xs
xsm
sm
md
lg

เปิดประชุมวุฒิ2-10พ.ค. แต่งตั้ง"สุภา"-ยังไม่ถอดถอน"นิคม"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบ ร่าง พระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา โดย นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา ได้ทำหนังสือมาถึงนายกรัฐมนตรี ให้เรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา เพื่อวุฒิสภาจะได้พิจารณาเรื่องการแต่งตั้งบุคคล 2 ตำแหน่ง คือ ตำแหน่งกรรมการตุลาการศาลปกครอง ซึ่งเป็นกรรมการตุลาการผู้ทรงคุณวุฒิ และกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยขอให้เปิดสมัยประชุมในวันที่ 2 พ.ค. 57 และปิดสมัยประชุมวันที่ 10 พ.ค. 57 โดยครม.ได้พิจารณาประเด็นที่รองประธานวุฒิสภาได้แจ้งมา รวมถึงพิจารณาในส่วนที่ นายสุวิจักษณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีความเห็นต่าง และเมื่อพิจารณาแล้ว เห็นว่า เมื่อปี 2549 เคยมีแนวทางปฏิบัติในช่วงที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการเปิดสมัยประชุมวิสามัญแห่งรัฐสภา เพื่อให้วุฒิสภา ทำหน้าที่แต่งตั้งบุคคลมาแล้ว จึงมีความเห็นชอบ พระราชกฤษฎีกา เปิดสมัยประชุมวิสามัญแห่งรัฐสภาดังกล่าว
ทั้งนี้ในส่วนของ ร่าง พระราชกฤษฎีกา2ฉบับ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จะนำส่งผ่านสำนักราชเลขาธิการ เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลต่อไป
นายพงศ์เทพ กล่าวว่า การเปิดประชุมครั้งนี้ จะมีเพียงเรื่องการแต่งตั้งบุคคล 2 ตำแหน่งเท่านั้น โดยไม่มีเรื่องการถอดถอน เพราะทางวุฒิสภา ไม่ได้ขอเปิดประชุมในประเด็นดังกล่าว เนื่องจากเรื่องการถอดถอน ยังมีความเห็นที่ต่างกันอยู่
ด้านนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภา กล่าวถึง การเปิดประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ ระหว่างวันที่ 2 พ.ค. – 10 พ.ค. ว่า เบื้องต้นกำหนดจะเปิดประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ ในวันที่ 2 พ.ค. เวลา 10.00 น. โดยเริ่มจากการอ่านพระบรมราชโองการเปิดสมัยประชุมวุฒิสภา เพื่อแต่ตั้งประธาน และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต. ) แต่ตั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน และ แต่ตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
จากนั้นจึงแจ้งผลการเลือกตั้ง ส.ว.ทั่วประเทศ และให้ส.ว.ปฏิญาณตนต่อที่ประชุม เพื่อเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ และต่อด้วยการเข้าสู่วาระการพิจารณาใน 2 เรื่องคือ
1. แต่ตั้งคณะกรรมสรรหาเพื่อไปสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิ ประจำศาลปกครอง แทนตำแหน่งที่ว่างลง 2 ตำแหน่ง
2. ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เพื่อตรวจสอบประวัติ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เป็น กรรมการ ป.ป.ช. แทน นายใจเด็ด พรไชยา ที่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง ซึ่งคณะกรรมาธิการจะมี 24 คน โดยมีสัดส่วนเป็น ส.ว.สรรหา และส.ว.เลือกตั้ง อย่างละครึ่ง ประชุมกันเพื่อแต่งตั้งประธานกรรมาธิการ และตำแหน่งต่างๆ จากนั้นกรรมาธิการ จะทำเรื่องไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อตรวจสอบประวัติเชิงลึกของน.ส.สุภา โดยขอให้ส่งเรื่องกลับมาภายในวันที่ 6 พ.ค. จากนั้นคณะกรรมาธิการ จะทำการพิจารณาข้อมูล หากพบว่ามีตำหนิ หรือติดใจในประวัติ ก็จะเชิญ น.ส.สุภา มาชี้แจงในวันที่ 7 พ.ค. และเมื่อถึงวันที่ 8 พ.ค. ทางคณะกรรมธิการ ก็จะต้องสรุปรายงานแล้วส่งมาให้ตน เพื่อนำเข้าสู่วาระการประชุม ในวันที่ 9 พ.ค. เวลา 13.00 น. เพื่อให้สมาชิกได้ลงมติเห็นชอบ ซึ่งถือว่าครบระยะเวลา 30 วัน สำหรับการแต่งตั้งกรรมการป.ป.ช. ตามที่กฎหมายกำหนด
นายสุรชัย กล่าวว่า วุฒิสภามีเวลาเพียงแค่ 7 วัน สำหรับการดำเนินการเลือก น.ส.สุภา ดำรงตำแหน่งกรรมการป.ป.ช. จึงคาดว่า จะต้องมีการประชุมทุกวัน ไม่เว้นวันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยจะต้องให้เจ้าหน้าที่จัดตารางเวลาการทำงานอย่างละเอียด ใช้เวลาทั้งเช้า เย็น เพื่อให้การดำเนินงานทันต่อระยะเวลาที่มีจำกัด
นอกจากนี้ยังคำนึงว่า อาจจะมีผู้มองว่า มติการเลือกชอบหรือไม่ชอบ หรือมองว่า เป็นการเร่งรัด แต่ตนขอยืนยันว่า เราไม่เคยเร่งรัด แต่ทำไปตามกรอบที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้บ้านเมืองสามารถเดินหน้าต่อไปได้
ส่วนกรณีการถอดถอนนายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ตามที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนั้น ก็คงจะทำภายหลังการเปิดประชุมวุฒิสภาสมัยนี้ผ่านไปสักระยะ เพื่อให้มีบรรยากาศที่ดีขึ้นก่อน ขณะที่การเลือกประธานวุฒิสภา และรองประธานวุฒิสภา ขึ้นอยู่กับที่ประชุมว่า จะหยิบยกมาพิจารณาหรือไม่ ถ้ามี ก็อาจจะเป็นลักษณะของการปรึกษาหารือ เปิดให้สมาชิกได้อภิปราย ซึ่งก็ต้องดูว่า ที่ประชุมจะเห็นอย่างไร เพราะถ้าหากพูดไปก่อนจะหาว่าตนชี้นำให้ดำเนินการ สุดท้ายก็ต้องฟังเสียงในที่ประชุม ว่าจะมีมติกันอย่างไร
กำลังโหลดความคิดเห็น