โพลสวนดุสิตสำรวจเรื่องลอบบึ้มรายวัน ปชช.ส่วนใหญ่หวาดกลัว หวั่นเกิดกับคนในครอบครัว เกือบ 100% เชื่อข่มขู่การเมือง แนะให้ช่วยเป็นหูเป็นตา รับยุติขัดแย้งยาก หนุนเลือกตั้งพร้อมปฏิรูป รองมาให้ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ส่วนมากไม่แน่ใจเลือก ส.ส.ยุติเหตุบึ้ม รองมาคิดว่าไม่หยุด
วันนี้ (30 มี.ค.) สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต เผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ จากกรณีเหตุการณ์ระเบิดรายวันอย่างต่อเนื่อง ทั้งเวทีแจ้งวัฒนะและตามเส้นทางการเคลื่อนไหวชุมนุมของ กปปส. สร้างความเดือดร้อน เสียหายและความหวาดกลัวให้กับประชาชน โดยสำรวจประชาชนจำนวนทั้งสิ้น 1,246 คน ระหว่างวันที่ 25-29 มีนาคม 2557 สรุปผลได้ ดังนี้
เมื่อถามว่าประชาชนคิดอย่างไร กับเหตุการณ์ระเบิดรายวัน อันดับ 1 ร้อยละ 37.50 หวาดกลัว ไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก กลัวว่าจะได้รับอันตราย อันดับ 2 ร้อยละ 21.20 ภาพลักษณ์ของประเทศเสียหาย ความน่าเชื่อถือลดลง กระทบต่อเศรษฐกิจ การลงทุน อันดับ 3 ร้อยละ 20.11 อยากให้ติดตามจับกุมผู้กระทำผิดให้ได้ อยากรู้ว่าใครอยู่เบื้องหลัง อันดับ 4 ร้อยละ 16.30 เป็นการก่อกวน ข่มขู่ ต้องการเห็นบ้านเมืองวุ่นวาย ท้าทายกฎหมายบ้านเมือง และอันดับ 5 ร้อยละ 04.89 เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ ควรเพิ่มกำลัง ดูแลรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด
ต่อคำถามที่ว่าประชาชนคิดว่าเหตุการณ์ระเบิดต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็น การก่อกวน หรือข่มขู่ทางการเมืองหรือไม่ อันดับ 1 ร้อยละ 94.58 คิดว่าเป็นการก่อกวน/ข่มขู่ทางการเมือง เพราะ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่อยู่ใกล้บริเวณที่มีการเคลื่อนไหว ชุมนุม มีการระเบิดบ่อยครั้งแต่ไม่หวังผลถึงชีวิต ฯลฯ อันดับ 2 ร้อยละ 05.42 ไม่คิดว่าเป็นการก่อกวน/ข่มขู่ทางการเมือง เพราะอาจมาจากความขัดแย้งส่วนตัว เรื่องผลประโยชน์ คนบางกลุ่มนำเหตุระเบิดไปโยงกับการเมืองเพื่อสร้างกระแส ฯลฯ
ส่วนคำถามว่าสิ่งที่ประชาชนกลัวจากที่มีเหตุการณ์ระเบิดรายวัน อันดับ 1 ร้อยละ 41.87 อาจเกิดกับคนในครอบครัว หรือคนรู้จัก อันดับ 2 ร้อยละ 20.73 ผู้บริสุทธิ์ต้องมาได้รับผลกระทบ และเดือดร้อน ส่งผลต่อสุขภาพจิต อันดับ 3 ร้อยละ 15.85 บางเส้นทางอาจถูกปิดการจราจร เดินทางไม่สะดวก อันดับ 4 ร้อยละ 12.60 ทรัพย์สินและสถานที่ต่าง ๆ เสียหาย ต้องเสียงบประมาณในการซ่อมแซม และอันดับ 5 ร้อยละ 08.95 กลัวว่าเหตุการณ์จะรุนแรงเหมือนกับ 3 จังหวัดภาคใต้
