คณะรัฐบุคคลแถลงข่าวชี้แจงเสนอรัฐบุรุษพูดคุยตุลาการทหาร ขอพระบารมีเป็นที่พึ่ง หวังพ้นวิกฤตการเมือง ชี้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งดูแลประชาชนไม่ได้ต้องรับผิดชอบ ยืนยันข้อเสนอไม่ขัดกฎหมาย ด้าน “ชัยอนันต์” เผยไม่เกี่ยวข้องกับมาตรา 7 และไม่ใช่การยึดอำนาจ อีกทั้งยังไม่ถึงเวลาที่จะใช้วิธีการราชประชาสมาสัย
วันนี้ (24 เม.ย.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น ถนนกำแพงเพชร 6 (โลคัลโรด) พล.อ.สายหยุด เกิดผล อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด ในฐานะประธานคณะรัฐบุคคล แถลงข่าวชี้แจงถึงกรณีที่คณะรัฐบุคคลเสนอให้รัฐบุรุษพูดคุยกับตุลาการทหาร และผู้นำทางสังคม เพื่อร่างพระบรมราชโองการ เสนอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย โดยเชื่อว่าพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะทำให้ประเทศไทยผ่านวิกฤตทางการเมืองไปได้ ว่า เหตุการณ์ความขัดแย้งต่างๆ ในอดีตเคยมีการอาศัยพระบารมี ซึ่งทำให้สามารถคลี่คลายสถานการณ์ไปได้ ดังนั้น ในครั้งนี้เราเห็นว่าจำเป็นต้องขอพึ่งพระบารมีเช่นกัน เพราะสถาบันพระมหากษัตริย์ถือเป็นจุดศูนย์รวมของคนไทยทั้งชาติ และเราเชื่อว่าทางนี้จะเป็นทางสว่าง
ทั้งนี้ เราเสนอให้รัฐบุรุษเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เพราะเป็นผู้ที่สามารถมีหน้าที่ดังกล่าวได้ รวมถึงสามารถร่างพระบรมราชโองการขึ้นทูลเกล้าฯสำหรับรัฐบาลที่มาบริหารประเทศก็เป็นการอาสาเข้ามาดูแลประชาชน ผ่านกระบวนการเลือกตั้ง แต่เมื่อรัฐบาลเข้ามาทำไม่ได้ตามที่อาสาเขาก็ควรมีความสำนึกและรับผิดชอบ ดังนั้น รัฐบาลโดย น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ควรลาออกจากตำแหน่งไปเอง หรือควรขอเข้าเฝ้าฯ เพื่อกราบบังคมทูลลาออกจากตำแหน่งเพื่อแสดงความรับผิดชอบที่ไม่สามารถบริหารราชการแผ่นดินได้ตามที่ปฏิญาณตนไว้ โดยไม่ต้องรอให้คนมาขับไล่ ซึ่งเหมือนกับการแสดงความรับผิดชอบของบุคคลในต่างประเทศ แต่รัฐบาลกลับใช้ข้อกฎหมายเพื่อยื้อตัวเองเอาไว้
“พวกเรายืนยันว่าข้อเสนอดังกล่าวไม่ขัดกฎหมาย และไม่ทำให้ระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท แต่ในทางตรงกันข้าม หากพระบารมีสามารถแก้ไขสถานการณ์ได้จะยิ่งทำให้สถาบันและประเทศไทยมีความมั่นคงมากขึ้น ทั้งนี้ ถ้าทุกคนเห็นด้วยก็ขอให้ช่วยกันเรียกร้องให้ใช้พระบารมี อีกทั้งขอให้ผู้ที่มีอำนาจเกี่ยวข้องร่วมกันเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ ซึ่งพวกเราพร้อมสนับสนุนช่วยเหลือ” พล.อ.สายหยุด กล่าว
ด้าน นายชัยอนันต์ สมุทวณิช อดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลประกาศไม่รับอำนาจศาล คณะบุคคลจึงเห็นว่าควรเรียกร้องให้รัฐบุรุษเข้ามามีบทบาท และให้องค์กรต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา ซึ่งตำแหน่งรัฐบุรุษเป็นการบ่งบอกถึงความรับผิดชอบ เมื่อเกิดเหตุการณ์สำคัญของประเทศว่าจะต้องมีบทบาทอย่างไร เพราะรัฐบุรุษเป็นส่วนหนึ่งของการเมือง ทั้งนี้ ข้อเสนอของเราไม่มีเรื่องการเสนอให้ใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 7 เพื่อขอนายกรัฐมนตรีพระราชทานแต่อย่างใด รวมถึงไม่ได้ขอให้ทหารออกมายึดอำนาจ
อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเห็นว่าถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย หรือตัดสินให้นายกรัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่ง ตนเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญอาจยื่นขอพระบรมราชวินิจฉัย ซึ่งการที่ นายชัยเกษม นิติสิริ รมว.ยุติธรรม เสนอให้มีการขอพระบรมราชวินิจฉันนั้น ก็ถือว่าเป็นเรื่องแปลกเพราะจะทับซ้อนกับกรณีของศาลรัฐธรรมนูญ ตนเชื่อว่าถ้าในที่สุดหาทางออกในทางใดๆไม่ได้ก็คงใช้แนวทางการอาศัยพระบารมี หรือเรียกว่าราชประชาสมาสัย แต่ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลาที่จะใช้วิธีการดังกล่าว ขณะเดียวกันถ้าเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงจนนองเลือด ก็คงไม่ต้องมีราชประชาสมาสัย เพราะทหารจะออกมาปฏิวัติก่อนอย่างแน่นอน