xs
xsm
sm
md
lg

"สุรชัย"เดินตามรอย"มาร์ค"-หนุนนายกฯตัวจริง-ทหารเน้นถูกกม.-คุยรัฐบาล17พ.ค.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน-"สุรชัย"ยังคงเดินสายหาทางออกประเทศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรัฐ 27 แห่ง เห็นควรมีรัฐบาลใหม่ แต่ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ตัวแทนผู้นำเหล่าทัพ หนุนหานายกฯ ที่มีอำนาจเต็ม ถูกต้องตามกฎหมาย เตรียมพบกฤษฏีกาหาข้อสรุป ขณะที่ อดีต ส.ส.ร.50 แนะขอนายกฯพระราชทาน ยกการเมืองก่อนปี 35 เทียบเคียง ไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส. ด้าน"นิวัฒน์ธำรง"ยอมคุย 17พ.ค.นี้ แต่ขอเป็นวงเล็ก ยันรัฐบาลปัจจุบันยังมีอำนาจเต็ม

เมื่อเวลา 10.30 น. วานนี้ (15พ.ค.) ที่อาคารนราธิปพงศ์ประพันธ์ ชั้น 11 สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ในฐานะ ว่าที่ประธานวุฒิสภาได้ร่วมหารือกับ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) รศ.ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดี สถาบันพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) รองประธาน ทปอ. ศ.ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ ผศ.นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว.) พร้อมด้วยอธิการบดีมหาวิทยาลัย และผู้แทนอธิการบดีมหาวิทยาลัย 21 แห่ง จากมหาวิทยาลัยรัฐ 27 แห่งทั่วประเทศ ที่เป็นสมาชิกทปอ. ได้ร่วมหารือเพื่อหาทางออกให้ประเทศ

หลังจากใช้เวลาหารือกว่า 2 ชั่วโมง นายสุรชัย พร้อมด้วยนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา รศ.ดร.ประดิษฐ์ วรรณรัตน์ อธิการบดี นิด้า ศ.นพ. รัชตะ รัชตะนาวิน ประธานอธิการบดีแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงผลการหารือ โดยนายสุรชัย กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า ทางออกของประเทศไทยจะต้องอยู่ภายใต้หลักการที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ และยุติปัญหาวิกฤติของประเทศ พร้อมย้ำต้องมีความเป็นอิสระ และไม่มีธงนำ หรือเอาใจฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด

ทั้งนี้ ฝากไปยังประชาชนให้มั่นใจว่า บทสรุปการหารือ จะอยู่บนหลักการให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย และประชาชนส่วนรวม นอกจากนี้ ยังขอความร่วมมือทุกฝ่ายว่า ในระหว่างรอผลสรุปการหารือจากวุฒิสภา ขอให้ยุติการใช้ความรุนแรง ขอความกรุณานักกฎหมาย ให้ใช้หลักนิติศาสตร์ร่วมกับรัฐศาสตร์ ขณะเดียวกันขอความร่วมมือสื่อมวลชน ในการนำเสนอข่าวอย่าใส่ร้ายโจมตี

นายสุรชัย กล่าวยืนยันว่า ไม่เคยให้สัมภาษณ์ว่าจะใช้แนวทางนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 7 เพราะขณะนี้อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นสาธารณะ ซึ่งการเสนอข่าวที่บิดเบือนจะนำไปสู่ความขัดแย้ง พร้อมย้ำยังรอฟังความเห็นจากรัฐบาล และแกนนำนปช. โดยยินดีไปหารือทุกสถานที่ และทุกเวลา อย่างไรก็ตามยอมรับว่า จากการเดินสายหาทางออกประเทศ ส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

ศ.นพ.รัชตะ เชื่อว่าการประชุมครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อสังคม เพราะเป็นการรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายเพื่อร่วมกันแก้ปัญหาวิกฤติของประเทศ ไม่ให้มีการสูญเสีย หรือนำไปสู่ความรุนแรง พร้อมขอให้ฝ่ายที่มีความเห็นต่างได้เข้าร่วมเวทีหารือ เพื่อหาทางออกร่วมกันภายใต้บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ขณะที่ที่ประชุมอธิการบดีเห็นว่า ควรมีรัฐบาลชุดใหม่ขึ้นมา เนื่องจากรัฐบาลชุดปัจจุบัน มีอำนาจจำกัดในการบริหารประเทศ แต่กลไกลที่จะได้มา ต้องหารือกันให้รอบคอบภายใต้รัฐธรรมนูญ และระบอบประชาธิปไตย แต่ไม่ยืนยันชัดเจนว่าจะเป็นรัฐบาลที่มาจากรัฐบาลเฉพาะกาล หรือไม่

