xs
xsm
sm
md
lg

ไร้ผล กกต.ประชุม 58 พรรคการเมือง พบประสานเสียงอยากเลือกตั้ง “หลวงปู่-เสื้อแดง” ทำป้ายค้าน-หนุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กกต. ถก 58 พรรคการเมือง 2 ชั่วโมงไร้ข้อสรุป ชู 3 แนวทาง เลือกตั้งเร็วสุด 20 ก.ค. ทุกพรรคประสานเสียง อยากให้เลือกตั้งเร็ว “โภคิน” อ้างเออีซี อยากให้รีบมีรัฐบาลพิจารณางบประมาณ พรรคร่วมประสานเสียงขอ 45 วัน กกต. เผยตั้งไว้ 60 วันเผื่อขยับหากเกิดปัญหา ไร้เงา ปชป. เข้าร่วม หลวงปู่พุทธะอิสระ นำมวลชนบุกชุมนุมติดป้ายห้องประชุม “ไม่เอาเลือกตั้งจนกว่าปฏิรูป” ส่วนเสื้อแดงชูป้ายเร่งจัดเลือกตั้ง

วันนี้ (22 เม.ย.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ถนนกำแพงเพชร 6 (โลคัลโรด) ซึ่งเป็นสถานที่ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ใช้จัดประชุมหัวหน้าพรรคการเมือง หรือผู้แทนพรรคการเมือง เพื่อหารือกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. ที่เหมาะสม รายงานข่าวแจ้งว่า ก่อนที่จะเริ่มประชุมก็ได้เกิดความวุ่นวายขึ้นเล็กน้อย เมื่อหลวงปู่พุทธะอิสระ แกนนำกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) เวทีแจ้งวัฒนะ ได้นำมวลชนจำนวนหนึ่งเดินทางมาชุมนุมที่หน้าโรงแรม เรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศก่อนการเลือกตั้ง ซึ่งก็ได้มีการนำป้ายผ้าข้อความ “คนไทยจะไม่ไปเลือกตั้งจนกว่าจะปฏิรูป” มามอบให้กับ กกต. เพื่อนำไปติดในห้องประชุมตัวแทนพรรคการเมือง โดยหลวงปู่พุทธะอิสระ ได้เรียกร้องให้นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านบริหารงานเลือกตั้ง ออกมารับป้ายผ้าและข้อเสนอดังกล่าวด้วยตนเอง แต่เนื่องจาก กกต. ทั้ง 5 คน ยังไม่มีใครเดินทางมาถึง นายภุชงค์ นุตราวงศ์ เลขาธิการ กกต. จึงลงมารับป้ายข้อความดังกล่าว และเมื่อเลขาธิการ กกต. ได้ให้เจ้าหน้าที่นำป้ายผ้าดังกล่าวไปติดไว้ในห้องประชุม ก็ได้แจ้งกับหลวงปู่พุทธะอิสระทราบจนเป็นที่พอใจ จึงได้นำมวลชนเดินทางกลับไป

จากนั้น นายภุชงค์ กล่าวยอมรับว่า ก่อนหน้านี้ทางพรรคประชาธิปัตย์ได้แจ้งมาว่า ทราบในทางข่าวว่า จะมีการลอบทำร้ายนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ระหว่างเดินทางมาเข้าร่วมประชุมกับ กกต. และขอให้ กกต. ดูแลในเรื่องความปลอดภัย ซึ่งทาง กกต. ก็ได้มีการประสานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ดูแลเรื่องความปลอดภัยอย่างเต็มที่ แต่เมื่อจะเริ่มประชุม ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ กกต. ว่า นายอภิสิทธิ์ แจ้งว่าจะไม่เดินทางมาร่วมประชุมแล้ว เนื่องจากเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย ซึ่งยังไม่ทราบว่าทางพรรคประชาธิปัตย์จะส่งตัวแทนเป็นใครมา แต่ทั้งนี้ การประชุมก็ยังต้องเดินหน้าต่อไป โดย กกต. จะได้มีการนำผลการประชุมแจ้งให้กับทุกพรรคการเมืองทราบ พร้อมกับนำไปพิจารณาร่วมกับความเห็นของหน่วยงานความมั่นคง ก่อนที่จะนำไปหารือกับรัฐบาลต่อไป

