xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ขุดสันดอน “มาร์ค” จอมแหลลวงโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
ASTVผู้จัดการสุดสัปดาห์ -จู่ๆ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็เดินเหยียบกับระเบิดที่ตัวเองวางไว้หวิดพาพวกตายหมู่ เพราะเพิ่งพ่นน้ำลายยืนยันต้อง ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งไปเมื่อปลายปีที่แล้ว แต่ตดยังไม่ทันหายเหม็นด้วยซ้ำ วันนี้นายอภิสิทธิ์ คนเดียวกันนี้ก็ออกมาสวมบทพระเอกขี่ม้าขาว ประกาศตัวช่วยกอบกู้ชาติเป็นคนกลางเจรจาทุกฝ่าย และเปลี่ยนจุดยืนกลับลำมาผลักดันการปฏิรูปภายใต้รัฐธรรมนูญควบคู่ไปกับการเลือกตั้ง โดยอ้างว่าการปฏิรูปก่อนการเลือกตั้งมีข้อจำกัด พูดง่ายๆ นั่นหมายถึงเลือกตั้งครั้งใหม่นี้พลพรรคประชาธิปัตย์พร้อมลงสู่สนาม

การกลับกลอกของนายอภิสิทธิ์ ทำเอานายสุเทพ เทือกสุบรรณ แกนนำกปปส. ถึงกับควันออกหู สวนกลับ “อย่ามาสะเออะ” และย้ำจุดยืนเดิมต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง พร้อมกับนัดหมายมวลมหาประชาชนชุมนุมใหญ่ที่อาจยืดเยื้อให้รู้แพ้ รู้ชนะ อีกครั้ง

หากมองย้อนกลับไปในอดีต นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่นายอภิสิทธิ์ มีพฤติกรรมแหลลวงโลกจนได้รับฉายา “รัฐบาลอัปรีย์สิทธิ์” ฉายาที่ไม่ได้มาเพราะโชคช่วยแต่เป็นเพราะผลงานการแสดงในบทบาทสับปลับกลับกลอกอยู่ในระดับขั้นเทพเลยทีเดียว

โดยกรณีล่าสุดนี้ คำแถลงของนายอภิสิทธิ์ เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2556 ถึงเหตุที่ไม่ลงสมัครรับเลือกตั้งในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 ก.พ. 2557 ระบุว่า “พรรคเห็นว่าการเมืองของประเทศไทยอยู่ในภาวะที่ล้มเหลวมาเป็นระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 8-9 ปี สืบเนื่องจากระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะกระบวนการประชาธิปไตยถูกบิดเบือนโดยบุคคลบางกลุ่ม ทำให้วันนี้ประชาชนขาดความศรัทธาในระบบพรรคการเมืองและระบบการเลือกตั้ง หากสภาพดังกล่าวยังดำรงต่อไปหมายความว่าการเมืองไม่มีการเปลี่ยนแปลง บ้านเมืองไม่มีการปฏิรูปก็จะตกอยู่ในสภาพการเมืองล้มเหลว ความขัดแย้ง สุ่มเสี่ยงต่อความรุนแรง ความสูญเสีย การทุจริตก็จะดำรงไปอย่างต่อเนื่อง

“พรรคต้องการหยุดภาวะการเมืองล้มเหลวนี้ พรรคจึงต้องหาทางออกที่แก้ปัญหาได้จริง เพราะประเทศไทยสูญเสียโอกาสมาอย่างต่อเนื่องทั้งการทุจริต นโยบายล้มเหลว ซึ่งเป็นการตัดโอกาสของประเทศที่จะพัฒนาให้ความเป็นอยู่ของคนไทยดีขึ้น

“แม้พรรคจะส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งก็ไม่อาจคลายวิกฤตศรัทธาได้ ซึ่งนับตั้งแต่มีการยุบสภาเป็นต้นมา ได้ใช้ความพยายามอย่างถึงที่สุดที่จะกอบกู้ศรัทธาประชาชนให้มาสนับสนุนการเลือกตั้งและรัฐบาลหลังเลือกตั้งที่จะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศ แต่เราพบความจริงว่าการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นการช่วงชิงอำนาจแบบเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง

