xs
xsm
sm
md
lg

วุฒิฯ แหกด่าน “รบ.ปู” นัดเลือกประธาน-ตั้ง กมธ.22 คณะ 9 พ.ค.นี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ส.ว. แหกกรอบรัฐบาล นัดประชุม 9 พ.ค. เลือกประธานวุฒิฯ พร้อมตั้ง กมธ. สามัญ 22 คณะ หลังรุมสับ พ.ร.ฎ. เปิดประชุมวุฒิสภาที่รัฐบาลหมกเม็ด ขีดกรอบให้แคบ ห้ามทำเรื่องอื่น หวังจำกัดการทำงานของ ส.ว.

การประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ โดยมี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 รักษาการประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุมในวันนี้ (2 พ.ค.) ได้มีมติตั้งคณะกรรมาธิการจำนวน 24 คน เพื่อพิจารณาเสนอรายชื่อบุคคลที่เห็นสมควรเป็นกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 6 คน และเห็นควรให้สอบประวัติความประพฤติและจริยธรรมด้วย โดยประกอบไปด้วย สมาชิกวุฒิสภาสายเลือกตั้ง 12 คน และสายสรรหา 12 คน มีกำหนดกรอบทำงานภายใน 30 วัน

ส่วนคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติความประพฤติและพฤติกรรมทางจริยธรรมของ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ประชุมมีมติตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ จำนวน 24 คน มาจากสายเลือกตั้ง 12 คน อาทิ คุณหญิง จารุวรรณ เมณฑากา ส.ว.กทม., น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ส.ว.สมุทรสงคราม, นายวัน สุวรรณพงษ์ ส.ว.ขอนแก่น, นายอภิชาติ ดำดี ส.ว.กระบี่, นายบุญส่ง ไข่เกษ ส.ว.ตราด และสายสรรหา 12 คน อาทิ นายพิเชต สุนทรพิพิธ, นายสมพล พันธ์มณี, พล.อ.ชูชาติ สุขสงวน

นายสุรชัย กล่าวว่า จากข้อกำหนดที่เกี่ยวข้องกำหนดให้วุฒิสภาให้ความเห็นชอบบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อจากกรรมการสรรหา ป.ป.ช. ภายใน 30 วัน จะครบกำหนดในวันที่ 9 พ.ค. นี้ ดังนั้นตนขอให้กรรมาธิการฯ ยึดกรอบการทำงานให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน นับตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค. คือกรรมาธิการฯ ต้องเสนอรายงานการตรวจสอบต่อตนวันที่ 8 พ.ค. เพื่อให้ตนบรรจุรายงานการตรวจสอบเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมวันที่ 9 พ.ค. ดังนั้น ขอให้กรรมาธิการฯ ได้ดำเนินการโดยไม่เกินเวลาจากกรอบเวลาดังกล่าว เพราะหากเกินจากนี้จะเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้หารือถึงกรอบการทำงานของ ส.ว. ที่พระราชกฤษฏีกาการเปิดประชุมครั้งนี้ที่ได้ขีดกรอบไว้ค่อนข้างแคบ ส.ว. สามารถดำเนินในเรื่องอื่นๆ ได้หรือไม่ อาทิ นายประสงค์ นุรักษ์ ส.ว.สรรหา ได้หารือถึงปัญหาที่ยังไม่สามารถดำเนินการถอดถอนบุคคลได้ นายสุรชัยได้ชี้แจงว่าตนใช้เวลานานในการทำความเข้าใจเรื่องกฎหมายประมาณเดือนเศษๆ กว่าจะหาข้อยุติได้ และได้เฉพาะเรื่องการแต่งตั้งบุคคล ส่วนเรื่องการถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่งยังเห็นต่างระหว่างเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กับเลขาธิการวุฒิสภา ไม่สามารถทำตามกรอบรัฐธรรมนูญได้ แต่กรณีแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งนั้นนั้น จำเป็นต้องเร่งเพราะหากดำเนินการไม่เสร็จทันกรอบรัฐธรรมนูญกำหนด หรือผู้ได้รับเสนอชื่อได้รับความเสียหาย แม้ว่าที่ประชุมจะเห็นชอบหรือไม่ก็ตาม ใครจะรับผิดชอบตรงนั้น จึงจำเป็นว่าตรงไหนยอมรับได้ก่อนก็ให้เปิดประชุมไปก่อน ส่วนทำไมจึงกำหนดรายละเอียดมากมายขนาดนั้น ตนไม่สามารถตอบได้ ฉะนั้นขบวนการถอดถอนยังทำไม่ได้ แต่เป็นภารกิจที่ตนต้องดูแลต่อไป จะทำหน้าที่ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปรับความเข้าใจ เงื่อนไขประเด็นสาเหตุที่เป็นนความเห็นต่างๆ

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ส.ว.สรรหา อภิปรายว่า รัฐบาลกำหนดกรอบในพระราชกฤษฎีกาการประชุมครั้งนี้ ไม่มีสาเหตุอื่นนอกจากต้องการจำกัด การทำงานของ ส.ว. เพราะ ส.ว.ชุดนี้เป็นความหวังของประชาชนในการแก้วิกฤตของประเทศชาติเพราะเป็นสภาเดียวที่ยังเหลืออยู่ ถ้าสามารถทำหน้าที่ได้อย่างเป็นกลางไม่ลำเอียง มุ่งประโยชน์ประเทศชาติเชื่อว่าจะช่วยชาติได้อย่างดี

“รัฐบาลเหมือนมีการหมกเม็ดเขียนรายละเอียดจำกัดเฉพาะเรื่องที่รัฐบาลต้องการ ขุดบ่อล่อปลาให้ทำไม่ได้เรื่องอื่นๆ ทั้ง เรื่องการตั้งคณะกรรมาธิการสามัญ 22 คณะ แม้แต่การตั้งประธานและรองประธาน จะทำได้หรือไม่ในเมื่อพระราชกฤษฎีกาไม่ได้เขียนเอาไว้ ถ้าเราไม่ทำตามที่กำหนดอาจถูกตีความว่าทำเกินขอบเขตที่กำหนด”

อย่างไรก็ตาม หลังจากเปิดโอกาสให้สมาชิกได้แสดงความเห็นกันหลากหลาย โดยส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่าสามารถที่จะทำได้ในบทบาทอำนาจหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญกำหนด และที่ประชุมได้มีมติเสียงส่วนใหญ่เห็นด้วยกับญัตติของนายวันชัย สอนศิริ ส.ว.สรรหา เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเลือกตั้งคณะกรรมาธิการสามัญจำนวน 22 คณะ ตามรัฐธรรมนูญ และเลือกตั้งประธานวุฒิสภา และรองประธาน โดยจะมีการนัดประชุมวันศุกร์ที่ 9 พ.ค. เวลา 13.30 น. เพื่อดำเนินการคัดเลือกประธานวุฒิสภา และรองประธาน พร้อมด้วยแต่งตั้งคระกรรมาธิการสามัญทั้ง 22 คณะ





















กำลังโหลดความคิดเห็น