xs
xsm
sm
md
lg

"นิคม"ดักคอเลือกปธ.วุฒิฯ เสี่ยงถูกร้องศาลฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จากกรณี การประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ เมื่อวันที่ 2พ.ค.ที่ผ่านมา นอกจากที่ประชุมได้มีมติตั้งคณะกรรมาธิการ จำนวน 24 คน เพื่อพิจารณาเสนอรายชื่อบุคคลที่เห็นสมควรเป็นกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 6 คน และเห็นควรให้สอบประวัติความประพฤติและจริยธรรมด้วย โดยมีกำหนดกรอบทำงานภายใน 30 วัน และมีการตั้ง คณะกรรมาธิการสามัญ เพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้วนั้น ที่ประชุมยังได้มีมติเสียงส่วนใหญ่ เห็นด้วยกับญัตติของ นายวันชัย สอนศิริ ส.ว.สรรหา เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเลือกตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ จำนวน 22 คณะ ตามรัฐธรรมนูญ และเลือกตั้งประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภา โดยจะมีการนัดประชุมในวันศุกร์ที่ 9 พ.ค. เวลา 13.30 น.
วานนี้ (4พ.ค.) นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึง การดำเนินการเลือกประธานวุฒิสภา ในช่วงที่มีการเปิดประชุมวุฒิสภา สมัยวิสามัญว่า การเลือกประธานวุฒิสภาไม่เคยมีการทำในการประชุมสมัยวิสามัญ อีกทั้งการประชุมในครั้งนี้ พ.ร.ฎ.ได้กำหนดกรอบทำหน้าที่ของวุฒิสภาไว้ชัดเจนว่า มีเพียง 2 เรื่อง คือ 1. ตั้งคณะกรรมาธิการสรรหา ผู้ทรงคุณวุฒิศาลปกครอง และ 2. ตั้งคณะกรรมาธิการตรวจสอบประวัติ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เท่านั้น
ดังนั้น การดำเนินการเพื่อลงมติเลือกประธานวุฒิสภา จึงอาจสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ว่า ดำเนินการนอกเหนือไปจากที่ พ.ร.ฎ.กำหนด และศาลก็จะต้องรับไว้พิจารณาอย่างแน่นนอน เพราะเอกสิทธิ์ที่คุ้มครองการลงมติของ ส.ส.และส.ว.ในมาตรา 130 นั้น ไม่ได้รับการคุ้มครองแล้ว เนื่องจากตน และเพื่อน ส.ว. จำนวน 36 คน ขนาดดำเนินการไปตามอำนาจหน้าที่ ที่มีในการแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วก็ยังไม่ได้รับการคุ้มครอง จึงมองว่าศาลน่าจะใช้มาตรฐานเดียวกัน
ด้านนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ตามพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ ระบุว่าให้ดำเนินการได้เฉพาะกรณีการตั้งกรรมาธิการตรวจสอบประวัติบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นกรรมการ ป.ป.ช. และการตั้งกรรมาธิการเพื่อพิจารณาคัดเลือกผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิเท่านั้น ดังนั้น หากจะเสนอให้มีการเลือกประธานวุฒิสภาด้วย ถือว่าไม่สมควร ขัดกับเนื้อหาในร่าง พระราชกฤษฎีกาดังกล่าว อีกทั้งที่ผ่านมา การคัดเลือกประธานวุฒิสภาต้องมีการตรวจสอบประวัติ และแสดงวิสัยทัศน์ของผู้เสนอตัว ซึ่งหากจะให้พิจารณาเลือกประธานวุฒิสภาในวันที่ 9 พ.ค.นี้ จะถือเป็นการเร่งรัด จนอาจถูกร้องเรียนว่าทำผิดพระราชกฤษฎีกา จึงอยากให้วุฒิสภา ทบทวนเรื่องนี้ด้วย

พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ ส.ว.สรรหา กล่าวถึงกรณีที่มีชื่อติดเป็นหนึ่งในแคนดิเดต เข้าชิงตำแหน่งประธานวุฒิสภา ว่า หากเพื่อนสมาชิกวุฒิสภาเสนอชื่อ ตนก็มีความพร้อมเต็มที่ ส่วนจะมีเสียงสนับสนุนมากน้อยแค่ไหนนั้นขณะนี้ยังไม่ทราบ คงต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของเพื่อนสมาชิกส.ว. ว่าจะตัดสินใจอย่างไร ถามว่าพร้อมไหม ก็ต้องตอบว่าพร้อม เพราะตนก็มีประสบการณ์การทำงานมาพอสมควร ผ่านเรื่องหนักๆ มาเป็นจำนวนมาก ชีวิตทำงานราชการมีตำแหน่งถึงรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และผ่านประสบการณ์การเป็นผู้บัญชาการในหลายตำแหน่ง รับผิดชอบดูแลรักษาความสงบของประชาชน ซึ่งก็รู้ว่าตำแหน่งประธานวุฒิสภา เป็นงานที่หนัก แต่ก็พร้อมที่จะทำหน้าที่ตรงจุดนี้ หากได้รับความไว้วางใจ


ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินการเพื่อลงมติเลือกประธานวุฒิสภา อาจสุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น ก็มองว่ากรณีนี้เป็นประเด็นที่มีความเห็นทางกฎหมายแตกต่างกัน จึงไปห้ามความคิดเห็นไม่ได้ แต่ขณะนี้เป็นมติของที่ประชุมแล้ว ก็สุดแล้วแต่ นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภา ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม จะตัดสินใจ
กำลังโหลดความคิดเห็น