ด้าน นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เปิดเผยว่า ตนได้เดินทางมาถึงที่โรงแรมมิราเคิลแล้ว แต่ปรากฏว่าไม่สามารถเข้าไปในโรงแรมได้ เนื่องจากขบวนรถติดกลุ่มผู้ชุมนุมของพระพุทธะอิสระ กั้นไว้ไม่ยอมให้เข้าร่วมประชุม โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้เข้าไปล้อมและทุบรถยนต์ พร้อมถามว่าเป็นตัวแทนจากพรรคการเมืองใด เมื่อทราบว่ามาจากพรรคชาติไทยพัฒนา ทางกลุ่มผู้ชุมนุมจึงได้ขอร้องให้เดินทางกลับไปไม่ให้เข้าร่วมประชุม ทำให้ตนเลี้ยวรถกลับออกจากโรงแรมไป

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะที่ตนโดนกลุ่มผู้ชุมนุมล้อมอยู่นั้น นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง ได้โทรศัพท์เข้ามาหาตนพอดีและได้บอกว่า ตัวเองก็ยังเข้าไม่ได้และตัวแทนจากพรรคประชาธิปัตย์ก็เข้าไม่ได้ ซึ่งนายสมชัย ได้ขอให้ทุกคนยึดเรื่องความปลอดภัยของตัวเองเป็นหลัก ขอให้กลับไปอย่าดันทุรัง ตนจึงเดินทางกลับมายังพรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้สะท้อนถึงสถานการณ์บ้านเมืองว่ามีความน่าเป็นห่วง เพราะขณะที่พยายามหาทางออกของประเทศ กลับมีอีกฝ่ายหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการเลือกตั้ง ถ้ายังปล่อยให้เป็นเช่นนี้ บ้านเมืองก็จะยิ่งเสียหายและทำให้เกิดสุญญากาศอย่างแท้จริง ดังนั้นขอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องให้ใคร่ครวญว่าถึงเวลาแล้วหรือยัง อย่าปล่อยให้ประเทศติดหล่ม บ้านเมืองไม่ใช่ของเล่น ขอให้ทุกคนช่วยกันแก้ไขปัญหา

อย่างไรก็ตาม สำหรับบรรยากาศการประชุมที่โรงแรมมิราเคิลนั้น ปรากฏว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการนำสุนัขตำรวจมาตรวจความเรียบร้อยบริเวณด้านหน้าทางเข้าโรงแรม และมีหน่วยเก็บกู้และตรวจพิสูจน์วัตถุระเบิด (อีโอดี) เข้าตรวจสอบพื้นที่ภายในโรงแรม รวมถึงภายในห้องที่จะใช้ในการหารือ ขณะที่บรรยากาศบริเวณล็อบบี้โรงแรม มีประชาชนจำนวนหนึ่งเตรียมดอกกุหลาบเพื่อมอบให้กำลังใจนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ด้วย โดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยอนุญาตให้อยู่ภายในบริเวณล็อบบี้ แต่ไม่อนุญาตให้ขึ้นไปด้านบนห้องประชุม

และเมื่อเริ่มประชุม นายภุชงค์ ได้แจ้งต่อที่ประชุม ซึ่งมี กกต. ทั้ง 5 คนเข้าร่วม ว่ามีพรรคการเมืองที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 58 พรรคการเมือง โดยพรรคการเมืองที่มีเสียง ส.ส. ในสภา ต่างส่งผู้แทนมาร่วมประชุม ไม่ว่าจะเป็นพรรคเพื่อไทย มีนายโภคิน พลกุล กรรมการยุทธศาสตร์ เป็นตัวแทนมาร่วม พรรคชาติไทยพัฒนา มีนายนิกร จำนง เป็นตัวแทน พรรคชาติพัฒนา มี นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล มาร่วม พรรคภูมิใจไทย มีนายศุภชัย ใจสุมทร โฆษกพรรคเข้าร่วม พรรคประชาธิปัตย์ไม่มีตัวแทนพรรคเข้าร่วม

