xs
xsm
sm
md
lg

ที่มา ส.ว.-เลือกตั้ง - สรรหา - โควต้า และ สภาประชาชน

เผยแพร่:   โดย: ดรงค์ ฤทธิปัญญา

เนื่องด้วยสถานการณ์ทางการเมืองอันรุนแรงทำให้ผมต้องตัดสินใจระงับเล่าเรื่อง Hong Kong on Foot ซึ่งเดิมทีจะเขียนในสัปดาห์นี้ออกไป เพราะผมเชื่อว่า ช่วงเวลานี้คงไม่มีใคร (หรืออาจจะมี) อ่านเรื่องเที่ยวหาความสำราญให้กับตนเองแน่ จึงเป็นที่มาให้ผมได้ใช้สมองอันน้อยนิดได้วิเคราะห์ และบอกเล่าในสิ่งที่อยากจะเห็น หรือให้สังคมเป็นไปบ้าง

จึงต้องขออภัยแฟนๆ ที่รออ่าน (มีด้วยหรือ?) และให้ติดตามกันในสัปดาห์ถัดๆ ไป แทน

ผมว่าจะพูดถึงเรื่องนี้มาหลายครั้งแต่ไม่ค่อยมีโอกาส ฉะนั้นในช่วงที่บ้านเมืองกำลังค้นหาทางออกผมก็ขออนุญาตแบ่งปันความคิดให้ได้อ่านเพื่อแลกเปลี่ยนกันบ้าง แม้ว่าทัศนคติผมอาจจะดูคับแคบไปสำหรับผู้รู้หลายๆ ท่าน ก็ต้องขออภัยไว้ ณ โอกาสนี้่

ฉบับนี้เราว่ากันด้วย “วุฒิสภา” ครับ

ก่อนอื่นเลย ผมว่าหลายๆ คน ยังไม่เข้าใจในบทบาท และหน้าที่ของวุฒิสภาพอสมควร ว่าเขาทำอะไรกันบ้าง เราควรมาทำความรู้จักกันให้ลึกไปกว่าเดิมนิดนึง โดยผมจะย่อยตามความเข้าใจให้ทราบ โดยอ้างอิงจากรัฐธรรมนูญ ปี ๒๕๕๐ ไม่ได้รวมถึงฉบับแก้ไขให้มีการเลือกตั้งล้วนๆ ที่ศาลรัฐธรรมนูญเพิ่งวินิจฉัยไปนะครับ

ซึ่งอำนาจของ ส.ว.แบ่งออกเป็น ๗ ด้าน คือ ๑.นิติบัญญัติ (เกี่ยวกับกฏหมาย) ได้แก่ กลั่นกรองร่างกฎหมายจากสภาผู้แทนราษฎร ,พิจารณาอนุมัติพระราชกำหนดจากสภาผู้แทนราษฎร,การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยสมาชิกวุฒิสภาร่วมกับ ส.ส. เข้าชื่อเสนอญัตติและร่วมกันพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ ,ร่วมกับส.ส.เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ,พิจารณาต่อจากสภาผู้แทนราษฎรกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ และร่วมประชุมรัฐสภาปรึกษาเพื่อลงมติกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับร่างพระราชบัญญัติและพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือมิได้พระราชทานคืนมา

๒.ควบคุมตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน ได้แก่ การตั้งกระทู้ถามรัฐมนตรี ,การอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภาโดยไม่มีการลงมติ ,ร่วมอภิปรายในที่ประชุมรัฐสภากรณีที่นายกรัฐมนตรีขอรับคำปรึกษา และตั้งคณะกรรมาธิการสามัญและวิสามัญเพื่อพิจารณาสอบสวนหรือศึกษาเรื่องใดๆ อันอยู่ในอำนาจ

