ผ่าประเด็นร้อน
แม้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษยังไม่ยอมรับข้อเสนอของคณะบุคคลที่เรียกว่า “คณะรัฐบุคคล” ที่เรียกร้องให้ทำหน้าที่เป็นคนกลางถกคณะบุคคลที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ในสังคม ผู้นำองค์กรต่างๆ รวมทั้งองค์กรหลักทั้ง ทหาร ตุลาการ เพื่อร่วมกันหาทางออก และยุติวิกฤตของบ้านเมือง ในยุคที่รัฐบาลที่นำโดย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขาดความชอบธรรมทั้งนิตินัยและพฤตินัย โดยหลักการก็คือให้ร่วมกันร่างพระบรมราชโองการฯขึ้นทูลเกล้าฯ แต่ความหมายก็คือ “ไม่ปฏิเสธ”
อย่างไรก็ดีหากพิจารณากันอย่างเข้าใจสถานการณ์ในเบื้องต้นก็คงต้องออกมาในรูปแบบนี้ก่อน นั่นคือ “ไม่ตอบรับแต่ไม่ปฏิเสธ” เนื่องจากเหตุการณ์ยังมาไม่ถึง
ที่ว่าเหตุการณ์ยังมาไม่ถึงก็คงหมายความว่า ต้องรอให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าว และ คดีที่ศาลรัฐธรรมนูญนัดชี้ขาดเกี่ยวกับสถานภาพนายกรัฐมนตรี ซึ่งทั้งสองเรื่องล้วนพุ่งเป้าไปที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรโดยตรง ซึ่งถ้ามีความผิดก็ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ และต้องพ้นสภาพนายกรัฐมนตรีทันที
นี่แหละคือ “สุญญากาศ” ที่จะต้องร่วมกันหาทางออกให้กับประเทศ !!
สิ่งที่ต้องพิจารณากันก็คือทำไมต้องรอให้เกิดสุญญากาศ คำตอบก็คือตอนนี้ยังมีข้อถกเถียงกันว่า ยังมีรักษาการนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรียังสามารถสั่งการได้ตามปกติ แม้ว่าจะมีข้อจำกัดอยู่ก็ตาม หรือว่าจะหมดความชอบธรรมในทางการเมืองแล้วก็ตาม แต่ในทางกฎหมายก็ยังไม่ได้เป็นไปตามนั้นแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ ก็ต้องรอจังหวะไปอีกระยะหนึ่งก่อน
อย่างไรก็ดีเมื่อพิจารณาจากช่วงระยะเวลาที่กำลังจะมีการตัดสินจากทั้ง ป.ป.ช.และศาลรัฐธรรมนูญ หากนับวันเวลาก็อยู่ในช่วงปลายเดือนเมษายนจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งก็เหลืออีกไม่กี่วันเท่านั้น
ดังนั้นการที่มีการเรียกร้องให้ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ในฐานะรัฐบุรุษ เข้ามาเป็นคนกลางในการถกหาทางออกของประเทศ โดยการนัดหารือกับตัวแทนองค์กรหลักในประเทศ อย่างเช่น ทหาร ตุลาการ รวมไปถึงผู้นำทางสังคมอื่นๆ มองในมุมนี้ก็ถือว่าเป็นการเสนอเข้ามาแบบ “รอจังหวะ” กันล่วงหน้า เพื่อรองรับสถานการณ์ “สุญญากาศ” ที่กำลังจะเกิดขึ้นพอดี
แม้ว่านาทีนี้ฝ่าย ทักษิณ ชินวัตร จะพยายามออกมาตีกันเอาไว้ก่อน แต่หากพิจารณาจากน้ำเสียงฟังดูแล้วก็ไม่ใช่หนักแน่น หรือเสียงดังมากนัก เป็นเพียงระดับลิ่วล้อปลายแถวเท่านั้น ถือว่าไม่มีน้ำหนัก เพราะก่อนหน้านั้นท่าทีของ ทักษิณ จะออกมาในโทนเจรจา แต่ในความหมายก็คือต้องการต่อรองแบบไม่ต้องเสียทั้งหมด เพราะในบรรยากาศที่ถดถอยแบบนี้ก็ต้องรักษาอำนาจเอาไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
นอกจากนี้หาก ทักษิณ ชินวัตร ต้องการเดินเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง เพื่อหวังกลับคืนสู่อำนาจอีกครั้งอย่างชอบธรรมก็ต้องรีบไฟเขียวให้เกิดเจรจาโดยเร็วที่สุด และได้นายกฯคนกลางมา “ขัดตาทัพ” เพื่อมาทภารกิจเฉพาะกิจโดยเร็วที่สุด เพราะแม้ว่าจะไม่ "โดดเด่น"หวือหวาเหมือนเมื่อก่อน หลังจากที่ชาวบ้านเขา “ตื่นรู้” กัน แบบขนานใหญ่แบบนี้ แต่ถึงอย่างไรพวกเขาก็ยังมั่นใจว่าก็ยังชนะเลือกตั้งอยู่ดี แม้ว่าจะไม่ชนะขาดก็ตาม และนี่คือเหตุผลว่าทำไมฝ่ายระบอบทักษิณ ถึงต้องดันมุรังให้เกิดการเลือกตั้งอยู่ตลอดเวลา
ดังนั้นเมื่อพิจารณาจากท่าทีของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรี และรัฐบุรุษ ที่ไม่ปฏิเสธการเป็นคนกลางนัดประชุมคณะบุคคลและตัวแทนองค์กรหลักของบ้านเมือง เพื่อหาทางออกให้กับบ้านเมือง จึงมีความเป็นไปได้ เพียงแต่ว่าอาจต้องรอจังหวะหลังจากที่ทาง ปปช.และศาลรัฐธรรมนูญได้ตัดสินชี้ขาดออกมาก่อน ซึ่งก็คงไม่เกินปลายเดือนเมษายนหรือในราวต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งประเมินจากคำพูดของ ทักษิณ ชินวัตร ก็ยังต้องการให้เกิดเจรจาเพียงแต่ว่า “คนกลางที่จะมา” ต้องให้พวกเขารับได้ด้วย
รอเวลาเพียงแค่อึดใจเดียวเท่านั้น !!