xs
xsm
sm
md
lg

ศึกสภาสูงเดือด ชิงเก้าอี้ประธาน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวการเมือง

นิคม ไวยรัชพานิช
การชิงเก้าอี้ประธานวุฒิสภาคนใหม่ กับรองประธานวุฒิสภา กลายเป็นไฮไลต์สำคัญที่ผู้คนให้ความสนใจติดตามความเคลื่อนไหวเรื่องนี้ขึ้นมา แทนเรื่องการพิจารณาถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในช่วงการประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญ 2-10 พ.ค.นี้

เพราะเมื่อวาระเรื่องที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งเรื่องมาให้วุฒิสภาพิจารณาลงมติถอดถอนออกจากตำแหน่ง ไม่สามารถพิจารณาได้ในช่วงการประชุมวุฒิสภาดังกล่าว จากเหตุติดขัดปัญหาข้อกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 273 ที่รัฐบาลอ้างว่า

การจะให้ออกพระราชกฤษฎีกาเปิดประชุมวุฒิสภานอกสมัยประชุมปกติ เป็นหน้าที่ของประธานรัฐสภา แต่เวลานี้ไม่มีทั้งประธานสภาฯ ที่เป็นประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง และประธานวุฒิสภาที่เป็นรองประธานรัฐสภา จึงไม่สามารถเปิดสมัยประชุมได้

ส่งผลให้สำนวนถอดถอนที่ป.ป.ช.ส่งเรื่องมา ถูกแช่แข็งไปก่อนทั้ง 2 สำนวนที่ส่งมาถึงสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาแล้ว คือ ถอดถอน นิคม ไวยรัชพานิช อดีต ส.ว.ฉะเชิงเทรา และอดีตประธานวุฒิสภา และ สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาฯ จากผลพวงกรณีการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา เรื่องที่มาของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.)

เมื่อวาระใหญ่อย่างกรณีการลงมติถอดถอนหรือไม่ถอดถอน นิคม-สมศักดิ์ ทางวุฒิสภาไม่สามารถพิจารณาได้ ก็ทำให้ อุณหภูมิการเมืองในสภาสูง ที่จะชี้ชะตา สมศักดิ์-นิคม ว่าจะโดนถอดถอน และต้องเว้นวรรคการเมืองห้าปีหรือไม่ ลดความร้อนแรงไปมากโข

เพราะ 2 วาระที่รัฐบาลยอมให้มีการออก พ.ร.ฎ.เปิดสมัยประชุมวุฒิสภา ตามที่สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาทำเรื่องร้องขอมายังรัฐบาล ก็เป็นงานรูทีน ซึ่งดูแล้วคงไม่มีอะไรหวือหวามากนัก

ทั้งกรณีที่วุฒิสภาจะต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบ “สุภา ปิยะจิตติ”รองปลัดกระทรวงการคลัง เป็น ป.ป.ช.คนใหม่ และการสรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งกรรมการตุลาการศาลปกครองในสัดส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 2 คน

กรณีการให้ความเห็นชอบ “สุภา”แม้วุฒิสภาจะมีเวลาจำกัดมาก กับการที่ต้องตั้ง กมธ.ตรวจสอบประวัติ-ความประพฤติ-ข้อร้องเรียนต่างๆ ที่ส่งเข้ามายังกมธ. ที่วุฒิสภาจะมีเวลาแค่ 8 วันเท่านั้นในการทำเรื่องนี้ให้เสร็จ คือ วุฒิสภาต้องโหวตเห็นชอบ-ไม่เห็นชอบ ก่อนวันที่ 9 พ.ค. เท่านั้น หากเลยจากนี้จะถือว่าเลย 30 วัน ที่กรรมการสรรหาส่งชื่อมา ก็จะทำให้เป็นโมฆะไป และจะเกิดปัญหาว่าวุฒิสภาทำผิดรธน.ขึ้นมาได้