“ผมพยายามถึงขั้นที่จะพิสูจน์ว่าความรู้สึกของประชาชนใช้ไม่ได้กับพรรคประชาธิปัตย์ โดยอาสาว่าพรรคจะเป็นเครื่องมือในการปฏิรูป เพราะเชื่อว่าการต่อสู้กับระบอบทักษิณในขั้นสุดท้ายจะประสบความสำเร็จได้ไม่ผ่านกระบวนการประชามติก็ต้องผ่านการเลือกตั้ง แต่ขณะนี้ไม่สามารถดำเนินการได้ ผมพยายามค้นหาบุคคลที่ประชาชนเชื่อมั่นว่าจะปฏิรูปประเทศได้ โดยพรรคลงสมัครและให้บุคคลที่มีคุณสมบัติดังกล่าวเป็นนายกฯ คัดเลือกรัฐมนตรีปฏิรูปประเทศได้อย่างอิสระ พรรคจะเป็นเพียงเสียงข้างมากในสภาสนับสนุนให้การปฏิรูปสำเร็จแล้วคืนอำนาจให้แก่ประชาชน แต่บุคคลที่ผมไปพูดคุย และความรู้สึกของประชาชนที่ผมไปสอบถามก็ยังยืนยันว่าไม่สามารถทำให้เกิดความเชื่อมั่นการปฏิรูปหลังการเลือกตั้งได้

“แม้แต่ตัวแทนภาคธุรกิจยังเห็นว่าแม้จะมีสัตยาบันของพรรคการเมืองก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดความเชื่อถือจากประชาชน”

คำแถลงของนายอภิสิทธิ์ในวันนั้น ยังชวนเคลิบเคลิ้มด้วยวรรคสุดท้ายที่ว่า “….. ถึงเวลานักการเมืองส่องกระจกตัวเอง กลับมากอบกู้ศรัทธา พวกผมเลือกเส้นทางที่ยากและยาวในการที่จะเป็นตัวแทนประชาชน ขอให้ประชาชนร่วมเดินกับพรรค จะเกิดการปฏิรูปที่ยั่งยืนทำให้ศรัทธากลับคืนสู่ระบอบประชาธิปไตยอีกครั้งอย่างยั่งยืน”

แต่ยังไม่มีการปฏิรูปที่ยั่งยืนให้เห็นเค้าโครงแม้แต่น้อย นายอภิสิทธิ์และพวกประชาธิปัตย์ ก็เหนื่อยหน่ายกับเส้นทางที่ยากและยาว จึงวกกลับเข้ามาสู่วังวนการเมืองน้ำเน่าแบบเดิมๆ เพราะพรรคประชาธิปัตย์ เป็นพรรคการเมืองน้ำเน่า ไม่ใช่พรรคการเมืองน้ำดีที่จะมาร่วมเดินกับประชาชน ปฏิรูปประเทศอย่างที่โม้

ย้อนกลับไปอีกกรณี เหตุการณ์คนเสื้อแดง กลุ่มนปช. เผาบ้านเผาเมืองเมื่อปี 2553 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ในขณะนั้น ก็สะเออะไปประกันตัวแกนนำเสื้อแดงให้ออกมาลอยนวล โดยอ้างเหตุผลเพื่อปรองดอง ขณะที่คดีของพล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม และทหารตำรวจที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งชัดเจนในตอนแรกว่าจะสาวถึงผู้ลงมือและบงการก็ลบเลือนหายไปในภายหลัง เพราะการสับปลับกลับกลอกของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ จนสุดท้ายนายอภิสิทธิ์ และนายสุเทพ ก็ถูกย้อนศร เจอคดีข้อหาฆ่าคนตายโดยเจตนา โดยฝีมือของนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ที่เปลี่ยนสีหันไปซบพรรคเพื่อไทย