๓.ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ได้แก่ ร่วมกับส.ส.เข้าชื่อเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้วินิจฉัยร่างพระราชบัญญัติมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้อง หรือเห็นว่าร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภาหรือร่างข้อบังคับการประชุมรัฐสภามีข้อความขัดหรือแย้งหรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้อง หรือกรณีที่มีปัญหาว่าหนังสือสัญญาใดมีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขต หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผูกพันด้านการค้า การลงทุนหรืองบประมาณของประเทศ

ประธานวุฒิสภามีสิทธิเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยในกรณีที่เห็นว่าร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการอย่างเดียวกันหรือคล้ายคลึงกันกับที่ต้องยับยั้งไว้ , มีสิทธิเข้าชื่อเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีที่เห็นว่าการกระทำด้วยประการใดๆ ที่มีผลให้ส.ส. ส.ว. หรือกรรมาธิการมีส่วนในการใช้งบประมาณรายจ่าย ,มีสิทธิเข้าชื่อเสนอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าพระราชกำหนดมิได้ออกเพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ หรือป้องปัดพิบัติสาธารณะ หรือเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็น รีบด่วนอันมิได้หลีกเลี่ยงได้

๔.เลือกหรือให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระและศาล มีอำนาจพิจารณาเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ 2 คนเป็นกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม และกรรมการตุลาการศาลปกครอง ,ให้ความเห็นชอบการแต่งตั้งและการให้อัยการสูงสุดพ้นจากตำแหน่งตามมติคณะกรรมการอัยการ ,พิจารณาเห็นชอบกรรมการการเลือกตั้ง,ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ,ผู้ตรวจการแผ่นดิน,กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ,กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และกรรมการสิทธิมนุษยชน ตามที่คณะกรรมการสรรหาพิจารณาแล้วเสนอรายชื่อ

๕.ถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง ในกรณีที่นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา ประธานศาลฎีกา ประธานศาลรัฐธรรมนูญ ประธานศาลปกครองสูงสุด อัยการสูงสุด ตุลาการศาล รัฐธรรมนูญ กรรมการการเลือกตั้ง ผู้ตรวจการแผ่นดิน กรรมการตรวจเงินแผ่นดิน ผู้พิพากษาหรือตุลาการ พนักงานอัยการ หรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูง มีพฤติการณ์กระทำผิด ฯลฯ รวมทั้งให้กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติพ้นจากตำแหน่ง กรณีที่กระทำการขาดความเที่ยงธรรม จงใจฝ่าฝืนกฎหมาย หรือมีพฤติการณ์ที่เสื่อมเสียแก่เกียรติศักดิ์อย่างร้ายแรง

๖.เป็นผู้แทนของปวงชนชาวไทย ไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติ ปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์ มีเอกสิทธิ์ความคุ้มกัน รวมทั้งหลักประกันความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่

และ ๗. พิจารณาให้ความเห็นชอบร่วมกับรัฐสภา อาทิ การประกาศสงคราม ,หนังสือสัญญาสันติภาพ สัญญาสงบศึก และสัญญาอื่นที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตที่มีสิทธิอธิปไตย หรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือกฎหมายระหว่างประเทศ หรือจะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคม หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศ ,กรอบการเจรจาในการทำหนังสือสัญญากับนานาประเทศหรือกับองค์การระหว่างประเทศ ,พิจารณาร่างพระราชบัญญัติอีกครั้งหนึ่ง ในกรณีที่เป็นร่างพระราชบัญญัติซึ่งแถลงนโยบายต่อรัฐสภาไม่ได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และให้ความเห็นชอบให้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม หรือร่างพระราชบัญญัติที่รัฐสภายังมิได้ให้ความเห็นชอบต่อไปได้ ภายหลังจากการเลือกตั้ง ส.ส.

