xs
xsm
sm
md
lg

พักประชุมวุฒิฯ หลังเสียงแตกตั้ง กมธ. “สุรชัย” ขึ้นแท่นนั่ง ปธ. สายรัฐดิ้นดัน “จงรัก” สู้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


รอง ปธ.วุฒิฯ นำ 77 ส.ว.หน้าใหม่ถวายสัตย์ ก่อนเข้าวาระตั้ง กมธ.เสนอชื่อตุลาการศาลปกครอง และกมธ.สอบ “สุภา” รับตำแหน่ง ป.ป.ช. ส.ว.ใหม่ติงไม่ควรเร่ง เหตุเพิ่งเริ่มงาน โวย “สุรชัย” ไม่ควรนั่ง ปธ.สายสรรหา สวนหนุนทำหน้าที่และตั้ง กมธ. ก่อนสั่งพักให้ถกนัดกัน ประชุมต่อบ่าย ด้าน “สุรชัย” ทางสะดวกนั่ง ปธ. 40 ส.ว.ขอไขก๊อกรอง ปธ.ก่อน ส.ว.สายรัฐ บี้ ส.ว.สุพรรณฯ ถอนตัวเปิดทาง “จงรัก”



วันนี้ (2 พ.ค.) การประชุมวุฒิสภาสมัยวิสามัญเริ่มเวลา 10.00 น. โดยมีนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 รักษากาประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ก่อนเริ่มการประชุมเลขาธิการวุฒิสภาได้อ่านพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ประกาศพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ. 2557 จากนั้นนายสุรชัย ได้กล่าวนำ ส.ว.ชุดใหม่ที่มาจาการเลือกตั้งทั้ง 77 คน ถวายสัตย์ปฏิญาณตนก่อนเข้ารับตำแหน่ง พร้อมกับได้แจ้งสิทธิประโยชน์ของสมาชิกว่าเริ่มตั้งแต่วันนี้ (2 พ.ค.) เป็นต้นไป จากนั้นได้เข้าสู่วาระสำคัญ คือ 1. ตั้งคณะกรรมาธิการเพื่อพิจารณาเสนอรายชื่อบุคคลที่เห็นสมควรเป็นกรรมการตุลาการศาลปกครองผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 6 คน ก่อนให้วุฒิสภาคัดเลือกเหลือ 2 คน ต่อไป 2. ตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ น.ส.สุภา ปิยะจิตติ ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช.

ทั้งนี้ นายสุรชัยได้เสนอต่อที่ประชุมให้คณะกรรมาธิการมีจำนวน 24 คน โดยแบ่งเป็น ส.ว.เลือกตั้ง 12 คน สรรหา 12 คน เนื่องจากเป็นการประชุมครั้งแรกยังไม่สามารถตั้งคณะกรรมาธิการสามัญทั้ง 22 คณะเพื่อจะมีตัวแทนเป็นคณะกรรมาธิการ ประกอบกับวิปวุฒิสภาอีก 3 คน แต่ปรากฏว่าที่ประชุมได้มีการถกเถียงกันระหว่าง ส.ว.สรรหา กับ ส.ว.เลือกตั้ง เนื่องจาก ส.ว.เลือกตั้งชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งหลายคนได้คัดค้านว่าไม่ควรรีบเร่งตั้งคณะกรรมาธิการ เพราะ ส.ว.ชุดใหม่เพิ่งได้รับเลือกตั้งเข้ามาทำงานวันแรก ยังไม่เป็นที่รู้จักกันดีพอที่จะเลือกใครเข้าไปทำหน้าที่ ควรจะเปิดโอกาสให้มีการหารือพูดคุยเพื่อหลอมรวมกันก่อน ขณะที่บางคนเสนอให้จำนวนกรรมาธิการเป็นเลขคี่เพื่อเวลาโหวตจะชี้ขาดได้ ส่วนสัดส่วนกรรมาธิการควรแบ่งเป็นรายภาค เหนือ อีสาน กลาง ตะวันออก ใต้ อีกทั้งยังรู้สึกไม่สบายใจที่จะให้นายสุรชัย ส.ว.สรรหาปฏิบัติหน้าที่ประธาน เนื่องจากควรจะให้ผู้ที่มีอาวุโสขึ้นทำหน้าที่แทนชั่วคราว เพราะ ส.ว.ชุดใหม่ไม่ได้เลือกนายสุรชัย ขึ้นมา