ตอนแรกๆ ในการสอบสวนกรณีการตายของ พล.อ.ร่มเกล้านั้น รายงานของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ซึ่งมีนายคณิต ณ นคร เป็นประธาน ใช้เวลาศึกษาข้อมูลกว่า 2 ปี ได้สรุปยืนยันว่า พล.อ.ร่มเกล้า เสียชีวิตจากการกระทำของกลุ่มชายชุดดำที่แฝงตัวมากับผู้ชุมนุมคนเสื้อแดง

ข้อสรุปนี้ ตรงกับรายงานของคณะอนุกรรมาธิการตรวจสอบข้อเท็จจริงและติดตามความคืบหน้าทางคดีของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ทางการเมือง ในคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ที่มีนายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา เป็นประธาน ที่ได้รวบรวมหลักฐานและพยานบุคคลกว่า 100 ปาก ยืนยันว่าเหตุการณ์วันที่ 10 เม.ย. 2553 นั้นไม่ได้เกิดจากการเริ่มต้นโดยฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ แต่เริ่มจากฝ่ายผู้ชุมนุมโดยมีการเตรียมการล่วงหน้า และมีหลักฐานคลิปวิดีโอ ปรากฏภาพชายชุดดำเข้ามาทำงานร่วมกับกลุ่ม นปช. และมีส่วนร่วมในการใช้อาวุธยิงใส่เจ้าหน้าที่ทหารโดยอยู่ในพื้นที่ของกลุ่ม นปช.

ในการแถลงข่าวครั้งแรกของดีเอสไอเมื่อปี 2553 นายธาริต พูดชัดเจนว่าได้จับกุมผู้ต้องหาซึ่งใช้อาวุธสงครามร้ายแรงก่อเหตุ ถึง 8 คดี รวมถึงการยิงระเบิดในวันที่ 10 เม.ย. 2553 ซึ่งเป็นเหตุให้ พล.อ. ร่มเกล้า และเจ้าหน้าที่ทหารเสียชีวิต โดยยืนยันไม่มีจับแพะแน่นอน แต่ต่อมาผู้ต้องสงสัยเหล่านั้นก็ได้รับการประกันตัวและปล่อยตัวชั่วคราวไปจากการประสานงานของ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ และการสนับสนุนของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์

นับเป็นเรื่องที่น่าสมเพชอย่างยิ่ง เพราะขณะที่นายธาริต ยื่นคัดค้านการประกันตัวของแกนนำเสื้อแดงในคดีเผาบ้านเผาเมืองอย่างแข็งขัน นายอภิสิทธิ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีขณะนั้นกลับมีท่าทีปรองดองกับระบอบทักษิณ ดังเหตุการณ์ที่นายกอรปศักดิ์ สภาวสุ อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ไปเป็นพยานให้กับนายวีระ หรือ วีระกานต์ มุสิกพงศ์ อดีตประธาน นปช.จนในที่สุดศาลก็อนุญาตให้มีการประกันตัว เช่นเดียวกับภาพการพบปะกันระหว่างนายอภิสิทธิ์กับนางธิดา ถาวรเศรษฐ์ ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ จากนั้น แกนนำแดงก็ถูกปล่อยตัวชั่วคราวมาเป็นระลอกตั้งแต่ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, นายแพทย์เหวง โตจิราการ, นายก่อแก้ว พิกุลทอง, นายนิสิต สินธุไพร, นายขวัญชัย ไพรพนา, นายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย นายยศวริศ ชูกล่อม หรือเจ๋ง ดอกจิก ฯลฯ

เท่านั้นยังไม่พอ ยังมีกรณีรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ส่งนายสุเทพ เทือกสุบรรณ และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรมว.กลาโหม ดอดไปเจรจาลับเรื่องเขตทับซ้อนทางทะเลไทย-กัมพูชา ในขณะที่ประชาชนชาวไทยในนามกลุ่มพันธมิตรฯ กำลังต่อสู้เรื่องเส้นเขตแดนและแผนที่บริเวณปราสาทพระวิหารอย่างเข้มข้น และคดีปราสาทพระวิหารกำลังอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาลโลก

เรื่องดังกล่าว นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รักษาการรมว.กระทรวงการต่างประเทศ ตั้งใจปล่อยออกมาเพื่อปกป้องพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และสมเด็จฮุนเซน นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่านี่คือหลักฐานความสับปลับกลับกลอกของนายอภิสิทธิ์ อีกวาระหนึ่ง