ด้านนายสมชาย กล่าวว่า ในระหว่างวุฒิสภาทำหน้าที่ ยังมีการคุกคามการทำหน้าที่ของวุฒิสภา จึงขอเรียกร้องไปยังศอ.รส.และรัฐบาล ให้ยุติวิธีการดังกล่าว อย่างไรก็ตาม รอการติดต่อ และประสานอย่างเป็นทางการจากรัฐบาล และแกนนำนปช. โดยมีเวลาถึงวันที่ 16 พ.ค. ก่อนจะสรุปและเป็นข้อเสนอในส่วนของวุฒิสภา เพื่อหาทางออกของประเทศต่อไป

**เสธ.เหล่าทัพร่วมวงถกวุฒิพรึบ

ต่อมาเวลา 13.30 น. ที่รัฐสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ได้เชิญหัวหน้าส่วนราชการ และตัวแทนเหล่าทัพจำนวน 25 หน่วยงาน ร่วมหารือหาทางออกประเทศ โดยมีตัวแทนจาก 17 หน่วยงานเข้าร่วมหารือ อาทิ นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร รอง ผบ.ทหารสูงสุด พล.อ.อักษา เกิดผล เสนาธิการทหารบก พล.ร.อ.ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์ เสนาธิการทหารเรือ พล.อ.อ.ตรีทศ สนแจ้ง เสนาธิการทหารอากาศ โดย พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะทำงานประชาสัมพันธ์ และคณะกรรมการด้านประสานงานองค์กร กล่าวเริ่มต้นการประชุมว่า สิ่งที่ ส.ว.ดำเนินการอยู่ขณะนี้ไม่มีธงตั้งนายกรัฐมนตรี มาตรา 7 ทุกอย่างอาจไม่ได้เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ขณะนี้กำลังหาคนกลางที่ดีที่สุด อาจไม่จำเป็นต้องใช้ มาตรา 7 เพียงแต่ใช้การเทียบเคียงกฎหมายที่ใกล้เคียง มาใช้ในการแก้ไขปัญหา ยืนยันว่า ส.ว. จะไม่ทำให้เกิดปัญหามากขึ้น จากนั้นที่ประชุมเชิญสื่อมวลชนออกนอกห้องประชุม เพื่อทำการประชุมลับ

** ต้องมีนายกฯตัวจริง

หลังการประชุม พล.อ.อ.วีรวิท คงศักดิ์ ประธานคณะทำงานประชาสัมพันธ์ และคณะกรรมการด้านประสานงานองค์กร กล่าวภายหลังการหารือ ว่า ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า ควรมีนายกรัฐมนตรีที่มีอำนาจเต็มมาแก้ปัญหา โดยผู้แทนเหล่าทัพต่างๆ เห็นว่า กระบวนการการมีนายกรัฐมนตรี ต้องเป็นกระบวนการที่หาวิธีตามกฎหมาย ทุกฝ่ายเป็นที่ยอมรับ ยืนยันว่า ไม่มีการพูดว่าต้องมีนายกรัฐมนตรีคนกลาง แต่พูดว่าต้องมีนายกรัฐมนตรีที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อแก้ปัญหาในการบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนเรื่องกรอบเวลาจะมี 2 ขั้นตอน คือ กระบวนการที่จะได้มาว่าจะต้องทำอย่างไร และต้องมีกระบวนการหาตัวบุคคล โดยต้องมีการกำหนดคุณสมบัติข้อมูลพื้นฐาน แต่ก็ใช้คู่ขนานกันได้ แต่จะไม่ทำเหมือนอุปโลกน์บุคคลใดบุคคลหนึ่งขึ้นมา ต้องอธิบายได้ด้วยว่าระบบที่มาเป็นอย่างไร โดยเสนอจากภาคส่วนต่างๆ แล้วนำมาคัดสรรจากที่ประชุม

