ไม่ใช่หลักการ เมื่อมีสถานการณ์ต่างๆ มีกลไกอยู่แล้วว่าเมื่อเกินศักยภาพของตำรวจ จะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องที่กองทัพจะเข้ามามีบทบาท ตำรวจไม่มีลักษณะเหมือนกองทัพ ตอนนี้ทำอย่างไรให้ตำรวจในแต่ละพื้นที่ตอบสนองแก้ไขปัญหาในพื้นที่ได้ ทั้งนี้หากยังรวมศูนย์รอฟังนโยบาย ผบ.ตร.ก็ไม่ใช่แล้ว ตนว่า บช.ภ.แต่ละแห่งดูแลหลายจังหวัด มีตำรวจในสังกัดนับหมื่นนาย จึงต้องมีอำนาจบริหารจัดการในพื้นที่ได้เอง แนวคิดนี้มีมาระยะหนึ่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องหาจุดสมดุล ดูทุกมิติที่เกี่ยวข้อง เช่นด้านความมั่นคง
ต่อข้อถามว่า มีการมองว่า การที่ คสช.แต่งตั้งให้ รรท.ผบ.ตร.เพื่อปรับโครงสร้างตำรวจโดยเฉพาะ พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า ไม่ใช่ ตนเป็นรอง ผบ.ตร.อาวุโสอันดับ 1 ที่เข้ามาทำหน้าที่ในจังหวะนี้พอดี และก็เป็นความต้องการของพี่น้องประชาชนที่เรียกร้องในห้วงมีปัญหาทางการเมืองที่ผ่านมาว่าต้องการปฏิรูปการเมืองปกครองที่สะอาดบริสุทธิ์โปร่งใส ทุกคนมุ่งมั่น ทำงานเพื่อประโยชน์ประเทศชาติ และอยากเห็นตำรวจของพี่น้องประชาชน เป็นที่พึ่งของประชาชน
เมื่อถามว่าแนวคิดการปฏิรูปนี้เหมือนที่ กปปส.พูดบนเวที อาจถูกมองว่าเป็นการรับลูก ทำเพื่อสนองแนวคิดของ กปปส. พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า ตนคิดว่าจะเป็นแนวคิดของใครก็ตามขอแค่สิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เช่นเดียวกันเราอยากเห็นการเมืองการปกครองที่ดี มีคุณธรรมทุกคนอาสาเข้ามาบริหารปกครองประเทศ ตำรวจก็ต้องเป็นตำรวจของประชาชน นี่ไม่ใช่ความคิดของใคร แต่เป็นความคิดของพี่น้องประชาชน
ถามว่าที่ผ่านมาตำรวจปฏิรูปตำรวจมาหลายครั้งแต่ตำรวจก็ยังมีปัญหาที่เกิดจากพฤติกรรมของตำรวจ โครงสร้างใหม่จะตอบโจทย์ได้หรือ พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า การบริหารราชการเป็นเรื่องหนึ่ง ระบบวิธีการปฏิบัติงานก็เป็นเรื่องหนึ่ง ถ้าเราอยากให้ตำรวจทำงานด้วยความโปร่งใสรับผิดชอบ ต้องใช้กลไกหลายเรื่องสมัยที่ตนทำงานกับ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ก็มีแนวคิดการพัฒนาคนด้วยการฝึกอบรมตลอดเวลา นำเทคโนโลยีไอทีเข้ามาทำงานเพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ใช้วิทยาการทำให้การอำนวยความยุติธรรมเป็นวิทยาศาสตร์ การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างต้องทำเป็นองคาพยพ ประชาชนมาช่วยสอดส่องดูแลแนะนำ ยืนยันไม่ใช่การตอบโจทย์ กปปส.อย่างแน่นอน ตนมองว่าพี่น้องประชาชนอยากเห็นนักการเมือง ข้าราชการ รวมถึงตำรวจเป็นข้าราชการที่ดี ทำเพื่อประชาชน ข้าราชการทั้งตำรวจทหารก็อยากเห็นระบบที่มีคุณธรรม เชื่อมั่นได้ สิ่งเหล่านี้เราฝันอยู่แล้ว จะทำได้แค่ไหนต้องพยายาม
เมื่อถามว่าปัญหาที่ผ่านมาคือฝ่ายการเมืองล้วงลูก การปฏิรูปครั้งนี้จะแก้ปัญหานี้ได้หรือไม่ รรท.ผบ.ตร.กล่าวว่า การเมืองการปกครองเป็นของคู่กัน นักการเมืองที่เป็นคนดี มีความพร้อมเสียสละเข้ามาเป็นนักการเมืองทำหน้าที่นิติบัญญัติ บริหาร ก็หวังว่าเข้ามาทำอย่างไรให้สังคมรุ่งเรือง ประชาชนมั่นคงกินดีอยู่ดี ปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน ตำรวจและทหารก็เป็นกลไกลรัฐบาล การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการอยากเห็น ไม่ได้ตอบโจทย์ใคร เปลี่ยนเพื่อการเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 เพื่อแข่งกับคนทั้งโลก