(ที่มา :สถาบันพระปกเกล้าฯ)

ที่นี้ปัญหาที่เขาถกเถียงกันมันอยู่ตรง “ที่มา” ล่ะครับ ฝ่ายหนึ่งก็ว่าต้องเป็นไปตามหลักการประชาธิปไตยโดยการเลือกตั้งล้วนๆ อีกฝ่ายหนึ่งก็ว่าถ้าเลือกตั้งล้วนๆ มันก็ไม่ต่างอะไรกับการเลือกตั้ง ส.ส. มันต้องสรรหาผสม หรือสรรหาไปหมดเลย และอีกเหตุนึงคือ ส.ว.สรรหา แกถูกมองว่าได้เก้าอี้มาซึ่งคนเพียงแค่ ๗ อรหันต์คัดเลือก ซึ่งไม่น่าจะถูกต้อง

ผมก็นั่งคิดคำนึงมาหลายๆ วันว่า เออ แล้วสรุปมันควรเป็นอย่างไรกันแน่ ถึงจะทำให้ได้ ส.ว.ที่ต่างจาก ส.ส.และไม่หลุดกรอบประชาธิปไตยไปมาก

ส่วนตัวต้องยอมรับว่า ข้อดีของส.ว.สรรหา อย่างนึงก็คือ มันทำให้คนที่ไม่มีโอกาสได้มามีโอกาสเป็นผู้แทนกับเขา ทั้งๆ ที่มีความรู้และเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เช่น ส.ว.มณเฑียร บุญตัน นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย พูดกันแบบไม่ตอแหล ถ้าแกลงสมัครจะได้รับการเลือกตั้งหรือไม่ นอกจากนี้ หลายๆ คนก็ยังมีบทบาทและหน้าที่ในการนำเสนอข้อมูลต่างๆ สู่สภาแต่ผมไม่ได้หมายความว่า ส.ว.เลือกตั้งจะไม่ดี แต่อาจจะมีความซ้ำซ้อนกับ ส.ส.ตรงที่การเสนอญัตติในการหารือบางเรื่อง เป็นเรื่องที่ ส.ส.ท้องถิ่นแกตั้งกระทู้สดในสภาอยู่แล้ว

ซึ่งในความเห็นผม สภานี้ควรจะให้แตกต่างจากสภาผู้แทนราษฎรไปเป็น สภาสำหรับผู้เชี่ยวชาญมากกว่า ผมเลยมองว่า ถ้าเปลี่ยนวุฒิสภาจากการเลือกตั้งโดยตรง เป็นการเลือกตั้งทางอ้อม จะดีกว่าหรือไม่ ในรูปแบบของ “สภาโควตา”

อาจจะดูว่าผมมีความเห็นทางการเมืองที่บ้องตื้นเกินไปก็ได้ แต่ลองมาดูว่า ถ้าสมมุติผมแก้ รธน.ที่มา ส.ว. ผมจะทำยังไง

ในส่วนของการได้มาซึ่งวุฒิสภาอาจจะใช้วิธีคล้ายกับ ส.ว.สรรหา สมมุติว่าผมแก้ รธน.ที่มา ส.ว.ฉบับคุณดรงค์ ผมอาจจะให้มี ส.ว.สัก ๑๒๓ คน แต่แบ่งตามกลุ่มที่เชี่ยวชาญ คล้ายๆ สมัยสภานิติบัญญัติปี ๕๐ เช่น กลุ่มข้าราชการ๒๐ คน,รัฐวิสาหกิจ ๕ คน ,เกษตรกร ๕ คน,นักวิชาการ (รวมวิชาชีพครู) ๑๕ คน,สื่อมวลชน ๒ คน,ผู้ด้อยโอกาสทางสังคม ๒ คน ,ชนเผ่า (จำแนกตามถิ่นที่มีการระบุไว้ในกระทรวงมหาดไทย) ๓ คน,วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ๕ คน,สาธารณสุข ๕ คน,กีฬา ๔ คน,ท่องเที่ยว ๔ คน,คมนาคม ๓ คน,นักกฏหมาย ๕ คน ,วาณิช (ธนาคาร ผู้ประกอบการทั่วไป) ๑๕ ,สิ่งแวดล้อม,พัฒนาชุมชนและสาธารณประโยชน์ ๑๐ คน,ศิลปะและวัฒนธรรม (รวมนักเขียน) ๕ คน,แรงงาน ๓ คน ,ศาสนา (รวม ๔ คน พุทธ,คริสต์,อิสลามฝ่ายละ ๑ +ศาสนาอื่นอีก ๑),พรรคการเมือง ๔ คน และอื่นๆ ที่ไม่เข้าพวก ๕ คน