"รัฐบาลชุดปัจจุบันไม่ใช่รัฐบาลรักษาการ แต่เป็นรัฐบาลที่ทำหน้าที่อยู่ในตำแหน่ง ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 และในวรรคท้ายของมาตรา 180 ระบุว่า จะต้องให้มีดำเนินการตามมาตรา 172 ภายใน 30 วัน เมื่อกระบวนการหานายกฯใหม่ เป็นไปตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ดังนั้นหากได้รับการโปรดเกล้าฯ รัฐบาลชุดปัจจุบันก็ถือว่าสิ้นสุดลง จึงถือว่าดำเนินการได้ไม่เป็นการทับซ้อนแต่อย่างใด”

ส่วนในวันนี้( 16 พ.ค. )ในช่วงเช้า คณะทำงานจะมีการเดินทางไปพบคณะกรรมการกฤษฎีกา และจากนั้นจะกลับมาประชุมที่รัฐสภา เวลา 13.30 น จากนั้นจะแถลงสรุปแนวทางหาทางออกในเบื้องต้นก่อน แล้วจะนำข้อเสนอที่ได้จาก นายนิวัฒน์ธำรง มาประกอบ แล้วจะมาแถลงภายหลังอีกครั้ง ในส่วนของกลุ่ม นปช. ยืนยันว่า คณะทำงานพร้อมรับฟัง หากไม่สะดวกมาหารือ ก็สามารถพูดคุยทางโทรศัพท์ หรือหาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะโทรมาพูดคุยหรือ สไกป์ ตนก็ยินดี ทั้งนี้ขอยืนยันว่า ข้อสรุปของคณะทำงาน คงไม่เป็นมติ เพราะเป็นแค่การหารือนอกรอบ

**เผย"นิวัฒน์ธำรง"พร้อมคุย 17 พ.ค.

ด้านนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า ได้รับการประสานจากรัฐบาล โดยนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รักษาการนายกรัฐมนตรี ได้รับการตอบรับกลับมาแล้วว่า ยินดีจะหารือ ในวันเสาร์ที่ 17พ.ค. ส่วนเวลาสถานที่จะมีการประสานอีกครั้ง เพราะเขากลัวเรื่องความไม่ปลอดภัย จึงต้องหาสถานที่ที่มีความเป็นกลาง และอยากให้ทุกฝ่ายให้โอกาสให้ได้พูดคุย เพื่อจะได้ทราบปัญหาของเขา หากทุกฝ่ายได้ร่วมกันก็จะทำให้การแก้ปัญหาเป็นไปอย่างยั่งยืน ดังนั้นในวันนี้(16 พ.ค.) จะยังไม่ข้อสรุปแนวทางออกของประเทศ เพราะต้องรอผลการหารือกับฝ่ายรัฐบาลก่อน เพราะส.ว.ไม่ได้หยุดทำหน้าที่

ส่วนกลุ่ม ส.ว.สายกลางแถลงไม่ยอมรับการหารือครั้งนี้ นายสมชาย กล่าวว่า เท่าที่ดูจากแถลงการณ์ก็เห็นว่าไม่ได้มีอะไรแตกต่างกับเรา ยกเว้นเรื่องเดียวคือ อยากให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วเพราะทำไม่ได้ ต้องเอาความเป็นจริงมาว่ากัน การเห็นต่างเป็นเรื่องปกติไม่ได้มีการแยกกลุ่มแต่อย่างใด

** ส.ส.ร.50 หนุนนายกฯพระราชทาน

ต่อมาเวลา16.00 น. นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ได้เป็นประธานการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับ องค์กรภาคประชาสังคม และสื่อมวลชน โดยมีองค์กรที่เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ เครือข่ายสมัชชาเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ชมรมอดีตสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) 2550 เครือข่ายสุขภาพแห่งชาติ เครือข่ายผู้ใช้แรงงาน เครือข่ายกองทุนการออมแห่งชาติ กลุ่มเครือข่ายพี่น้องมหิดล ภาคีเครือข่ายต่อต้านการทุจริต คอร์รัปชันแห่งชาติ