ด้านความเห็น ส.ว.สรรหา กล่าวสนับสนุนข้อเสนอของนายสุรชัย เช่น นายคำนูณ สิทธิสมาน นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ได้ลุกขึ้นมาแสดงความคิดเห็นสนับสนุนนายสุรชัย ทั้งการทำหน้าที่ประธานการประชุม และการตั้งคณะกรรมาธิการโดยแบ่งสัดส่วนกันคนละครึ่ง โดยอ้างว่าเป็นไปตามกรอบของกฎหมายที่ต้องมีการพิจารณาลงมติเลือก น.ส.สุภา ดำรงตำแหน่ง ป.ป.ช.หรือไม่นั้นจะครบในวันที่ 9 พ.ค. หาก ส.ว.ไม่สามารถทำได้ กระบวนการสรรหาอาจจะมีปัญหา ส่วนวาระการตั้งคณะกรรมาธิการสรรหาตุลาการศาลปกครองทรงคุณวุฒิ แม้ไม่กำหนดเวลาไว้ เมื่อมีเหตุต้องสรรหาก็เป็นเรื่องที่ ส.ว.ต้องดำเนินการให้สมกับที่ทำตามหน้าที่ตามพระราชกฤษฏีกา

หลังหารือกว่า 2 ชั่วโมง นายสุรชัยสรุปว่าสมาชิกส่วนใหญ่เห็นด้วยกับความเห็นของตน เรื่องด่วนแรกไม่น่ามีปัญหา แต่เรื่องเรื่องด่วนที่ 2 มีกรอบเวลาบังคับเป็นสถานการณ์พิเศษ การจะใช้คณะกรรมาธิการสามัญในส่วนของ ส.ว.เลือกตั้งก็ต้องใช้เวลาอีกนาน ดังนั้นจึงได้เสนอให้พักการประชุมเพื่อขอให้ ส.ว.เลือกตั้งไปหารือที่ห้องรับรอง 1-2 อาคารรัฐสภา 2 ว่าเพื่อให้ได้รายชื่อกรรมาธิการทั้ง 2 คณะ กำหนดสัดส่วนว่าจะเอาจำนวนเท่าไหร่ หรือจะกำหนดสัดส่วนเป็นรายภาคหรือไม่ก็ได้ ส่วน ส.ว.สรรหาหารือได้ที่ห้อง 307-308 ก่อนนัดประชุมกันอีกครั้งในเวลา 13.30 น.

ส่วนความเคลื่อนไหวในการชิงตำแหน่งประธานวุฒิสภา ปรากฏว่า ขณะนี้ในส่วนกลุ่มผู้สนับสนุนนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย มีความนิ่งแล้ว โดย ส.ว.สรรหาราว 60-65 คน เทเสียงสนับสนุนนายสุรชัย ขณะเดียวกันยังได้รับเสียงสนับสนุนจาก ส.ว.สายพรรคประชาธิปัตย์และฝั่งตรงข้ามรัฐบาลมาเติมอีกส่วนหนึ่ง ทำให้มีเสียงสนับสนุนนายสุรชัยอยู่ที่ 70-80 เสียง แต่กลุ่ม 40 ส.ว.ได้มีการแสดงความเห็นว่า หากนายสุรชัยจะลงชิงตำแหน่งประธานวุฒิสภา ต้องประกาศลาออกจากตำแหน่งรองประธานส.ว.ก่อน เพื่อให้กลุ่มจัดสรรโควตารองประธานวุฒิสภาเข้ามาดำรงตำแหน่งแทน

ขณะที่ฝ่าย ส.ว.เลือกตั้ง ขั้วรัฐบาลปัจจุบัน พยายามล็อบบี้นายจองชัย เที่ยงธรรม ส.ว.สุพรรณบุรี ให้ยอมถอยจากการชิงตำแหน่งประธานวุฒิสภา เพื่อผลักดันให้ พล.ต.อ.จงรัก จุฑานนท์ ส.ว.สรรหามาชิงตำแหน่งแทน ซึ่งจะได้รับเสียงการสนับสนุนจาก ส.ว.สรรหาส่วนหนึ่งราว 5-10 คน แต่นายจองชัยยังมีท่าทีแข็งขืนอยู่ โดยเสนอข้อต่อรองว่า หากไม่สามารถลงชิงตำแหน่งประธานวุฒิสภาได้ ก็ขอเป็นรองประธานวุฒิสภาแทน ทำให้ยังมีการต่อรองกันหนักอยู่
















กำลังโหลดความคิดเห็น