xs
xsm
sm
md
lg

ขีดวันเลือกตั้ง20ก.ค. เร่งชงครม.ออกพ.ร.ฎ. กำนันลั่นยึดประเทศคืน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-รัฐบาลเห็นพ้อง กกต. กำหนดวันเลือกตั้ง 20 ก.ค. ชิงนำร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งเข้าครม. 6 พ.ค.นี้ ก่อน "ปู" จะถูกชี้มูลจากป.ป.ช. หรือศาลรัฐธรรมนูญ กกต.รับแก้ระเบียบให้รับสมัครทางไปรษณีย์ได้ ปชป.ซัด "ยิ่งลักษณ์" สับปลับ ศอ.รส.เตะตัดขาต่อ ส่งอัยการฟ้องแกนนำ กปปส. "สุเทพ"แจงแผนสู้ ลั่น 14 พ.ค.ยึดประเทศคืน ตั้งรัฐบาล สภาประชาชน เดินแผนปฏิรูปประเทศ 18 เดือน

เมื่อเวลา 14.00 น. วานนี้ (30เม.ย.) ที่อาคารรณนภากาศ โรงเรียนนายเรืออากาศ ดอนเมือง ได้มีการหารือระหว่างคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กับรัฐบาล เพื่อหาแนวทางข้อสรุปกำหนดวันเลือกตั้ง โดยฝ่ายรัฐบาลที่ร่วมหารือ ประกอบด้วย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี นายวราเทพ รัตนากร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและรมช.เกษตรและสหกรณ์ นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม นายเสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมช.ศึกษาธิการ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม นายวิบูลย์ สงวนพงษ์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รอง ผบ.ตร. และนายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ขณะที่ฝ่าย กกต. มีนายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. นายสมชัย ศรีสุทธิยากร นายบุญส่ง น้อยโสภณ นายประวิช รัตนเพียร นายธีรวัฒน์ ธีรโรจน์วิทย์ กกต. และนายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการกกต.

ก่อนเข้าสู่วาระการประชุม นายศุภชัยกล่าวว่า สาเหตุที่ย้ายสถานที่หารือจากสำนักงาน กกต. มาที่โรงเรียนนายเรืออากาศ เนื่องจาก กปปส. เดินทางไปยัง บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และไปรษณีย์ไทย แจ้งวัฒนะ จึงเกรงว่า มวลชนจะมาปิดล้อม ทำให้หารือกันไม่ได้ จึงย้ายมาที่ดอนเมือง ซึ่งเป็นสถานที่สำรองที่เตรียมไว้อยู่แล้ว ประจวบกับที่นายกฯ มีประชุมกับหัวหน้าส่วนราชการ จึงทำให้ไม่ต้องเสียเวลา

** เผย 5 ข้อเสนอจาก กกต.ถึงรัฐบาล

นายสมชัยกล่าวก่อนหารือกับรัฐบาลว่า กกต.จะเสนอเงื่อนไขสำคัญ ที่อยากให้รัฐบาลเห็นชอบก่อนเคาะวันเลือกตั้งประกอบด้วย 1.รัฐบาลจะต้องสามารถรับประกันในบรรยากาศการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม 2.ฝ่ายความมั่นคงจะต้องมีส่วนสนับสนุนให้การจัดการเลือกตั้งสำเร็จ และเป็นไปด้วยความสงบเรียบร้อย 3.รัฐบาลต้องวางตัวเป็นกลาง ไม่ใช้อำนาจในฐานะรัฐบาลรักษาการ เพื่อก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้ง 4.ในกรณีที่การเลือกตั้งครั้งต่อไป กกต.เห็นว่า การดำเนินการเลือกตั้งจะเป็นไปโดย ไม่เสรีและเป็นธรรม หรือไม่สงบเรียบร้อย กกต.จะขอใช้สิทธิ์ในการเลื่อนวันลงคะแนน ในเฉพาะพื้นที่ที่เป็นปัญหา ซึ่งอาจเป็น รายหน่วย รายเขต รายจังหวัด หรือแม้กระทั่งเป็นรายภาค หรือทั้งประเทศ และ 5.รัฐบาลต้องยินยอมรับสภาพที่การเลือกตั้งอาจจะหย่อนบัตรสำเร็จ แต่อาจจะไม่สามารถเปิดสภาได้ใน 30 วัน