ทั้งนี้ ชมรม ส.ส.ร.2550 ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง ข้อเสนอต่อวุฒิสภาในการแก้ไขวิกฤติชาติ หาทางของประเทศ โดยมีสาระสำคัญว่า ขอยืนยันว่าประเทศไทยต้องมีรัฐบาลเพื่อบริหารประเทศ เพราะประเทศจะว่างเว้นไม่มีรัฐบาลมาบริหารประเทศไม่ได้ ขณะนี้ประเทศไทยไม่มีรัฐบาล โดยเหตุที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้ถูกศาลรัฐธรรมนูญให้ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลง แม้คณะรัฐมนตรีรักษาการจะมอบหมายให้นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่แทนนายกฯ แต่ไม่สามารถทูลเกล้าฯ ถวายร่างพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งและ ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการได้

"รัฐธรรมนูญ บัญญัติไว้ในมาตรา 3 ให้อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย บัดนี้ได้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎรไปแล้ว คงเหลือเพียงวุฒิสภา ที่จะปฎิบัติหน้าที่ทางนิติบัญญัติ ในสถานการณ์เช่นนี้ สมควรที่สถาบันนิติบัญญัติ โดยให้รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ประธานวุฒิสภา ในนามรัฐสภา สามารถทูลเกล้าฯ เสนอชื่อผู้สมควรเป็นนายกรัฐมนตรี ต่อองค์พระประมุข และรับสนองพระบรมราชโองการให้นายกรัฐมนตรีตามที่วุฒิสภาได้เสนอ แต่เนื่องจากขณะนี้อยู่ในสภาวะยุบสภาฯ ไม่มีส.ส.ที่จะขึ้นมาดำรงตำแหน่งนายกฯได้ จึงจำเป็นต้องเสนอบุคคลที่เหมาะสมที่สุดขึ้นมาทำหน้าที่นายกฯ ตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งในช่วงก่อนปี 2535 ไม่เคยกำหนดว่า นายกฯต้องมาจากส.ส.เท่านั้น"

** "นิวัฒน์ธำรง"ยอมหารือแค่วงเเล็ก

นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ ปฏิบัติหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี ย้ำว่า อำนาจหน้าที่ของความเป็นคณะรัฐมนตรีรักษาการนั้น เป็นไปอย่างสมบูรณ์ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ และอ้างอิงตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญครั้งล่าสุด

ส่วนการปฏิบัติหน้าที่ของตนนั้น ยืนยันว่าสามารถทำได้ ซึ่งเป็นไปตามพ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดินปีพ.ศ.2534 มาตรา 10 ที่ระบุไว้ว่าให้คณะรัฐมนตรีชุดที่เหลือคัดเลือกบุคคลเข้ามาดำรงตำแหน่งปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี และในการประชุมครม.นวันที่ 7 พ.ค.ที่ผ่านมา ก็ได้เลือกตนให้ปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 178 โดยขอบเขตอำนาจหน้าที่นั้นเท่ากับนายกรัฐมนตรีอย่างสมบูรณ์ และสามารถบริหารราชการแผ่นดินภายใต้รัฐธรรมนูญ และสามารถทูลเกล้าฯพระราชกฤษฎีการเลือกตั้งได้

นายนิวัฒน์ธำรง ยังระบุถึงข้อเสนอนายกรัฐมนตรีคนกลางโดย ว่ารัฐบาลรักษาการไม่ได้ปฏิเสธ แต่การดำเนินการจะต้องเป็นไปตามที่กฎหมายรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ แม้เป็นข้อเสนอที่ดี หากไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ก็เดินไปไม่ได้

อย่างไรก็ตาม นายนิวัฒน์ดำรง ย้ำว่ารัฐบาลเปิดกว้างที่จะพูดคุยกับทุกฝ่าย โดยอาจเชิญ นายสุรชัย เข้าหารือวงเล็กก่อนที่จะตัดสินใจใดๆ

นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และรมช.เกษตรและสหกรณ์ ยืนยันว่ารัฐบาลพร้อมหารือกับวุฒิสภา แต่ผู้เสนอควรบอกที่มาของรัฐบาลเฉพาะกิจให้ชัดเจนว่า สามารถดำเนินการได้ภายใต้กฏหมายใด ที่สำคัญต้องคำนึงว่า จะเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายหรือไม่เพราะขณะนี้ต้องยอมรับว่ามีมวลชนอีกฝ่ายหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการมีรัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง

