“ยิ่งลักษณ์” ประชุมแก้ผลกระทบท่องเที่ยวจากการชุมนุมทางการเมือง “สมศักย์” ระบุการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำนักท่องเที่ยวต่างชาติตกใจ รับหากม็อบยืดเยื้อไทยขาดรายได้ 1 แสนล้าน นายกฯ สั่งบัวแก้ว ก.ท่องเที่ยวฯ ทำความเข้าใจผู้ประกอบการท่องเที่ยวแต่ละประเทศให้เข้าใจ ด้าน ททท.เตรียมเชิญนักข่าวทั่วโลกดูสถานการณ์จริงว่าปลอดภัยจากการชุมนุม 19 ก.พ.
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (12 ก.พ.) น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เดินทางมาปฎิบัติหน้าที่ยังสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมตามปกติ โดยเป็นประธานการประชุมแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคการดำเนินงานภายหลังจากการเลือกตั้ง และสถานการณ์ทางการเมืองที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ภายในห้องประชุมสยามปฐพีพิทักษ์ สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม พร้อมหน่วยงานเกี่ยวข้องร่วมประชุม อาทิ นายสมศักย์ ภูรีศรีศักดิ์ รักษาการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา นายสุวัฒน์ สิทธิหล่อ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายธวัชชัย อรัญญิก ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นต้น
นายสมศักย์แถลงหลังการประชุมว่า การประชุมวันนี้เพื่อติดตามงานเรื่องการท่องเที่ยว โดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้สรุปเหตุการณ์นำเสนอนายกฯ เรื่องการดำเนินงานในสังกัด ทั้งหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินงานได้ตามปกติ จะกระทบบ้างในเรื่องสภาวะของนักเที่ยว แต่การใช้จ่ายงบประมาณไม่มีปัญหา เนื่องจากงบแต่ละโครงการได้รับตามภาระกิจ และได้เสนอนายกฯ ว่ามีเหตุจำเป็นต้องของบกลางในการจ่ายค่าเหรียญรางวัลให้นักกีฬาที่ไปแข่งขันที่ประเทศพม่า นอกจากนี้ได้รายงานนายกฯว่าในช่วงประกาศสภาวะฉุกเฉินจะกระทบการท่องเที่ยวในระดับหนึ่ง เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติเกิดตระหนกตกใจ
“การใช้จ่ายงบประมาณก็เป็นไปตามปกติ แต่ยอมรับว่ากระทบต่อนักท่องเที่ยวบ้าง เพราะมีการตั้งเป้าตัวเลขการท่องเที่ยวปี 2557 ในสภาวะสถานการณ์ปกติ 28 ล้านคน จะมีรายได้ ประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท หากการชุมนุมยังยืดเยื้อ จะมีนักท่องเที่ยวลดลงเหลือ 27 ล้านคน คาดรายได้เหลือ 1.8 ล้านล้านบาท ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยขาดรายได้จากการท่องเที่ยวไปถึง 1 แสนล้านบาท”
นายสมศักย์กล่าวว่า นอกจากนี้ตนได้มีโอกาสพูดคุยกับผู้ว่าการจังหวัดฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งผู้ว่าการฯ จะเดินทางมาทำลงนามส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกันกับ ททท. แต่ได้หยุดชะงักไป เพื่อรอดูสถานการณ์ ส่วนที่คนไทยเดินทางไปเที่ยวญี่ปุ่นในช่วงนี้มากขึ้นก็เป็นเพราะมีการยกเว้นวีซ่า
นายสมศักย์กล่าวว่า ททท.ได้รายงานให้นายกฯ ทราบถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบบริเวณพื้นที่การชุมนุมในกรุงเทพฯ แต่พื้นที่อื่นก็ยังมีนักท่องเที่ยวจำนวนมาก และได้เรียนนายกฯถึงการสร้างความเข้าใจกับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาว่าเป็นสิ่งสำคัญ โดยนายกฯให้แนวทางว่า ให้กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ดำเนินการชี้แจงให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวในประเทศนั้นๆเข้าใจถึงการเมืองไทยว่ายังเที่ยวได้ในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว และเมืองไทยยังมีความปลอดภัย
ด้านนายธวัชชัยกล่าวว่า ตัวเลขที่ขาดหายไปในช่วงเดือนมกราคม โดยเฉพาะตรุษจีนเป็นตัวเลขจากนักท่องเที่ยวตลาดเอเชีย ททท.ยังไม่ปรับตัวเลขและเป้าหมายรายได้ เนื่องจากกำลังปรับแผนการทำงาน เพราะเราเชื่อว่ายังมีไตรมาสที่ 3 และ 4 ที่อาจจะเรียกความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวกลับมาได้เหมือนเดิม โดยวันนี้ (12 ก.พ.) ททท.ได้เรียกประชุมสำนักงานต่างประเทศ เพื่อปรับแผนการตลาดและกลยุทธ์ในการเรียกความเชื่อมั่นนักท่องเทียวในตลาดเอเชียกลับมา เพื่อเป็นการทดแทนรายได้ในตลาดที่หายไป 16,000 ล้านบาท
สำหรับสถานการณ์ท่องเที่ยวในกรุงเทพฯที่ได้รับผลกระทบจากการชุมนุม แต่ในภูเก็ต เชียงใหม่ พัทยา นักท่องเที่ยวยังเป็นตัวเลขเติบโตและน่าพอใจ ส่วนเส้นทางจากคุนหมิง ประเทศจีน มาเชียงราย เชียงใหม่ ถึงภาคเหนือตอนล่าง การขับรถของนักท่องเที่ยวชาวจีนเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้ง ททท.ได้ปรับแผนในส่วนของนักท่องเที่ยวยุโรปที่จะเข้ามาในช่วงฤดูฝน เดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ก็คิดว่าน่าจะทำได้สำเร็จ
ทั้งนี้ จากสถานการณ์การเมืองที่เกิดขึ้นทาง ททท.ร่วมกับการบินไทยเชิญผู้สื่อข่าวทั่วโลกกว่า 30 ประเทศ เดินทางมาประเทศไทย 4 วัน โดยเริ่มมาในวันที่ 19 ก.พ. เพื่อให้ดูสถานการณ์จริง ข้อมูลที่แท้จริง ในแหล่งท่องเที่ยวกรุงเทพฯ เนื่องจากที่ผ่านมามีข่าวที่ออกไปเป็นภาพลบ แต่การประท้วงเป็นการประท้วงที่สงบ ไม่มีอะไรที่น่ากลัว นอกจากนี้จะพาไปดูแหล่งท่องเที่ยวในต่างจังหวัดด้วย
มีรายงานว่า ในวันที่ 13 ก.พ.57 เวลา 09.00 น. น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเรียกผู้บัญชาการเหล่าทัพ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชุมแนวทางการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคการดำเนินงานในส่วนของกระทรวงกลาโหม รวมทั้งจะมีการหารือติดตามสถานการณ์การชุมนุมที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ที่ผ่านมา น.ส.ยิ่งลักษณ์ได้เรียกผู้บริหารในส่วนของกระทรวงต่างๆมาหารือท่ามกลางสถานการณ์การเมืองที่ไม่ปกติมาตามลำดับ อาทิ กระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 6 ก.พ กระทรวงมหาดไทยวันที่ 7 ก.พ. และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา วันที่ 12 ก.พ. เพื่อแสดงให้เห็นว่ายังสามารถปฎิบัติหน้าที่ในฐานะรัฐบาลรักษาการได้