โดย นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. ได้เปิดประชุม โดยระบุเหตุผลที่ต้องหารือกับพรรคการเมืองว่า เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าการเลือกตั้ง 2 ก.พ. ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เมื่อต้องมีการเลือกตั้งใหม่ กกต. จึงอยากฟังความคิดเห็นของพรรคการเมือง เพื่อนำไปสู่การกำหนดวันเลือกตั้งที่เหมาะสม โดยเชื่อว่าผลการประชุมจะเป็นทางออกของปัญหาและตอบโจทย์สังคมไทยได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ ทาง กกต. ก็ได้เสนอแนวทางจัดการเลือกตั้ง 3 รูปแบบให้กับที่ประชุมได้พิจารณา คือ 1. เลือกตั้งเร็วที่สุดภายใน 59 วัน นับแต่ พ.ร.ฎ. กำหนดวันเลือกตั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 พ.ค. คือเลือกตั้งวันที่ 20 ก.ค. 2. เลือกตั้งภายใน 87 วัน นับแต่ พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 22 พ.ค. แต่ให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 19 มิ.ย. คือเลือกตั้งวันที่ 17 ส.ค. และ 3. เลือกตั้งภายใน 115 วัน นับแต่ พ.ร.ฎ. กำหนดวันเลือกตั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษาในวันที่ 22 พ.ค. และให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 ก.ค. ให้กับที่ประชุมผู้แทนพรรคการเมืองได้พิจารณา

จากนั้น กกต. ก็ได้เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองแสดงความคิดเห็นพรรคการเมืองละ 15 นาที ทำให้พรรคการเมืองขนาดเล็กไม่พอใจ ประท้วง กกต. ให้จัดประชุมนานขึ้น ซึ่งนายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย ได้เดินออกจากห้องประชุม เนื่องจากไม่พอใจการกำหนดเวลาของ กกต. ดังกล่าว โดยประธาน กกต. ก็ได้พยายามที่จะรักษาบรรยากาศการประชุม อย่างไรก็ตาม พรรคการเมืองทั้งขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ที่ร่วมประชุม ต่างเห็นสอดคล้องกันว่า กกต. ควรรีบจัดเลือกตั้งโดยเร็ว

นายโภคิน จากพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ถ้าจัดเร็วกว่าวันที่ 20 ก.ค. แม้เพียง 1 สัปดาห์ ก็จะถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงออกว่า กกต. อยากจัดการเลือกตั้ง ไม่อยากให้ กกต. นำเอาแนวทางจัดการเลือกตั้งหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยเลือกตั้งปี 49 เป็นโมฆะ มาเทียบเคียง เพราะช่วงเวลายาวเกินไป อาจเกิดเหตุแทรกซ้อนได้ เวลานี้นานาชาติกำลังจับตาดูประเทศไทย ยิ่งที่มีกระแสเรื่องรัฏฐาธิปัตย์ หรือการเสนอนายกฯคนกลางรัฐธรรมนูญมาตรา 7 มันไม่ใช่วิถีที่ปกติในโลก ที่ปกติและจะเป็นทางออกคือการเลือกตั้ง ถ้ากำหนดวันเลือกตั้งชัดเจน กระแสต่างๆ ก็จะเบาลง รวมทั้งประเทศกำลังจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 จึงต้องเร่งให้มีรัฐบาลโดยเร็วเพื่อใช้ในการพิจารณางบประมาณต่างๆ ที่ต้องใช้ในการเข้าสู่เออีซี ถ้ามีรัฐบาลช้ากว่าจะพิจารณางบประมาณได้ประเทศคงพังพินาศ

ด้าน นพ.วรรณรัตน์ จากพรรคชาติพัฒนา กล่าวว่า ทั้งพรรคของตน พรรคพลังชล และพรรคมหาชน ขอให้ กกต. จัดการเลือกตั้งภายใน 45 วัน หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ซึ่งวันที่เหมาะสมคือควรจะเลือกตั้งก่อนวันที่ 20 ก.ค.