**เลือกตั้ง 20ก.ค.แย้มให้สมัครทางไปรษณีย์

นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. กล่าวภายหลังการหารือประมาณ 2 ชั่วโมงว่า บรรยากาศการหารือเป็นไปด้วยดี กกต. โดยนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง ได้เสนอปัญหาที่มีส่วนทำให้การเลือกตั้งที่ผ่านมามิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เช่น ปัญหาการรับสมัคร การขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของ กกต. ถูกปิดล้อมการจัดพิมพ์บัตร ซึ่งนายกฯ ก็รับทราบปัญหา ซึ่งกกต. ได้มีการเสนอแนวทางแก้ปัญหา โดยจะมีการปรับปรุงแก้ไขประกาศ กกต. และแก้ไขปัญหาการบริหารการเลือกตั้ง เช่น ยกร่างการรับสมัครทางไปรษณีย์

"นายกฯ มีความเห็นตรงกันว่าจะร่วมมือ กกต.ในการดำเนินการแก้ไขปัญหา และจะให้ความร่วมมือ โดยจะส่งฝ่ายความมั่นคง กองทัพ มหาดไทย สนับสนุนการจัดการเลือกตั้งแบบเต็มกำลังความสามารถ เพื่อให้การเลือกตั้งสำเร็จให้ได้"

นายภุชงค์กล่าวต่อว่า ที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่า วันที่ 20 ก.ค. เหมาะสมที่จะจัดเลือกตั้ง โดยวันที่ 6 พ.ค. ทาง กกต.จะไปยกร่าง พ.ร.ฎ.วันเลือกตั้งใหม่ แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้ความเห็นชอบ จากนั้นนายกฯ จะนำร่าง พ.ร.ฎ.ขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป คาดว่าสัปดาห์หน้า จะเสนอเข้าที่ประชุมครม.ได้

นอกจากนี้ การประสานต่างๆ กกต. จะตั้งคณะทำงานโดยมีตัวแทนหน่วยงาน กระทรวง ทบวง กรม มาร่วมมือแก้ไขปัญหา ส่วนข้อเสนอของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ไม่ได้นำมาหารือกัน

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้รับทราบเงื่อนไข 5 ข้อ ของกกต. ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อนวันลงคะแนน หากมีปัญหาเกิดขึ้น หรือ กรณีที่ไม่สามารถเปิดสภาภายใน 30 วัน และรัฐบาลยังรับปากว่า พร้อมที่จะเสนอ พ.ร.ฎ.วันเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว หากมีปัญหาจนไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ในวันที่ 20 ก.ค.

**ปัดหาแนวทางรองรับหาก"ปู"โดนฟัน

เมื่อถามว่า กกต.กับรัฐบาลได้หารือกรณีที่ระหว่างยกร่าง พ.ร.ฎ. แล้วมีเหตุหนึ่งเหตุใดทำให้รัฐบาลสิ้นสภาพ นายภุชงค์ กล่าวว่า ที่ประชุมไม่ได้มีการหารือกัน เนื่องจากเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น และเป็นเรื่องที่นักกฎหมายหลายสำนักตีความต่างกัน แต่ กกต.จะหารือกับคณะกรรมการกฤษฎีกา หากมีอะไรเกิดขึ้น

เมื่อถามว่า กปปส. ยืนยันขัดขวางการเลือกตั้ง นายภุชงค์ กล่าวว่า รัฐบาลกับกกต. จะร่วมมือกันจัดการเลือกตั้งตามกฎหมาย แต่ถ้ามีปัญหาเกิดขึ้น ก็ต้องแก้ไขไป ส่วนงบประมาณการจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ คาดว่าคงไม่แตกต่างจากเดิม คาดว่าจะใช้งบประมาณไม่เกิน 3,800 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการหารือครั้งนี้ นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. เสนอในการร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้ง อยากเพิ่มรายละเอียดว่า หากการเลือกตั้งล่วงหน้า 7 วันก่อนถึงวันเลือกตั้งจริง มีปัญหา ไม่สามารถจัดการเลือกตั้งได้ ให้ประธานกกต. มีอำนาจเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปได้ ขณะที่นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา โต้แย้งว่า ไม่เคยมีการ ร่าง พ.ร.ฎ. แบบนี้มาก่อน เพราะถือว่าการบังคับพระราชอำนาจ และหากประธาน กกต.ทำผิด นายกฯ ในฐานะผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ก็ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ

ขณะที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารงานเลือกตั้ง ได้เสนอว่า หากระบุใน พ.ร.ฎ.ไม่ได้ ขอให้ทำเป็นบันทึกช่วยจำ (เอ็มโอยู) ได้หรือไม่ ที่จะให้อำนาจประธานกกต. เลื่อนวันเลือกตั้ง แต่นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกฯ โต้แย้งว่า นายสมชัย พูดแบบนี้ไม่ได้ ปัญหายังไม่เกิดขึ้น ไว้เกิดขึ้นก่อน แล้วค่อยมาคิดกัน

**ครม.ถกพ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้ง 6 พ.ค.

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า กกต.จะกลับไป ร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้ง และจะส่งมายังรัฐบาล ในช่วงเช้าวันที่ 6 พ.ค. ซึ่งตรงกับวันประชุม ครม. เพื่อครม.จะได้มีการพิจารณาในวันนั้นทันที จากนั้นตามขั้นตอนก็จะมีการประสานสำนักราชเลขาธิการสำนักพระราชวัง เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ โดยกรอบเวลาการเลือกตั้งที่ กกต.เสนอ คือ วันที่ 20 ก.ค. ซึ่งรัฐบาลเห็นว่าเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เนื่องจาก กกต. จะมีเวลาแก้ไขกฎระเบียบการเลือกตั้งบางส่วนได้

ส่วนข้อกังวลที่ทางศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยสถานะนายกรัฐมนตรี กรณีโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการ สมช. ในวันที่ 6 พ.ค.นั้น เชื่อว่าจะไม่เกิดอุบัติเหตุทางการเมืองขึ้นกับนายกฯ โดยส่วนตัวนายกฯ มีความมั่นใจต่อหลักฐาน และคำชี้แจงส่งไปยังศาลรัฐธรรมแล้ว และรัฐบาลยังไม่มีการวางตัวนายกฯ สำรอง เนื่องจากยังเชื่อว่านายกฯ ยังจะปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ เช่นเดียวกับกระแสข่าวที่วางตัวตน เป็นนายกฯ ก็ไม่มีเรื่องนี้เช่นกัน

**"ปึ้ง" ระดมกำลังดูแลเลือกตั้ง

นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.ต่างประเทศ ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) กล่าวว่า ศอ.รส. ยืนยันว่า จะดูแลการเลือกตั้งตามที่ กกต. เสนอทั้ง 5 ข้อ โดยจะใช้กำลังทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และเจ้าหน้าที่สังกัดกระทรวงมหาดไทย ร่วมกันดูแล และเชื่อมั่นว่า การเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย เชื่อว่าการขัดขวางการเลือกตั้งจะลดน้อยลง เนื่องจากแกนนำ กปปส. บางส่วนถูกดำเนินคดีขัดขวางการเลือกตั้ง และยืนยันจะทำให้การเลือกตั้งเกิดความเป็นธรรม

พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รอง ผบ.ตร. กล่าวว่า จะดูแลความเรียบร้อยในวันเลือกตั้งอย่างเต็มที่ สนธิกำลังทหาร และตำรวจ ภายใต้ พ.ร.บ.ความมั่นคง โดยตนจะกลับไปทำแผนดูแลการเลือกตั้ง ขณะที่นายกฯ กำชับให้นำบทเรียนการจัดการเลือกตั้งครั้งที้ผ่านมา เป็นบทเรียนดูแลการเลือกตั้งครั้งนี้ ส่วนกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส. ที่ประกาศขัดขวางการเลือกตั้ง เชื่อว่าสามารถทำความเข้าใจกันได้

**ปชป.ซัด "ปู" สับปลับ

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีรัฐบาลและ กกต. ตกลงจะเลือกตั้งวันที่ 20 ก.ค. ว่า น่าเสียดายที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ พาประเทศเข้าสู่มุมอับ ทั้งที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ พยายามที่จะหาทางออกให้กับประเทศ การตัดสินใจเช่นนี้ จะทำให้นายอภิสิทธิ์ทำงานยากขึ้น สวนทางกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ระบุว่าจะให้โอกาสนายอภิสิทธิ์ ทำงาน