ทั้งนี้ตนเห็นว่าแนวทางที่ดีที่สุดควรกลับมาใช้แนวทางที่มีบทบัญญัติในกฏหมายที่ชัดเจน เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย เพราะ นานาชาติเองก็อยากเห็นการเลือกตั้งเกิดขึ้นในประเทศไทย

**ส.ว.เลือกตั้งอ้างชื่อ"กลุ่มกลาง"โดดขวาง

แกนนำกลุ่มส.ว.เลือกตั้ง บางส่วน ซึ่งอ้างว่าเป็นส.ว.กลุ่มกลาง นำโดย นายตรี ด่านไพบูลย์ ส.ว.ลำพูน นางอาภรณ์ สาราคำ ส.ว.อุดรธานี ออกแถลงการณ์ 6 ข้อต่อการประชุมนอกรอบของวุฒิสภา คือ

1. ประเทศอยู่ในภาวะวิกฤตการเมืองที่รันแรง ควรมีการหาทางออกจากวิกฤตนี้โดยเร็ว ต้องคำนึงถึงการไม่ทำให้ ความขัดแย้งของสังคมเลวร้ายยิ่งขึ้น และไม่ดึงสถาบันมาเกี่ยวข้องด้วย

2.เราสนับสนุนให้วุฒิสภาเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหาการเมืองร่วมกับทุกฝ่ายภายใต้กรอบกฏหมายและรัฐธรรมนูญ ส.ว.ควรมีความเป็นกลาง พร้อมรับฟังความเห็นที่หลากหลายและแตกต่างได้

3.การแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา 7 ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากไม่สอดคล้องกับบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ปัจจุบัน ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงมีพระราชดำรัสไว้แล้ว

4 .เรียกร้องรัฐบาลรักษาการและกกต. รวมถึงพรรคการเมืองที่มีส่วนร่วมจัดเลือกตั้งโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมใน 5.พรรคการเมืองทุกพรรค สมควรร่วมมือร่วมใจกัน ยึดเอาผลประโยชน์ประเทศและประชาชน โดยให้มีการปฏิรูปให้แล้วเสร็จภายในเวลาไม่เกิน1ปี โดยเชิญองค์กรภาคีปฏิรูปเข้าร่วม

6.ในระหว่างที่ไม่มีข้อยุติ และทางออกที่ชัดเจน ขอเรียกร้องไปยังรักษาการนายกรัฐมนตรีดูแลความสงบเรียบร้อยและบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิต ทรัพย์สิน และผลประโยชน์ของประเทศชาติเพิ่มขึ้นอีกต่อไป

ทั้งนี้นายตรีอ้างว่า ก่อนหน้านี้เราต่างคนต่างมายังไม่ชัดเจนในเรื่องแนวทางและหลักการ ตอนนี้เริ่มมีหลายคนที่มองไปในแนวทางเดียวกันว่าเราต้องพยายามยกตนเองเหนือความขัดแย้ง จะไม่เอาความขัดแย้งมาแสดงออก สิ่งที่ ทำคือสถานะความเป็นกลางเพื่อประโยชน์ส่วนรวมและถูกหลักตามรัฐธรรมนูญ โดยกำลังมีการรวมตัวกัน ตอนนี้ประมาณ 50 คน ใช้ชื่อว่า กลุ่ม ส.ว.กลาง

ส่วนการประชุมในวันนี้ (16 พ.ค.) ตนจะไม่เข้าร่วม เพราะเคยแสดงเจตนารมแล้วว่า การประชุมเปิดเผยจะนำพาส.ว.เข้าจุดเสี่ยงของภาคีความขัดแย้ง และเสนอให้ประชุมลับเพื่อ ให้ชัดเจนก่อนค่อยกำหนดจุดยืนเพื่อรักษาการยอมรับจากประชาชนก่อน การแสดงออกของพวกตนเป็นส่วนหนึ่งของการแสดงออกต่อท่าทีในเรื่องนี้ เพราะทิศทางเริ่มต้นมันผิดจะทำให้เกิดการไม่ยอมรับ แต่เราเห็นด้วยในการระดมความเห็นทุกองค์กร