นายนิกร จากพรรคชาติไทยพัฒนา เห็นว่าพรรคการเมืองมีหน้าที่ให้ความเห็น อำนาจการตัดสินใจกำหนดวันเลือกตั้งที่เหมาะสมยังเป็นของ กกต. การเลือกตั้งที่ผ่านมามีปัญหามากมาย ซึ่ง กกต. ต้องพิสูจน์ตัวเอง และเห็นด้วยว่าการเลือกตั้งต้องจัดภายใน 60 วัน ซึ่งที่ กกต. เสนอรูปแบบแรกเลือกตั้งในวันที่ 20 ก.ค. หรือเลือกตั้งในวันที่ 59 ของกรอบเวลา 60 วันเหมาะสมแล้ว แต่ กกต. ต้องเคร่งครัดในเรื่องของการดำเนินการกับผู้ที่ขัดขวางการเลือกตั้ง

นายทรงศักดิ์ ทองศรี รองหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ดูแผน กกต. เห็นด้วยว่าจะมีวันเลือกตั้ง แต่กังวลใจเรื่องหลักประกัน กกต. กล้ายืนยันหรือไม่ว่าการเลือกตั้งจะไม่เป็นโมฆะอีก อยากให้มีความชัดเจนเรื่องข้อกฎหมายว่าทุกองค์กรเห็นพ้องต้องกันว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าจะไม่เป็นโมฆะ แม้จะมีสถานการณ์อะไรเกิดขึ้น ฝาก กกต. ถ้ายืนยันว่าเลือกตั้ง แล้วมีความชัดเจน บรรยากาศดี มีกฎหมายรองรับ ทุกฝ่ายพร้อมเพรียงกันยอมรับวันเลือกตั้งที่กำหนดขึ้นก็จะเป็นทางออกได้

นายสมชัย กล่าวว่า จากการประเมินของตนและทางสำนักงาน กกต. โดยไม่ได้อคติ คาดการณ์อย่างเลวร้าย หรือชี้นำให้สถานการณ์เกิดขึ้น เห็นว่าการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่จะเกิดขึ้นจะไม่เป็นโมฆะ ด้วยสาเหตุเดิมที่ไม่มีผู้สมัครในบางเขตจนทำให้การเลือกตั้งไม่เกิดขึ้นในวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร กกต. ได้วางกลไกที่ทำให้สามารถเกิดการรับสมัครได้ในทุกเขตทั่วประเทศ ทั้งระบบบัญชีรายชื่อ และระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ถ้าเลือกตั้งแล้วมีการขัดขวางก็จะงดการลงคะแนน และจัดลงคะแนนใหม่ แต่ปัญหาคือถ้าเลือกตั้งไม่ได้แม้แต่หน่วยเลือกตั้งเดียว การนับและประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อก็จะไม่สามารถทำได้ กกต.ไม่สามารถไปแก้ไขระเบียบการคำนวน ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อใหม่ได้

ดังนั้น จึงไม่มั่นใจว่าภายหลังเลือกตั้งแล้ว 30 วัน กกต. จะประกาศรับรองผลการเลืออกตั้ง ส.ส. ได้ครบร้อยละ 95 ที่จะสามารถทำให้เปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกได้ ซึ่งเส้นตายที่สอง รัฐธรรมนูญมาตรา 93 กำหนดต้องจัดการเลือกตั้งให้ได้ ส.ส. ครบตามจำนวนที่พึงมีภายใน 180 วัน นับแต่วันเลือกตั้ง ถ้าถึงเวลานั้นแล้ว การเลือกตั้งยังไม่แล้วเสร็จ จะมีผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญรอบใหม่ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญอีกครั้ง ดังนั้น คิดว่าปัญหาไม่ได้อยู่ที่ กกต. หรือพรรคการเมืองที่มาประชุม แต่อยู่ที่คู่ขัดแย้งในสังคม ต้องไปตกลงกันว่าให้ได้ข้อสรุปที่ตรงกันว่าการเลือกตั้งเป็นทางออกของประเทศ ดังนั้นการที่จะกำหนดวันเลือกตั้งที่เหมาะสม ตนคิดว่ากำหนดได้ แต่ฝ่ายการเมืองจะต้องมาคุยกันหาข้อสรุปร่วมกันให้ได้ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญซ้ำอีก