ส่วนคำถามที่ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะลงเลือกตั้งหรือไม่ ถือว่าไม่ใช่หน้าที่ของพรรคที่จะตอบคำถามนี้ เพราะที่ผ่านมา เราตั้งคำถามไปยังรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้แก้ปัญหา เพื่อให้เกิดความสงบในหลายเรื่อง แต่รัฐบาลยังไม่คิดที่จะตอบเลย ดังนั้น ก่อนจะถามพรรค อยากให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตอบ 20 กว่าคำถามที่เราได้ถามก่อน แต่ถ้า น.ส.ยิ่งลักษณ์ มั่นใจว่า การเลือกตั้งจะเป็นอย่างเรียบร้อย ก็ขอให้เดินหน้า และต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เกิดขึ้นด้วย เพราะพรรคประชาธิปัตย์ เห็นว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจะเป็นได้ด้วยความไม่เรียบร้อยแน่นอน

**"ปู"ฝันประเทศพ้นความขัดแย้ง

น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ได้เป็นประธานประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวงหรือเทียบเท่า เพื่อติดตามผลกระทบต่อประชาชนและการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะเดิมที่ต้องเลือกตั้งภายใน 60 วัน หลังยุบสภา และตั้งรัฐบาล แต่ปัจจุบันการเลือกตั้งได้ล่าช้าไปกว่า 3 เดือน ทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพราะรัฐบาลทำงานได้อย่างจำกัด ซึ่งได้สั่งการให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาของประชาชนอย่างเร่งด่วน

"ดิฉันหวังว่าประเทศจะสามารถหลุดพ้นจากความขัดแย้ง และทุกฝ่ายสามารถหันหน้าพูดคุยกันอย่างสันติ รวมทั้งสามารถเดินหน้าจัดการเลือกตั้งได้ตามกรอบของรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ได้รัฐบาลที่มาจากความต้องการของประชาชนที่แท้จริงโดยเร็วค่ะ"นายกรัฐมนตรีกล่าว

**ปลัดกห.โวยกองทัพถูกแฮกเว็บไซต์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมหัวหน้าส่วนราชการระดับปลัดกระทรวงหรือเทียบเท่า พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ผบ.ตร. ได้รายงานว่าในส่วนของการดูแลรักษาความเรียบร้อยในการชุมนุมกลุ่ม กปปส. ทาง ศอ.รส. ได้มีการปรับโครงสร้างลดกำลังพลลง ทั้งในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทหาร ตามนโยบายนายกฯ ที่ให้มีการปรับลดกำลังพลเพื่อลดการใช้จ่ายงบประมาณ ขณะที่จำนวนผู้ชุมนุมลดน้อยลงเฉลี่ย 3,000 คน และมีแนวโน้มย้ายการชุมนุมจากสวนลุมพินี ย้ายมาที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน แต่เชื่อว่ายังรอประเมินท่าทีองค์กรอิสระอยู่

ขณะที่ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ปลัดกระทรวงกลาโหม กล่าวรายงานที่ประชุมว่า ขณะนี้เว็บไซต์ของกองทัพ ในส่วนของผู้นำเหล่าทัพทั้ง 5 เว็บไซต์ ถูกแฮกข้อมูลมาจากมาจากประเทศในตะวันออกกลาง โดยทั้ง 5 เว็บไซต์ หน้าของผู้นำเหล่าทัพ ถูกเปลี่ยนเป็นรูปหัวกระโหลกไขว้ รวมถึงข้อมูลต่างๆ ถูกแฮก ทำให้ข้อมูลบางส่วนหาย

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า ในส่วนของเว็บไซต์สภาพัฒน์ฯ ถูกแฮกข้อมูลเช่นเดียวกัน ทำให้ตัวเลขจีดีพีที่จะเผยแพร่ต่อสาธารณะมีปัญหา

ขณะที่นายกฯ สั่งให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) วางมาตรการปรับระบบป้องกันใหม่ทั้งหมด เพื่อกันผู้ไม่หวังดีแฮกข้อมูล