โดยให้ “ทำหน้าที่คนละ ๓ ปี ครั้งเดียวในชีวิต” ไม่สามารถลงสมัครใหม่ได้

ส่วนวิธีการคัดเลือกเมื่อมีการเปิดรับสมัคร ให้องค์กรที่จะส่งคนลงสมัคร (ในครั้งแรก) มาลงทะเบียนกับ กกต.จังหวัด เพื่อจัดหมวดหมู่ ในเวลา ๗ วัน โดยเมื่อลงทะเบียนในครั้งแรกแล้วไม่สามารถย้ายได้อีก จากนั้นให้ กกต.ตรวจสอบการจดทะเบียนและประกาศรับรอง ภายใน ๗ วัน โดยองค์กรต่างๆ ต้องได้รับการรับรองโดยกฎหมายไม่น้อยกว่า ๕ ปี และต้องมิใช่องค์กรที่แสวงหาผลกำไรหรือดำเนินกิจกรรมทางการเมือง (ยกเว้นพรรคการเมือง) ในส่วนของชนเผ่า ให้ผู้นำในการปกครองแจ้งความประสงค์ว่าจะลงสมัครต่อ กกต.

โดยองค์กรนั้นจะต้องมีการเคลื่อนไหวกิจกรรมต่างๆ อันเป็นประโยชน์ต่อองค์กร หรือสาธารณชน ภายใน ๑ ปีก่อนหน้าที่จะประกาศรับสมัครด้วย และหากพบว่าองค์กรดังกล่าวไม่มีการเคลื่อนไหวกิจกรรมตามที่กำหนดให้ลบชื่อออก และงดเว้นในการสมัครคัดเลือก ๑ สมัย (๓ ปี) เว้นแต่จะแจ้งขอสละสิทธิ์การส่งผู้สมัคร

ทั้งนี้องค์กรใดที่เคยได้รับการคัดเลือกเป็น ส.ว.แล้วจะต้องงดเว้นการส่งผู้สมัคร ๒ สมัย

เมื่อประกาศรับรองแล้ว ให้แต่ละองค์กรรับสมัครบุคคลเพื่อลงสมัคร องค์กรละ ๑ คน และให้มีการประชุมสมาชิกเพื่อคัดเลือกกันเองภายใน ๒๐ วัน นับจากวันประกาศรับรอง โดยมีตัวแทนกกต.จังหวัด เป็นผู้เข้าไปสังเกตุการณ์ เมื่อได้ตัวผู้สมัครแล้วให้มารายงานตัวต่อ กกต. ภายใน ๗ วัน โดยบุคคลนั้นจะต้องเป็นสมาชิกหรือปฏิบัติหน้าที่หรือเคยปฏิบัติหน้าที่ภายในองค์กรไม่น้อยกว่า ๕ ปี ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และต้องไม่เป็นผู้เกี่ยวข้องทางสายเลือดกับส.ว.ชุดเดิม และหากบุคคลดังกล่าวประสงค์จะถอนชื่อออกให้สามารถกระทำได้แต่จะหมดสิทธิ์ในการเข้ารับการคัดเลือกเป็นเวลา ๕ ปี โดยกกต.จะตรวจสอบคุณสมบัติและประกาศภายใน ๗ วัน

ส่วนวิธีการคัดเลือกให้วุฒิสภาชุดเดิม เป็นผู้คัดเลือกภายใน ๑๕ วันหลังจากประกาศผล โดยผู้สมัครในแต่ละกลุ่มจะต้องแสดงวิสัยทัศน์ต่อวุฒิสภา จากนั้นให้สมาชิกวุฒิสภา เขียนชื่อผู้ที่เหมาะสมพร้อมความเห็นลงบนกระดาษ (ในกรณีที่มี ส.ว.พิการสายตา ให้พูดผ่านเครื่องบันทึกเสียงได้) ส่งต่อเลขาธิการวุฒิสภา และประกาศผลในทันที เรียงตามลำดับคะแนน ถ้าคะแนนเสมอให้เขียนแค่ชื่อใส่กล่องจนกว่าจะได้ผู้ที่มีคะแนนมากที่สุด