เมื่อถามว่าหากนายสุรชัย นำนายกรัฐมนตรีทูลเกล้าตามมาตรา 7 ทางกลุ่มกลางจะมีมาตรการอย่างไร นายตรีกล่าวว่า นายสุรชัยทำหน้าที่ประธานรักษาการ แต่ไม่ได้หมายความการทำหน้าที่ตรงนั้นถือเป็นฉันทามติของส.ว. กระบวนการรับฟังความเห็นนอกรอบไม่ใช่มติที่ประชุม

** "เพื่อไทย"ร้องดีเอสไอ ตามทุบ"สุรชัย"

นายสิงห์ทอง บัวชุม คณะทำงานฝ่ายกฏหมายพรรคเพื่อไทย เดินทางเข้าแจ้งความกล่าวโทษต่อนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)เพื่อดำเนินคดีกับนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่1ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภา กับพวก และผู้เข้าร่วมประชุมกับนายสุรชัย ฐานความผิดเป็นตัวการและสนับสนุนได้กระทำความผิดตามตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา รัฐธรรมนูญมาตรา68 และประมวลกฏหมายอาญามาตรา113 ,116

นายสิงห์ทอง กล่าวว่า นายสุรชัย รู้อยู่แล้วว่ามีพระราชกฤษฎีกาเปิดประชมวิสามัญ เมื่อวันที่10 พ.ค.เป็นต้นมา และได้มีเจตนาพิเศษผิดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา68 เพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจการปกครองประเทศ อีกทั้ง ในฐานะรองประธานวุฒิสภา นายสุรชัยทราบดีว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเด็ดขาดมีผลผูกพันทุกองค์กร ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ายังมีคณะรัฐมนตรีปฏิบัติหน้าทีอยู่ การดำเนินแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามมาตรา7ไม่อาจกระทำได้ แต่นายสุรชัยปฏิเสธไม่ยอมรับอำนาจศาล นอกจากนี้พฤติกรรมที่นายสุรชัย เชื้อเชิญบุคลคลในองค์กรต่างๆมาร่วมประชุมในการแต่งตั้งนายกฯคนกลาง เป็นการประชุมโดยไม่ชอบกฎหมายไปด้วย ตนจึงขอกล่าวโทษนาสุรชัยกับพวกและผู้ที่ร่วมประชุมกับนายสุรชัยในฐานความผิดเป็นตัวการและสนับสนุนด้วย

ทั้งนี้ หากนายสุรชัย กับพวกยังดันทุรังดำเนินการ ตนเชื่อว่ามวลชนฝ่ายต่อต้านจะยกระดับการชุมนุมไปสู่ความรุนแรงขั้นสูงสุดซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะประสบการจราจลและกลียุค และอาจถึงขนาดสงครามกลางเมือง

ด้าน นายธาริต กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่เรากำลังดำเนินการอยู่ ซึ่งมีเหตุผล 3 ประการ คือ

1. นายสุรชัยกับพวก กระทำการฝ่าฝืนศาลรัฐธรรมนูญที่พิพากษาว่ารัฐมนตรีที่ยังเหลือยังต้องอยู่ในหน้าที่จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่เข้ารับหน้าที่

2.พฤติการทั้งงหลายของนายสุรชัยมีลักษณ์สนับสนุนหรือสมคบคิดนายสุเทพ และแกนนำกปปส.ถึงขนาดที่นายสุเทพไปพบกับนายสุรชัยที่สภาและออกมาประกาศบนเวทีว่านายสุรชัยเป็นพวกกับกปปส.และรับปากว่าจะดำเนินการนายกฯมาตรา7

3.มีผู้ร้องทุกข์กล่าวหานายสุรชัยกับพวกอย่างชัดเจนทั้งนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย และนายสิงห์ทอง ดังนั้นตนยืนยันว่ามีความจำเป็นที่ต้องสืบสวนดำเนินคดีนี้กับนายสุรชัยและพวก และเห็นว่านายสุรชัยและพวกเข้าข่ายกระทำความผิดร่วมกับนายสุเทพจริง