**ศอ.รส.ส่งสำนวนคดีกปปส.ให้อัยการวันนี้

น.ส.สิริมา สุนาวิน คณะทำงาน ศอ.รส. กล่าวถึงผลการประชุม ศอ.รส. ว่า ศอ.รส.ได้รับรายงานจากกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เกี่ยวกับความคืบหน้าในการดำเนินคดีพิเศษ กรณีแกนนำ กปปส. รวมทั้งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. และผู้กระทำผิดกฎหมาย ซึ่งถูกดำเนินคดีฐานร่วมกันเป็นกบฏ ร่วมกันยุยงให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมาย ร่วมกันมั่วสุมให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และความผิดฐานอื่นๆ ที่ต่อเนื่องหรือเกี่ยวพันกัน ได้แก่ ความผิดเกี่ยวกับการขัดขวางการเลือกตั้ง และการบุกรุกสถานที่ราชการนั้น ขณะนี้มีแกนนำกปปส. และผู้กระทำผิดกฎหมายที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีดังกล่าวเพิ่มเติมอีก 236 ราย จากการกระทำผิดฐานขัดขวางการเลือกตั้ง จึงมีจำนวนผู้ต้องหาทั้งสิ้น 316 ราย ซึ่งคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้สรุปสำนวนคดีดังกล่าวแล้ว โดยจะส่งไปยังพนักงานอัยการ ในวันที่ 1 พ.ค.นี้

ทั้งนี้ จะแยกส่งสำนวนในครั้งแรก 58 ราย โดยมีความเห็นควรสั่งฟ้องทุกคน ทุกข้อหา ตามฐานความผิด คาดว่าพนักงานอัยการฝ่ายคดีพิเศษ จะได้มีคำสั่งทางคดีและฟ้องผู้กระทำผิดได้ในวันที่ 8 พ.ค. อันเป็นวันครบกำหนดฝากขังของผู้ต้องหาบางราย โดยหากผู้ต้องหาคนใดที่ยังไม่เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน และพนักงานอัยการได้มีคำสั่งควรสั่งฟ้องแล้ว คณะพนักงานสอบสวนจะได้ขออำนาจศาล เพื่อออกหมายจับ และนำตัวมาฟ้องต่อศาลต่อไป ส่วนผู้ต้องหาที่เหลือทั้งหมด จะได้สรุปสำนวนการสอบสวนส่งพนักงานอัยการภายในกลางเดือนพ.ค.เช่นกัน

ศอ.รส. ขอย้ำว่า การดำเนินคดีดังกล่าวเป็นการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมตามปกติ มีความโปร่งใส ตรงไปตรงมา ไม่ได้มีการกลั่นแกล้ง แม้การเข้าร่วมการชุมนุมจะเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่หากมีการกระทำผิดกฎหมาย ก็ต้องถูกดำเนินคดีทุกคน โดยไม่มีการละเว้น จึงขอให้ประชาชนใช้วิจารณญาณหลีกเลี่ยงการเข้าร่วมชุมนุมดังกล่าว

ทั้งนี้ ศอ.รส. ขอร้องกลุ่มมวลชนทุกกลุ่มให้งดเว้นการปิดล้อม ปิดกั้น และคุกคามการทำงานของข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระ ศาล และหน่วยงานต่างๆ เพราะก่อให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเมืองอย่างมาก โดยเฉพาะการให้บริการประชาชนที่จะต้องหยุดลง หรือล่าช้าเสียหาย อันเป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมาย และไม่เกิดประโยชน์ โดย ศอ.รส. มีนโยบายให้ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญากับแกนนำกลุ่ม กปปส. หรือกลุ่มอื่นใดที่มีพฤติกรรมดังกล่าว โดยขณะนี้มีหน่วยราชการเข้าแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาบุกรุก ปิดล้อมสถานที่ราชการหรือหน่วยงานของรัฐแล้วทั้งหมด 28 หน่วยงาน เป็นจำนวนทั้งสิ้น 37 คดี

