xs
xsm
sm
md
lg

ครม.เห็นชอบ พ.ร.ฎ.ประชุมวุฒิฯ แค่แต่งตั้งตุลาการศาล ปค.-ป.ป.ช. ไร้วาระถอดถอน"นิคม"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รักษาการรองนายกรัฐมนตรี
ที่ประชุม ครม.เห็นชอบร่าง พ.ร.ฎ.เปิดประชุมวุฒิสภา สมัยวิสามัญ 2-10 พ.ค. มีเพียงพิจารณาแต่งตั้งตุลาการศาลปกครองและกรรมการ ป.ป.ช. แต่ไม่มีเรื่องถอดถอน “นิคม” อ้างมีความเห็นที่ต่างกันอยู่


วันนี้ (28 เม.ย.) ที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จ.ปทุมธานี นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า มติ ครม.เห็นชอบร่างพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา ได้ทำหนังสือมาถึงนายกรัฐมนตรีให้เรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา เพื่อวุฒิสภาจะได้พิจารณา เรื่องการแต่งตั้งบุคคล 2 ตำแหน่ง คือ ตำแหน่งกรรมการตุลาการศาลปกครอง เป็นกรรมการตุลาการผู้ทรงคุณวุฒิ และกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยขอให้เปิดสมัยประชุมในวันที่ 2 พ.ค. 57 และปิดสมัยประชุมวันที่ 10 พ.ค. 57

โดย ครม.ได้พิจารณาประเด็นที่รองประธานวุฒิสภาได้แจ้งมา รวมถึงพิจารณาในส่วนที่นายสุวิจักขณ์ นาควัชระชัย เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร มีความเห็นต่าง และเมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่าเมื่อปี 2549 เคยมีทางปฏิบัติในช่วงที่มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ให้มีการเปิดสมัยประชุมวิสามัญแห่งรัฐสภา เพื่อให้วุฒิสภาทำหน้าที่แต่งตั้งบุคคลมาแล้ว จึงมีความเห็นชอบพระรากฤษฎีกาเปิดสมัยประชุมวิสามัญแห่งรัฐสภาดังกล่าว ทั้งนี้ในส่วนของร่างพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จะนำส่งผ่านสำนักราชเลขาธิการ เพื่อนำความขึ้นกราบบังคมทูลต่อไป

นายพงศ์เทพกล่าวอีกว่า การเปิดประชุมครั้งนี้จะมีเพียงเรื่องการแต่งตั้งบุคคล 2 ตำแหน่งเท่านั้น โดยไม่มีเรื่องการถอดถอน เพราะทางวุฒิสภาไม่ได้ขอเปิดประเด็นดังกล่าว เนื่องจากเรื่องการถอดถอนนายนิคม ไวรัชพานิช ออกจากตำแหน่งประธานวุฒิสภา ยังมีความเห็นที่ต่างกันอยู่ ส่วนกรณีการรือร่วมกับคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) ในวันที่ 30 เม.ย. นายพงศ์เทพกล่าวว่า คงมีประเด็นเดียว เพราะอำนาจหน้าที่ในการจัดการเลือกตั้งเป็นของ กกต. โดยประเด็นคงอยู่ที่เรื่องการกำหนดเวลาให้มีการเลือกตั้งเป็นอย่างไร และช่วงเวลาที่ใช้ในการเตรียมการตราพระราชกฤษฎีใช้เวลาเท่าไหร่ ซึ่งจุดยืนของรัฐบาลคือการดำเนินการให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายเท่านั้น


กำลังโหลดความคิดเห็น