ด้านคำถามว่าประชาชนคิดว่าควรมีวิธีแก้ไขอย่างไร อันดับ 1 ร้อยละ 39.86 ช่วยกันเป็นหูเป็นตา สอดส่องดูแล ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ อันดับ 2 ร้อยละ 20.27 มีมาตรการป้องกันสถานที่ต่างๆ ที่มีความเสี่ยง เพิ่มเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัย อันดับ 3 ร้อยละ 18.92 เร่งสืบหาตัวผู้กระทำผิด ผู้อยู่เบื้องหลัง มาลงโทษตามกฎหมาย อันดับ 4 ร้อยละ 16.22 ต้องมีการตรวจสอบติดตามการเคลื่อนย้ายวัตถุระเบิด อาวุธรุนแรง อย่างใกล้ชิด และอันดับ 5 ร้อยละ 04.73 รัฐบาลต้องควบคุมสถานการณ์ให้ได้ กำหนดให้มีผู้รับผิดชอบเรื่องเหตุระเบิดโดยตรง
ทั้งนี้ เมื่อถามว่าประชาชนมองการเมืองไทยว่าจะยุติความขัดแย้งได้อย่างไร อันดับ 1 ร้อยละ 32.14 เป็นไปได้ยาก ยังไม่เห็นแนวทางที่จะแก้ไขหรือยุติความขัดแย้งได้ อันดับ 2 ร้อยละ 22.02 ทุกฝ่ายต้องช่วยกันเสนอแนะวิธีการแก้ไขปัญหาที่เป็นประโยชน์ อันดับ 3 ร้อยละ 19.05 ผู้นำของทั้ง 2 ฝ่าย ต้องตกลงกันให้ได้ เห็นแก่ประโยชน์ของบ้านเมืองและประชาชน อันดับ 4 ร้อยละ 16.07 ให้สิทธิประชาชนเป็นผู้ตัดสิน และต้องยอมรับมติจากเสียงส่วนใหญ่ และอันดับ 5 ร้อยละ 10.72 ควรหาคนกลางที่เป็นที่ยอมรับ น่าเชื่อถือ มาเจรจาไกล่เกลี่ย
ขณะที่คำถามว่าประชาชนมีความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ส.ส.ว่าควรจะเป็นอย่างไร อันดับ 1 ร้อยละ 37.81 ควรเลือกตั้งและปฏิรูปไปพร้อมๆ กัน เพราะ ประเทศชาติจะได้เดินหน้าต่อไปได้ ไม่หยุดชะงัก น่าจะสามารถทำไปพร้อมๆ กันได้ ฯลฯ อันดับ 2 ร้อยละ 32.00 ควรปฏิรูปก่อนการเลือกตั้ง เพราะ อยากให้การเมืองพัฒนาในทางที่ดีขึ้น มีนักการเมืองที่มีคุณธรรมจริยธรรม ทำเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ฯลฯ และอันดับ 3 ร้อยละ 30.19 ควรมีการเลือกตั้งโดยเร็วแล้วจึงมีการปฏิรูป เพราะจะได้มีผู้แทนของประชาชนเข้ามาทำงาน แก้ปัญหาร่วมกันอย่างตรงจุด ควรเคารพระบอบประชาธิปไตย ฯลฯ
เมื่อถามว่าถ้ามีการเลือกตั้ง ส.ส.แล้ว ประชาชนคิดว่าจะยุติเหตุระเบิดรายวันได้หรือไม่ อันดับ 1 ร้อยละ 48.11 ไม่แน่ใจ เพราะยังไม่รู้ข้อเท็จจริง ยังไม่สามารถจับกุมผู้กระทำความผิดได้ สถานการณ์ไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ฯลฯ อันดับ 2 ร้อยละ 39.86 ยุติไม่ได้ เพราะไม่ว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาอย่างไร ก็จะมีกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย เป็นความขัดแย้งที่ยืดเยื้อ หาข้อยุติได้ยาก ฯลฯ ขณะที่อันดับ 3 ร้อยละ 12.03 ยุติได้ เพราะ ทุกฝ่ายต้องยอมรับผลการเลือกตั้งที่ออกมา ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้ง จะต้องทำงานอย่างเต็มที่ ดูแลประชาชนเพื่อสร้างผลงานให้เป็นที่พอใจ ฯลฯ