**"เหลิม"เย้ยกปปส. ย้ายที่ชุมนุมก็ไม่ชนะ

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รมว.แรงงาน ในฐานะผู้อำนวยการ ศอ.รส. กล่าวถึงกระแสข่าวกลุ่มกปปส. เตรียมจะย้ายเวทีชุมนุมจากสวนลุมพินีกลับไปที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถนนราชดำเนิน ว่า เป็นสิทธิ์ของผู้ชุมนุม จะย้ายไปตรงไหนก็ได้ แต่อย่าทำผิดกฎหมาย หากไปกีดขวางการจราจร พี่น้องประชาชนจะมีความรู้สึกไม่ศรัทธา ความเสียหายจะเกิดขึ้นกับม็อบเอง การดำรงอยู่ของม็อบจะชนะหรือแพ้ ไม่ได้อยู่ที่สถานที่ แต่อยู่ที่เหตุผล อย่างนายสุเทพ กลับไปกลับมา ปราศรัยเรื่องเดิมๆ ถ้าเดินทรงนี้ ไม่ชนะหรอก ตนวิเคราะห์ว่า การที่นายสุเทพ ย้ายเวทีมาถนนราชดำเนิน มีหลายปัจจัย อาทิ พรรคพวกน้อยลง หากอยู่สวนลุมพินีต่อไป โรงแรมดุสิตธานี จะเจ๊ง ไม่มีคนพัก มีการร้องขอจากใครหรือไม่ นายสุเทพ ถ้าไม่มีเบื้องหลัง เรียบร้อยไปนานแล้ว ดังนั้น ต้องให้อ่อนแรงไปเอง

** จวกพท.เลิกดึง"ป๋าเปรม"มาเกี่ยวข้อง

นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขณะนี้มีความพยายามที่จะดึงสถาบันพระมหากษัตริย์มาข้องเกี่ยวกับการเมือง โดยดึงเรื่องการทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชวินิจฉัยกรณีที่รัฐบาลถูกวินิจฉัยสถานภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่บังควรอย่างยิ่ง เพราะเรื่องการเมืองต้องแก้ด้วยนักการเมือง และผู้ที่หน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติเท่านั้น ตนขอให้รัฐบาลยุตินำเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถาบันฯ มาเกี่ยวข้อง มิเช่นนั้นจะถือว่า เป็นการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอีกรูปแบบหนึ่ง นอกจากการปล่อยให้หลายคนพูดจาดูหมิ่นอย่างตรงไปตรงมาและเปิดเผย เช่นกรณี พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ที่ให้ผู้แทน ออกมาปฏิเสธว่า ไม่เกี่ยวข้องหรือรู้เห็นกับการทูลเกล้าฯ ขอพระบรมราชวินิจฉัยวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองแต่อย่างใด ขอให้ทุกฝ่ายยุติเรื่องนี้ โดยเฉพาะนายวรชัย เหมะ อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย แกนนำคนเสื้อแดง ที่พยายามทำหนังสือขอเข้าพบ พล.อ.เปรม เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม และพยายามทำอย่างต่อเนื่องที่จะดึง พล.อ.เปรม มาเพื่อปลุกระดมมวลชนคนเสื้อแดงอีกครั้ง เหมือนที่เคยทำในปี 2553

"เมื่อพล.อ.เปรม พูดชัดแล้วว่า ไม่เกี่ยวข้อง คนพวกนี้ไม่มีสิทธิ์ในการทำหนังสือไป ทำให้ พล.อ.เปรม ถูกดึงลงมาเกี่ยวข้องกับการเมือง เพื่อปลุกระดมให้คนมาตายกลางเมืองหลวง ขอเรียกร้องให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ปรามคนเหล่านี้ ให้เลิกใช้ท่านเป็นตุ๊กตา มาปลุกปั่น"นายชวนนท์ กล่าว

**กปปส.บุกทีโอที-ไปรษณีย์ไทย-กสท

สำหรับความเคลื่อนไหวของ กปปส. วานนี้ 30 เม.ย.) นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ได้นำผู้ชุมนุมเดินทางจากสวนลุมพินี โดยแบ่งเป็น 3 จุดที่จะเดินทางไป เริ่มตั้งแต่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เพื่อเชิญชวนพนักงานรัฐวิสาหกิจออกมาชุมนุมใหญ่ขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