กระนั้นดูแล้ว ยังไง วุฒิสภา ก็คงโหวต เห็นชอบให้ สุภา เป็นป.ป.ช.แน่นอน เพราะแค่ใช้เสียงส่วนใหญ่ แม้ดูแล้วก็อาจจะมีความเป็นไปได้ที่อาจมี ส.ว.สายรัฐบาล จะพยายามขวางอยู่ เพราะเกรง สุภา จะไปเป็น เสี้ยนหนามให้กับรัฐบาลเพื่อไทย ในอนาคต

ทว่าในขั้นตอนทางกฎหมาย จะพบว่า การขัดขวางดังกล่าว หากคิดจะทำ ก็ทำได้ยาก เพราะถึงต่อให้ชื่อของ สุภา โดนวุฒิสภาตีตกขึ้นมาจริงๆ ด้วยการลงมติไม่ให้ความเห็นชอบ แต่หากที่ประชุมกรรมการสรรหาป.ป.ช. ที่ก็คือกรรมการชุดเดิมที่เลือก สุภา มีมติเอกฉันท์ยืนยันชื่อ สุภา ให้เป็นป.ป.ช.กลับมาอีกครั้ง วุฒิสภาก็ทำอะไรไม่ได้ ทำให้คาดการณ์ได้ว่า สุภา คงไม่พลาดที่จะได้เป็นว่าที่ ป.ป.ช.ในอนาคตอันใกล้นี้

สำหรับวาระเรื่อง การสรรหาบุคคลมาดำรงตำแหน่งกรรมการตุลาการศาลปกครองในสัดส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 2 คน ก็ยิ่งไม่มีอะไรน่าสนใจใหญ่ ก็คงผ่านไปได้ด้วยดี

แต่ที่ยังเป็นปัญหาคือ ส.ว. 150 คน ยังถกกันไม่ลงตัว ความเห็นยังแตกออกเป็นสองฝั่งกันอยู่ ในเรื่องควรจะมีการเลือก“ประธานวุฒิสภา-รองประธานวุฒิสภา”กันเลยหรือไม่ ในช่วงการเปิดประชุมวุฒิสภารอบนี้

จนมีข่าวว่า ส.ว.หลายคนจะนำเรื่องนี้ไปหารือเพื่อหาข้อสรุปกันออกมาให้ได้ว่า จะให้มีการเลือกประธานวุฒิสภาหรือไม่ ในการเปิดประชุมวุฒิสภานัดแรก 2 พ.ค.ที่ผ่านมา

โดยความเห็นที่ต่างกันในเรื่องนี้สรุปความได้ว่า ฝ่ายที่ให้เหตุผลว่า ไม่ควรมีการเลือกประธานวุฒิสภา ก็อ้างเหตุผลว่า ทำไม่ได้ เพราะการทำเรื่องไปยังรัฐบาลเพื่อให้ออก พ.ร.ฎ.เปิดประชุม บอกไปว่าจะมีการพิจารณาแค่เรื่องป.ป.ช. กับผู้ทรงคุณวุฒิศาลปกครองสูงสุด ตามรธน. มาตรา 132 เท่านั้น ไม่ได้แจ้งว่าจะให้มีการเลือกประธานวุฒิสภา-รองประธานวุฒิสภา ด้วย

อีกทั้งที่ผ่านมา การเลือกประธานวุฒิสภา ก็ทำในการประชุมสมัยสามัญปกติ ไม่เคยมีการเลือกในช่วงวิสามัญ จึงเกรงจะเกิดปัญหาข้อกฎหมายตามมาภายหลัง

ส่วนด้านเสียงสนับสนุนให้มีการเลือกประธานวุฒิสภา ก็บอกว่าการไม่มีประธานวุฒิสภาแบบนี้ไม่เป็นผลดี ควรต้องรีบเลือก เพราะหากมีประธานวุฒิสภาการขอเปิดประชุมวุฒิสภาเพื่อพิจารณาวาระถอดถอน ที่ป.ป.ช.ส่งมา ก็ทำได้เลย ไม่ต้องเอาเรื่องมานั่งทับไว้แบบนี้ อีกทั้ง สถานการณ์แบบนี้ ไม่รู้จะมีการเลือกตั้งเมื่อใด จะมีสภาฯ วันไหน