**“ปธ.ป.ป.ช.”หนุนวุฒิสภาหาทางออก

นายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ ประธานคณะกรรมการป.ป.ช. กล่าวถึงการเข้าหารือ แนวทางแก้ปัญหาบ้านเมืองร่วมกับวุฒิสภา เมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา ว่า ตนได้แจ้งต่อที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. ก่อนที่จะเข้าร่วมประชุมในฐานะส่วนตัว ไม่ได้ไปในนามองค์กร ตั้งใจที่จะไปพบเพื่อรับฟังปัญหา เพราะเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญของประเทศ อีกทั้งต้องการไปให้กำลังใจกับ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ในฐานะที่ต้องการทำเพื่อประเทศ ในการนำความคิดเห็นของทุกภาคส่วนไปสังเคราะห์ เพื่อนำมาเป็นแนวทางแก้ปัญหา เพราะทุกคนต้องการให้บ้านเมืองสงบ ตนได้เสนอแนะไปว่า ขอให้เร่งทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ และต้องผ่านความเห็นชอบด้วยกันทั้งหมด แต่ก็เข้าใจดีกว่าคงลำบาก แต่ถ้าไม่มีข้อสรุป หรือตกลงกันไม่ได้ ก็ต้องแล้วแต่ทางวุฒิสภาจะพิจารณาไปตามอำนาจหน้าที่ อย่างไรก็ตาม ตนอยู่เพียงครู่เดียวก็กลับมาประชุมต่อ ไม่ได้อยู่ฟังตลอด แต่ไปด้วยความเห็นใจ เพราะว่าตอนนี้ทุกคนต้องการให้บ้านเมืองสงบ

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากทางวุฒิสภาต้องการผลักดันให้มีนายกรัฐมนตรีคนกลาง จากมาตรา 7 จะเห็นด้วยหรือไม่ นายปานเทพ กล่าวว่า ตรงนั้นยังไม่ทราบ แต่เท่าที่ทราบวุฒิสภาได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาสังเคราะห์ข้อมูลความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ เพื่อหาทางซึ่งยังไม่รู้ว่าแนวทางใด และส่วนตัวตนคิดว่าทางออกบ้านเมืองขณะนี้ควรยึดหลักกฎหมาย ถึงเวลาแล้วที่ทุกคนต้องร่วมมือร่วมใจกัน และช่วยกันแก้ไขปัญหาให้กับประเทศ เพราะตอนนี้ความไม่สงบที่เกิดขึ้นมานานทำให้ประเทศชาติเสียหาย ดังนั้นประเทศต้องสงบ เพราะความสงบเรียบร้อยเป็นรากฐานของการพัฒนาประเทศ ถ้าประเทศไม่สงบก็พัฒนาไม่ได้

เมื่อถามว่า คิดว่าถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องมีการตั้งนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 7 หรือไม่ นายปานเทพ กล่าวว่า จะพูดอย่างนั้นไม่ได้ เพราะทางออกประเทศ คือประเทศต้องมีรัฐบาล เพื่อมาบริหารประเทศอย่างเต็มศักยภาพ และแน่นอนที่สุดว่ารัฐบาลจะต้องมาจากการเลือกตั้ง เป็นไปตามระบอบประชาธิปไตย เป็นที่ยอมรับของต่างชาติ

"แต่ก็ต้องดูว่าขณะนี้ประเทศเรามีความพร้อมหรือยัง เพราะถ้าเลือกตั้งไปแล้วมีวงจรกลับมาที่เดิม ก็ไม่ได้ประโยชน์อะไร การจัดเลือกตั้งได้รัฐบาลที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ต้องมีองค์ประกอบต่างๆ อย่างครบถ้วน และต้องดูความพร้อมของทุกฝ่ายด้วย" นายปานเทพ กล่าว

**ส่งชื่อ "สุรชัย-พีระศักดิ์" ให้ครม.ทูลเกล้าฯ

นางนรรัตน์ พิมเสน เลขาธิการวุฒิสภา เปิดเผยว่า สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาได้ส่งรายชื่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา คนที่1 และนายพีระศักดิ์ พอจิต สว.อุตรดิตถ์ ไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตร (สลค.)เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว ภายหลังวุฒิสภามีมติเลือกบุคคลทั้งสองดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภาคนที่2ตามลำดับ ทั้งนี้ได้ส่งประวัติไปให้สลค.ด้วย

ส่วนประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความถูกต้องในการลงมติเลือกประธานและรองประธานนั้นยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน แต่หากในอนาคตเกิดปัญหาข้อโต้แย้งขึ้นมาคงจะต้องมีการประสานงานพูดคุยกันต่ออีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น