เมื่อถามว่า ตำรวจบางส่วนวิพากษณ์วิจารณ์และไม่เห็นด้วยต่อการปฏิรูปตำรวจ รรท.ผบ.ตร.กล่าวว่า หน้าที่ของผู้บังคับบัญชาทำไป หน้าที่หลักตำรวจดูแลประชาชนในห้วงนี้ที่ประเทศมีปัญหา ต้องการความสามัคคี เมื่อตนเป็นผู้บังคับบัญชาก็ต้องคิดว่าอะไรดีที่จะตอบโจทย์สังคม ต้องกล้าเปลี่ยนแปลง ก่อนเปลี่ยนแปลงก็ต้องรอบคอบรับฟังความเห็น ต้องกล้าเปลี่ยนแปลง ลองผิดลองถูก ไม่มีใครเป็นพหูสูตร คิดในฐานะตำรวจคนหนึ่ง คิดว่าถึงเวลาที่ต้องทำให้ตำรวจมั่นใจระบบคุณธรรม และให้ตำรวจทุกคนรับผิดชอบทำหน้าที่ดูแลประชาชนในพื้นที่
เมื่อถามว่าการเร่งปฏิรูปตำรวจเช่นนี้ ในห้วงการปกครองโดยคสช.และการแสดงความคิดเห็นมีข้อจำกัดเป็นการมัดมือชกหรือไม่ พล.ต.อ.วัชรพลกล่าวว่า ตอนนี้ข่าวต่างๆ ก็ออกไป ขณะนี้ยังเป็นเพียงแนวคิด เป็นโจทย์ที่ประชาชนเห็นว่าต้องทำตำรวจเป็นตำรวจของประชาชน เพื่อเป็นตำรวจมืออาชีพเพื่อความผาสุกของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งจะเป็นได้หรือไม่มีกระบวนการอีกมากมายต้องมีการศึกษาผลกระทบกับหน่วยอื่นๆ รวมทั้งความคิดเห็นของตำรวจด้วย หัวใจของตำรวจคือการยอมรับจากประชาชน หากประชาชนไม่ยอมรับ ตำรวจทำงานไม่ได้
มื่อถามว่าหากถูกมองรับงานจากฝ่ายที่มีแนวคิดต้องการปฏิรูป รรท.ผบ.ตร.กล่าวว่าไม่ใช่ คนที่เป็นตำรวจด้วยจิตวิญญาณ อยากให้ทำอาชีพมีเกียรติศักดิ์ศรีเป็นที่ยอมรับจากประชาชน ทำอะไรได้ ก็กล้าคิดกล้าทำ กล้าเปลี่ยนแปลง การที่ตนออกมาพูดเช่นนี้ นี่คือกระบวนการประชาพิจารณ์อย่างหนึ่ง เมื่อพูดไปคนวิจารณ์ ก็รับฟังปรับไป การที่ดำเนินการตรงนี้ ทางคสช.มองว่ามีความจำเป็นต้องปรับเปลี่ยน
“ผมเป็นรอง ผบ.ตร.อาวุโสอันดับ 1 ที่มาทำหน้าที่ ผมคือรอง ผบ.ตร.ที่มาทำหน้าที่ อย่างไรก็ตามผมคุยกับ พล.ต.อ.อดุลย์ กับอดีตผู้บังคับบัญชา ก็มีการให้คอมเมนต์มาก็รับฟัง นี่คือการเบรนสตรอมมิ่ง ย้ำว่านี่คือกระบวนการคิดตอบโจทย์พี่น้องประชาชน นี่คือการโอเพนคิดให้เต็มที่ แนวคิดนี้คิดมานานแล้ว ในตร.มีคนเก่งหลายคนที่คิดกันมานาน แต่ขึ้นกับปัจจัยที่เอื้อให้พัฒนา ปัจจัยที่ประชาชนเร่งเร้าให้ตำรวจเป็นตำรวจของประชาชน การปฏิรูปครั้งนี้ผมไม่รู้สำเร็จไหม แต่กล้าคิดกล้าเปลี่ยน” พล.ต.อ.วัชรพลกล่าว และว่ายังคงต้องแสวงหาข้อมูลรอบด้าน กระบวนการยังอีกยาวนาน เปิดให้พี่น้องประชาชน สื่อมวลชนแนะนำ ซึ่งกระแสตอนนี้ก็มีทั้งเห็นด้วยไม่เห็นด้วยขึ้น ผลที่สุดตำรวจไม่ใช่ผู้ตัดสินได้ ขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชา กรอบเวลา 4เดือนจะทำได้หรือไม่ ตอบไม่ได้ นี่คือกระบวนการคิดเท่านั้น กว่าจะทำสำเร็จยังมีกระบวนการอีกมาก
รักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.) กล่าวถึงการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจในช่วงนี้ว่า ตนย้ำในที่ประชุม ว่ายามนี้ต้องการความสามัคคี ต้องช่วยกันทำงาน ปัญหาความแตกต่างแก้ไข่ได้ระดับหนึ่งแล้ว ใครทำหน้าที่ เต็มที่ก็ยังสามารถปฏิบัติต่อได้ แต่หากละเลยต้องโยกย้ายสับเปลี่ยนไป
เมื่อถามถึงการที่ พล.ต.ท.วันชัย ถนัดกิจ รรท.ผบช.ภ.5 ออกคำสั่งให้ พล.ต.ต.กริช กิตติลือ ผบก.ภ.จว.เชียงใหม่ ช่วยราชการฯ ตามคำแนะนำของแม่ทัพภาคที่ 3 ก่อนมีการถอนคำสั่งในเวลาต่อมาว่า การได้ข้อมูลก็ต้องตรวจสอบ ห้วงนี้ข้อมูลข่าวสารมากมาย จึงจำเป็นต้องตรวจสอบเพื่อความเป็นธรรม หากไม่ชัดเจน ข้อมูลไม่ชัดก็สร้างความหวั่นไหว ตอนนี้ให้ทำหน้าที่ไป วันนี้ พล.ต.ต.กริชยังทำหน้าที่ ผบก.ภ.ตจว.เชียงใหม่อยู่ เรื่องนี้ไม่ต้องแจ้งแม่ทัพภาคที่ 3 เชื่อว่าเข้าใจ