“รูปแบบวันเลือกตั้งที่ กกต. เสนอ โดย กกต. พยายามที่จะให้มีการจัดให้เลือกตั้งในวันที่ 58-59 ของกรอบระยะเวลา 60 วัน นับแต่พระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ เป็นความตั้งใจเพราะ กกต. เกรงว่าหากเกิดปัญหาเรื่องการรับสมัคร การจัดพิมพ์บัตรเลือกตั้ง แทรกซ้อนเข้ามา กกต. ยังสามารถจะขยับในเรื่องของเวลาได้ จึงทำให้ กกต. ไม่เลือกที่กำหนดวันที่ 45 ของกรอบเวลา 60 วัน เพราะถ้าเกิดปัญหาดังกล่าวขึ้น กกต. จะขยับอะไรไม่ได้เลย” นายสมชัย กล่าว

ขณะที่ นายศุภชัย ได้ตั้งคำถามว่า การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา พรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้ส่งผู้สมัคร และในวันนี้ไม่มาร่วม เป็นการส่งสัญญาณใช่หรือไม่ว่าจะไม่ส่งผู้สมัครในการเลือกตั้งครั้งใหม่ ซึ่งถ้าไม่ส่งอีก การหารือวันนี้ก็ไม่มีประโยชน์อะไร

อีกด้านหนึ่ง นายศุภชัย กล่าวชี้แจงการดำเนินคดีขัดขวางการเลือกตั้ง ว่า กกต. ได้มอบหมายให้ กกต. จังหวัด ดำเนินคดีกับผู้ขัดขวาง ส่วนใน กทม. เราได้ดำเนินคดีไปแล้ว 3 คดี อย่างไรก็ตาม มติพรรคการเมืองที่เสนอให้ กกต. จัดเลือกตั้งภายใน 60 วัน นับแต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญประกาศในราชกิจจานุเบกษาคงทำไม่ได้ แต่ยืนยันว่าจะจัดเลือกตั้งโดยเร็วที่สุด ในส่วนพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่เข้าร่วมการประชุม แต่ได้มีหนังสือชี้แจงเหตุที่ไม่เข้าร่วมมาเนื่องจากพรรคประชาธิปัตย์มีข้อมูลเชิงลึกว่าอาจมีปัญหาความปลอดภัย และอาจกระทบการประชุม และหลังหารือภายในระหว่างพรรคประชาธิปัตย์และ กกต. แล้วก็มีความเห็นร่วมกันว่า การเข้าร่วมของประชาธิปัตย์อาจมีปัญหาเกิดขึ้นจริง

ทั้งนี้ การหารือใช้เวลากว่า 2 ชั่วโมง หลังเสร็จสิ้นการประชุม ประธาน กกต. ระบุว่า จะนำข้อเสนอของพรรคการเมืองไปเป็นข้อพิจารณาไปประชุมพิจารณาโดยเร็ว เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งที่เหมาะสม และนำไปหารือกับรัฐบาล ส่วนที่พรรคการเมืองเสนอให้มีการเลือกตั้งเร็วกว่า 20 ก.ค. นั้น ก็มีความเป็นไปได้ โดย กกต. จะได้ไปหารือและพิจารณาอย่างรอบคอบ ขณะที่หลังจากนี้พรรคประชาธิปัตย์จะส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งหรือไม่ก็คงต้องดูท่าทีกันต่อไป

รายงานข่าวแจ้งว่า หลังการประชุม ขณะที่ผู้แทนพรรคการเมืองทยอยเดินทางกลับ ได้มีชายคนหนึ่งอุ้มเด็กตะโกนให้ กกต. จัดการเลือกตั้งโดยเร็ว พร้อมกับชูป้ายข้อความ เพื่ออนาคตหนู อนาคตประเทศ กกต. ต้องจัดเลือกตั้งให้เร็วสุด นอกจากนี้ในระหว่างที่มีการหารือกัน พ.ต.ต.เสงี่ยม สำราญรัตน์ แกนนำกลุ่มคนเสื้อแดง ได้ชูป้ายเรียกร้องให้ กกต. เร่งจัดการเลือกตั้งอีกด้วย


























กำลังโหลดความคิดเห็น