xs
xsm
sm
md
lg

“สุรชัย” ยื้อปลด “นิคม” พ้น ปธ.วุฒิฯ อ้างรอบรรยากาศดีขึ้น เปิดซักฟอก “สุภา” นั่ง ป.ป.ช.ไม่เว้นวันหยุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย (ภาพจากแฟ้ม)
รอง ปธ.วุฒิฯ เผยเปิดประชุมวุฒิฯ สมัยวิสามัญ ส.ว. ชุดใหม่ปฏิญาณตนก่อนทำหน้าที่ เลือก “สุภา” นั่ง ป.ป.ช. คาดต้องประชุมทุกวัน ส่วนเรื่องถอดถอน “นิคม” ย้ายไปทำหลังสมัยนี้ผ่านไปสักระยะ อ้างรอให้มีบรรยากาศที่ดีขึ้น

วันนี้ (28 เม.ย.) ที่รัฐสภา นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการเปิดประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ ระหว่างวันที่ 2 - 10 พ.ค. ว่า เบื้องต้นกำหนดจะเปิดประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ ในวันที่ 2 พ.ค. เวลา 10.00 น. โดยเริ่มจากการอ่านพระบรมราชโองการเปิดสมัยประชุมวุฒิสภา เพื่อแต่งตั้งประธานและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่งตั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน และแต่งตั้งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)

จากนั้นจึงแจ้งผลการเลือกตั้ง ส.ว. ทั่วประเทศ และให้ ส.ว. ปฏิญาณตนต่อไปที่ประชุม เพื่อเข้ามาปฏิบัติหน้าที่ และต่อด้วยการเข้าสู่วาระการพิจารณาใน 2 เรื่องคือ 1. แต่งตั้งคณะกรรมสรรหา เพื่อไปสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิประจำศาลปกครองแทนตำแหน่งที่ว่างลง 2 ตำแหน่ง 2. ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) เพื่อตรวจสอบประวัติ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ รองปลัดกระทรวงการคลัง ผู้ได้รับการเสนอชื่อให้เป็น กรรมการ ป.ป.ช. แทนที่ นายใจเด็ด พรไชยา ที่ครบวาระการดำรงตำแหน่ง ซึ่งคณะกรรมาธิการจะมี 24 คน โดยมีสัดส่วนเป็น ส.ว. สรรหา และ ส.ว. เลือกตั้งอย่างละครึ่ง

โดยที่ประชุมกันเพื่อแต่งตั้งประธานกรรมาธิการและตำแหน่งต่างๆ จากนั้นกรรมาธิการจะทำเรื่องไปยังหน่วยงานต่างๆ เพื่อตรวจสอบประวัติเชิงลึกของ น.ส.สุภา โดยขอให้ส่งเรื่องกลับมาภายในวันที่ 6 พ.ค. จากนั้นคณะกรรมาธิการจะทำการพิจารณาข้อมูล หากพบว่ามีตำหนิหรือติดใจในประวัติก็จะเชิญ น.ส.สุภา มาชี้แจงในวันที่ 7 พ.ค. และเมื่อถึงวันที่ 8 พ.ค. ทางคณะกรรมาธิการก็จะต้องสรุปรายงานแล้วส่งมาให้ตน เพื่อนำเข้าสู่วาระการประชุมในวันที่ 9 พ.ค. เวลา 13.00 น. เพื่อให้สมาชิกได้ลงมติเห็นชอบ ซึ่งถือว่าครบระยะเวลา 30 วัน สำหรับการแต่งตั้งกรรมการ ป.ป.ช. ตามที่กฎหมายกำหนด

นายสุรชัย กล่าวว่า จะเห็นได้ว่าวุฒิสภามีเวลาเพียงแค่ 7 วัน สำหรับการดำเนินการเลือก น.ส.สุภา ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. จึงคาดว่าจะต้องมีการประชุมทุกวัน ไม่เว้นวันเสาร์ วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ โดยจะต้องให้เจ้าหน้าที่จัดตารางเวลาการทำงานอย่างละเอียดใช้เวลาทั้งเช้าเย็น เพื่อให้การดำเนินงานทันต่อระยะเวลาที่มีจำกัด นอกจากนี้ยังคำนึงว่า อาจจะมีผู้มองว่ามติการเลือกชอบหรือไม่ชอบ หรือมองว่าเป็นการเร่งรัด แต่ตนขอยืนยันว่า เราไม่เคยเร่งรัดแต่ทำไปตามกรอบที่กฎหมายกำหนด เพื่อให้บ้านเมืองสามารถเดินหน้าต่อไปได้

ส่วนกรณีการถอดถอน นายนิคม ไวยรัชพานิช ประธานวุฒิสภา ตามที่ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนั้น ก็คงจะทำภายหลังการเปิดประชุมวุฒิสภาสมัยนี้ผ่านไปสักระยะเพื่อให้มีบรรยากาศที่ดีขึ้นก่อน ขณะที่การเลือกประธานวุฒิสภาและรองประธานวุฒิสภา ขึ้นอยู่กับที่ประชุมว่าจะหยิบยกมาพิจารณาหรือไม่ ถ้ามีก็อาจจะเป็นลักษณะของการปรึกษาหารือ เปิดให้สมาชิกได้อภิปราย ซึ่งก็ต้องดูว่าที่ประชุมจะเห็นอย่างไร เพราะถ้าหากพูดไปก่อนจะหาว่าตนชี้ให้ดำเนินการ สุดท้ายก็ต้องฟังเสียงในที่ประชุมว่าจะมีมติกันอย่างไร


กำลังโหลดความคิดเห็น