ทั้งนี้ นายสุเทพ ได้ขึ้นปราศรัยทั้ง 3 จุด โดยมีเนื้อหาเน้นย้ำว่า การต่อสู้ครั้งนี้ต้องขับไล่รัฐบาลให้สำเร็จ จากนั้นต้องเดินหน้าปฏิรูปประเทศก่อนที่จะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น และยังเรียกร้องให้พนักงานรัฐวิสาหกิจทุกคน ออกมาร่วมต่อสู้กับกลุ่ม กปปส. ในช่วงโค้งสุดท้าย เพื่อทวงคืนอำนาจประชาธิปไตยกลับคืนสู่ประชาชน พร้อมระบุว่า ให้ทุกคนรอฟังสัญญาณและแนวทางการเผด็จศึกรัฐบาลภายหลังการประกาศบนเวทีสวนลุมพินีในช่วงค่ำ

***ประกาศลั่น14พ.ค.ยึดประเทศคืน

ที่สวนลุมพินี เวลา 19.30 น. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ขึ้นเวทีปราศรัยถึงแนวทางการเคลื่อนไหว โดยย้ำว่าข้อเสนอของ กปปส. คือ การเดินหน้าปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง รวมทั้งขับไล่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม รวมทั้งระบอบทักษิณออกไปจากอำนาจ โดยไม่ประนีประนอมหรือต่อรองกับฝ่ายใดทั้งสิ้น

ขณะเดียวกัน ได้ประกาศว่าวันนี้จะเป็นการต่อสู้ขั้นสุดท้ายของมวลมหาประชาชน โดยจะกำหนดขั้นตอนการต่อสู้เป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ จะทำพิธีตั้งสัตยาธิษฐาน แสดงความจงรักภักดีว่าจะทำความดีเพื่อแผ่นดิน ต่อสู้เพื่อชาติเพื่อแผ่นดินให้สำเร็จให้ได้ ในวันที่ 5 พ.ค. ซึ่งเป็นวันฉัตรมงคล ที่หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว เวลา 17.00 น. พร้อมทำพิธีถวายพระพรชัยมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อจากนั้น จะจัดทำบุญประเทศครั้งใหญ่ และขจัดเสนียดจัญไรของประเทศ ในวันวิสาขบูชา คือวันที่ 13 พ.ค. หลังจากนั้นในวันรุ่งขึ้น คือ 14 พ.ค.จะเริ่มการปฏิบัติการเรียกคืนอำนาจอธิปไตยกลับมาเป็นของประชาชน โดยจะมีการประกาศสถานที่ภายหลัง

นายสุเทพกล่าวว่า หลังจากเรียกคืนอำนาจอธิปไตยกลับมาเป็นของประชาชนสำเร็จแล้ว จะมีการตั้งรัฐบาลของประชาชน ซึ่งมีนายกฯ เป็นคนที่ได้รับการยอมรับนับถือ มีความซื่อสัตย์สุจริตตั้งใจจริงที่จะปฏิรูปประเทศ แก้ปัญหาให้ชาติ รัฐบาลของประชาชนนี้ จะเป็นรัฐบาลที่ปลอดจากนักการเมืองโดยสิ้นเชิง ต้องไม่ให้รัฐบาลของประชาชนถูกแทรกแซงโดยนักการเมือง ไม่ว่าโดยทางตรงหรือทางอ้อม ต้องไม่มีตัวแทนนักการเมืองหรือนอมินีของพรรคไหนทั้งสิ้น และในรัฐบาลประชาชนจะไม่มีคนของ กปปส. ร่วมอยู่ในรัฐบาลด้วย

นอกจากนี้ จะดำเนินการให้มีสภานิติบัญญัติของประชาชน มีอำนาจตรากฎหมาย แก้ไขปัญหา ร่วมมือกับรัฐบาลของประชาชน เร่งรัดให้มีการปฏิรูปประเทศตามเจตนารมณ์ของมวลมหาประชาชน และจะแก้ปัญหาของประชาชนในทันที เช่น ปัญหาชาวนา ซึ่งจะทำไปพร้อมๆ กับการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยใช้เวลาทั้งหมด 18 เดือน ซึ่งก็ไม่ได้เนิ่นนานไปกว่าที่ปล่อยให้ปัญหาคาราคาซังอยู่ในขณะนี้และไม่รู้ว่าจะจบเมื่อใด
กำลังโหลดความคิดเห็น