ปธ.กกต. มั่นใจหลังคุยพรรคการเมือง 22 เม.ย. หาทางออกเลือกตั้งได้ เผยมวลชนเห็นต่างไม่เป็นอุปสรรค เชื่อเหตุการณ์ไม่รุนแรง บ้านเมืองยังไม่เลวร้าย ด้าน “สมชัย” ลั่นเลือกตั้งคราวหน้าไม่ขัด รธน. แน่นอน มีมาตรการรับสมัครให้ครบทุกเขต ยอมรับหากเกิดเหตุขวางเลือกตั้งเกินอำนาจ กกต. จัดการ แนะฝ่ายการเมืองต้องเจราจากัน
วันนี้ (20 เม.ย.) นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวถึงการหารือกับพรรคการเมืองเพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง ส.ส. ที่เหมาะสมในวันที่ 22 เม.ย. นี้ ว่า ได้ทราบมาว่าพรรคเพื่อไทยมีข้อเสนอให้ กกต. จัดการเลือกตั้งในวันที่ 15 มิ.ย. นี้ โดยทาง กกต. เองก็ต้องรับฟังว่าสามารถดำเนินการตามข้อเสนอดังกล่าวได้หรือไม่ อีกทั้งต้องฟังความเห็นจากพรรคการเมืองทุกพรรคที่จะเข้าหารือกับ กกต. ในวันที่ 22 เม.ย. นี้ ว่าเห็นด้วยหรือไม่ ส่วนกรณีท่าทีของมวลชนทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเสื้อแดงที่เร่งให้ กกต. ดำเนินการจัดการเลือกตั้งให้แล้วเสร็จ หรือกลุ่ม กปปส. ที่ประกาศจุดยืนว่าต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง โดยส่วนตัวไม่คิดว่าจะเป็นอุปสรรคของ กกต. เพราะเชื่อว่าคงไม่มีเหตุการณ์รุนแรงที่มวลชนทั้ง 2 ฝ่ายจะถึงขั้นเผชิญหน้าปะทะกัน บ้านเมืองยังไม่เลวร้ายขนาดนั้น อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าการพูดคุยกับพรรคการเมืองในวันที่ 22 เม.ย. น่าจะมีทางออกและมีข้อสรุปที่ทุกฝ่ายเห็นพ้องร่วมกันได้ในระดับหนึ่งและข้อสรุปนี้คงจะไม่ทำให้สถานการณ์การเมืองไปสู่ความรุนแรงมากขึ้น
ด้าน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. ด้านกิจการบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวว่า การจัดเลือกตั้งในคราวหน้า กกต. ได้หาวิธีการทุกรูปแบบเพื่อป้องกันไม่ให้การเลือกตั้งไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญเหมือนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา เพราะสาเหตุหลักที่การเลือกตั้ง 2 ก.พ. ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น เนื่องจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า การที่บางเขตไม่มีผู้สมัคร ทำให้การเลือกตั้งไม่เป็นวันเดียวทั่วราชอาณาจักร ซึ่งขณะนี้ กกต. ได้แก้ไขกฎระเบียบที่จะทำให้ผู้สมัครสามารถลงรับสมัครเลือกตั้งได้ครบทุกเขต หากเกิดกรณีที่มีมวลชนไปขัดขวางการรับสมัครเลือกตั้ง โจทย์ปัญหานี้ กกต. แก้ได้แล้ว แต่ถ้ายังมีความขัดแย้งยังมีมวลชนไปขัดขวางการเลือกตั้ง มันก็เป็นปัจจัยนอกเหนืออำนาจที่ กกต. จะเข้าไปจัดการได้ เพราะถ้ามีหน่วยเลือกตั้งแม้เพียงหน่วยเดียวจัดการเลือกตั้งไม่ได้ การรวมคะแนนเพื่อประกาศ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อก็ไม่สามารถทำได้ เป็นเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ หากเกิดกรณีดังกล่าวจริงก็คงบอกไม่ได้ว่าเลือกตั้งแล้วจะเปิดประชุมสภาได้เมื่อไหร่ ถ้าหน่วยใดจัดเลือกตั้งไม่ได้ กกต. ก็ต้องจัดเลือกตั้งซ้ำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะได้ แต่อย่างน้อยการเลือกตั้งก็ไม่เป็นการขัดรัฐธรรมนูญ ดังนั้นการที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขัดขวางเลือกตั้ง เป็นหน้าที่ที่ฝ่ายการเมืองต้องไปจัดการ รัฐบาลกับกลุ่ม กปปส. ต้องไปเจรจาหาทางออก แต่คราวนี้ กกต. จะไม่เสนอตัวเป็นคนกลางเจรจายุติความขัดแย้ง
ส่วนการหารือกับพรรคการเมือง 70 พรรคในวันที่ 22 เม.ย. นี้ กกต. จะนำข้อสรุปที่ได้คุยกับหน่วยงานด้านความมั่นคงไปนำเสนอต่อพรรคการเมือง และจะรับฟังความเห็นว่าแต่ละพรรคมีข้อเสนออย่างไร จากนั้น กกต. ก็จะนำข้อมูลที่ได้จากการหารือนั้นมาประมวลว่าวันเลือกตั้งที่เหมาะสมน่าจะเป็นวันใด อย่างไรก็ตาม คาดว่าในวันที่ 30 เม.ย. นี้ กกต.จะมีการคุยกับรัฐบาลเพื่อกำหนดวันเลือกตั้ง หากเห็นตรงกันรัฐบาลก็ต้องนำ พ.ร.ฎ. กำหนดวันเลือกตั้ง ขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธย โดยกระบวนการน่าจะใช้เวลา 20 วัน จากนั้นเมื่อ พ.ร.ฎ. กำหนดวันเลือกตั้งประกาศเป็นราชกิจจานุเบกษาก็ให้นับไปอีก 60 วันซึ่งเป็นกรอบระยะเวลาการเลือกตั้ง จึงคาดว่าอย่างเร็วที่สุดวันเลือกตั้งน่าจะเป็นวันที่ 20 ก.ค. ตามที่เคยเสนอไปแล้ว
เมื่อถามถึงกรณีที่มีกลุ่มคนเสื้อแดงไปชุมนุมกดดัน กกต. ให้เร่งจัดการเลือกตั้งนั้น นายสมชัย กล่าวว่า ถ้าอยากให้การเลือกตั้งสำเร็จ ทุกฝ่ายต้องช่วยกันสร้างบรรยากาศที่ดี แสดงให้รู้ว่าพร้อมที่จะให้มีการเลือกตั้ง ทุกคนสามารถไปได้ในทุกพื้นที่ เช่น พรรคประชาธิปัตย์สามารถไปหาเสียงที่ภาคเหนือ หรืออีสาน พรรคเพื่อไทยสามารถไปหาเสียงที่ภาคใต้ได้ รวมทั้ง กกต. สามารถเดินทางไปตรวจการเลือกตั้งได้ทุกพื้นที่ จึงจะถือว่าพร้อมที่มีการเลือกตั้ง แต่ถ้าบรรยากาศยังมีแต่การข่มขู่คุกคามแล้วจะจัดการเลือกตั้งได้อย่างไร ส่วนกรณีที่พรรคประชาธิปัตย์ตกลงเข้าร่วมการหารือและอาจจะลงเลือกตั้งในครั้งนี้จะทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งลดลงหรือไม่นั้น ก็ไม่สามารถบอกได้ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นพรรคการเมืองหนึ่งที่ กกต. ให้น้ำหนักเท่ากับพรรคการเมืองอื่นๆ