ก่อนส่งให้ กกต.ตรวจสอบคุณสมบัติอย่างละเอียด รวมถึงเรื่องร้องเรียนคัดค้านการดำรงตำแหน่ง และประกาศผลอย่างเป็นทางการภายใน ๓๐ วัน โดยหาก กกต.มีมติไม่รับรองผู้สมัครดังกล่าวเนื่องจากทุจริตการคัดเลือก หรือมีคุณสมบัติผิดรธน.ให้นำผู้สมัครในกลุ่มเดิมมาคัดเลือกใหม่โดยไม่ต้องแสดงวิสัยทัศน์อีก

กรณีที่ ส.ว.ชุดใหม่ดำรงตำแหน่งแล้วหมดสมาชิกสภาพก่อนวาระ ให้ประกาศรับสมัครตามกลุ่มที่ ส.ว.รายนั้นหมดสมาชิกภาพ พูดง่ายๆ คือ มาจากกลุ่มไหนก็เอากลุ่มนั้น

ส่วนอำนาจต่างๆ ก็ให้มีคงเดิมล่ะครับ ทีนี้เราก็น่าจะได้ ส.ว.ที่ตรงสายกันหน่อย สามารถให้ความรู้เฉพาะทางให้แก่รัฐบาลและในการพิจารณากฏหมายได้บ้าง อาจจะเพิ่มเติมว่า ถ้ามีกฏหมายที่เข้ามาพิจารณาอันก่อให้เกิดความขัดกันแก่ผลประโยชน์ของ ส.ว.คนใดคนหนึ่ง ให้ ส.ว.คนนั้นมีสิทธิ์อภิปรายความเห็นได้ แต่ไม่มีสิทธิ์พูดเพื่อชักจูงและจะต้องงดออกเสียงทุกครั้งที่มีการพิจารณา ทั้งวาระ ๑,๒,๓ รวมทั้งการเข้าเป็นประธานกรรมาธิการวิสามัญในการพิจารณากฏหมายนั้น รวมไปถึงการพิจารณาถอดถอนบุคคลด้วย

ไอ้ผมก็เรียนมาน้อยไม่ค่อยรู้ว่าทฤษฎีที่คิดขึ้นมามันไปขัดต่อหลักทางรัฐศาสตร์อะไรหรือไม่ แต่มันก็น่าลองดูนะ หรือไม่ก็ "สภาประชาชน" ที่กำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศไว้จะเอาแนวคิดนี้ไปใช้เพื่อคัดคนเข้ามาร่างกฏหมายก็ได้

หรือหากจะให้ดูเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ก็เอาแบบเลือกตั้งมาผสมด้วยก็ได้ แต่ต้องมีกฏระเบียบชัดว่าห้ามเป็นเครือญาติ ส.ส.และผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง รวมทั้งให้เป็นแค่ “สมัยเดียวตลอดชีพ” คนอื่นๆ ที่เขามีความรู้ความสามารถจะได้เข้ามาบ้าง

เขียนไปเขียนมาก็ชักจะยืด แต่อย่างว่า เอาเข้าจริงๆ ถ้าสมมุติแก้ฉบับผมได้ ต่อไปอีก ๕ ปี ก็จะมีกลุ่มอื่นมาแก้โน้นนี่นั่นให้เข้าทางที่ตัวเองต้องการ แก้กันพัลวันไปเรื่อยๆ ทั้งๆ ที่ปัญหามันอาจจะไม่ได้อยู่ที่กฏหมายเลยด้วยซ้ำ ..... มันอยู่ที่ "คน" ต่างหาก
กำลังโหลดความคิดเห็น