โดยแถลงการณ์ของกองการข่าวและตอบโต้เร่งด่วนของสำนักงานคณะรัฐมนตรี กัมพูชา มีเนื้อหาโจมตีกรณีการเจรจาเรื่องพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกัมพูชา-ไทย และพื้นที่ปราสาทพระวิหาร ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ นายกรัฐมนตรี โดยเฉพาะการเจรจาอย่างลับๆ ระหว่างนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี, พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รมว.กลาโหม กับสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2552 ที่ จ.กันดาล ประเทศกัมพูชา และยังได้พบปะกับนายซก อาน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่ฮ่องกง เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2552 และต่อมาที่เมืองคุณหมิง เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2553 อีกครั้งหนึ่ง

นอกจากนั้น ยังมีเรื่องที่นายวีระ สมความคิด นางสาวราตรี พิพัฒนาไพบูรณ์ และนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ อดีตส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่ถูกจับในเขตแดนไทย ขณะลงไปสำรวจพื้นที่บริเวณชายแดนบ้านหนองจาน ต.โนนหมากมุ่น อ.โคกสูง จ.สระแก้ว แต่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ถีบหัวส่งหาว่าพวกเขารุกล้ำเขตกัมพูชา จนพวกเขาถูกจับเข้าคุกเขมร กระทั่งบัดนี้ นายวีระ ยังคงถูกจองจำ โดยที่นายอภิสิทธิ์ ไม่ได้รู้สึกรู้สาอะไรเลยกับเรื่องที่เกิดขึ้น

“ไม่ได้โกรธ เพราะว่า เขาไม่ช่วยเรา แต่โกรธว่า ทำไมเขาไม่ช่วยดูแลประเทศชาติ ทำกับจะเอาประเทศชาติของเราไปใส่จานใส่พานถวายให้เขาเลย ผลประโยชน์ของประเทศชาติ คือ จากที่เรา 2 คนถูกกระทำ จริงอยู่มันก็คือการเสียสิทธิ์ เสียอิสรภาพของเรา มองในแง่ของคน 2 คน มันก็คือการเสียอิสรภาพแค่นี้ แต่จริงๆ มันไม่ใช่แค่นั้น มันมากกว่านั้น ก็คือ ผลประโยชน์ของประเทศชาติ ซึ่งรัฐบาลไม่ยอมรักษาไว้มากกว่าที่อยากจะให้มอง เพราะมันเกี่ยวเนื่องกัน คุณไม่เข้ามาดูแล ทั้งๆ ที่คุณเป็นรัฐบาล เป็นเจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่ แต่คุณละเว้นที่จะไม่ดูแลสิ่งนี้เป็นสิ่งที่น่าโกรธมากกว่าค่ะ” เสียงตำหนิของน.ส.ราตรี ต่อรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ภายหลังรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาออกพระราชกำหนดพระราชทานอภัยโทษและเธอเดินทางกลับมาถึงราชอาณาจักรไทยในวันที่ 1 ก.พ. 2556

เสียงตำหนิของน.ส. ราตรี ได้กระชากหน้ากากอันจอมปลอมของรัฐบาลอัปรีย์สิทธิ์ออกมาให้เห็นอย่างไม่มีชิ้นดีว่า นอกจากจะไม่พิทักษ์และปกป้องอธิปไตยเหนือดินแดนแห่งราชอาณาจักรไทยแล้ว ยังมีวาระซ่อนเร้นทางการเมืองอันสามานย์แอบแฝงอยู่ด้วยในวันนั้น ไม่ต่างไปจากเสียงตำหนินายอภิสิทธิ์ จากนายสุเทพ ในวันนี้ที่ชี้หน้าว่า “อย่าสะเออะ” และเลิกทำตัวกลับกลอกเสียทีเผื่อบรรดามิตรรักแฟนคลับประชาธิปัตย์จะหลงเหลือศรัทธาอยู่บ้าง


กำลังโหลดความคิดเห็น