หากไม่เลือกกันเสียที วุฒิสภาก็อยู่ในสภาพไม่มีประธานไปเรื่อยๆ อีกหลายเดือน

จะไม่เป็นผลดีต่อการเมืองไทย เพราะหากการเมืองเกิดถึงทางตันอะไรขึ้นมา การมีประธานวุฒิสภา ก็น่าจะช่วยคลี่คลายสถานการณ์หาทางออกได้ รวมถึงมองว่า เรื่องการเลือกประธานวุฒิสภาเป็นเรื่องภายใน ไม่เกี่ยวกับรธน. สามารถทำได้ ไม่ขัดรธน.แน่นอน

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากทางทีมข่าวการเมืองต้องปิดต้นฉบับล่วงหน้า จึงทำให้ไม่สามารถทราบได้ว่า สุดท้ายเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมวุฒิสภา ทางส.ว.เห็นอย่างไร จะให้มีการเลือกประธานวุฒิสภาก่อน 10 พ.ค. หรือจะรอให้มีการเปิดประชุมวุฒิสภาสมัยสามัญตามปกติ แล้วค่อยมาพิจารณาโหวตเลือกประธานวุฒิสภา

โดยหากเสียงส่วนใหญ่ เห็นด้วยให้มีการเลือก ประธานวุฒิสภากันเลยในช่วงก่อนปิดประชุม แล้วมีการนัดหมายวันประชุมวุฒิสภาเพื่อโหวตเลือกประธานวุฒิสภา ก็คาดว่าคงทำให้การหาเสียง-การล็อบบี้ ขอคะแนนของคนที่ลงสมัครชิงตำแหน่งประธานวุฒิสภาในช่วงก่อนวันโหวตลงคะแนน คึกคักกันไม่น้อย

คาดการณ์กันว่า หากสุดท้ายจะมีการเลือกประธานวุฒิสภา ก็น่าจะอยู่ในช่วงวันที่ 9 พ.ค. ซึ่งหากเป็นไปตามนี้ คนที่จะลงชิงตำแหน่ง ก็จะมีเวลาไม่มากนักในการหาเสียงขอคะแนน และนั่นย่อมทำให้คนที่จะลงสมัครชิงประธานวุฒิสภา ก็คงต้องวิ่งหาเสียงแนะนำตัวกันตีนขวิดพอสมควร

โดยพบว่า คนที่มีชื่อว่าจะลงชิงประธานวุฒิสภา หลัก ๆ ที่ปรากฏออกมาก่อนหน้านี้ เช่น จองชัย เที่ยงธรรม ส.ว.สุพรรณบุรี - พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ ส.ว.สรรหา หรือแม้แต่ตัว สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภา และรักษาการประธานวุฒิสภาเวลานี้ รวมถึงตัว ศรีเมือง เจริญศิริ ส.ว.มหาสารคาม ผู้แนบแน่นกับทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทย

ทั้ง 4 คนได้มีการหาเสียงแนะนำตัวกับเพื่อน ส.ว.ไปแล้วหลายคน แต่ในจำนวนนี้ บางชื่อก็กำลังอาจเปลี่ยนใจ เช่น มีข่าวว่า ตัว ศรีเมือง เจริญศิริ มีแนวโน้มอาจไม่ลงสมัครก็ได้ เพื่อเปิดทางให้ จองชัย และ พล.ต.อ.จงรักไปสู้กับ สุรชัย ให้เต็มที่

เพราะศรีเมือง ก็คงรู้ดีว่า ด้วยภาพความใกล้ชิดของตัวเองกับทักษิณ และพรรคเพื่อไทย คงทำให้การทำงานในฐานะประธานวุฒิสภา คงมีปัญหาแรงเสียดทานค่อนข้างมาก เลยต้องการหลีกทางไปก่อน อีกทั้งตัวศรีเมือง ที่คร่ำหวอดในวงการสภาสูงมาหลายปีก่อนหน้านี้ อาจประเมินแล้วพบว่า เสียงหนุนสู้ สุรชัยไม่ได้ เลยไม่ขอลงก็อาจเป็นไปได้

พอมีข่าว ศรีเมือง อาจจะไม่ลงสมัคร แล้วก็มีข่าวคล้อยหลังตามมาว่า แม้ไม่ลงสมัคร แต่ก็จะเป็นกองเชียร์ คอยรวบรวมเสียงส.ว.เลือกตั้ง สายเพื่อไทย ให้ไปหนุน จงรัก ชิงประธานวุฒิสภา ทำให้ จงรัก ถูกจับตามองมากขึ้น

แต่เหตุที่ จงรัก ไม่กล้าเปิดตัวเสียที ก็เพราะติดขัดตรงที่หากจะลงสมัคร แม้จะได้แรงหนุนจาก ส.ว.สายเพื่อไทย แต่ถ้าต้องสู้กับ สุรชัย แล้วยังมี จองชัย เที่ยงธรรม ลงด้วย คะแนนของ จงรัก กับ จองชัย ก็จะไปตัดกันเอง จะทำให้ สุรชัย ลอยลำ ครั้นจะให้จองชัย หลีกทางให้ก็คงทำไม่ได้ เพราะจองชัย เปิดตัวไปมากแล้วว่าต้องการเป็นประธานวุฒิสภา เพื่อไปแก้ปัญหาความแตกแยกทางการเมือง ไปโม้ไว้เยอะ แล้วหากเปลี่ยนใจไม่ลง ก็เสียเหลี่ยม เฮียจองชัย ซึ่งผิดวิสัยที่จองชัยจะยอม สู้ลงแล้วแพ้ให้มันรู้กันไปข้างดีกว่า เลยทำให้ จงรัก แม้จะมีข่าวว่าได้แรงหนุนจากทักษิณ และสมชาย วงศ์สวัสดิ์ และแกนนำเพื่อไทยหลายคน แต่ก็ชั่งใจจะลงดีหรือไม่

สภาพของสภาสูงในช่วงที่ผ่านมา ดูภายนอกเห็นเงียบๆ แต่ที่ไหนได้ ฝุ่นตลบพอสมควร พวก ส.ว.สายพรรคร่วมรัฐบาล ก็แตกคอกันพอสมควร มีข่าวลือบอกว่าได้ยินเสียงบ่นจาก ส.ว.สายเชียร์รัฐบาลเพื่อไทย บางคนที่บ่นดังๆ ออกมาให้ส.ว.คนอื่นได้ยินว่า จองชัย ควรหลีกทางไป เพื่อให้ จงรัก ลงไปสู้กับสุรชัย อาจมีสิทธิ์ลุ้นชนะก็ได้ ไม่ควรไปตัดคะแนนกันเอง

ดูแล้วยากที่ จองชัย จะยอม เลยทำให้ฝ่ายส.ว.ที่หนุน สุรชัย ค่อนข้างมั่นใจมากว่า เมื่อส.ว.สายอิงรัฐบาลแตกคอกันแบบนี้ คนที่ได้เปรียบก็คือ สุรชัย

ฝุ่นตลบสภาสูงเวลานี้ ทำให้เชื่อว่า ไม่ว่าสุดท้ายจะมีการเลือกประธานวุฒิสภากันหรือไม่ แต่มันก็ทำให้เห็นแล้วว่า วุฒิสภาชุดปัจจุบันหลังส.ว.เลือกตั้ง 77คน เข้าทำหน้าที่ การชิงอำนาจกันในสภาสูง ของส.ว.สายไม่เอาระบอบทักษิณ กับส.ว.สายอิงพรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมรัฐบาล ได้เริ่มขึ้นแล้วตั้งแต่ยกแรก
สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย
พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์
จองชัย เที่ยงธรรม
ศรีเมือง เจริญศิริ
กำลังโหลดความคิดเห็น